ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
ประเทศไทยมาจากประเทศสยาม (บางทีเรียก “สยามประเทศไทย” ) และคนไทยมาจากชาวสยาม (บางทีเรียก “ไทยสยาม”) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากความเป็นมาของอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว สืบเนื่องถึงปัจจุบัน
โดยมีหลักฐานทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ตั้งแต่วัฒนธรรมบ้านเก่า (กาญจนบุรี), วัฒนธรรมบ้านเชียง (อุดรธานี), ถึงวัฒนธรรมโขง-ชี-มูล (ที่ราบสูงโคราช) ซึ่งหลอมรวมเป็นวัฒนธรรมสยาม (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) แล้วกลายเป็นไทยสืบเนื่องทุกวันนี้
ชุมชนเกษตรกรรมเริ่มแรก
หลายพันปีมาแล้ว ไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต, ไม่มีชาติ, ไม่มีเชื้อชาติ, คนมีไม่มาก พูดภาษาต่างๆ กัน, พื้นที่กว้างขวางรกร้างว่างเปล่ามาก จึงมีชุมชนเริ่มแรกกระจายห่างๆ ทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์และทั่วดินแดนประเทศไทย บางแห่งเป็นชุมชนราว 5,000 ปีมาแล้ว แต่ส่วนมากเป็นชุมชนราว 3,000 ปีมาแล้ว ล้วนมีวัฒนธรรมร่วมกัน
ผู้คนรู้จักสะสมอาหารไว้กินทั้งปี ด้วยการปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์จากการสังเกตและลองผิดลองถูกตามธรรมชาติ จึงตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน “อยู่ติดที่” ร่วมกันเป็นชุมชน
เริ่มจากปลูกเพิงอยู่อาศัยอย่างง่ายๆ ด้วยไม้ไผ่ และมุงด้วยใบไม้ทั่วไป หลังจากนั้นก็ทำให้แข็งแรงเป็นกระท่อมหรือทับ บริเวณที่มีแหล่งน้ำ โดยมีบุคคลสำคัญเป็นหัวหน้า มีที่ฝังศพหัวหน้าเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วมีพิธีกรรมหลังความตาย
แต่คนไม่ได้หยุดร่อนเร่พเนจรพร้อมกันทั้งหมด ฉะนั้น จึงมีบางพวกบางกลุ่มยังคงร่อนเร่แสวงหาอาหารตามธรรมชาติ
ทำนาปลูกข้าว มี 2 แบบ ได้แก่ (1.) ทำไร่หมุนเวียนบนที่สูง เรียก “เฮ็ดไฮ่” หรือ ดราย์ ไรซ์ (dry rice) และ (2.) ทำนาทดน้ำในที่ลุ่ม เรียก “เฮ็ดนา” หรือ เวต ไรซ์ (wet rice) มี 2 แบบย่อย เรียกนาหว่านและนาดำ ดังนี้
นาหว่าน ด้วยการหว่านเมล็ดข้าวลงในนาที่มีน้ำท่วมถึงและไถนาไว้แล้ว จากนั้นปล่อยให้ข้าวงอกงามตามธรรมชาติ และ นาดำ ด้วยการเพาะต้นกล้าของข้าวไว้ก่อน แล้วถอนต้นกล้าไปปลูกในนาจริงที่เตรียมพื้นที่ไว้ [ดำ เป็นคำกริยา แปลว่ามุดลงไป ดังนั้น นาดำหมายถึงการดำนาโดยใช้นิ้วหัวแม่มือกดโคนต้นกล้าที่มีรากติดอยู่ให้ปักลึกมุดดินโคลนเลนซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมไว้แล้ว]
การทำนาดำต้องรู้เทคโนโลยีก้าวหน้า (รับจากจีนลุ่มน้ำแยงซี) คือการทดน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าว และระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณตามต้องการ
