ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | สุภา ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
กลางเดือนสิงหาคมเป็นช่วงเวลาที่คนญี่ปุ่นกลับบ้านที่ต่างจังหวัดในเทศกาลโอบ้ง (お盆) ระหว่างวันที่ 13-16 สิงหาคม เมื่อรวมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ด้วยแล้วก็กลายเป็นวันหยุดยาวหลายวันทีเดียว
คนญี่ปุ่นกลับบ้านเกิดเพื่อเคารพสุสานบรรพบุรุษและจัดเครื่องเซ่นไหว้ และถือเป็นโอกาสรวมสมาชิกครอบครัวที่แยกย้ายกันไปทำงานในจังหวัดห่างไกลได้กลับมาพบกันพร้อมหน้าที่บ้านเกิด บางครอบครัวเหลือเพียงพ่อหรือแม่ที่เข้าสู่วัยชราที่ไร้ผู้ดูแลและอยู่อย่างเหงาหงอย
เคียวโกะ อิชิซากะ (石坂京子) นักจัดระเบียบชื่อดัง และมีหนังสือจัดระเบียบบ้านติดอันดับขายดี แนะนำว่าควรใช้โอกาสนี้จัดระเบียบข้าวของในบ้านพ่อแม่ด้วย นอกจากการพบปะ พูดคุยกัน เพราะว่าอย่างไรเสีย วันหนึ่งข้างหน้าก็เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่ดีเมื่อพ่อหรือแม่ไม่อยู่แล้ว
หากรวบยอดไปทำเอาตอนนั้น ของสำคัญหรือเอกสารบางอย่างที่จำเป็นต้องใช้ยืนยันเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ ตามกฎหมาย อาจหาไม่เจอ พ่อแม่เก็บไว้อย่างดีจนลืม หรือไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนแล้ว
หากต้องกลับบ้านไปทำตอนพ่อแม่ไม่อยู่แล้ว จะเหนื่อยหนักกว่าทำตอนที่ท่านยังอยู่ ไหนจะความเศร้าจากงานศพและความเหนื่อยเมื่อต้องกำจัดข้าวของที่เหลือระเกะระกะอยู่
การจัดระเบียบบ้านที่พ่อแม่อยู่ ไม่ได้ง่ายเหมือนการจัดระเบียบที่บ้านของตัวเองเลย หลายคนพบว่าของทุกชิ้นยังอยู่ที่เดิม ไม่มีการเคลื่อนย้าย เหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ตัวเองออกจากบ้านไป เครื่องครัว ถ้วยชาม ยังคงมีจำนวนเท่าจำนวนสมาชิกที่เคยใช้ ทั้งๆ ที่ปัจจุบันใช้เพียงจำนวนหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น ไม่นับข้าวของอื่นๆ เครื่องนอน ผ้าห่ม กระเป๋า เสื้อผ้า เป็นต้น
สิ่งที่ไม่ง่ายคือ พ่อแม่เป็นคนรุ่นสงครามโลกที่ทุกอย่างอัตคัดขัดสน รู้คุณค่าของสิ่งของ ต้องใช้ของอย่างคุ้มค่า ไม่เคยทิ้งของถ้าไม่เสียจนใช้ไม่ได้จริงๆ
หรือด้วยความคิดว่าเก็บไว้ก่อน เผื่อใช้อีกวันข้างหน้า เผื่อมีงานเลี้ยง เผื่อตอนปีใหม่มารวมญาติ หลายๆ บ้านคงเจอเรื่อง “เผื่อ…” ทำนองนี้ จนต้องโต้เถียงกัน พ่อแม่ก็งอนหรือโกรธที่ถูกเอาของไปทิ้งอย่างน่าเสียดาย
ควรเริ่มจากการพูดคุยกับพ่อแม่ว่าการจัดระเบียบบ้าน กำจัดของใช้ที่ไม่มีประโยชน์หรือไม่ใช้แล้วจะมีผลดีอย่างไร เป็นต้นว่า ทำให้ท่านได้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย ไม่สะดุดหกล้มจากข้าวของมากมายที่วางกองสุมจนแทบหาทางเดินไม่เจอ เคลียร์พื้นที่ไว้เผื่อวันหนึ่งจำเป็นต้องใช้รถเข็น และมีพื้นที่กว้างขวางสะอาดตาให้ท่านอยู่ในบ้านได้จนวาระสุดท้าย
นอกจากนี้ เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สิน เงินทอง จัดเก็บให้เป็นที่เป็นทางไม่กระจัดกระจาย เมื่อถึงเวลาจะได้นำไปดำเนินการทางกฎหมายได้ ตอนนี้ยังสามารถถามไถ่ สืบค้นได้จากตัวท่านเอง
