ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
เมืองสมัยใหม่ในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองมหานครที่มีบทบาทในฐานะเมืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสังคม มักประสบปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความต้องการหลากหลายและขัดแย้งกันเอง ซึ่งในบรรดาพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ความตายคือหนึ่งในปัญหาที่ย้อนแย้งมากที่สุดพื้นที่หนึ่งของการบริหารจัดการเมือง
ในด้านหนึ่ง เมืองมหานครคือเมืองที่มีผู้คนหลายล้านอยู่อาศัยร่วมกัน และดังนั้น จึงเป็นพื้นที่ที่มีคนตายต่อวันเป็นจำนวนมากที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมืองมหานครก็ไม่อาจปล่อยให้พื้นที่ความตายกินอาณาบริเวณเป็นจำนวนมากได้เช่นกัน เพราะไม่ใช่พื้นที่ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอะไรนัก
ยังไม่นับรวมปัญหาเรื่องมลพิษทั้งในส่วนที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย และทั้งในส่วนที่เป็นมลพิษทางสายตาซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สบายใจของผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่จัดการความตาย
ดังนั้น ทุกเมืองมหานครทั่วโลก แนวโน้มหลักจึงเป็นการพยายามหาวิธีการใดก็ตามที่จะลดปริมาณการใช้สอยพื้นที่ความตายของพลเมืองลงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ยกเว้นกรณี “ความตายแห่งชาติ” ซึ่งไม่นับรวมอยู่ในประเภทนี้)
เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความตายจึงถูกพัฒนาขึ้นโดยลำดับ เพื่อให้ทุกอย่างดูสะอาด รวดเร็ว ประหยัด และไม่ใช้พื้นที่สิ้นเปลือง
อย่างไรก็ตาม การจัดการความตายมิใช่มีแค่ประเด็นทางกายภาพเรื่องการจัดการซากศพของผู้เสียชีวิตเท่านั้น เพราะความตายยังเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่แยกไม่ออกจากจิตใจและการจัดการอารมณ์ความรู้สึกของผู้ยังมีชีวิตอยู่
ในแทบทุกวัฒนธรรม มนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่เคยถูกแยกอย่างสมบูรณ์ออกจากมนุษย์ที่ตายจากเราไปแล้วได้ ดังนั้น ในทุกสังคม พื้นที่และพิธีกรรมนานาชนิดที่เกี่ยวข้องกับความตายจึงล้วนถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงสายใยที่จะต้องคงอยู่ตลอดไประหว่างคนเป็นและคนตาย
สุสาน, เจดีย์บรรจุอัฐิ, พิธีเช็งเม้งของคนจีน, พิธีสารทเดือนสิบของคนไทย, เทศกาล Obon ในญี่ปุ่น, เทศกาล D?a de Muertos ของเม็กซิโก, พิธี Tiwah ในพื้นที่กาลิมันตัน อินโดนีเซีย ฯลฯ คือตัวอย่างเพียงบางส่วน
แทบทุกสถานที่และพิธีกรรมข้างต้นต่างเรียกร้องการใช้สอยพื้นที่ไม่น้อย (โดยเฉพาะสังคมที่จัดการความตายในรูปแบบของการฝังในสุสาน) ซึ่งในโลกสมัยใหม่ ในเมืองมหานครทั้งหลายซึ่งล้วนแล้วแต่ถูกขับเคลื่อนไปด้วยแนวคิดทุนนิยมนั้น ไม่อาจยอมรับได้ที่จะปล่อยให้สูญเสียพื้นที่เมืองเป็นจำนวนมากไปกับเรื่องของความตายและพิธีกรรม
