วิธีวิทยาของ ‘ชุมชนจินตกรรม’ หรือ Imagined Communities (IC) | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

วิธีวิทยาของ ‘ชุมชนจินตกรรม’

หรือ Imagined Communities (IC)

 

วิธีวิทยาหรือกรอบการวิเคราะห์การเกิดชุมชนที่เรียกว่า “ชาติ” นั้น เบ็น แอนเดอร์สัน วิเคราะห์อย่างรอบด้านทั้งมิติทางโครงสร้างของรัฐและอาณาจักร และมิติของความรู้สึกนึกคิดที่เรียกรวมว่าวัฒนธรรม หรือที่นักลัทธิมาร์กซ์เรียกว่า “โครงสร้างส่วนบน” อันได้แก่ ปริมณฑลที่สะท้อนอุดมการณ์ของระบบเศรษฐกิจและการเมืองอันเป็นเรือนร่างที่กอดรัดประเทศเอาไว้

ที่น่าสนใจคือแทนที่เขาจะจับเอาถ้อยคำและหลักฐานจากเอกสารหรือพฤติกรรมของคนโดยเฉพาะที่เป็นคนชนชั้นปกครอง เพื่อมาแสดงว่าตอนนั้นคนคิดและเชื่ออะไร เพราะอะไร เป็นการวิเคราะห์อย่างตื้น และด้านเดียว

เบ็นใช้แบบแผนของนักมานุษยวิทยา คือรวบรวมความคิด การปฏิบัติและผลที่เกิดขึ้นในสังคมที่ศึกษา แล้วสืบหาย้อนกลับขึ้นยังต้นทางว่ามีปัจจัยและเงื่อนไขอะไรที่ประกอบหรือขัดกันในการก่อให้เกิดความคิดและรูปธรรมของสังคมแบบใหม่ตามมา

เป็นการมองไปยังกระบวนการทั้งหมดก็ได้ ว่าเกิดการเคลื่อนไหวและปฏิสัมพันธ์กันของปัจจัยทางสังคมอย่างไร

ผมจะกลับไปย้อนรอยเพื่อหาวิธีวิทยาของเบ็นที่เขานิยามชาติว่าคือชุมชนจินตกรรม ที่คนอยากเห็นมันเป็นภราดรภาพอันลึกซึ้ง และเป็นแนวระนาบ ไม่ใช่แบบแนวตั้ง

เจ้าความเชื่อในภราดรภาพนี้เองที่ทำให้คนนิรนามจำนวนมากยอมตายเพื่อชาติ

ในการบรรยายเขากลับไปหารากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาตินิยม อันได้แก่ ความเชื่อทั้งหลายที่มากับชุมชนศาสนาโบราณและอาณาจักรแห่งราชวงศ์ แต่เบื้องหลังแนวความคิดที่เขาใช้เป็นกรอบมโนทัศน์การศึกษานั้นไม่ใช่ทฤษฎีก้าวหน้าที่มากับอุดมการณ์ เช่น ลัทธิมาร์กซ์ ที่มักพรรณนาว่ามาจากการต่อสู้ทางชนชั้น

หากแต่เขาเริ่มต้นด้วยการกลับไปหาธรรมชาติของมนุษย์ที่ปูลาดไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของสามัญชนที่มีต่อความเป็นอนิจจังของมนุษย์ “ต่อภาระอันหนักอึ้งของความทุกข์ยาก ที่มนุษย์ต้องเผชิญ ความเจ็บป่วย–ความพิกลพิการ ความเศร้าโศก ความแก่ชราและความตาย ทำไมฉันถึงเกิดมาตาบอด ทำไมเพื่อนรักของฉันถึงเป็นอัมพาต ทำไมลูกสาวของฉันถึงปัญญาอ่อน ศาสนาทั้งหลายล้วนพยายามให้คำตอบ”

เขากล่าวต่อไปว่า “จุดอ่อนที่สำคัญของวิธีคิดเชิงวิวัฒนาการ/ก้าวหน้าทั้งปวง รวมทั้งลัทธิมาร์กซ์อยู่ตรงที่ว่า พวกเขาตอบคำถามเหล่านี้ด้วยอาการเงียบงันไม่ยี่หระ