[นาหว่านและนาดำ ยังทำสืบเนื่องถึงปัจจุบัน พบทั่วประเทศ]
แต่บางท้องที่หว่านเมล็ดข้าวลงบริเวณน้ำท่วมถึงโดยไม่ต้องไถนาเตรียมพื้นที่ ซึ่งบางทีเรียก นาน้ำท่วม
กินข้าวเป็นอาหารหลัก สมัยแรกๆ หลายพันปีมาแล้ว ข้าวเหนียว (เมล็ดป้อม) เป็นอาหารหลักของคนส่วนมาก ส่วนข้าวเจ้า (เมล็ดเรียว) มีบ้าง แต่ไม่มากเท่าข้าวเหนียว
[ทางภาคใต้ของไทยปัจจุบันกินข้าวเจ้า แต่พิธีแต่งงานเรียก “กินเหนียว” หมายถึงนึ่งข้าวเหนียวไปไหว้ผีบรรพชน ย่อมเป็นพยานว่าบรรพชนคนภาคใต้นานมาแล้วกินข้าวเหนียวในชีวิตประจำวัน]
กับข้าว “เน่าแล้วอร่อย” ของกินพร้อมข้าว เรียก “กับข้าว” หลายพันปีมาแล้ว ซึ่งกับข้าวบางอย่างถูกทำให้ “เน่าแล้วอร่อย” (คือวิธีถนอมอาหารไว้กินนานๆ เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมร่วมกัน) เป็นที่นิยมสูงสุดและกว้างขวางสุดในอุษาคเนย์
[กับข้าว “เน่าแล้วอร่อย” ยังกินสืบเนื่องถึงปัจจุบัน ในชื่อต่างๆ ได้แก่ ปลาแดก, ปลาร้า, กะปิ, น้ำปลา, น้ำบูดู, รวมถึง “น้ำพริก” ประเภทต่างๆ]
เรือนเสาสูง
เรือนเสาสูงเป็นที่อยู่อาศัยทั้งบริเวณหุบเขาและทุ่งราบ ตั้งแต่ตอนใต้ของจีนจนถึงหมู่เกาะ
[ปัจจุบันในไทยภาคกลางเรียกเรือนเสาสูงว่า “เรือนไทย” ส่วนภาคอื่นๆ เรียกชื่อต่างๆ ออกไป แต่ทั้งหมดสืบเนื่องจากเรือนเสาสูงหลายพันปีมาแล้ว]
เสาสูง หมายถึง เรือนมีต้นเสาและมีหลังคาตั้งบนต้นเสา แล้วยกพื้นสูงอยู่ใต้หลังคาคลุม ส่วนใต้พื้นเรือนถึงพื้นดิน เรียกใต้ถุน (ถุน เป็นคำดั้งเดิม แปลว่า ข้างใต้, ข้างล่าง)
ใต้ถุน หมายถึง บริเวณใต้พื้นเรือนถึงพื้นดิน เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนในชุมชนตลอดวันตั้งแต่เช้าถึงค่ำ (ก่อนขึ้นไปนอนบนเรือนเพื่อป้องกันสัตว์ร้าย) กิจกรรมประจำวัน เช่น หุงหาอาหาร, ตีหม้อ, ทอผ้า, เลี้ยงเด็กที่เป็นลูกหลานในชุมชน, คอกวัวคอกควายเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
ใต้ถุนไม่ได้มีไว้หนีน้ำท่วม (ตามที่บอกกันต่อๆ มาจนปัจจุบัน) เพราะเรือนของคนบนที่สูงในหุบเขาซึ่งน้ำไม่เคยท่วมก็ล้วนใต้ถุนสูง ซึ่งมีไว้ทำกิจกรรมชีวิตประจำวัน
ส่วนบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมย่อมมีน้ำท่วมถึงใต้ถุน แล้วคนหนีน้ำท่วมขึ้นไปอยู่บนเรือน โดยไม่ได้มีเจตนาตั้งแต่แรกทำใต้ถุนสูงไว้หนีน้ำ
ไม้ไขว้กันบนหลังคาเรือน เป็นเทคโนโลยีค้ำยันด้วยไม้ไผ่สองลำไม่ให้หลังคายุบลง ซึ่งคนบางกลุ่มเรียกไม้ไขว้กันอย่างนี้ว่า “กาแล” พบในทุกเผ่าพันธุ์ แต่บางกลุ่มใช้ส่วนไขว้กันเป็นที่แขวนหัวสัตว์เพื่อเซ่นผี เช่น หัวควาย เป็นต้น
บ้าน หมายถึง เรือนหลายหลังอยู่รวมกันเป็นชุมชน ตรงกับปัจจุบันว่าหมู่บ้าน หรือตรงกับภาษาอังกฤษว่า village
