ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เรื่องสั้น |
เผยแพร่ |
บารายบุราณ | ประณต พลประสิทธิ์
ประกวดเรื่องสั้นมติชนอวอร์ด
“วระสรุ วาปะตำรง “พระสรุ มีสายน้ำอยู่
วาปะเตณา มีสายน้ำล้อม
ปราคนูกะ ภรฺยาวาปะ” สายน้ำเป็นเครื่องรักษา ไหลยาวโดยรอบเทวสถาน”
บางท่วงทำนองอาจเป็นเสียงเพรียกจากอดีตให้หวนนึกถึงกาลเก่าก่อน
บางจังหวะดนตรีอาจถูกตัดจากบางท่อน ที่เว้าวอนให้นึกถึงเสี้ยวส่วนความทรงจำที่ขาดหายไป
แต่ทุกลำนำที่ถูกขับกล่อมคลอไคล้ อาจถูกแทรกด้วยเสียงกระซิบกระซาบของอดีต ที่ถูกฝากผ่านสายลม จากหินทุกก้อน ต้นไม้โบราณทุกต้น ผืนแผ่นดินแม่กว้างสุดกว้าง และระลอกของกระเพื่อมน้ำที่ไหวเป็นวงวนไปๆ ไม่มีสิ้นสุด ลำนำถูกพัดผ่านธรรมชาติและโค้งเขาแห่งที่ราบสูงสู่แดนไกล…
“กลับบ้าน…กลับบ้าน…กลับบ้าน…
– ครึม – โจ๊ะครึม – ครึม – โจ๊ะครึม – โจ๊ะครึมครึม – ครึม – โจ๊ะครึมครึม
– ครึม – โจ๊ะครึม – ครึม – โจ๊ะครึม – โจ๊ะครึมครึม – ครึม – โจ๊ะโจ๊ะครึมครึมครึม…
ผมรู้ว่ามันเป็นจังหวะกลองกันตรึมแต่ไม่รู้ตัวว่ากำลังฝัน กลองที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของดนตรีกันตรึม ดนตรีเขมรโบราณ มรดกที่ตกทอดมานับพันปีของอารยธรรมขอม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษมีเล่นกันทั่ว แต่ผมรู้แม้จะเป็นในความฝันก็ตาม ว่าเป็นการขับจังหวะโทนกันตรึมของบุรีรัมย์ ยิ่งรู้ไปกว่านั้นว่าเป็นจังหวะเฉพาะของเมืองตลุง ไม่ใช่จังหวะแบบกันตรึมสุรินทร์ หรือจังหวะของศรีสะเกษ เพราะผมเกิดในครอบครัวกันตรึมเมืองตลุง
ผมจำได้แค่เสียงกลองคลอเสียงซอกันตรึม กับเสียงคลอลำนำด้วยน้ำเสียงที่คุ้นเคย แค่ตอนนั้นคิดไม่ออกว่าเป็นเสียงใคร “กลับบ้าน…กลับบ้าน…กลับบ้าน…”
(ใช้เวลาจนผ่านเหตุการณ์นั้นมานานทีเดียวผมจึงจำได้ว่าเป็นเสียงเธอ เธอคนที่ตายด้วยน้ำมือของผมเอง…)
เสียงเพรียกหนึ่งของลำนำฝัน ฉุดกระชากผมให้ตื่นขึ้นจากที่นอนในห้องโสมม ไฟลามเลียมาถึงผนังห้องที่กั้นด้วยกระดาษลังแล้ว ในตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกดัดแปลงลวกๆ เป็นที่พัก กลางโมชาฟหนึ่งจากหลายร้อยหลายพันแห่ง ทางใต้ของอิสราเอลใกล้กับฉนวนกาซ่า ผมรวมกับแรงงานไทย 5 คน เวียดนาม 3 และลาวอีก 4 คน เรากำลังจะถูกเผาทั้งเป็น กลางฝันกลางไฟที่ไกลแสนไกลจากแผ่นดินแม่ของพวกเรา ใจผมหวิวปลิดปลิวและกำลังล่องลอยกลับบ้านตามเสียงเพรียกนั้น
“โป้งๆ”… เสียงปืนดังรัวไม่เป็นจังหวะ คาดเดาไม่ได้ ผมสะดุ้งอีกครั้งตื่นจากพวัง ควานหยิบของสำคัญแล้วพุ่งตัวตามหลังใครสักคนออกจากกองเพลิงที่กำลังโหมเริงแรงขึ้นเรื่อยๆ มีเสียงเรียกสลับกับเสียงปืน เสียงเรียกเป็นภาษาไทยเรา แต่สำเนียงนั้นคนไทยหรือแม้แต่คนลาวเองก็รู้ ว่าไม่ใช่เสียงของพวกเรา ยิ่งฟังยิ่งรู้ว่าเป็นเสียงที่ล่อลวงและไม่เป็นมิตร
