ลมทิศต่างๆ ในวัฒนธรรมไทย

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

คนไทยมีคำเรียกชื่อลมที่พัดมาจากทิศต่างๆ มานานแล้ว แต่เมื่อตรวจสอบให้ลึกลงไปจะพบว่าคำคำเดียวกันนั้น บางคำก็มีความหมายตรงกันในหลายพื้นที่ แต่หลายคำก็มีความหมายต่างออกไปบ้าง และบางคำก็อาจเป็นศัพท์เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น

บทความหนึ่งซึ่งแสดงตัวอย่างของคำกล่าวข้างต้นอย่างเป็นรูปธรรมคือ ‘ผู้อยู่กับลม’ เขียนโดยคุณเอียด นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสารคดี ปีที่ 16 ฉบับที่ 185 ประจำเดือนกรกฎาคม 2543 และตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือชื่อ ‘ถึงอย่างไรก็อยู่กันมาได้’

บทความดังกล่าวนี้นำเสนอชื่อเรียกลมทิศต่างๆ แบบไทยๆ ทั้งหมด 7 กรณี ได้แก่

(1) ลมเพชรบุรี จากการสัมภาษณ์ ‘ลุงไหม บุญเรือง’ อายุ 80 ปี (ขณะให้สัมภาษณ์คุณนิพัทธ์พร) อยู่ที่ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

(2) ลมอันดามันที่ภูเก็ต จากการสัมภาษณ์ ‘พี่สุลัยมาด ท่อทิพย์’ อายุ 40 ปี (ขณะให้สัมภาษณ์คุณนิพัทธ์พร) อยู่ที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

(3) ลมอันดามันที่กระบี่ จากหนังสือ ‘สังคมและวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่’ เขียนโดย ‘อาจารย์กลิ่น คงเหมือนเพชร’ (น.25, 138)

(4) ลมบ้านหาดไข่เต่า พัทลุง จากการสัมภาษณ์ ‘ลุงสอ นิยมเดชา’ อายุ 71 ปี (ขณะให้สัมภาษณ์คุณนิพัทธ์พร) อยู่ที่ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง

(5) ลมที่แหลมจองถนน พัทลุง จากการสัมภาษณ์ ‘ลุงยกอิ่ม ขวัญเส้ง’ อายุ 65 ปี และ ‘ลุงยกเอี่ยม ขวัญเส้ง’ อายุ 59 ปี (ขณะให้สัมภาษณ์คุณนิพัทธ์พร) อยู่ที่ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง

(6) ลมของมิสเตอร์ เอช. วาริงตัน สมิธ จาก ‘บันทึกการเดินทางไปยังบางจังหวัดของภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสยาม’ เขียนโดยมิสเตอร์เอช. วาริงตัน สมิธ ในหนังสือ ‘รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ชุดที่ ๑’ นางสาวธนัญญา ทองซ้อนกลีบ แปล (น.197)

(7) ลมจากบันทึกของกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ในหนังสือ ‘จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.121 พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์’ (น.147-148)

แผนภาพ ลมเพชรบุรี
ที่มา : ดัดแปลงจากบทความ ‘ผู้อยู่กับลม’ ในหนังสือ ‘ถึงอย่างไรก็อยู่กันมาได้’

บทความ ‘ผู้อยู่กับลม’ นี้มีข้อมูลประกอบสำหรับลมจากทิศทางต่างๆ ในหลายกรณี และมีแผนภาพแสดงทิศทางลมที่ชัดเจนในกรณี (1)-(6) ซึ่งผมคิดว่าสามารถใช้เป็นจุดตั้งต้นในการเปรียบเทียบและต่อยอดความรู้ได้เป็นอย่างดี จึงติดต่อคุณนิพัทธ์พรและได้รับอนุญาตให้นำข้อมูลและแผนภาพมาใช้อ้างอิง

ผมขอเสนอประเด็นต่างๆ รวม 7 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก : ลมที่กล่าวถึงในแผนภาพของไทยทุกแบบคือ ลมที่ผิวพื้น ในขณะที่ลมในทางอุตุนิยมวิทยามีตั้งแต่ลมที่ผิวพื้น และลมที่ระดับความสูงและหรือความกดอากาศค่าต่างๆ เช่น ลมที่ระดับความสูง 600 เมตร และลมที่ความสูงซึ่งมีค่าความกดอากาศต่างๆ เช่น 925, 850, 700, 500, 300 และ 200 hPa (เฮกโตพาสคาล)

