ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เอกภาพ |
ผู้เขียน | พิชัย แก้ววิชิต |
เผยแพร่ |
“ความคิดมอบอิสรภาพ ได้พอกับการขังใครสักคนไว้ทุกหนแห่ง”
สิ่งเข้าใจยากที่เรียกว่า “ความคิด” การใคร่ครวญไตร่ตรองของการนึกมโนที่แสนสลับซับซ้อน สามารถให้คุณและโทษ ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม แก่บุคคลผู้มีความคิดเป็นของตัวเอง หรือไม่มีเลยก็ยังตามนั้น
แต่จะอย่างไร ความคิดยังคงเป็นพลังขับเคลื่อนให้ชีวิตได้ล้มลุกคลุกคลาน และอาจทำให้ใครหลายคนลุกขึ้นมายืนได้อย่างสง่างามในท้ายที่สุด
หากแต่ความคิดไม่ง่ายเหมือนกับใจของคนเรา
ความคิดไม่ตามใจเราไปซะทุกสิ่งทุกอย่าง และบ่อยครั้งยังดื้อและกล้าพอที่จะดึงเราเข้าไปยัง “กรงขังความคิด”
หลายคนวนเวียนอยู่ด้วยความสับสนไร้ซึ่งทางออก ความทุกข์ทรมานใจที่มักพบเจออยู่เสมอ กับพิษภัยที่มาจากความคิดของตัวเอง มันอาจต้องใช้เวลากันบ้างกับสิ่งนี้ หรือระดมความคิดร่วมด้วยมาช่วยกันนำพาให้ใครสักคน พ้นเสียจากการถูกกักขังนี้
ว่ากันว่า “ความคิดเป็นตาวิเศษ มักถูกใช้มองสิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้” เพราะความคิดยังคงเห็น “ภาพลักษณ์ของชีวิต ที่สะท้อนออกมาจากชุดความคิดของแต่ละคน ที่ต่างกันอย่างเป็นปกติ” ทำให้การมองเห็น “ภาพของมายาของผู้คน” บนโลกใบเดียวกันนี้ มีมากมายหลายมิติ และทับซ้อนกันอยู่มาก จนยากนักที่จะทำให้ความเข้าใจของผู้คน ได้โคจรมาพบกันท่ามกลางจักรวาลทางความคิด
จนในท้ายที่สุด “ความคิดที่เห็นต่าง” ได้สร้างสิ่งหนึ่ง ทำให้ผู้คนได้รู้จักสิ่งที่เหมือนกัน
กับสิ่งที่มีนามว่า “ความขัดแย้ง”
แต่ถึงอย่างไร “ความคิดยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเสมอ” ไม่ว่าจะดีหรือร้าย
และสายสัมพันธ์ซึ่งกันทางความคิดยังคงไม่ขาดหายไปไหน มันยังคงเชื่อมโยงตัวเราไว้กับความคิดของผู้คนอีกอีกมากมาย การอยู่ร่วมได้กับความคิดอื่นใด โดยเปิดใจไว้ให้ได้คิด เผื่อไว้กับการแก้ปัญหา ตามคำโบราณได้กล่าวไว้ คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย ความคิดแบบนี้จะรู้สึกถึงความอุ่นใจ เมื่อต้องเผชิญกับอันตรายจากภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
เมล็ดพันธุ์ทางความคิด จะหยังรากลึกลงดินเมื่อสมควรแก่เวลา เราจะเตรียมดิน จัดสภาพแวดล้อม และมีความพร้อมในแบบไหน เพื่อให้ลูกเด็กเล็กแดง และเยาวชนอันเป็นพลังสำคัญ ไม่ต่างจากต้นกล้าที่จะสามารถเติบใหญ่ หยั่งรากความคิดดีๆ ให้ลึกลงไป เป็นฐานอันมั่นคงให้ชีวิต จนได้ออกดอกผลเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ อย่างมีอิสระ สง่างาม อยู่ด้วยความถูกต้อง บนแผ่นดินที่พวกเขาและเธอได้เกิดมา
วนกลับมาที่ตัวเอง ความคิดฟุ้งซ่านยังคงถูกใช้งานอย่างระมัดระวัง ระวังไว้กับความไม่คมของความคิด จนยากที่จะเข้าร่องเข้ารอย
ปริมาณความคิดของผมมักถูกตักเตือนจากเพื่อนผู้เป็นห่วงให้ระวังการคิด
“คิดมากไป” เดี๋ยวจะเป็นกังวล และในทางกลับกันของเพื่อนอีกแนวทางหนึ่ง ที่มักจะเตือนผมอยู่เสมออย่าได้ประมาท “คิดน้อยไป”
เรื่องแบบนี้คงต้องฟังหูไว้หู ฟังเสียงตัวเองบ้างก็ได้ บางครั้งผมก็คิดน้อยไป บางทีผมก็คิดมากไป หากแต่เรื่องความมากหรือน้อยของความคิด มันขึ้นอยู่ความสำคัญของเนื้อหาสาระมากกว่าปริมาณ ขอเพียงสบายใจได้กับเรื่องนั้นๆ เป็นอันตกลง และผิดไม่หลักความดีสากลก็คงพอ
ขอบคุณมากมายครับ •
เอกภาพ | พิชัย แก้ววิชิต
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022