เรือน หมายถึงที่อยู่อาศัยเป็นหลังๆ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า house (ปัจจุบันมักเรียกบ้าน)
สองคำนี้ปัจจุบันใช้ปนกัน และบางทีใช้รวมกันว่า “บ้านเรือน” ตรงกับ house แล้ว ผูกคำใหม่ว่า “หมู่บ้าน” ให้ตรงกับ village
นับถือศาสนาผี
ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด และเชื่อว่าปรากฏการณ์ทุกอย่างทั้งหมดไม่ว่าดีหรือร้ายเกิดจากการกระทำของผีทั้งนั้น โดยผีกับคนติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยการเข้าทรงผ่านร่างทรงซึ่งเป็นหญิง
ผีใหญ่สุดอยู่บนฟ้าเรียกผีฟ้า ต่อมาเรียกอีกชื่อว่า แถน (เป็นคำกลายที่รับจากจีนว่า “เทียน” แปลว่า ฟ้า) คุ้มครองดิน เรียกผีดิน, คุ้มครองน้ำ เรียกผีน้ำ, คุ้มครองดงป่า เรียกผีดงผีป่า ฯลฯ (เท่ากับเป็นเจ้าของดินน้ำดงป่า ต้นทางคำว่าพระเจ้าแผ่นดิน)
เชื่อเรื่องขวัญ (ไม่มีวิญญาณ) ว่าขวัญมีในคน, สัตว์, พืช, สิ่งของ, เครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ ฯลฯ
เชื่อว่าเมื่อมีคนตาย ส่วนขวัญของคนนั้นไม่ตาย ยังมีวิถีปกติ (เหมือนเมื่อมีชีวิต) แต่อยู่ต่างมิติที่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น เคลื่อนไหวได้ จึงมีพิธีทำขวัญเพื่อป้องกันเหตุไม่ดี
หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรมทางศาสนาผี และเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ เรียกแม่, เจ้าแม่ รวบอำนาจรวมศูนย์ด้วยการอ้างผี จึงมีอำนาจเหนือชาย สืบตระกูลทางฝ่ายหญิง เพราะหญิงเป็นแม่ให้กำเนิดลูก หญิงมีอำนาจเหนือชาย เพราะหญิงเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน ในพิธีแต่งงานหญิงเป็น “นาย” เรียก เจ้าสาว ส่วนชายเป็น “ขี้ข้า” เรียก เจ้าบ่าว ต้องไปอยู่รับใช้บ้านของฝ่ายหญิง
แม่ข้าว คือผีแห่งข้าว หรือเจ้าแม่แห่งข้าว ที่คุ้มครองพันธุ์ข้าว, ต้นข้าว, นาข้าว เมื่อถึงฤดูทำนาต้องมีพิธีสู่ขวัญแม่ข้าว เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์
[ปัจจุบันยังทำพิธีสืบเนื่องเรียก “แรกนาขวัญ”]
ยกย่องสัตว์มีพลังเหนือธรรมชาติ ได้แก่ หมา, กบ, งู, จระเข้, ตะกวด เป็นต้น หมา เป็นสัตว์นำทางส่งขวัญของชนชั้นนำของเผ่าพันธุ์ขึ้นฟ้ารวมพลังกับผีฟ้า กบ เป็นสัตว์นำน้ำฝนสู่ชุมชนให้คนทำนาทำไร่อุดมสมบูรณ์ งู เป็นผู้คุ้มครองน้ำและดิน เช่นเดียวกับจระเข้ และตะกวด
[ปัจจุบันประเทศไทยนับถือ “ศาสนาไทย” เป็นศาสนาผสม “ผี-พราหมณ์-พุทธ”, ยกย่องงูในชื่อพญานาค, เชื่อผีฟ้าผีแถนและมีจุดบั้งไฟขอฝนจากผีแถนผีฟ้า, เชื่อเรื่องขวัญ จึงมีพิธีทำขวัญทั่วประเทศ แต่เรียกวิญญาณ เพราะปนกับความเชื่อในพราหมณ์, พุทธจนลืมว่าแท้จริงคือขวัญ ฯลฯ] •
| สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022