ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
ร่างคำอภิปรายของผู้เขียนในงานเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีการตีพิมพ์หนังสือชุมชนจินตกรรม หรือ Imagined Communities พากย์ไทยของครูเบ็น แอนเดอร์สัน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 24 สิงหาคมศกนี้
มีข้อมูลสถิติและปรากฏการณ์มากมายหลายประการที่บ่งชี้ความเป็น “ผู้แพ้ในประวัติศาสตร์ไฮเปอร์โลกาภิวัตน์” ของผู้คนจำนวนมากพอควรในหมู่คนชั้นกลางของโลกทุนนิยมตะวันตกซึ่งตกชนชั้น (d?class?) ลงไปเนื่องจากกระแสและแนวนโยบายโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ช่วงสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา (ปลาย 1980s-ปลาย 2010s)
แผนภูมิ (1) ซึ่งเป็นที่รู้จักกว้างขวางในแวดวงเศรษฐศาสตร์การเมืองโลกในชื่อเรียกว่า “กราฟช้าง” (the Elephant Curve ความที่มันดูเหมือนภาพเค้าโครงด้านข้างของช้าง) จำลองมาจากงานค้นคว้าของบรังโก มิลาโนวิช (Branko Milanovi?) นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันเชื้อสายเซิร์บ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำโลก
ปัจจุบันเขาเป็นศาสตราจารย์วิจัยแห่งศูนย์บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยนครนิวยอร์ก และนักวิชาการอาวุโสในเครือสถาบันศึกษารายได้ลักเซมเบิร์ก
มิลาโนวิชได้นำเสนอ “กราฟช้าง” ในงานวิจัยของเขากับ Christoph Lakner ที่ทำให้ธนาคารโลกเมื่อปี 2013 เรื่อง “Global Income Distribution : From the Fall of the Berlin Wall to the Great Recession” https://openknowledge.worldbank.org/handle/10986/16935) โดยอธิบายว่า :-
หากเอาคนในโลกมาเกลี่ยกันตั้งแต่ยากจนที่สุด (ทางซ้ายของแผนภูมิ) ไปจนถึง -> ร่ำรวยที่สุด (ทางขวาของแผนภูมิ) ตามสัดส่วน 100% บนแกนนอน แล้วค้นหาข้อมูลตัวเลขว่าในระยะ 20 ปี (1988-2008) ที่กระแสหลักของเศรษฐกิจโลกดำเนินตามแนวนโยบายโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่นั้น
รายได้ของประชากรทั่วโลกซึ่งจำแนกตามกลุ่มรายได้ที่เหลื่อมล้ำแตกต่างกันนั้น แต่ละกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ (กี่เปอร์เซ็นต์ในแกนตั้ง)?
เมื่อพล็อตลงไปในแผนภูมิ ก็จะได้ผลออกมาเป็น “กราฟช้าง” อันอ่านความหมายนัยหลักๆ ของข้อค้นพบออกมาได้ว่า :
– กลุ่มจนที่สุดในโลก (พวก 5% แรกทางซ้ายของกราฟ) มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นน้อยมากในรอบ 20 ปี เหมือนถูกกีดกันออกไปจากผลพวงของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
– กลุ่มรวยที่สุดในโลก (พวก 95-100% ทางขวาสุดของกราฟ) มีรายได้เพิ่มพุ่งพรวด จากที่รวยที่สุดอยู่แล้ว ยิ่งรวยขึ้นไปใหญ่ กลายเป็นชนชั้นนำของโลกที่บูมอู้ฟู่ กอบโกยเอาผลพวงของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปไว้ได้เป็นสัดส่วนสูงสุด
– กลุ่มคนชั้นกลางระดับล่างของโลก (พวกระหว่างประมาณ 15-65% จากทางซ้ายมาจนเลยกึ่งกลางไปทางขวาของกราฟ) มีรายได้เพิ่มขึ้นพอสมควร ซึ่งได้แก่ประชากรในประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายรวมทั้งไทย ทว่า ด้านหลักแล้วคือจีนนั่นเองที่ยกระดับรายได้ประชากรของตนพ้นความยากจนขึ้นมากลายเป็นคนชั้นกลางเกิดใหม่จำนวนมหาศาล
– กลุ่มคนชั้นกลางระดับบนของโลก (พวกระหว่างประมาณ 65-95% ทางขวาของกราฟในวงกลม) แม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่ก็ในอัตราที่ตกต่ำลงมาจากเดิม หรือกระทั่งคงที่ในรอบ 20 ปี
คนเหล่านี้ก็คือคนชั้นกลางในประเทศทุนนิยมที่พัฒนาแล้วในตะวันตก (ซึ่งรวมถึงกรรมกรโรงงานอุตสาหกรรมที่เคยได้ค่าจ้างและสวัสดิการดี การงานมั่นคง มีสหภาพแรงงานเป็นตัวแทนต่อรองคุ้มครอง) ผู้พบว่าฐานะทางเศรษฐกิจของตนสั่นคลอนเสื่อมทรุดลง เนื่องจากบรรษัทข้ามชาติย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมออกจากประเทศตนไปประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ค่าแรงถูกกว่าและเงื่อนไขกฎเกณฑ์กำกับการลงทุนเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกว่า