ด้วยเหตุนี้ นวัตกรรมทางความตายในสังคมร่วมสมัยเป็นจำนวนมากจึงถูกคิดขึ้นเพื่อค้นหาสมดุลใหม่ระหว่างการจัดการพื้นที่ในมิติทางกายภาพและภารกิจทางจิตวิญญาณที่กำลังเดินสวนทางกันมากขึ้นเรื่อยๆ
สิงคโปร์ คือกรณีที่น่าสนใจ เป็นที่ทราบดีว่าพลเมืองกลุ่มใหญ่ของสิงคโปร์มีเชื้อสายจีน ซึ่งในอดีตนิยมการฝังศพเป็นหลักและมีพิธีกรรมระลึกถึงบรรพบุรุษอย่างจริงจังในทุกรอบปีในพื้นที่สุสาน
แต่ภายหลังสิงคโปร์ได้รับเอกราชและแยกตัวออกจากมาเลเซียมาเป็นประเทศของตนเองในปี พ.ศ.2508 รัฐบาล ณ ขณะนั้น ได้รณรงค์อย่างจริงจังให้มีการเผาศพแทนที่การฝัง ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์สามารถลดและเลิกพื้นที่สุสานลงเพื่อนำที่ดินไปพัฒนาในด้านอื่นได้สะดวก
ส่วนอัฐิที่เหลือจากการเผา จะมีการบรรจุลงในโถและไปบรรจุไว้ในช่องกำแพง ซึ่งภาครัฐและเอกชนก็ได้จัดสร้างสถานที่บรรจุอัฐิขึ้นเพื่อรองรับความต้องการชนิดใหม่นี้หลายแห่ง ซึ่งพื้นที่นี้ยังคงสามารถประกอบพิธีกรรมได้ไม่ต่างมากนักจากสุสานแบบเดิม
ปัจจุบันพลเมืองส่วนใหญ่ของสิงคโปร์ต่างเปลี่ยนมาเผาศพแทนการฝังเกือบทั้งหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ปัญหาพื้นที่ความตายแบบเผาก็เริ่มส่อเค้ารางว่าอาจจะไม่ยั่งยืนสำหรับสิงคโปร์ในอนาคต เพราะพื้นที่สำหรับบรรจุโถอัฐิเริ่มลดน้อยลง ไม่สัมพันธ์กับความต้องการที่มากขึ้น
ดังนั้น เมื่อปี พ.ศ.2564 สิงคโปร์ได้ริเริ่มนวัตกรรมที่น่าสนใจสำหรับอนาคต นั่นก็คือ Garden of Peace ซึ่งเป็นการนำเถ้าอัฐิของคนตายที่เป็นผงละเอียด (ไม่ใช่กระดูกชิ้นใหญ่) ไปโปรยลงในพื้นที่สวนเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของดินและต้นไม้ในสวน
นวัตกรรมนี้ประหยัดพื้นที่ลงไปมหาศาล ซึ่งหากประสบความสำเร็จจริงในอนาคตก็เรียกได้ว่า แทบไม่เหลือร่องรอยในทางกายภาพของผู้ตายอีกต่อไป
ขณะเดียวกัน วิธีนี้ก็พยายามจะสร้างสมดุลระหว่างการลดพื้นที่ความตายกับพิธีกรรมตามประเพณี เพราะก่อนหน้านี้ เคยมีความพยายามรณรงค์ให้จัดการเถ้าอัฐิด้วยการนำไปโปรยลงทะเล ซึ่งก็จะประหยัดพื้นที่เช่นกัน
แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือสร้างความรู้สึกว่าบรรพบุรุษของตนจะล่องลอยกระจายไปกับท้องทะเลอันเว้งว้างและไม่สามารถกำหนดตำแหน่งในการทำพิธีระลึกถึงได้
ในขณะที่วิธีการโปรยเถ้าอัฐิลงในสวน ญาติสามารถมาจัดพิธีกรรมรำลึกประจำปีถึงผู้ตายได้ในรูปแบบที่คล้ายประเพณีเดิม ณ บริเวณที่โปรยเถ้าอัฐิได้ และยังสร้างความรู้สึกว่าผู้ตายยังคงอยู่ ณ จุดนั้นๆ ยังคงสามารถเชื่อมต่อกับลูกหลานได้
ประเทศจีน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ โดยในปัจจุบันเริ่มมีนวัตกรรมใหม่ในการประกอบพิธีเช็งเม้งผ่านโลกเสมือนจริง มีการออกแบบสุสาน เลือกของเซ่นไหว้ ไปจนถึงการพิมพ์สื่อสารความรู้สึกถึงบรรพบุรุษได้ในโลกออนไลน์
ธุรกิจนี้เริ่มมีมานานพอสมควรแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มได้รับความนิยมขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับความเจิรญทางเทคโนโลยีสื่อสารที่มากขึ้น ที่ทำให้ทุกอย่างมีความสมจริงและตอบสนองมิติทางจิตวิญญาณได้ดีขึ้น