ค่าความกดอากาศยิ่งต่ำแสดงว่ายิ่งสูงจากพื้น เช่น ค่า 950 hPA ตรงกับความสูงราว 850 เมตร และค่า 200 hP ตรงกับความสูงราว 12 กิโลเมตร เป็นต้น

ประเด็นที่สอง : ลมเพชรบุรีแบ่งออกเป็น 3 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 (ตุลาคม-มกราคม) ชุดที่ 2 (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม) และชุดที่ 3 (พฤษภาคม-กันยายน) การแบ่งเช่นนี้สอดคล้องโดยประมาณกับฤดูกาลของประเทศไทยตอนบน กล่าวคือ ชุดที่ 1 สอดคล้องกับฤดูหนาว ชุดที่ 2 สอดคล้องกับฤดูร้อน และชุดที่ 3 สอดคล้องกับฤดูฝน

แผนภาพ ลมบ้านหาดไข่เต่า พัทลุง
ที่มา : ดัดแปลงจากบทความ ‘ผู้อยู่กับลม’ ในหนังสือ ‘ถึงอย่างไรก็อยู่กันมาได้’

ในชุดที่ 1 ‘ลมว่าว’ ที่พัดจากทิศเหนือลงมาทางทิศใต้ เป็นสัญญาณของการเข้าสู่ฤดูหนาว ‘ลมว่าว’ ตามแผนผังลมเพชรบุรีนี้สอดคล้องกับลมที่ชาวนาภาคกลางเรียกว่า ‘ลมข้าวเบา’ นั่นเอง

ในชุดที่ 2 ‘ลมตะเภา’ ซึ่งพัดจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ น่าจะถือได้ว่าเป็นสัญญาณหนึ่งของการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุเงื่อนไขหนึ่งของการเข้าสู่ฤดูร้อนว่า “ลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ได้เปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมฝ่ายใต้พัดปกคลุม”

ในชุดที่ 3 ‘ลมพัทธยา’ ซึ่งพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ น่าจะถือได้ว่าเป็นสัญญาณหนึ่งของการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุเงื่อนไขหนึ่งของการเข้าสู่ฤดูฝนว่า “ทิศทางลมตั้งแต่ระดับผิวพื้นถึงความสูง 3.5 กิโลเมตร เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไป เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก”

-รายการคุณพระช่วย
ตอน สารพัดชื่อลม-แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าลม??

ประเด็นที่สาม : ลมชื่อเดียวกันแต่คนละพื้นที่อาจมีความหมายเหมือนกัน หรือแตกต่างกันได้ ตัวอย่างเช่น

‘ลมว่าว’ ซึ่ง ‘ลมเพชรบุรี’ และ ‘ลมของมิสเตอร์ เอช. วาริงตัน สมิธ’ ระบุตรงกันว่าเป็นลมที่พัดจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ในขณะที่ ‘ลมบ้านหาดไข่เต่า พัทลุง’ และ ‘ลมที่แหลมจองถนน พัทลุง’ ระบุตรงกันว่าเป็นลมที่พัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้

‘ลมสลาตัน’ หรือ ‘ลมหลาตัน’ ซึ่งไม่ว่า ‘ลมเพชรบุรี’ ‘ลมอันดามันที่กระบี่’ ‘ลมบ้านหาดไข่เต่า พัทลุง’ และ ‘ลมที่แหลมจองถนน พัทลุง’ ล้วนระบุว่าเป็นลมที่พัดจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ ในขณะที่ ‘ลมของมิสเตอร์ เอช. วาริงตัน สมิธ’ ระบุแตกต่างออกไป คือระบุว่าลมสลาตันพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และเรียกลมที่พัดจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือว่า ‘ลมตะเภา’

ผมเคยไปเล่าเรื่องลมในวัฒนธรรมไทยไว้สั้นๆ ราว 11 นาที ในรายการคุณพระช่วย ตอน สารพัดชื่อลม-แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าลม?? หรือค้นจากชื่อที่ให้ไว้ครับ