อีกทั้งสินค้าราคาถูกจากประเทศเหล่านั้นก็ถูกนำเข้ามาตีตลาดแทนสินค้าที่ผลิตในประเทศ ทำให้พวกตนตกงาน รายได้สวัสดิการลดน้อยถอยลง
ก็แล กลุ่มคนชั้นกลางระดับบนของโลก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง กลุ่มคนชั้นกลางโดยเฉพาะระดับล่างในประเทศทุนนิยมที่พัฒนาแล้วของตะวันตก เหล่านี้นี่แหละที่หวานอมขมกลืน อุกอั่งคับแค้นจากการตกฐานะชนชั้นของตนในกระแสโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ที่ผ่านมา
ดังแผนภูมิ (2) ซึ่งแสดงสัดส่วนร้อยละของครัวเรือนในนานาประเทศทุนนิยมก้าวหน้าของตะวันตกที่มีรายได้จากค่าจ้างและการลงทุนน้อยลงหรือเท่าเดิมจากปี 2005-2012/2014 ซึ่งเกินครึ่งในหลายประเทศ และเฉลี่ยแล้วอยู่ที่กว่า 60% ใน 25 ประเทศ (อ้างจาก https://www.ft.com/content/1c7270d2-6ae4-11e7-b9c7-15af748b60d0)
และก็เลยกลายเป็นฐานเสียงของพลังการเมืองประชานิยม-ชาตินิยมฝ่ายขวาและเป็นที่มาของประชามติเบร็กซิท/ให้ออกจากสหภาพยุโรปในอังกฤษปี 2016, การชนะเลือกตั้งขึ้นสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาในปี 2017 และคะแนนเสียงของฝ่ายขวาจัดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปในสหภาพยุโรปปีนี้
(ดูเปรียบเทียบข้อค้นพบของ Ronald F. Inglehart & Pippa Norris, “Trump, Brexit, and the Rise of Populism : Economic Have-Nots and Cultural Backlash”, 2016, https://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=2818659; & Andres Rodriguez-Pose, Javier Terrero-Davila, and Neil Lee, “Left-behind versus unequal places : interpersonal inequality, economic decline and the rise of populism in the USA and Europe”, 2023, https://academic.oup.com/joeg/article/23/5/951/7126961)
ในกรณีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปปีนี้ หนังสือพิมพ์ Le Monde ของฝรั่งเศสฉบับประจำวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายนศกนี้ ได้ลงแผนที่ประกอบบทวิเคราะห์ในหัวเรื่อง “Les territoires de l’extr?me droite en Europe” (ดินแดนของพวกขวาจัดในยุโรป, ดูภาพประกอบ (3)) โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะร่วมของอาณาบริเวณซึ่งพลเมืองใน 27 ประเทศภาคีสมาชิกสหภาพยุโรปโหวตเลือกพรรคขวาจัดของท้องถิ่นประเทศตนได้ดังนี้ :
– มีผู้คนต่างชาติอพยพเข้ามามาก
– มักอยู่ทางยุโรปตะวันออก
– เป็นเขตชนบท ประชากรเบาบาง
– ผ่านประวัติศาสตร์บาดแผลสงครามรุนแรงมาหลายครั้งในอดีต
– เกิดวิกฤตประชากรตกต่ำ อัตราการเกิดและเจริญพันธุ์ลดน้อยถอยลง
– เคยเป็นเขตฐานเสียงพรรคขวาเก่ามาแต่ก่อน
– เป็นเขตเมือง/อุตสาหกรรมที่ประสบภาวะ deindustrialization หรือการลดความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมลง ทำให้คนตกงานขนานใหญ่
– ผู้คนรู้สึกว่าถูกชนชั้นนำทอดทิ้ง นโยบายรัฐบาลที่ออกมาละเลยไม่เห็นหัวพวกตน รับผู้อพยพต่างชาติเข้ามา แย่งงานท้องถิ่นมาก ทำให้สูญเสียเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์-ศาสนา-ภาษาวัฒนธรรมแต่เดิม
– ยาเสพติดแพร่หลาย มีหนุ่มสาวจากครอบครัวอพยพซึ่งฐานะอาชีพไม่มั่นคงอยู่จำนวนมาก
– รู้สึกถูกคุกคามจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายญิฮาด
– ขุ่นเคืองศูนย์อำนาจสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ที่ยัดเยียดมาตรฐานต่างๆ มาบังคับใช้ เช่น รถยนต์พลังไฟฟ้า, ห้ามใช้ยาฆ่าศัตรูพืช, ห้ามใช้เครื่องทำความอุ่นพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น
จะเห็นได้ว่ามันเป็นดินแดนของผู้แพ้ทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์แห่งสหภาพยุโรปภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ อันเป็นบ่อเกิดและที่มั่นของฝ่ายขวาจัดชาตินิยม-ประชานิยม นั่นเอง!
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022