ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
ต้องเตือนรัฐบาลใหม่รัวๆ ไว้ก่อนเลยว่า
หนึ่งในเป้าหมายหลักแห่งการบริหารประเทศในยามนี้ต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ไทยติดอยู่กับสภาพ “คนป่วยของเอเชียรายใหม่” เป็นอันขาด!
เพราะตำแหน่ง Sick Man of Asia นั้นอาจจะเกิดขึ้นได้หากเรามีการเมืองน้ำเน่าและเศรษฐกิจที่ยึดติดกับแบบเดิมๆ อย่างที่เป็นอยู่
“ที่เป็นอยู่” คือการต่อรองแบ่งสรรอำนาจตามผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองต่างๆ จนทำให้ไม่สามารถหาคนเก่งคนดีคนมีความสามารถในบริหารประเทศได้
กลายเป็นว่าคณะรัฐมนตรีและคนที่นักการเมืองส่งเข้ามาบริหารบ้านเมืองล้วนเป็นคนที่มาเพราะมีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มผลประโยชน์
ไม่ได้เป็นเพราะมีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ที่มีความจำเป็นต้องการฟื้นฟูประเทศให้หลุดออกจากกับดักและหลุมบ่อที่สาหัสสากรรจ์ในเกือบทุกๆ มิติของเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคมเลย
วันก่อน ผมอ่านความเห็นของ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรในเฟซบุ๊กที่เตือนว่า ถ้าเราไม่ตั้งใจแก้ไขปัญหาโครงสร้างอย่างจริงจังในระยะยาว เราคงจองตำแหน่ง “คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย” ไปอีกนาน
หรือความจริงไทยเราแอบเข้าสู่สภาวะความเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” แล้วด้วยซ้ำ
ตัวเลข GDP ไตรมาสสองปี 2567 ออกมาโต 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ใกล้เคียงกับที่หลายๆ ฝ่ายคาดการณ์กันไว้
ดร.พิพัฒน์อุทานว่า “ต้องบอกเลยว่าเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจไทยโตได้มากที่สุดในรอบปี!”
กระนั้น ก็ไม่ได้เรื่องที่น่ายินดีนัก
เพราะถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน (ไม่รวมลาวและพม่า) เราโตได้ช้าที่สุดในภูมิภาคแล้ว
ไล่มาตั้งแต่ อินโดนีเซีย 5.1% ฟิลิปปินส์ 6.3% เวียดนาม 7.2%
แม้กระทั่งมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่มีระดับรายได้ต่อหัวสูงกว่าเรา เขายังโตได้เร็วกว่าเราเลยที่ 5.9% และ 2.9%
ปัญหาของไทยไม่ใชแค่เรื่องอุปสงค์ที่ต้องการการกระตุ้น
แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องการการแก้ไขอย่างจริงจัง
ดร.พิพัฒน์บอกว่า ดูตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสสอง มีข้อสังเกตน่าสนใจ 3 ข้อ
1. การท่องเที่ยวและภาคบริการยังคงเป็นพระเอกหลักที่ผลักดันเศรษฐกิจไปข้างหน้า แต่แรงส่งมีโอกาสจะแผ่วลงไปเรื่อยๆ เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ระดับ “ปกติ”
2. ภาคการผลิต เริ่มมีสัญญาณผ่านจุดต่ำสุด เมื่อการขยายตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาสสี่ปี 2565 เพราะแม้อุตสาหกรรมใหญ่ของเราอย่างรถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ยังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่การผลิตอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาขยายตัวได้ เมื่อสินค้าคงคลังเริ่มปรับลดลง
3. ภาคเศรษฐกิจที่เป็นตัวดึงของเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดในไตรมาสนี้ คือการบริโภคสินค้าคงทน อย่างรถยนต์ และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน (รวมไปถึงภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างด้วย)
ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่า เป็นผลกระทบสำคัญจากการที่ภาคธนาคารเริ่มชะลอการปล่อยกู้ จากปัญหาคุณภาพสินเชื่อ จนทำให้ยอดขายรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็ว และเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงแล้ว
ที่น่าห่วงคือ ทำไมการลงทุนภาครัฐก็หดตัวไปกับเขาด้วย ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ก็ผ่านสภาแล้ว และการเบิกจ่ายก็เริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว
อาจจะพออธิบายได้ว่า พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน จึงทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ทันในไตรมาสนี้
จึงหวังว่ารัฐคงจะต้องเร่งโครงการลงทุนส่วนนี้คงจะไม่เป็นตัวถ่วงอีกต่อไป
มองไปข้างหน้าจริงๆ ตัวเลข GDP ในช่วงครึ่งหลัง อาจจะค่อยๆ ดีขึ้นจากฐานที่ต่ำจากปีก่อน
แต่ก็น่าห่วงว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจจะติดหล่ม ถ้าเราไม่แก้ปัญหากันอย่างจริงจัง ทั้งระยะสั้นในการกระตุ้นอุปสงค์ระยะสั้น ระยะกลางในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และระยะยาวในการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้าง และยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ในความมืดมนอนธการ ก็ต้องมีความหวัง
ในความเห็นของ ดร.พิพัฒน์ แม้ว่าภาพศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะดูไม่ได้ดีนัก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความหวังเสียทีเดียว
ถ้าย้อนไปดูประเทศอื่นๆ อย่างฟิลิปปินส์ที่เคยได้ชื่อว่า “คนป่วยของเอเชีย” มาก่อนไทย โดยในช่วงทศวรรษ 1980 เติบโตได้เพียงเฉลี่ย 2% คล้ายกับไทยตอนนี้
แต่ในช่วงที่ผ่านมากลับมาเติบโตได้ 4-5% อีกครั้ง
ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์บ้านเมืองอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า
เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
ตามมาด้วยการตระหนักว่าเราจึงมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างยิ่ง
นั่นคือจะทำอย่างไรจึงจะหลีกเลี่ยงวิกฤต ‘คนป่วยแห่งเอเชีย’ รายใหม่?
