ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
ผ่านพ้นไปเรียบร้อย สำหรับการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 13 ซึ่งงานนี้ บิ๊กอุ้ม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดบ้าน ใช้สนามช้างอารีนา จ.บุรีรัมย์ ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ในฐานะเจ้าภาพ…
ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era)
ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ประกอบด้วย 3 การประชุมหลัก ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน (ASED) ครั้งที่ 13
การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม (อาเซียน 10 ประเทศ บวกจีน เกาหลี และญี่ปุ่น) (APT EMM) ครั้งที่ 7
และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา (EAS EMM) (อาเซียน 10 ประเทศ บวกจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา) ครั้งที่ 7
พล.ต.อ.เพิ่มพูน สรุปภาพรวมการจัดงานในครั้งนี้ว่า ความร่วมมือในการจัดการศึกษาในยุคดิจิทัลจะช่วยตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ถือเป็นโอกาสสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นจากรัฐมนตรีด้านการศึกษาในอาเซียนเพื่อพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางดิจิทัลอาจนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่อาเซียนต้องพิจารณา เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม
ขณะเดียวกัน การพัฒนาทักษะของผู้เรียนให้สอดคล้องกับการทำงานในยุคดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เช่น ทักษะในการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา และการใช้เทคโนโลยี
ที่ประชุมยังได้รับทราบการรายงานผลลัพธ์การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียน ครั้งที่ 18 และครั้งที่ 19 ของประเทศต่างๆ โดยไทยในฐานะประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียนครั้งที่ 19 ได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาของอาเซียน ปี ค.ศ.2021-2025 ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปถึง 90% โดยมีโครงการสำคัญรวมทั้งหมด 114 โครงการ
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ยังได้กล่าวถ้อยแถลงที่มุ่งเน้นสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 เพื่อการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ด้วยการปรับปรุงคุณภาพชีวิตผ่านกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในบริบทของโลกใหม่ รัฐบาลไทยกำหนดนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อยกระดับประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลและเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายในการปฏิรูปการศึกษาให้รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ไทยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของนักเรียนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการศึกษาให้ครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอน
ในส่วนของความร่วมมือในอาเซียน ไทยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและประเทศคู่เจรจา ทั้งในด้านการพัฒนาครูและเยาวชน ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน/นักศึกษา การแลกเปลี่ยนครูและบุคลากรทางการศึกษา และการจัดสรรทุนการศึกษาในทุกระดับ
สร้างระบบการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของศตวรรษที่ 21 และเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนสามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สําคัญที่สุดที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูนระบุคือ ที่ประชุมยังรับรองเอกสารผลลัพธ์จากการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่ประชุมให้การรับรองถ้อยแถลงร่วมบุรีรัมย์ (Joint Statement of the 13th ASEAN Education Ministers Meeting) ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025
โดยเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของการศึกษาในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ที่มุ่งส่งเสริมการศึกษาในภูมิภาคให้ตอบสนองต่อความท้าทายในระดับโลก
ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนในหัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล” ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและฟื้นฟูโครงการต่างๆ
เช่น โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนในภูมิภาค เพื่อยกระดับการศึกษาที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล
การดำเนินนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่มุ่งเน้นการจัดการกับความท้าทายต่างๆ ของครูและนักเรียน รวมถึงการดูแลสุขภาพ และความเป็นอยู่ของครูและนักเรียนให้ดีขึ้น
ที่ประชุมยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษา
รวมถึงการตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ ของโลกที่จำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต
“ตลอดการประชุม ผู้นำด้านการศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามและอาเซียนบวกแปด ร่วมกันแสดงวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษา และส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต ภายใต้หัวข้อ ‘การพลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล’ นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการศึกษา และผลักดันนโยบายการศึกษาไทยไปสู่อาเซียน เช่น นโยบาย ‘เรียนดี มีความสุข’ ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมพลังพลเมืองให้เรียนรู้อย่างมีความสุขและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา” พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว
การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว
การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 14 จะจัดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ในปี 2569 ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์
หวังว่า การผนึกกำลังของประเทศในภูมิภาคอาเซียน จะช่วยพัฒนาการจัดการศึกษาให้ทันต่อความท้าทายของประชาคมโลก… •
| การศึกษา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022