กรองกระแส / บนทาง 2 แพร่ง เผด็จการ ประชาธิปไตย จะเลือกทางใด

กรองกระแส

บนทาง 2 แพร่ง

เผด็จการ ประชาธิปไตย

จะเลือกทางใด

คําแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเป็นประธานในวันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหารครบรอบปีที่ 60 และงานเกียรติยศจักรดาวประจำปี 2561 ที่ว่า
“ผมสัญญาเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
“แต่ยังมีปัญหาที่คนบางกลุ่ม บางฝ่าย พยายามจะให้ทุกอย่างกลับมาเป็นแบบเก่า ดังนั้น ขอให้เลือกเอาแล้วกันว่า
“จะเอาแบบผม หรือจะให้กลับมาที่เดิม”
มีความสำคัญไม่เพียงแต่ต่ออนาคตทางการเมืองของประเทศไทย หากยังสำคัญอย่างยิ่งยวดต่ออนาคตทางการเมืองของ คสช. และของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เหมือนกับเป็นการพูดกับ “สื่อ”
แต่เมื่อสื่อนำเสนอรายละเอียดของ “ถ้อยคำ” ต่อสาธารณะ จึงเท่ากับเป็นการพูดโดยตรงกับประชาชน
1 เท่ากับเป็นการเสนอหลักการ แนวทางของ คสช.
ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญ เท่ากับเป็นการเสนอให้ “ประชาชน” ตัดสินใจ “เลือก” ว่าจะเอาอย่างไรระหว่าง “แบบผม” กับ “กลับที่เดิม”

ยุทธวิธี ยุทธศาสตร์
สืบทอดอำนาจ คสช.

การพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่โรงเรียนเตรียมทหาร ทำให้การพูดก่อนหน้านี้ที่ว่า “ผมเป็นนักการเมือง” มีความแจ่มชัด
ทั้งยังทำให้ประเด็น “สืบทอดอำนาจ” มีความแจ่มชัด
ไม่ว่าจะเป็นการสืบทอดในแบบใด โดยการอาศัย “อภินิหาร” ในทางกฎหมายผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่ง คสช. เป็นคนร่าง
คำพูดครั้งนี้ยืนยันอย่างแจ่มแจ้งว่า คสช. มาแน่ สืบทอดอำนาจแน่
สิ่งเหล่านี้ย่อมประสานเข้ากับการจัดทำรัฐธรรมนูญ การนำเสนอแนวทาง “ประชารัฐ” เพื่อนำไปสู่ “ประชาธิปไตยไทยนิยม” และสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่าน “โครงการไทยนิยมยั่งยืน”
สิ่งเหล่านี้ย่อมประสานเข้ากับการทำทุกอย่างเพื่อสร้างความพร้อมก่อนเลือกตั้ง
แม้กระทั่งการไม่ยอมปลดล็อกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 57/2557 และฉบับที่ 3/2558 ทั้งยังประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 เพื่อนำไปสู่การสร้างความชอบธรรมในการแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “ยุทธวิธี” เพื่อบรรลุ “ยุทธศาสตร์” แห่งการสืบทอดอำนาจของ “พรรค คสช.”

การต่อสู้ 2 แนวทาง
เอาทหาร ไม่เอาทหาร

ข้อเสนอจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า “จะเอาแบบผม หรือจะให้กลับมาที่เดิม” แม้ทางเลือกที่ 2 ค่อนข้างจะพร่าเลือน ไม่แจ่มชัด แต่ในที่สุดก็สามารถขมวดได้ตามบทสรุปของ 2 คน 2 วัย
1 คือ นายพิชัย รัตตกุล 1 คือ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล
นายพิชัย รัตตกุล อาจเสนอกว้างๆ ให้พรรคการเมืองร่วมมือกัน หากไม่ร่วมมือกันก็ไม่สามารถเอาชนะ คสช.
นายปริญญา เทวนฤมิตรกุล สรุปว่า จะเอาทหาร หรือไม่เอาทหาร
ข้อเสนอจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจต้องการให้เลือก คสช. เลือกตน จึงระบุอีกฝ่ายว่า “หรือจะให้กลับที่เดิม” ซึ่งก็หมายความว่าจะเอาผม คือ คสช. หรือจะกลับที่เดิม คือ นักการเมือง
ในที่สุดก็คือ จะเอารัฐประหาร หรือไม่เอารัฐประหาร
ในที่สุดก็คือ จะเอารัฐบาลที่มาจากกระบวนการรัฐประหาร หรือจะเอารัฐบาลที่มาจากการตัดสินใจของประชาชนโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
นี่คือโจทย์อันแหลมคมยิ่งในทางการเมืองนับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

เผด็จการ ประชาธิปไตย
พันธมิตรในแนวร่วม

ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่สถานการณ์ทางการเมืองได้มาถึงบาทก้าวที่สำคัญ
เป็นคำถามที่ประชาชนจำเป็นต้องเลือก
1 คือเลือกที่จะเดินไปตามแนวทางรัฐประหาร โดยรัฐบาลที่มาจากปากกระบอกปืน หรือ 1 คือเลือกที่จะเดินไปตามแนวทางตรงกันข้ามกับรัฐประหาร โดยรัฐบาลที่มาจากการตัดสินใจของประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
แนวทางนี้อาจยังพร่าเลือนในท่ามกลางความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและยาวนานตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 แต่กระบวนการของ คสช. นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ค่อยๆ สร้างความแจ่มชัดให้กับสังคมไทย
การตัดสินใจของประชาชนในทาง “ความคิด” จึงสำคัญ และจากนั้นกระบวนการทาง “การเมือง” ก็จะแสดงออกตามมาในอีกไม่นานอย่างแน่นอน