ขณะคลานหน้าแนบดินหลบห่ากระสุนอยู่กลางไร่องุ่นหลังออกมาจากกองเพลิง ผมคิดถึงสัญญาณที่ทำให้ผมเริ่มเตรียมตัว ควันขาวพวยพุ่งทะยานตัดขอบฟ้าข้ามมาจากฟากฝั่งโน้นของกำแพงเมื่อกลางวัน ผมก้มตัดขั้วพวงองุ่นอยู่กลางโมชาฟ “มันกะมาได้ส่ำนั้นละ ฝั่งนี่สกัดได้เบิด” ใครสักคนในกลุ่มพวกเราพูดเพื่อแสดงความมั่นใจ
แต่ลึกๆ ผมว่าทุกคนรู้ดีอะไรๆ ก็ไม่แน่นอนสำหรับคนอย่างพวกเรา
ก่อนมาอยู่อิสราเอลผมเคยอยู่ญี่ปุ่น 2 ปี คุณภาพชีวิตค่อนข้างดีแต่ได้เงินน้อยเกินไปถ้าไม่ยอมฝึกภาษา ไปเป็นผีน้อยที่เกาหลีใต้ 3 ปี ได้เงินดีขึ้นมากแต่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ หลายคนอาจย้ายมาอิสราเอลเพราะเชื่อมั่นว่าเป็นโครงการที่ทำร่วมกับรัฐบาล และรายได้ที่เป็นเงินจำนวนมากสำหรับชาวบ้านจนๆ อย่างเรา
แต่ผมแค่อยากหนีจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง หนีให้ไกลจากบ้านขึ้นเรื่อยๆ ขอแค่ไกลข้ามไปอีกฟากโลก
…ในสลัวรางกลางไร่องุ่นกว้างโล่งเรานอนกันนิ่งประหนึ่งผีทิ้งร่าง เหมือนซากศพที่ตายกันมาเนิ่นนาน เหี่ยวเฉาซูบซีด ร่างทิ้งไว้แต่สะเก็ดบาดแผล และคราบเกรอะกรังที่ไม่มีวันหายไป นอกจากจะปล่อยให้ย่อยสลายหรือเผาทิ้งให้สิ้นซากตามเรื่องตามราว เสียงปืนเงียบไปนานมากแล้ว มีเพียงเวิ้งฟ้าที่สลดเศร้า สีของท้องฟ้าที่นี่ช่างต่างจากที่บ้านเหลือเกิน ฟ้าที่นี่ตัดกับสีของดินแห้งๆ และตัดกับสีเขียวเป็นหย่อมๆ ทว่า แสนแห้งหดหู่ (ผมสงสัยมาตลอดว่าพวกเขาปลูกพืชรอดได้อย่างไรทั้งที่ไม่ค่อยมีน้ำ เพราะมีคนเคยบอกผมว่าน้ำคือชีวิต) ต่างจากสีฟ้าที่บ้านเรา สีฟ้าของท้องฟ้าตัดกับสีฟ้าของผืนน้ำ ห้อมล้อมด้วยสีเขียวขจีของพืชพรรณมากมาย สีเขียวบนแผ่นดินนี้ต้องมีประโยชน์เท่านั้นถึงจะได้รับอนุญาตให้มีชีวิต แต่บ้านเราสายน้ำห่อหุ้มชีวิต จะเป็นพืชผลไม้ประดับหรือหญ้าวัชพืชก็มีสิทธิที่จะขึ้นได้ทั่วไป แต่วัชพืชอย่างผมก็ปลิวมาแสนไกล เพราะน้ำแรงแลกกับน้ำเงิน อาจมีค่ามากกว่าการแห้งเหี่ยวและยืนต้นตายจนๆ ท่ามกลางพืชพรรณที่เติบโตและยิ่งใหญ่
แต่นาทีต่อมานั้นผมตัดสินใจว่าจะกลับบ้าน ผมคว้าของมาได้ไม่มากแต่โชคดีที่เป็นของสำคัญ ย่ามไหมใบเล็กเก่าๆ ที่แม่เย็บให้กับมือผ่านการใช้มาหลายปี เอกสารสำคัญ เงินสดทั้งหมดเท่าที่มีติดตัว และหนังสือหนึ่งเล่ม หนังสือชื่อ “หญิงเสา” ซึ่งผู้หญิงที่ผมรักที่สุดซื้อให้เมื่อ 10 ปีที่แล้วก่อนจากกันไกลแสนไกล