เขาเสนอให้เห็นถึงบทบาทอันสำคัญของภาษาในศาสนาและอาณาจักรของราชวงศ์

พวกเราที่เคยศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคงคุ้นเคยกับฐานะอันเป็นแกนของภาษาโบราณ เช่น สันสกฤตและบาลี และขอมในเอกสารไทย ภาษาศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นสมบัติเฉพาะของชนชั้นปกครองและขุนนางผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ใช่ความรู้ที่ใครๆ ก็เรียนและใช้ได้ ในยุโรปได้แก่ ภาษาละตินที่เป็นภาษาของศาสนจักรคริสเตียนและพระสันตะปาปา นักปรัชญาดังๆ เช่น สปินโนซาเขียนนิพนธ์ในภาษาละติน

พอถึงศตวรรษที่ 17 นักคิด เช่น มาเคียเวลลีและฮอบส์ซึ่งเคยเขียนในภาษาละตินก็เริ่มหันมาเขียนในภาษาพูดประจำถิ่น เช่น อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศสกันมากขึ้นเพราะสื่อถึงคนอ่านได้กว้างและมากกว่าภาษาละติน

การประดิษฐ์แท่นพิมพ์ต่อมายิ่งทำให้การเขียนและหนังสือเกิดการปฏิวัติอย่างไม่อาจคิดว่าจะเกิดผลอะไร

 

ภาษาที่พิมพ์สร้างอำนาจให้แก่ภาษาคนทั่วไป มันแทรกซึมไปทั่วทุกแห่ง มีการใช้ภาษาพิมพ์ในชีวิตประจำวัน ในระยะยาวทำให้คนรุ่นหลังสามารถเข้าถึงถ้อยคำของบรรพบุรุษของตนได้ สร้างความต่อเนื่องให้แก่ความทรงจำของคนธรรมดาขึ้นมา

ภาษาพูดเหล่านี้ค่อยกลายเป็นภาษากลางของชุมชน เช่น ภาษาไทยกลาง เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมและการเมืองในรัฐ

สรุปคือกลายเป็นภาษาที่มีอำนาจขึ้นมา

แนวการวิเคราะห์ของเบ็นที่เขาไม่ปิดบังคือการบอกตรงๆ ว่า กระบวนการที่ทำให้ภาษาพิมพ์เป็นภาษาทางการและมีอำนาจนั้น เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นมาโดยไม่มีใครตั้งใจ

“แต่เป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์อันรุนแรงระหว่างทุนนิยม เทคโนโลยีและความหลากหลายในภาษาของมนุษย์”

ผมคิดว่าเบ็นรู้สึกว่าบรรดานักลัทธิก้าวหน้าทั้งหลายมักสอนคนอื่นว่าทฤษฎีหรือมโนทัศน์ของพวกเขานั้นคือปัจจัยสำคัญในการทำให้มนุษยและสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง และพากันเทศนาให้คนอื่นเชื่อและทำตามสูตรตายตัวของพวกเขา

เขาจึงถือโอกาสนี้วิพากษ์ลัทธิก้าวหน้าทั้งหลายว่าไม่ใช่หรอก

การเปลี่ยนแปลงมันมาจากหลากหลายปัจจัยและปฏิสัมพันธ์ของมัน มากกว่าที่พวกเจ้าลัทธิเข้าใจ

ความจริงคำหลักที่นักคิดก้าวหน้าใช้บ่อยคือ “วิภาษวิธี” คิดอย่างรอบด้านไม่ใช่ด้านเดียว

 

สรุปคือการมาบรรจบพบกันของทุนนิยมและเทคโนโลยีการพิมพ์ อันนี้เป็นบทบาทภายนอกของระบบทุนนิยมซึ่งมักใช้กันอย่างทั่วไปจนไร้ความหมายในทางรูปธรรม

กับปัจจัยภายในคือความแตกต่างหลากหลายในภาษามนุษย์ที่มีความเป็นตัวของตัวเองในแต่ละชุมชน

การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสองปัจจัยนี้เองที่ถางทางให้ชุมชนจินตกรรมรูปแบบใหม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

โดยพื้นฐานลักษณะโครงสร้างของชุมชนเหล่านี้ มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดชาติสมัยใหม่ขึ้นมา แต่โอกาสที่ชุมชนเหล่านี้จะสามารถขยับขยายออกไปด้วยตัวมันเองค่อนข้างจำกัด

เพราะอย่าลืมว่าในความเป็นจริงแล้ว ชุมชนเหล่านี้ไม่ใช่อะไรอื่น หากคือผลของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุบังเอิญภายในพรมแดนทางการเมืองที่เป็นอยู่ ในกรณีของยุโรปเป็นช่วงที่ราชอาณาจักรของกษัตริย์ต่างๆ มีการชยายดินแดนออกไปมากที่สุด

มีข้อสังเกตอีกด้วยว่า แม้ชาติสมัยใหม่รวมถึงรัฐชาติที่ได้เกิดขึ้น ต่างมี “ภาษาเขียนแห่งชาติ” ของตนเองแล้วทั้งนั้น แต่พวกนั้นก็ใช้ภาษาเขียนแห่งชาติไม่เหมือนกัน

กลุ่มแรกใช้ภาษาเขียนแห่งชาติของตนร่วมกับประเทศอื่นๆ เช่นในทวีปอเมริกาที่ใช้ภาษาสเปน กับพวกใช้ภาษาแองโกล-แซกซอน (เช่น ภาษาอังกฤษ)

อีกกลุ่มคืออดีตอาณานิคมเช่นในแอฟริกา และในอุษาคเนย์ มีแต่คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ใช้ภาษาแห่งชาติในการสนทนาและการเขียน

ลองคิดดูว่าคนสยามไทยสมัยรัชกาลที่ 5 กี่คนที่พูดและเขียนในภาษาไทยกลาง

ประเด็นคือแม้การเกิดภาษาแห่งชาติมีส่วนในการนำไปสู่การเกิดชาติและความคิดชาตินิยมสมัยใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่า พัฒนาการของความเป็นชาติมีรูปแบบและเนื้อหาที่ตรงกับการขยายกระจายตัวของภาษาพิมพ์อันใดอันหนึ่ง

ลองคิดดูว่าในกรุงสยามก็มีการพิมพ์ทั้งภาษาไทยกลาง และภาษาจีนในย่านชุมชนจีนเมืองหลวง รวมถึงตัวพิมพ์ภาษามลายูของคนมุสลิมด้วย

แต่ความเป็นชาติของกลุ่มคนเหล่านั้นก็พัฒนามาไม่เหมือนกันเลย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ของการมีความต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่องในความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างภาษาพิมพ์กับสำนึกของความเป็นชาติ

หากต้องการเข้าใจในปมเงื่อนของสัมพันธภาพดังกล่าวนี้ เบ็น แอนเดอร์สัน แนะว่าควรพิจารณาลงไปในหน่วยการเมืองที่เกิดขึ้นในรัฐเหล่านี้ด้วย

ในหนังสือชุมชนจินตกรรม เขาทำตัวอย่างการศึกษาหน่วยการเมืองที่เกิดขึ้นในระหว่างกลางศตวรรษที่ 18-19 (1776-1838) ในทวีปอเมริกา

แต่น่าเสียดายที่เบ็นไม่ได้ทำการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมถึงรัฐในอุษาคเนย์อย่างละเอียดด้วย นอกจากยกเป็นตัวอย่างประกอบในบางประเด็นเท่านั้น

เช่น เมื่อรัฐที่เป็นอาณาจักรเก่าเช่นจักรวรรดิรัสเซียและกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปะทะกับพลังของชาตินิยมใหม่ที่มาจากโลกตะวันตก พวกชนชั้นปกครองที่เป็นรัฐก็หันไปสร้างลัทธิชาตินิยมที่เป็นทางการ (Official nationalism)

