ทางออกจากกับดัก

สิบกว่าปีหลังประเทศไทยมีแต่เสียงบ่นเสียงคัดค้าน ไม่มีเสียงที่แสดงถึงทิศทางหรือวิสัยทัศน์ที่ประเทศควรจะเดินไป

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านทาง “เนชั่นกรุ๊ป” จัดปาฐกถา วิสัยทัศน์ประเทศไทย โดย “ทักษิณ ชินวัตร” ได้กล่าวถึงปัญหาและทางแก้ไขในเรื่องสำคัญๆ หลายประเด็น โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ จึงได้รับความสนใจและการตอบรับทางบวกจากสาธารณชนส่วนใหญ่

จึงอยากหยิบยกเอาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กล่าวถึงมาวิเคราะห์วิจารณ์

 

เรื่องแรก การแฮร์คัดหนี้ภาคประชาชน

ปัจจุบันเศรษฐกิจเดินหน้าไม่ได้ กำลังซื้อตกต่ำเพราะติดกับดักหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91-92%

อดีตนายกฯ ทักษิณ เสนอไอเดียที่ได้รับคำแนะนำจากนายแบงก์ว่า เป็นไปได้ไหมที่แบงก์ชาติเก็บเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์อยู่ 0.46-0.47% ให้เก็บเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งที่ลดลงให้ธนาคารพาณิชย์นำมาช่วยลดหนี้รถยนต์ หนี้บ้าน ซึ่งมีหนี้เสียอยู่ราว 1 ล้านล้านบาท จะทำให้ลดหนี้เสียในระบบ ช่วยคนไทยที่กำลังจะถูกยึดกลับมาเดินหน้าต่อไปได้

ที่จริง ก่อนหน้านี้ก็เคยมีแนวคิดแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยการออกพันธบัตรรัฐบาลไทยในตลาดตราสารหนี้สหรัฐอเมริกา แล้วนำเงินที่ได้มาซื้อหนี้ครัวเรือนประชาชนออกมาจากระบบธนาคาร ลดหนี้ครัวเรือนลงได้เหลือ 60-70% จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเพิ่มกำลังซื้อขึ้นได้อีกมหาศาล และลดภาระหนี้ประชาชนลงได้ แต่แนวคิดนี้ไม่ได้ถูกนำเสนอและทำเป็นมาตรการ เพราะกลัวถูกโจมตีคัดค้าน

ปัญหาทัศนคติของเสียงคัดค้านในประเทศไทยนั้นแปลก ถ้า “แฮร์คัด” หนี้ภาคประชาชนจะมีเสียงคัดค้านมากมาย กลัวจะทำจริยธรรมทางการเงิน (moral hazard) บ้าง อะไรบ้าง

แต่การ “แฮร์คัด” หนี้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะสถาบันการเงินเมื่อปี 2540 มูลค่าหมื่นล้านแสนล้านบาท กลับไม่มีเสียงคัดค้าน หรือนโยบายการเงินที่ผิดพลาดจนถูกโจมตีค่าเงินบาท การเอาสำรองเงินตราต่างประเทศไปสู้กับ “เฮดฟันด์” จนเกือบเกลี้ยง ต้องเป็นหนี้ไอเอ็มเอฟ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องเอาเงินภาษีประชาชนไปใช้หนี้ ก็เป็นเรื่องพยายามทำให้ลืม

หากเรื่องแฮร์คัดหนี้ครัวเรือนถูกนำมาปฏิบัติจริง ทั้งที่หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิต ไม่ใช่หนี้เกิดจากธุรกิจแสวงกำไรหรือเกิดจากนโยบายผิดพลาด แต่เชื่อได้เลยว่าธนาคารแห่งประเทศไทยที่หน่วยงานบริหารนโยบายการเงินประเทศต้องออกมาคัดค้าน

เรื่องแฮร์คัดหนี้ภาคประชาชน ถ้าทำได้ กำลังซื้อที่อยู่อาศัยกลับมาเร็วแน่

 

เรื่องที่สอง การให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี สิ้นสุดสัญญาตกเป็นของกรมธนารักษ์

เป็นไอเดียดีที่สร้างความสบายใจให้กับคนที่วิตกกังวลว่าจะสูญเสียที่ดินให้กับต่างชาติ โดยอดีตนายกฯ ทักษิณ เสนอแนวคิดว่าการเจรจาตกลงราคาค่าเช่า ให้ฝ่ายเจ้าของที่ดินกับผู้ต้องการเช่าที่เป็นเอกชนเจรจาตกลงกันเองตามสมัครใจ แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่าให้กรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นตกเป็นของกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลบริหารจัดการที่ดินรัฐ ขณะเดียวกันก็ออกกติกาไม่ให้ต่างชาติเช่าไปทำการเกษตรเพื่อปกป้องเกษตรกร

ส่วนไอเดียการสร้างคอนโดมิเนียมราคาถูกในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริเวณชานกรุงเทพฯ อาทิ สถานีเชียงรากน้อย สถานีธนบุรี ผ่อนเดือนละ 3,000 บาท 30 ปี อยู่ได้ 99 ปี เพื่อช่วยผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง

เป็นเรื่องดีที่รัฐมีโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยจากภาคตลาด แต่เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดโครงการ เลยอดนึกถึงโครงการบ้านเอื้ออาทรในอดีตไม่ได้

 

เรื่องที่สาม การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม

อดีตนายกฯ ทักษิณกล่าวว่า “วันนี้ประเทศไทยควรจะเป็นสวรรค์ของภาคอุตสาหกรรมที่สุด ใครอยากขายจีน ใครอยากขายอเมริกา ใครอยากขายยุโรป ไม่มีปัญหา เพราะเราไม่มีปัญหาเรื่อง geopolitics เราต้องไปเชื้อเชิญมา”

อันนี้เห็นด้วยเต็มที่ เป็นโอกาสประเทศที่ควรใช้เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างการผลิตที่ล้าหลังไม่สอดคล้องกับตลาดโลกซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาพื้นฐานที่สุดในปัจจุบัน

จะรอฟังรายละเอียดจากนายกฯ “อุ้งอิ้ง” แพทองธาร ชินวัตร แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ครับ •

 

ก่อสร้างและที่ดิน | นาย ต.