รถสองแถวสีฟ้าคันใหญ่เคลื่อนตัวไปเรื่อย หลังจากผมต่อรถที่ตัวอำเภอเพื่อเข้าหมู่บ้าน จนมันวิ่งผ่านเนินนั้น เนินสูงตรงทางแยกระหว่างบ้านผมกับทางขึ้นเขาพนมรุ้ง แปลกดีที่ผมยังจำความรู้สึกของการเคลื่อนที่ได้แม้จะมาทางนี้ เพราะหากจะเข้าหมู่บ้านผม ควรเลี้ยวที่สามแยกก่อนหน้านี้ระยะทางจะสั้นลงหลายกิโลเมตร แต่เมื่อรถจอดลงผมจึงเข้าใจ เพราะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลงโบกรถต่อเพื่อขึ้นไปยังภูเขา หลายคนจากทั่วทุกมุมโลกดั้นด้นมาที่นี่มีแต่ผมคนที่นี่ที่ดิ้นรนจะไปให้พ้นๆ จนวันนี้ที่ผมหวนกลับสู่อ้อมกอดของสายน้ำ ภูเขา ที่ราบสูงและแผ่นดินแม่
ตอนนั้นเองที่ได้รู้ว่าใจเต้นแรงจนจะทะลุออกจากอกมันเป็นยังไง รถค่อยๆ เคลื่อนผ่านท้องทุ่งนาที่บัดนี้เก็บเกี่ยวจนเสร็จสิ้น จนดอกปอเทืองสีเหลืองถูกปลูกเข้าไปแทนที่ (ผมคิดถึงภาพที่ผมขับรถเครื่อง เธอซ้อนท้ายไปตามสองข้างทางนี้ เธอกอดเอวผมแน่นแล้วชอบเอี้ยวตัวเอามือไปลูบดอกปอเทืองข้างทางเล่น) เราทำกันแบบนี้มานานตั้งแต่ผมยังอยู่บ้าน ตอนนั้นยายของผมบอก “ต้นนี้มันวิเศษนะเกษตรอำเภอเขาให้พันธุ์มา” ยายยิ้มและดูตื่นเต้นกับสรรพคุณที่ได้ฟังของไอ้เจ้าถุงที่ยายถือมาจากศาลากลางหมู่บ้าน “เจ้านายเขาบอกว่าบ้านเราใช้สารเคมีเยอะ ดินเรามีสารพิษ น้ำเราก็มีสารพิษ ปอเทืองมันดูดซับสารพิษ ปลูกแล้วไถกลบเป็นปุ๋ยได้ คนกินได้ งัวควายก็กิ๋นได้ แขกไปใครมาเที่ยวบ้านเราเขาเห็นเขาก็จะว่าสวย ถ้านาบ้านเราปลูกให้ครบทุกแปลง” ยายเล่าอย่างภูมิใจกับความรู้ใหม่ที่ยายได้มา ตอนนั้นผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ จนตอนนี้ที่ผมผ่านทุ่งดอกปอเทืองทางเข้าบ้านเรา ลมพัดไหวตอนดอกเหลืองบานสะพรั่ง ทำให้ผมคิดถึงยาย (ทำให้ผมคิดถึงเธอ)
จะว่าไปตั้งแต่เด็กเรื่องราวต่างๆ ที่ผมได้รับรู้เกี่ยวกับที่นี่ น้อยเรื่องที่ผมจะได้ยินได้เห็นกับตาตัวเอง ยายนั่นแหละที่เล่าให้ผมฟัง “…เอ็งรู้ไหมเมื่อคืนพวกไปเก็บเห็ดบนเขามันเล่าให่ฟัง มันได้ยินเสียงมโหรีปี่พาทย์ดังมากจากทางปราสาทบนภูเขาเหมือนมีใครมาจัดงานมหรสพ
…เอ๋งรู่ไหมไอ้นายคนแก่เขาเล่าว่าเขาพนมรุ้งนี่ มีถ้ำด้านใต้ปราสาทนา วันดี๋คืนดี๋ถ้ามันเปิดเอ๋งจะเห็นสมบัติ ทองมันสุกสว่างไปเบิดทั้งถ่ำเลยเน้อ แต่อย่าหวังว่าจะเอ๋ามาได้ คนเมืองบังบดในถ่ำนะเขาหวงนักเอ๋ง
…ไอ่นายรู่ไหมวันพระใหญ่ที่ผ่านมาน่ะ มะม้วดแม่เอ๋งนะบอก พระคเณศช้างน่อยในปราสาทบ้านเราน่ะ เปลี่ยนจากหินกลายเป็นทองคำเลยนะเว่ย แล้วท่านก็เห้าะเป็นลูกไฟสุกสว่างตัดฟ่าจากปราสาทบ้านเอ๋ง ไปเที่ยวเล่นปราสาทบนเขานู่นแน่…” ตอนเป็นเด็กผมงงไปหมด ปราสาทนี่ของเทพศาสนาพราหมณ์เขา มาเกี่ยวอะไรกับวันพระศาสนาพุทธเรา แล้วครอบครัวยายก็ส่งต่อของ ส่งต่อการเล่นมะม้วดมาให้แม่ผม ผมก็เลยกลายเป็นลูกชายแม่มดคนทรงหมอผี แม่แกก็ดันรู้ดีไปหมดทุกเรื่องลึกลับ ครูไม่เคยสอนตอนเป็นเด็ก โตมาอ่านหนังสือจนได้รู้ ผี พราหมณ์ พุทธ เขาผสมกันมานานแล้วในอุษาคเนย์เรา (พูดถึงการอ่านทำให้ผมยิ่งคิดถึงเธอ เพราะเธอชอบอ่าน)