“เพื่อเป็นยุทธศาสตร์การเตรียมรับสถานการณ์ของกลุ่มคนผู้มีบทบาทครอบงำ ที่กำลังถูกคุกคามเบียดขับไปอยู่ตรงชายขอบ หรือหลุดออกจากชุมชนจินตกรรมแบบประชาชาติที่กำลังก่อรูปขึ้นขณะนั้น”

 

ผมจะลองทำการบ้านด้วยการศึกษาว่าการคลี่คลายไปสู่การเกิดชาติและความเป็นชาติของสยามไทยนั้นดำเนินมาอย่างไรอย่างคร่าวๆ

แน่นอนว่าความคิดเรื่องชุมชนชาตินี้เกิดหลังจากมหาอำนาจตะวันตกพากันเข้ามาเปิดประเทศให้สยามดำเนินนโยบายการค้าเสรีและในที่สุดนำไปสู่การปฏิรูประบบปกครองทั้งพระราชอาณาจักร อันเป็นความรู้ที่คนไทยได้เรียนและรู้กันมาอย่างดี

แต่ประเด็นเรื่องการสร้างความคิดและปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่กล่าวข้างตน คือความเสื่อมสลายของอิทธิพลชุมชนศาสนาและรัฐราชวงศ์นั้นเกิดหรือไม่

คำตอบคือเกิด แต่ไม่เหมือนกับในยุโรปและทวีปอเมริกา

ความคิดศาสนาที่มากับศาสนาพุทธนั้นถูกปฏิรูปให้กลายเป็นศาสนาแห่งชาติทำนองเดียวกับภาษาไทยกลางที่จะกลายมาเป็นภาษาพิมพ์แห่งชาติไปเช่นเดียวกัน

ผลคือมีส่วนสร้างชุมชนและคนใหม่จำนวนหนึ่ง แต่ผลทางการเมืองไม่ใช่นำไปสู่การทำลายรัฐราชวงศ์ ตรงกันข้ามกลับเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่การแปลงกายของรัฐราชวงศ์ไปสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

การเกิดนโยบายการศึกษาภาคบังคับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นตัวอย่างอันดีของยุทธศาสตร์การจัดการควบคุมคนชายขอบไม่ให้ก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองได้

ชัดเจนว่าผู้นำรัฐสยามตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการกล่อมเกลาและสร้างความยอมรับในอำนาจปกครองของสยามเหนือชุมชนและรัฐเล็กๆ ของคนเหล่านั้นในบริเวณชายขอบพระราชอาณาจักรเป็นอย่างดี การเรียนอ่านเขียนภาษาไทยกลางจึงเป็นภาคบังคับนับแต่นั้นเป็นต้นมาสำหรับพลเมืองไทย

ตรงข้ามกับขบวนการชาตินิยมในประเทศอื่นๆ ในอุษาคเนย์ที่เป้าหมายของการเคลื่อนไหวคือเจ้าอาณานิคมฝรั่ง

ของชาตินิยมสยามกลับเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศเองเช่น คนจีน (“ยิวแห่งบุรพทิศ”) และคนมลายูมุสลิมแห่งอาณาจักรปาตานี

จึงไม่น่าแปลกใจที่คนเหล่านั้นก็จินตนาการถึงชุมชนของพวกเขาในลักษณะที่แตกต่างและตรงข้ามกับของรัฐไทยกลางมาโดยตลอด

พวกเขาใช้ภาษาที่ไม่ร่วมกับรัฐไทยกลางเลย จีนร่วมกับคนจีนในประเทศจีน คนมลายูร่วมกับคนมาเลย์และมุสลิมในตะวันออกกลาง

พรรคคอมมิวนิสต์ไทยจึงเป็นขบวนการชาตินิยมไทยของประชาชนแห่งแรกที่จัดตั้งอย่างเป็นระบบ แต่รับอุดมการณ์ต่อสู้ของนักสู้จีนในประเทศจีนมาใช้ในการต่อสู้กับรัฐไทย (ในงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเกษียร เตชะพีระ)

เช่นเดียวกับขบวนการต่อสู้ของคนปาตานีก็รับอุดมการณ์ของชาตินิยมอาหรับมาเคลื่อนไหวจนกลายเป็นการต้านรัฐสยามไทยไป