ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง |
เผยแพร่ |
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ใครดูโทรทัศน์สมัยก่อนที่ยังไม่เป็นทีวีดิจิทัล มักคุ้นหน้าคุ้นตาพิธีกรหน้าตาจิ้มลิ้ม สูงยาวเข่าดี พูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว นาม “ศันสนีย์ ศีตะปันย์” ซึ่งเธอจัดอยู่หลายรายการและล้วนเป็นรายการที่ได้รับความนิยม อย่างเช่น รายการตามไปดู ที่เป็นพิธีกรร่วมกับ “หมอซ้ง”, รายการ “Morning Talk” ที่จัดเป็นภาษาอังกฤษล้วน และรายการ “CNN World Report”
นอกจากนี้ เธอยังเป็นนักเขียนด้วย ผลงานเด่นๆ อาทิ เรื่องความรักหลายมิติ ลงในนิตยสารชื่อดัง “คู่สร้างคู่สม” ก่อนตีพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กขายดีเล่มหนึ่ง
และงานเขียนกับค่ายมติชนเรื่อง “เมรุมายา” ก็ได้รางวัลในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
ปัจจุบัน “ศันสนีย์ ศีตะปันย์” ในวัย 67 ปี ซึ่งมักใช้คำแทนชื่อของตัวเองกับคนรุ่นลูกรุ่นหลานว่า “แม่ไก่” ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่กับสามีคนปัจจุบัน “พล.อ.โฆษิต สมุทรผ่อง” อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ปราณบุรี
สมัยเป็นพิธีกรชื่อดัง คุณศันสนีย์ใช้นามสกุล “เมอลเลอร์” ของสามีชาวเดนมาร์กที่เป็นผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเดนมาร์กประจำประเทศไทยต่อท้ายนามสกุลตัวเอง ซึ่งมีลูกสาวด้วยกันสองคน และตอนนี้แต่งงานมีหลานๆ ให้อุ้มกันแล้ว
คุณศันสนีย์เล่าว่า ช่วงอายุ 50 กว่าๆ ชีวิตครอบครัวกับสามีต่างชาติเริ่มผกผัน จากครอบครัวอบอุ่นก็เริ่มมีปัญหา ขณะที่ตัวเองทำงานเยอะ จากนั้นเริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นสัญญาณเล็กๆ แต่ไม่ได้สนใจ พอคุณพ่อเสียไม่อยากทำอะไรเลย
ตอนที่คุณพ่อเสีย พร้อมๆ กับเสียสามี โดยแยกทางกันอย่างเป็นทางการ สามีขอดูแลลูก เราก็บอกว่าไม่เป็นไร เราเหมือนตัวคนเดียว เลยย้ายมาอยู่หัวหินก็ต้องทำงานด้วย ตอนนั้นอายุ 55 ปี ได้เจอกับครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ครูเล็กเตือนสติว่าทุกข์มันมาแป๊บๆ ทำงานแป๊บเดียวเดี๋ยวก็หาย
จึงได้ทำงานกับครูเล็กที่โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน และเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต หัวหิน
“รวมทั้งได้ไปช่วยสอนภาษาอังกฤษให้กับผู้บริหาร แคดดี้ และพนักงาน ซึ่งทางทหารกำลังจะสร้างสนามกอล์ฟและโรงแรมที่สวนสน ทำให้ได้ไปเจอพี่เต้ (พล.อ.โฆษิต สมุทรผ่อง) ช่วงนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผบ.ทบ. ท่านก็มาเลี้ยงรุ่นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น12 ท่านบอกว่าต่างคนต่างเป็นพ่อม่าย (ภรรยาเสียชีวิต) แม่ม่าย ก็มาช่วยกันทำงาน ตอนนั้นไม่ได้สนใจว่าจะมีความรักใหม่หรืออะไร แต่อยากทำงานมากกว่า”
เธอบอกด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มว่า การมีชีวิตคู่ใหม่พร้อมกับการทำงานใหม่ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ทำให้คนในวัยอายุ 55 ปีตอนนั้นมีชีวิตชีวามาก รู้สึกตัวเองสดใสมาก สดใสพอๆ กับตอนที่ทำรายการโทรทัศน์ เพราะเป็นคนชอบทำงาน และสามีก็สอนให้ตีกอล์ฟ พร้อมๆ กับรับแขกไปตีกอล์ฟไป อยู่ริมทะเล มีความสุขมาก