โรงเรียนไม่เคยสอนแต่คนบ้านเราสื่อสารกันเข้าใจแม้จะพูดคนละภาษา อย่างยายผมเป็นคนนางรองยายพูดไทยเด้งเสียงเหน่อๆ เหมือนคนโคราช หรือคล้ายเหน่อภาคกลาง พูด “เอ๋งๆ” ขึ้นต้นแทบทุกประโยค ตาเป็นคนเขมรประโคนชัยแถมยังพูดส่วยหรือกูยได้อีก พ่อผมเป็นลาวในหมู่บ้านนี้อพยพมาจากอุบลสมัยกึ่งพุทธกาลตาว่างั้น ส่วนแม่เป็นลูกครึ่งพูดไทยก็ได้ เยยขแมร์ก็ได้ เว้าลาวก็ได้ ผมพลอยฟังได้หลายๆ ภาษาในภาคอีสาน
แปลกดีครอบครัวเราพูดคนละภาษาแต่ฟังกันออกสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องแปล มีก็แต่ผมที่ฟังออกแต่พูดไม่ได้สักภาษาถิ่น ผมไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน จำได้แค่มีคนใหญ่คนโตมาจากกรุงเทพฯ เขาดุครูว่าไม่สอนนักเรียนให้ดี เพราะเพื่อนผมพูดไทยกลางไม่ได้ แต่กลับกันเขาชมผมว่า “เก่งจังพูดภาษาไทยชัดดี” ผมจำได้เท่านี้
ผมคิดถึงยาย ผมรักยาย (เหมือนกันกับที่ผมคิดถึงเธอ ผมรักเธอ) แต่วันที่ยายตายผมเมาอยู่ที่ไหนสักที่ในไนต์คลับแถวย่านอุเอโนะ และผมไม่ได้กลับมาเผาศพยาย
8 กิโลเมตรคือระยะทางจากเขาพนมรุ้งมาถึงบ้านของผม แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่ากลับมาถึงบ้านแล้วคือเมื่อผมเห็นบารายแต่ไกลทางเบื้องหน้า ก่อนจะเห็นตัวปราสาทเมืองต่ำ ก่อนจะเห็นบ้านหลังไหนๆ ผมเห็นผิวน้ำเป็นระยิบระยับจากแดดเย็นทางทิศตะวันตก ลมฤดูหนาวที่พัดน้ำจนเป็นระลอกคลื่นซัดกระทบฝั่งที่ปูด้วยหินศิลาแลงโบราณสามชั้นโดยรอย บารายตรงดิ่งเป็นขอบด้านเท่าเหมือนสระว่ายน้ำ แค่ดูก็รู้ว่าเป็นสิ่งก่อสร้างจากน้ำมือมนุษย์ แต่เป็นมนุษย์เมื่อพันกว่าปีที่แล้ว ที่ไม่มีรถแบ๊กโฮขุดดิน ไม่มีรถสิบล้อขนดิน ทุกขั้นตอนล้วนพึ่งแรงงาน ความสมมาตรในด้านต่างๆ น่าทึ่ง ความกว้างใหญ่ยิ่งน่าทึ่งกว่า ผมเคยจับระยะทางตอนที่วิ่งได้หนึ่งรอบ คือสามกิโลกว่า ขนาดบารายถึงจะเล็กเกินกว่าจะเรียกว่าทะเลสาบได้ แต่ก็ใหญ่กว่าสระน้ำทั่วๆ ไป คนที่นี่เลยเรียกกันว่าทะเลเมืองต่ำ ซึ่งเป็นปกติของอารยธรรมขอมที่จะสร้างแหล่งน้ำไว้ใกล้กับชุมชน แต่ที่นี่น้ำพิเศษกว่าปราสาทอื่นๆ มาก เธอเคยบอกกับผม ผมจำได้ เธอรอบรู้เรื่องต่างๆ เพราะชอบอ่านและชอบฟัง โดยเฉพาะเรื่องบารายและปราสาท
“กลับบ้าน ได้สักที ขวัญเอ้ยขวัญมานะลูก” เสียงแม่ฟังดูเนือยและยืดยานกว่าเมื่อก่อนมาก ผมมองเห็นแม่ยิ้มรอรับแต่ไกลที่หน้าประตูรั้วบ้าน ต่างจากน้ำตาแม่ที่ไหลในคืนที่ผมกำลังจะออกจากบ้านเมื่อสิบปีก่อน