นวัตกรรมนี้ หลายคนมองว่าช่วยประหยัดเวลาและงบประมาณมหาศาล อีกทั้งยังมีข้อดีคือสามารถพูดคุยกับญาติที่ตายไปแล้วได้ตลอดเวลา มิใช่เจอกันแค่ปีละครั้งตามรูปแบบเดิม นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีการเข้มงวดเรื่องการเดินทางมาก การทำเช็งเม้งผ่านโลกเสมือนจึงเข้ามาตอบโจทย์โลกสมัยใหม่มากขึ้นตามไปด้วย (ดูเพิ่มใน https://www.salika.co/2020/03/28/chinese-tomb-sweeping-day-qing-ming)
แม้วิธีการนี้ยังไม่น่าจะพัฒนาจนกลายมาเป็นวิธีการหลักในการประกอบพิธีเช็งเม้งในจีนในระยะเวลาอันใกล้แน่ๆ แต่การเกิดขึ้นของนวัตกรรมดังกล่าวก็สะท้อนทิศทางของพื้นที่ความตายในเมืองมหานครปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ย้อนกลับมาที่สังคมไทยและเมืองกรุงเทพฯ แม้การเผาศพจะเป็นวิธีการหลักซึ่งมิได้ใช้พื้นที่มากมายอะไรนัก แต่ด้วยแนวคิดสมัยใหม่และแนวโน้มการพัฒนาเมืองภายใต้ระบบทุนนิยม พื้นที่ความตายในอนาคตก็น่าจะต้องปรับตัวเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย
ดังที่อธิบายไปในสัปดาห์ก่อนๆ แล้วว่า พื้นที่ความตายในปัจจุบันมิใช่สิ่งคุ้นเคยที่ผู้คนยอมรับ มองเห็น และใกล้ชิดในแบบจารีตอีกต่อไป
ดังนั้น เมรุเผาศพและที่บรรจุอัฐินับวันก็จะกลายเป็นสิ่งที่สร้างความรู้สึกเชิงลบให้กับผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ และคงจะต้องถูกปิดซ่อนหรือย้ายหนีออกไปจากเมืองในอนาคตข้างหน้าไม่ช้าก็เร็ว
ปัญหาเรื่องมลภาวะจากเตาเผาศพก็ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกยกมาพูดถึงเป็นระยะตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งนี้จะเข้ามาเป็นตัวเร่งให้เกิดการลดน้อยลงของพื้นที่ควายตายในเมืองกรุงเทพฯ เช่นกัน
อีกปัจจุบัยที่สำคัญคือ ภายใต้ความต้องการแสวงหารายได้ของวัด (ซึ่งในกรุงเทพฯ คือพื้นที่เดียวในการจัดการความตาย) ที่เริ่มหันไปหาธุรกิจตามแนวทาง “วัดปาฏิหาริย์พาณิชย์” มากขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่จัดการความตายในวัดบางแห่งเริ่มถูกพิจารณาว่าไม่ใช่สิ่งที่วัดควรสร้างอีกต่อไป
ถึงขนาดที่เมื่อหลายปีก่อนมีวัดดังแห่งหนึ่งถึงขนาดรื้อเมรุทิ้งเพื่อนำพื้นที่ไปพัฒนาวัดในรูปแบบอื่น
ปัญหาโควิด-19 ที่ผ่านมาก็ส่งผลกระทบต่อการเผาศพและพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความตายอย่างมาก หากเราตามอ่านข่าวในช่วงนั้น ก็จะพบว่ามีญาติคนตายไม่น้อยที่รู้สึกว่าพวกเขาจัดการกับศพญาติตนเองได้อย่างไม่ถูกต้องตามความเชื่อ และกลายเป็นปมในจิตใจของใครหลายต่อหลายคน
ทั้งหมดนี้คือปัญหาและความท้าทายในโลกสมัยใหม่ต่อการบริหารจัดการพื้นที่ความตาย ซึ่งในแต่ละสังคมต่างมีเงื่อนไขต่างกันและต่างก็พยายามหาสมดุลใหม่ของพื้นที่นี้
ผมคิดว่า สังคมไทยในอีกไม่ช้า ภายใต้เงื่อนไขมากมายทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะตามมาใหม่อีกมากในอนาคต จะผลักดันให้เกิดแนวคิดและรูปแบบการจัดการความตายใหม่ขึ้น ไม่ต่างจากที่หลายสังคมได้พยายามทำขึ้นไปก่อนหน้าแล้ว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022