เลยคิดว่าชีวิตน่าจะลงตัว
อย่างไรก็ตาม พอแต่งงานกันได้ไม่กี่ปีช่วงอายุกำลังจะ 60 ก็ล้มป่วยหนักมาก หนักขนาดติดเตียงเดินไม่ได้ คิดว่าน่าจะจบแค่นี้แหละชีวิต เพราะเริ่มมีสัญญาณ (Sign) มาตลอด แต่ตัวเองไม่ได้สังเกต ซึ่งคนที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันเพี้ยน หรือโรคพุ่มพวง จะเป็นคนที่มีภูมิต้านทาน หรือภูมิคุ้มกันในร่างกายมากเกินกว่าปกติ พอติดเชื้ออะไรเข้าไปปั๊บ ร่างกายก็ฆ่าเซลล์ทำลายเซลล์ตัวเอง ทำให้ติดเชื้อ อาเจียน ในที่สุดจะติดเตียง และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต ตอนนั้นแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ก็ไปเยี่ยม
ช่วงนั้นลูกๆ และใครๆ ก็คิดว่าต้องตายแน่ เพราะหนักสุดนอนอยู่บนเตียง ไม่รู้สึกตัว พูดเป็นภาษาต่างดาว พูดไม่รู้เรื่อง เบลอ และน้ำไขสันหลังขึ้นสมองก็นำอะไรต่ออะไรขึ้นไป
ต่อจากนั้นก็เริ่มเป็นผื่น ปุปะปุปะ โชคดีได้หมอดีของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าที่ค้นพบว่าเป็นโรค SLE จึงรักษาได้ตรงกับโรค
พอรักษาดีขึ้น ต่อมาตัดสินใจย้ายมาอยู่กับสามีที่ปราณบุรี โดยซื้อคอนโดฯ อยู่ริมทะเล ซึ่งสามีดูแลเทกแคร์อย่างดี พร้อมๆ กับการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่หมด สนใจเรื่องสมาธิมากขึ้น
เมื่อก่อนแม่ชีศันสนีย์ให้อ่านอะไร ให้ทำอะไร ไม่ค่อยสนใจ ตอนนี้สนใจมากขึ้น กินอาหารที่พิเศษมากขึ้น ไม่กินเยอะ อะไรที่รู้ว่าไม่ดีก็ไม่กิน ที่เล่นกีฬา เล่นกอล์ฟแบบเป็นเรื่องเป็นราว
และที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือ ครูเล็กให้ออกมาทำงานและยังชวนให้เล่นละครด้วย
คุณศันสนีย์เล่าว่า ได้มาช่วยงานครูเล็ก ภัทราวดี เป็นงานๆ ไป เป็นการให้ทำงานเพื่อให้ชีวิตไม่ทุกข์ ซึ่งแม่ชีศันสนีย์เป็นศิษย์ท่านพุทธทาส ท่านพุทธทาสท่านก็ให้ทำงาน เพื่อเห็นทุกข์ไม่เป็นทุกข์ เห็นทุกข์ไม่คลุกคลีก็ไม่เป็นทุกข์ การทำงานถือเป็นกุศลอย่างหนึ่ง ตนก็มาช่วยครูเล็กในลักษณะเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์เรื่องการปฏิบัติธรรมง่ายๆ ให้ผู้ที่มาเข้าค่ายที่โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน
“อยากให้ทุกคนศึกษาธรรมะให้ถ่องแท้ ธรรมะไม่ได้อยู่ในวัด ไม่ได้นั่งหลับตา ไม่ได้ใส่ชุดขาว ไม่ได้ใส่ชุดเหลือง โกนหัวไม่ใช่ มันอยู่ในชีวิตจริงๆ ของเรา ชีวิตประจำวันที่เห็นทุกข์เห็นสุข และสามารถที่จะไม่คลุกคลีกับมัน และสามารถจะปล่อยมันไปได้”
คุณศันสนีย์ย้ำให้เห็นว่า โรคพุ่มพวงเป็นโรคมาจากพันธุกรรมส่วนหนึ่ง และอีกส่วนเป็นการใช้ชีวิตที่ผิดพลาดทั้งหมด นอนไม่ตรงเวลา กินไม่ตรงเวลา กินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน อะไรต่ออะไร
ซึ่งในสมัยที่ทำงานโทรทัศน์ จะต้องออกงาน กินนอนไม่เป็นเวลา ไม่เคยคิดที่จะกินของดีมีประโยชน์ กินเหล้าสูบบุหรี่บ้าง แต่ไม่ได้มากมาย เพราะว่าบางช่วงทำงานอยู่กับแม่ชีศันสนีย์ก็ทำอะไรแบบนั้นไม่ได้ ท่านก็เตือนมาเสมอ