ผมกราบโกฐกระดูกยายหลังกลับถึงบ้าน มองไปที่ผนังซอกันตรึมยังแขวนอยู่ กลองกันตรึมฉิ่งกรับวางอยู่บนโต๊ะกับพานครู ผ้าขาวธูปเทียนที่มีดอกไม้แห้งกรังในสภาพที่มีฝุ่นจับ ตาตายผมรับช่วงเล่นมโหรีกันตรึมกับผู้ใหญ่คนอื่นๆ ต่อ ตั้งแต่ผมจากไปวงก็ยุบลงและคนอื่นๆ ก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปจนหมด วงกันตรึมที่เป็นความภาคภูมิใจของตาและตระกูลเราจบสิ้นที่ผม วงที่มีเรื่องเล่ายาวนาน วงที่ตาเล่าว่าทวดของตาเคยเล่นถวายกรมพระยาดำรงที่บ้านแสลงโทน เมื่อครั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการมณฑลอีสาน และแวะลงที่สถานีรถไฟเมืองแปะ เดินทางด้วยขบวนเกวียนอีกหลายวัน เพื่อสำรวจทำทะเบียนโบราณสถาน กรมการเมืองเมืองตลุงจึงให้วงกันตรึมพื้นบ้านไปต้อนรับ คืนพักค้างแรมระหว่างทาง ด้วยรู้จริตว่าท่านมักชอบมักหาฟังมโหรีและสำเนียงดนตรีในแต่ละท้องถิ่น เป็นเค้าให้ดนตรีไทยมีสำเนียงเพลงชาติต่างๆ “แต่กันตรึมก็ยังเป็นกันตรึม” ตาว่า
“กรมดำรงให้ช่างฝรั่งเศสชักภาพปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ ชักภาพทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทำให้เราได้ทับหลังนารายณ์คืนจากชิคาโก” ตอนนั้นตาเล่าอย่างภูมิใจ “บ้านเรามีนามากเพราะทวดเอาเงินที่กรมดำรงประทานให้วันเล่นดนตรีมาซื้อที่นา” เวลาต่อมาตาที่เป็นคนในตัวเมืองตลุงเก่า จึงลาญาติพี่น้องย้ายครอบครัวหนีความคับแคบของเมืองที่กำลังเติบโตมาอยู่หมู่บ้านใกล้ปราสาทเมืองต่ำ ซึ่งเป็นที่ดินที่ทวดซื้อเอาไว้เมื่อครั้งตามมาเล่นกันตรึมให้กรมดำรงฟัง ตาชอบนั่งสีซอแล้วมองไปไกลๆ เห็นปราสาท ตาว่า “กูรฦกชาติจำกำเนิดได้”
กลับมาบ้านเห็นสถานที่เก่าๆ ทรงจำหลายๆ อย่างผุดพรายขึ้นเรื่อยๆ ตาเล่าว่าบ้านแสลงโทนมาจากภาษาเขมรที่หมายถึงเสียงโทน “มีโทนกันตรึมโบราณอยู่ใบหนึ่ง เป็นของวิเศษที่ตีได้ยินเสียงดังกังวาน มีอำนาจมาก โจรได้ยินโจรจะกลัวไม่กล้ามาปล้น ข้าศึกศัตรูได้ยินจะโรยแรงพละกำลังไม่กล้าต่อศึก ผีร้ายได้ยินผีร้ายจะหนีเข้าป่าไม่กล้าเข้าหมู่บ้าน ถ้านางอัปสราได้ยินนางอัปสราจะร่ายรำอ่อนช้อยสวยงามกว่าครั้งไหนๆ แต่ถ้าตีดังเกินไปเสียงจะปลุกคนที่หลับใหลในโลกแห่งความตายให้ตื่นฟื้นคืน แต่โทนกันตรึมวิเศษได้หายไป… หายไปนานแล้ว” และนางอัปสราที่สวยที่สุดของเมืองเราก็หายไปครบสิบปี
ในวันนี้ที่ผมเดินทางกลับมา คือวันเดียวกันกับวันที่ “น้ำ” หญิงสาวที่ผมรักต้องตายเพราะผมเมื่อสิบปีที่แล้ว