เพราะเรายอมรับว่าได้ติดอยู่กับ “รายได้ปานกลาง” มาหลายสิบปีแล้ว และยังไม่มีวี่แววว่าจะหลุดพ้นออกไปได้
มาเจอกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องซ้ำเติมอีก ออกอาการเดินโซซัดโซเซอย่างเห็นได้ชัด
วันนี้ เราคือคนป่วยด้วยโรคเรื้อรังหลายประการ
เรากำลังเผชิญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เพียงแต่ “ต่ำกว่าศักยภาพ” อย่างที่รัฐบาลก่อนตอกย้ำมาตลอดเท่านั้น
แต่ในภาวะซึมเซานั้น ความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ยิ่งต้องมาเผชิญกับความล้าหลังของคุณภาพนักการเมืองที่สร้างความผิดหวังอย่างหนัก
สัญญาณเตือนภัยมีให้เห็นชัดเจน และความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่ไม่อาจปฏิเสธได้เท่านั้น
แต่ยังมีความเร่งด่วนถึงจุดที่เข้าโซน Do or Die
ไม่ปรับก็พับฐาน
มาถึงวันนี้ เราต้องตั้งคำถามว่าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองมีความมุ่งมั่นทางการเมืองเพียงพอที่จะทำการปฏิรูปที่มาถึงจุดที่มิอาจจะหลีกเลี่ยงแล้วได้หรือไม่?
รัฐบาลมีความกล้าหาญทางการเมืองและสามารถระดมมันสมองเข้ามาสร้างเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคมใหม่ของประเทศได้เพียงใด
นี่คืออีกหนึ่งคำถามใหญ่
เพราะเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจะต้องขยายฐานไปยังประชาชนให้กว้างและลึก
การพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกมากเกินไปเป็นเกมที่อันตรายในโลกที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น
การลงทุนในเทคโนโลยี การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานเป็นหัวใจ
แต่นักการเมืองที่อยู่ในอำนาจยังไม่กล้าที่จะลงมือ “ปฏิรูป” อย่างแท้จริง
เพราะกลัวจะกระทบผลประโยชน์ของตนและเครือข่ายแห่งอำนาจของตน
อีกทั้งเรากำลังตกอยู่ในสภาพเป็นอัมพาตทางการเมือง
ซ้ำเติมด้วยมะเร็งแห่งความประพฤติทุจริตในทุกรูปแบบในทุกวงการ
โรคเรื้อรังของของสังคมไทยที่ไม่เคยลดความรุนแรงลงคือช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกำลังขยายตัวอย่างไม่ลดละ
ความเหลื่อมล้ำมีแต่จะหนักหน่วงขึ้น
การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับสังคมถูกสกัดกั้นโดยกลุ่มอำนาจเก่า
โดยผู้มีอำนาจไม่สำเหนียกว่าความไม่เท่าเทียมกันนี่แหละที่เป็นเชื้อแห่งความไม่สงบในสังคมและเป็นภัยต่อเสถียรภาพของประเทศที่สามารถระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้
เราอยู่ด้วย “ความหวัง” อย่างเดียวไม่ได้
เพราะ “ความหวัง” ต้องมาพร้อมกับ “แผนปฏิบัติการ” ที่จะแก้สถานการณ์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
อีกทั้งยังต้องทำให้คนทั้งประเทศมีส่วนร่วมในกระบวนการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศในทุกมิติ
วันนี้เราไม่มีทั้ง “ความหวัง” และ “แผนงาน” ที่จะทำให้ความหวังเป็นความจริง!
หรือต้องรอถึงคนรุ่นใหม่มาสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ?
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022