แต่เรื่องนอนดึก เป็นเรื่องไม่เคยนอนตรงเวลา ส่งผลให้นาฬิกาชีวิตรวนหมดเลย
นั่นเป็นที่มาของโรคนี้ คือการใช้ชีวิตที่ผิดพลาด ซึ่งอันนี้สำคัญที่จะต้องระมัดระวัง จะบอกทุกคนว่าโรคนี้เริ่มค้นพบเจอเยอะมากขึ้น วิธีการหายจากโรคคือต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต กลับไปใช้วิถีชีวิตที่ดี
เปรียบเหมือนมะเร็งกลัวความสุข กลัวเสียงหัวเราะ มะเร็งกลัวอากาศดี อะไรที่ดีๆ มะเร็งกลัวหมด
แต่ถ้าอะไรที่เติมเชื้อเข้าไป ทุกข์ทน หม่นหมอง ซึมเศร้า มะเร็งจะชอบมาก เจริญเติบโตได้เร็วมาก และเมื่อไรก็ตามที่มีอะไรที่เป็นอกุศลก็จะลงไปที่เซลล์
ขณะที่ถ้าเติมเชื้อของความดี เติมเชื้อของกุศลลงไปในเซลล์ แน่นอนว่าร่างกายก็จะต้องดีขึ้น ฟื้นตัวขึ้น
คุณศันสนีย์ถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นโรคพุ่มพวงให้ฟังอีกว่า ในเรื่องของ SLE จะไม่มีวันหาย แค่โรคสงบลง ที่เห็นว่าทำไมผิวหน้าดูคล้ำๆ เกิดจากการกินยาเยอะ บางคนกินเป็นกำมือ 12 เม็ดต่อมื้อ
ตนเองเป็นมา 7 ปีก็ลดลงมาเรื่อยๆ เหลือเพียงแค่ครึ่งเม็ด กินวันเว้นวัน
หมอบอกเคสอาจารย์น้อย ถ้าตายแล้วเป็นอาจารย์ใหญ่ หมอเลยขอว่าอย่าเพิ่งตายเพราะยังไม่ได้ต้องการอาจารย์ใหญ่ ให้เป็นอาจารย์น้อยไปก่อน กรณีของตนเองถือเป็น Case study เลยที่หาย โรคสงบนานมาก ตอนนี้ใช้วิธีกินอาหารเป็นยา คือกินน้อยๆ
“แม่ไก่โชคดีมีคู่ชีวิตใหม่ที่ดีมาก ซึ่งพี่เต้เป็นคนไม่ทุกข์ ไม่เอาความทุกข์มาใส่เรา ท่านอายุ 71 ปี แก่กว่าแม่ไก่ 5-6 ปี เป็นสุภาพบุรุษ ดูแลเรา ท่านชอบกีฬา ชอบลีลาศ เราก็ไปไหนไปด้วยกัน ท่องเที่ยวด้วยกัน”
ในฐานะผู้ที่เคยผ่านชีวิตเกือบตายมาแล้ว เธอให้คำแนะนำว่า “อยากแบ่งปันความรู้ให้กับทุกคนว่ากลับมาฟังร่างกาย วิธีฟังง่ายๆ อย่างที่แม่ชีศันสนีย์สอน คือทำสมาธิ อยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ไม่ต้องนั่งสมาธิก็ได้ แต่ทำอยู่ตลอดทุกลมหายใจ พยายามทำให้ได้มากที่สุด และพยายามดูร่างกายว่าบอกอะไรบ้าง อย่างเช่น ถ้าอากาศร้อนต้องดื่มน้ำให้มาก”
สำหรับการใช้ชีวิตคู่ที่มีอันต้องเลิกรากันนั้น คุณศันสนีย์มองว่า “ช่วงที่เลิกกับสามี ไม่มีใครคิดว่าจะมีวันนี้ เพราะที่ผ่านมาเรามีครอบครัวที่อบอุ่น แต่ไม่รู้เลยว่าเหมือนเป็นโรคภัยไข้เจ็บ อยู่ๆ เชื้อโรคมันก็มา คงเป็นเพราะเราทำอะไรผิดพลาด มีชีวิตที่ผิดพลาด อย่างเช่น ทำงานมากเกินไป ไม่สนใจกัน หรืออะไรต่ออะไรกัน พูดไม่รู้เรื่อง เลยเกิดความขัดแย้งนี้ขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะพูดเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้คน คือ เมื่อเราไม่ได้เป็นคนรักกันแล้ว ไม่ได้เป็นสามีภรรยากันแล้ว เรายังเป็นเพื่อนกันได้ เป็นพ่อแม่ที่ดีได้ อย่างครอบครัวใหม่ของสามีและของดิฉันก็ดีต่อกัน และได้ขอขมาที่เคยทำไม่ดีต่อกัน พอมีงานสำคัญก็ไปพบเจอกัน ทำให้ได้ครอบครัวที่ใหญ่ขึ้นและมีความสุข”
คุณศันสนีย์นับเป็นลูกศิษย์ของแม่ชีศันสนีย์อีกคนที่ได้นำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้เข้าใจสัจธรรมของชีวิตมนุษย์ที่มีทั้งสุขและทุกข์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022