ค่อนคืนแล้วแต่ผมมั่นใจว่าไม่ได้หลับ หรือไม่ได้ฝันไป ลำนำร้องคลอเสียงกันตรึมดังมาแต่ไกล ซึ่งผมมั่นใจว่าไม่ใช่เสียงดนตรีจากเครื่องไฟแน่นอน เป็นเสียงเดียวกันกับเมื่อหลายวันก่อน กลางกองไฟในโมชาฟเน่าๆ นั่น
โอ้ มลุบโดงเอ้ย บองเอ๋ย แดลเนียงอังกุย จำบอง
(โอ้ ร่มมะพร้าวเอ้ย พี่เอ๋ย ที่น้องนั่งคอย คอยพี่)
โอ้หนา อังกุยจำ เอ๋ยออดงุยเน้อเออว จำบองเอ๋ย เจรอญชนำเอ๋ยโนวจำ…
(โอ้หนอ นั่งคอย เอ๋ยอดหลับอดนอนนะเออ คอยพี่เอ๋ย หลายปีเอ๋ยอยู่คอย)
ลำนำเล่าถึงหญิงสาวคอยคนรักอยู่ใต้ต้นมะพร้าวแสนนาน ผมเทียบกับเสียงในความทรงจำเมื่อสิบปีก่อน “ชลน้ำให้…” ครั้งสุดท้ายที่ผมได้ยินเสียงเธอ หนังสือ (หญิงเสา) ถูกยัดใส่ในย่ามไหม (เป็นการบ้านชิ้นสุดท้ายในรายวิชาภาษาไทย ที่ครูให้หาใจความสำคัญจากเรื่องสั้น) เธอซ้อนรถผมกลับบ้านเหมือนทุกวัน มือลู่ต้นปอเทืองเล่นไล้ไปกับลม กำลังจะมีชีวิตที่ดี ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยกับคณะในฝัน รถเคลื่อนผ่านบารายเหมือนทุกวัน แต่ที่ต่างออกไป ผมเสียการควบคุมรถ รถต่างถิ่นอาจเป็นนักท่องเที่ยวหรือคนผ่านทาง รถตัดหน้ารถเราเข้าไปอีกฝั่งทางแยก เรากองไถลไปกับพื้นถนน ผมภาพตัด… แต่ฉากสุดท้ายเป็นร่างของน้ำกระแทกอย่างแรงและกองอยู่กับโคนต้นมะพร้าว ผมฟื้นที่โรงพยาบาล รีบไปหาเธอให้เร็วที่สุด พยาบาลค่อมร่างน้ำที่คาอยู่ในชุดนักเรียน กดขย่มไปที่อกหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ต้องหยุดลง ที่หน้าห้องฉุกเฉินบนร่างแทบไม่มีเลือด เหมือนน้ำนอนหลับอยู่ หน้ามีรอยช้ำนิดหน่อย แต่แม่เธอกระชากคอเสื้อผม ร้องไห้ แล้วถามแค่ว่า “ทำไม ทำไม ทำไม” ก่อนจะเป็นลมไป…
คืนนั้นผมรู้แค่ว่าตัวเองไม่สามารถอยู่ที่นี่ได้ ผมจากไป แค่ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้… มันอาจง่ายกว่าถ้าคนที่ตายเป็นผม…
เหมือนอยู่ในภวังค์ แต่ผมรู้ว่าไม่ได้ถูกมนต์สะกด ผมค่อยๆ ตามเสียงนั้นไป จนเลียบทางระหว่างตัวปราสาท ที่อยู่ตรงข้ามวัดและโรงเรียน ปราสาทคล้ายถูกจัดด้วยไฟแสงสีเสียงอร่ามตา แต่ผมยังมุ่งหน้าไปที่สุดถนนคือบาราย
“ชลรู้ไหมปราสาทนี้ไม่ได้ชื่อว่าเมืองต่ำหรอกนะ เขาเรียกเพราะเปรียบเทียบกับพนมรุ้งที่อยู่บนเขาเฉยๆ”
ผมยังจำคำถามนี้ได้ดี ขณะที่ยืมมองทับหลังเหนือซุ้มประตูโคปุระแรกของปราสาท ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก “รูปพระกฤษณะปราบนาคกาลียะ น่ะ เราว่าทับหนังนี้สอดคล้องที่สุดแล้ว ปราสาทไร้ชื่อนี้ น้ำสำคัญที่สุดเลย” เธอขาวน่ารักเพราะเธอเป็นลูกลาว คนเกินครึ่งหมู่บ้านเราอพยพหนีน้ำท่วมมาจากยโสธร ซึ่งตอนนั้นยังขึ้นอยู่กับหัวเมืองอุบลราชธานี (พ่อผมก็เช่นกัน) พวกเขาเดินเท้าไกลมาถึงนี่ตั้งแต่ก่อนถึงกึ่งพุทธกาลสิบปี น้ำพูดเก่งเพราะโรงเรียนเราที่อยู่ตรงข้ามปราสาทฝึกมัคคุเทศก์น้อย เรื่องต่างๆ ของปราสาทนี้เธอรู้ไปหมด