หลายคนพบว่า ผลที่ได้จากการจัดระเบียบนอกจากความสะอาดสะอ้านแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ ได้กระตุ้นความกระปรี้กระเปร่าให้ท่าน ตอนจัดระเบียบห้องครัว เครื่องครัวที่รื้อออกมาให้เห็นอีกครั้งทำให้คุณแม่ รู้สึกอยากทำอาหารที่เคยทำนานมาแล้ว ลูกๆ เรียกร้องอยากกินอาหารวัยเด็กรสมือแม่อีก ได้ฝึกสมองเรียกความทรงจำของท่านให้รำลึกความหลังจากชุดเสื้อผ้า กล่องของขวัญ ของที่ระลึกต่างๆ ที่เก็บลืมไว้บนหลังตู้ เป็นต้น
เคียวโกะบอกว่า หนึ่งอุปสรรคสำคัญของการจัดระเบียบบ้านพ่อแม่คือ ความเสียดายของ วิธีที่ดีคือ บอกท่านว่าขอเอาไปใช้เอง จะช่วยเอาไปขายต่อ ถ้าเอาไปให้คุณ…เขาคงดีใจนะ เป็นต้น
ถ้าเป็นอย่างนี้ท่านอาจสบายใจ ไม่เสียดายหากทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องขนของออกมากองพะเนินแล้วกำจัดในครั้งเดียว เพราะจะเพิ่มความเครียดและทำให้เหนื่อยจนมีปากเสียงกันได้
แนะนำให้เริ่มทำทันทีและค่อยๆ ทำอย่างสม่ำเสมอ
เทคนิคการจัดระเบียบแบ่งเป็น “สิ่งของ” (もの) กับ “กระดาษ” (紙) เป้าหมายของการจัดระเบียบ “สิ่งของ” คือ ต้องการลดจำนวน เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่าง และความปลอดภัยให้แก่ผู้สูงวัย จัดระเบียบแล้วก็สะอาดตา
ส่วน “กระดาษ” หมายถึง เอกสารสำคัญต่างๆ แบ่งเป็น “กระดาษที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเงินทอง” อาทิ สมุดบัญชีธนาคาร บัตรเงินสด ใบหุ้น โฉนดที่ดิน สัญญาต่างๆ เป็นต้น เก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย และ “บัตรจำเป็น” อาทิ บัตรประจำตัวประชาชน พาสปอร์ต บัตรคนไข้ ใบรับประกันสินค้า เป็นต้น รวบรวมเก็บไว้ต่างหาก สิ่งเหล่านี้ถ้าให้พ่อแม่ผู้สูงวัยเก็บเอง อาจจำไม่ได้ หาไม่เจอ เมื่อจำเป็นต้องใช้
ในชีวิตประจำวันเรามี “กระดาษ” ต่างๆ เข้ามาทุกวัน วางทิ้งไว้ปนกันไปหมด ถึงเวลาต้องใช้กลับหาไม่เจอ เสียเวลา เสียอารมณ์
จึงมีข้อแนะนำการจัดระเบียบว่า เตรียมกล่อง 4 ใบ แต่ละใบเขียนสติ๊กเกอร์ติดไว้ชัดเจนคือ เงิน (マネー) สุขภาพ (健康) ชีวิตประจำวัน (暮らし) และกล่องสุดท้าย “รอไว้ก่อน” (未処理) วางไว้ในที่เห็นได้ง่าย เช่น ใบหุ้น ใบรับประกันจิวเวลรี่ ใส่ในกล่อง “เงิน” ใบนัดตรวจแพทย์ ใส่กล่อง “สุขภาพ” ใบจองโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน ใส่กล่อง “ชีวิตประจำวัน” ส่วนกล่อง “รอไว้ก่อน” เป็นบิลต่างๆ ที่รอกำหนดชำระ เป็นต้น เมื่อสะสางแล้วก็ทิ้งไปได้เลย
เคียวโกะบอกว่า เธอมีกล่องเฉพาะเพิ่มอีกหนึ่งกล่องคือ “กล่องเคียงโลง (ศพ)” (棺桶ボックス) เป็นกล่องเก็บของที่มีความหมายสำคัญในชีวิต
อาทิ การ์ดอวยพร “รักแม่ที่สุดในโลก” เขียนด้วยลายมือโย้เย้ของลูก ภาพถ่ายบางใบที่เปี่ยมด้วยความทรงจำและความสุข เป็นต้น เก็บแยกไว้
แต่บอกคนใกล้ชิดว่า ถ้า “วันสุดท้าย” มาถึง ช่วยนำกล่องนี้ใส่ในโลงศพเคียงกับร่างของเธอด้วย
ขึ้นต้นด้วยเรื่องจัดระเบียบบ้านพ่อแม่
ลงท้ายด้วยเรื่องจัดระเบียบเพื่อวันสุดท้ายของตัวเอง…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022