จารึกน้อยคำที่ถูกค้นพบภายในปราสาท “วระ สรุ วาปะ ตำรง…” น้ำบอกว่า ปราสาทแห่งนี้มีสายน้ำล้อม สายน้ำเป็นเครื่องดูแลเทวสถานโดยรอบ และด้วยสถาปัตยกรรมของปราสาทแห่งนี้ มีสระน้ำล้อมรอบทั้งสี่ทิศ ข้างปราสาทยังมี “บาราย” สระน้ำโบราณขนาดใหญ่ น้ำเล่าให้ผมฟังบ่อยจนจำขึ้นใจ
“เราน่าจะเกิดมาคู่กันนะชล เราน่าจะเกิดมาคู่กับที่นี่”…
สุดทางที่ต้นเสียง ตอนที่เจอเธอที่ต้นมะพร้าวข้างบารายในคืนนั้น ผมจำประโยคนี้ขึ้นใจ ไม่น่าเชื่อว่าคืนที่น้ำตายนี้ผมจะได้พบกับเธออีกครั้ง กลางบารายที่กว้างใหญ่ผืนน้ำสุกสว่างเป็นสีเหลืองนวล น้ำอยู่ในชุดเครื่องหัว อัปสราทองเลื่อมระยับ เหมือนชุดที่เธอร่ายรำในวันบวงสรวงปราสาททุกปี เธอจูงมือผมลงไปในบาราย เหมือนที่ยายเคยเล่ามีจระเข้หินฟูลอยน้ำจริงๆ แต่แปลกที่ผมไม่รู้สึกกลัวมันหรือกลัวน้ำ เหมือนผมรู้ได้ว่าเราเป็นพวกเดียวกัน เราสองคนนั่งอยู่บนมันแล้ว จากลอยก็กลายเป็นค่อยๆ จมลง แล้วแหวกผ่านผิวน้ำลงสู่เบื้องล่าง
เหมือนที่ยายเคยเล่ามีเมืองบังบดอยู่ใต้บารายจริงๆ อยู่ข้างใต้ผืนน้ำที่ผมเคยว่ายข้ามไปมา ผมคิดว่ายายแค่แต่งเรื่องให้เด็กๆ กลัวจะได้ไม่กล้าเล่นน้ำ มีปราสาทหินบ้านเรือนเรียงรายแทบไม่ต่างจากด้านบน ผมเจอยาย เจอทุกคนที่จากโลกนั้นมาก่อน ตายังนั่งสีซอกับวงกันตรึมของเราเหมือนเดิม ทุกคนโบกมือให้ผมไปกับน้ำก่อน
น้ำค่อยๆ พาผมเดินเที่ยวชม แนะนำสถานที่ไปเรื่อยเหมือนเมื่อครั้งฝึกเป็นมัคคุเทศก์น้อย “ที่ทิศเหนือมีศิวลึงค์ 1,000 องค์ เก่าแก่มากนะชล คนที่อยู่ที่นี่มานานๆ ยังไม่รู้เลยว่าใครสร้างแล้วมาอยู่ที่นี่ได้ยังไง”
“ชลรู้ไหมว่าที่นี่สว่างได้ยังไง” ผมได้แต่ส่ายหน้ากับคำถามของเธอ “ได้เดี๋ยวน้ำจะเล่าให้ฟังเอง กลางสระลึก คือ กระจกเงาแห่งโชคลาภ มีสีสันระยับจากแผ่นศิลาทองและพวงมาลัย จำได้ไหมที่ครูเลยสอน กษัตริย์ขอมสมัยโบราณ จะสรงน้ำจากสระที่มีความวิเศษเมื่อทำพิธีราชาภิเษก จริงๆ ไม่ใช่น้ำด้านบนผิวน้ำหรอกนะชล น้ำในสระทองที่ต่างหาก” เรามาหยุดที่สระกลางเมืองตอนไหนไม่รู้ตัว คงเพราะผมมัวแต่จ้องน้ำเพราะคิดถึงเธอมาตลอดเวลา
“แม่น้ำ 4 สายไหลมารวมตัว ชลเห็นไหมว่าน้ำเป็นสีทอง มีประตูเชื่อมไปยังที่ต่างๆ ต้นทางที่สุดสายคือสระทั้ง 4 ที่ล้อมรอบตัวปราสาทด้านบน ทั้งหมดไหลไปรวมที่ปลายสายคือสระอโนดาตที่ลึกลงไปที่ใต้สุดและเป็นใจกลางของบาราย…ชลสนใจหน่อยสิ…” เธอดุผม คงเพราะผมมัวแต่จ้องหน้าเธอ จนเธอจับอาการได้ว่าไม่ตั้งใจฟัง
“จำให้ดีนะชลจะไปไหนมาไหนน้ำจะได้ไม่ต้องค่อยรับส่ง …น้ำจากสระอวตัปตาจะบริสุทธ์อยู่เสมอ เพราะไม่ได้สัมผัสแสงอาทิตย์โดยตรง แต่เป็นแสงสะท้อนจากผิวน้ำเบื้องบน ได้ระแสงสว่างจากปราสาททอง คนที่นี่เราเชื่อกันตามไตรภูมิ สระนี้จะเป็นสระสุดท้ายที่แห้งขอดเมื่อถึงปลายแห่งกัลป์ ด้วยเหตุนั้นอาณาจักรที่มีแสงนี้ ก็คงจะมีอายุยืนยาวเท่ากับโลกนี้… ชลเชื่อเรื่องการไม่สิ้นสูญของดวงจิตไหม” น้ำถามทิ้งท้าย
“เชื่อสิ” ผมตอบจากสิ่งที่เป็นตอนนี้ “ดวงจิตแห่งชีวิต ของเรายืดยาวเหลือเกินชล ตาย…เกิด…ตาย…เกิด ดูน่าเบื่อมากว่าไหม แต่ทุกครั้งที่เราได้พบกันแล้วกลับต้องจากกัน น้ำก็ทิ้งความอยากเกิดตายนี้ไปไม่ได้เสียที อย่าเสียใจมากไปกว่านี้เลยชล… สักวัน… เราจะได้พบกัน ได้รักกัน ได้อยู่ด้วยกัน เราอาจจากกันเร็ว หรือช้า แต่ก็จะต้องจากกันอีกอยู่ดี” น้ำพูดแล้วยิ้มให้ผม
“ไม่เสียใจแล้ว เพราะตอนนี้เราอยู่ด้วยกัน…”
ผมคิดถึงคำพูดของลุงบุญมีตอนที่อยู่กลางไร่องุ่นนั่น แต่ผมคนที่พยายามหนีไปให้ไกลจากบ้านตัวเองที่สุดกลับคิดว่า “ถ้าจะตายขอกลับไปตายที่บ้าน” แล้วตอนนี้ผมคิดว่าถูกแล้วที่เลือกกลับมา
ลุงบุญมีบอกผม ตั้งแต่วันแรกที่จรวดบ้าๆ มันพุ่งข้ามหัวพวกเราไป จนถึงก่อนวันที่เราจะเดินทางกลับบ้าน “เฮาสูคนต่องตาย แข่ตายมีเงินเผาผีกะบ่มีซ่ำนั่น คั่นบ่จ้างกู กูบ่กลับ” อิสราเอลในความทรงจำของผมค่อนข้างหดหู่กว่าที่ไหนๆ (จะเป็นรองก็แค่ก่อนจากบ้านมา) เพราะผมเห็นหลายคนที่ต้องผิดหวัง กับคำปั้นลมสวยหรูของโครงการก่อนเดินทางมา เมื่อต้องมาพบสภาพการทำงานที่หนัก เสี่ยงชีวิตจากสารเคมีในแต่ละวัน ที่พักแย่ๆ และยังต้องลุ้นว่าจะได้ไปอยู่ในโมชาฟที่นายจ้างขี้โกงเรื่องค่าแรงหรือเปล่า
หลายๆ คนต้องทนทุกข์เพราะกู้เงินหรือจำนองที่ดิน เพื่อตั๋วเครื่องบินแลกโอกาสในการทำงาน จนแย่ที่สุดเมื่อสงครามนำพามัจจุราชมาถึงโดยไม่มีใครทันตั้งตัว แม้แต่ผมเอง จนหลายๆ คนไม่ได้นำเงินและชีวิตกลับสู่บ้าน
“กลับบ้านได้สักที ขวัญเอ้ยขวัญมานะลูก” เสียงแม่ฟังดูเศร้าลอยมาตามลม
น้ำพาผมเข้าทางประตูด้านหนึ่งมาโผล่ที่สระน้ำข้างปราสาทด้านบน
ขบวนแห่ลำนำเคลื่อนผ่านทางระหว่างปราสาทและตัวโรงเรียน มุ่งไปสู่วัด
แม่ถือรูปผมเดินนำหน้า ทุกครั้งที่แม่เอิ้นขวัญ ความทรงจำผมยิ่งกลับมา
ผมจำได้แล้วว่าลงจากเครื่องบินทางด้านท้ายเครื่องไม่ใช่ด้านข้าง
น้ำจับมือผม เรามีความสุขดี แม่ที่เดินนำหน้าขบวนหันมาส่งยิ้มให้เรา
ผมดีใจที่มีเด็กชายตัวเล็กและเพื่อนๆ ของเขาสีซอ ตีโทน เล่นเพลงกันตรึมมลุบโดงส่งผมเข้าวัด เหมือนที่ผมเล่นส่งหลายๆ คน ก่อนทุกคนจะไปอยู่ที่บาราย หรือที่ไหนก็ตาม ที่เป็นที่ชอบ ที่ชอบ… •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022