ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง
จากรำโทนสู่รำวง
: ความบันเทิงของคนไทยในช่วงสงคราม (1)
“รำโทน” ความบันเทิงในช่วงสงคราม
ในห้วงแห่งสงคราม คนไทยครั้งนั้นต้องประสบความอดอยาก ภาวะข้าวยากหมากแพง และความกลัวตายจากภัยสงคราม
รัฐบาลจึงต้องการหากิจกรรมบันเทิงบรรเทาความเครียดกันด้วยการละเล่นร้องรำทำเพลงพื้นบ้านเพื่อบำรุงขวัญ มิให้ประชาชนวิตกกังวลมากจนเกินไป
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายในการใช้การละเล่นพื้นบ้านเพื่อลดความวิตกจริตลง ด้วยการส่งเสริมการเล่นรำโทนให้กว้างขวางพร้อมการพัฒนาการละเล่นชนิดนี้ให้มีมาตรฐานขึ้น กรมศิลปากรและกรมโฆษณาการจึงรับภารกิจนี้จากรัฐบาล
ลาวัณย์ โชตามระ ผู้อยู่ร่วมสมัยเห็นว่า สาเหตุที่รำโทนเป็นที่นิยมแพร่หลายเกิดจากการอพยพหนีภัยการทิ้งระเบิดของชาวกรุงไปยังพื้นที่รอบนอกพระนครหรือจังหวัดข้างเคียง เป็นเหตุให้การรำโทนเข้ามาแพร่หลายในพระนครด้วย
ประชาชนในพระนครจึงนิยมเล่นรำโทนกันอย่างสนุกสนานแพร่หลายเพื่อให้ลืมความทุกข์ความโศกจากสงคราม ดังความว่า
“เมื่อความตายอยู่แค่คืบ ชีวิตเหมือนแขวนอยู่กับเส้นผมเช่นนี้ ในขณะที่อันตรายและความตายยังไม่กรายมากราด ก็ขอบันเทิงใจไว้ก่อนจะดีกว่า ก็เลยมีเพลงรำโทนขึ้นมาหลายสิบเพลง หลายร้อยทำนอง” (ลาวัณย์, 2527, 198-199)
ท่ามกลางสงครามที่ลุกโชนนั้น การเล่นรำโทนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชน เนื่องจากเป็นการเล่นผ่อนคลายที่เล่นได้ง่าย ไม่ต้องมีทักษะด้านร้องรำ และไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้การปรบมือให้จังหวะการเล่นก็เพียงพอ นับเป็นการเล่นกันอย่างแพร่หลาย
การปรับปรุงทางรำโทนให้มีมาตรฐาน
เดิมรำโทนเป็นการละเล่นพื้นบ้านในแถบภาคกลางกันมาอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นการละเล่นที่ใช้ภาษาเรียบง่าย เนื้อหาเชิงเย้าแหย่ หยอกล้อเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว เช่น เพลงยวนยาเหล ตามองตา ใกล้เข้าไปอีกนิด ช่อมาลี เป็นต้น อีกทั้งการเล่นรำโทน ไม่ต้องมีอุปกรณ์เครื่องดนตรีมาก มีแค่เพียงฉิ่ง กรับและโทน ประชาชนทั่วไปก็สามารถร่วมกันร้องรำทำเพลงกันได้แล้ว
เมื่อคนไทยอยู่ในห้วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน ในราว 2487 รัฐบาลจอมพล ป. ต้องให้คนไทยคลายความวิตกกังวลด้วยการเล่นรำโทน พร้อมต้องการยกระดับวัฒนธรรมไทยให้มีความเป็นไทยอารยะด้วย จึงมอบหมายให้กรมศิลปากรปรับปรุงการเล่นรำโทนให้มีระเบียบเรียบร้อย ทั้งเพลงร้อง ลีลาท่ารำ และการแต่งกาย ให้เป็นแบบฉบับอันดีงามของนาฏศิลป์ไทย จึงมีการแต่งเนื้อเพลงร้องที่นำนโยบายรัฐนิยม กระแสชาตินิยมและหน้าที่พลเมืองประกอบเข้าด้วย
ต่อมากรมศิลปากรแต่งเพลงและพัฒนาท่ารำขึ้นจนกลายเป็น “รำวงมาตรฐาน” ในเวลาต่อมา (กาญจนา อินทรสุนานนท์ และรุจี ศรีสมบัติ, 2543, 1)
รัฐบาลครั้งนั้นจึงสนับสนุนให้ข้าราชการและประชาชนเล่นรำโทนกันอย่างกว้างขวางเพื่อสร้างความสนุนสนาน คลายความกังวลในยามสงคราม และโน้มน้าวให้ประชาชนปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล
เพลงรำโทน
การสื่อสารกับประชาชนสมัยสงคราม
ด้วยเหตุที่รัฐบาลส่งเสริมให้รำโทนเป็นที่นิยม การละเล่นและบทเพลงจึงกลายเป็นช่องทางในการสื่อสารกับประชาชนให้ทราบนโยบายของรัฐบาลได้อย่างกว้างขวาง เช่น เพลงปลุกใจให้รักชาติ เพลงที่ให้การศึกษาทางการเมือง เพลงที่โน้มน้าวให้ประชาชนปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ ดังเช่น
กลุ่มเพลงที่ให้ความรู้และความหมายสัญลักษณ์ทางการเมืองใหม่ในระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน เช่น ธงชาติ การเคารพธงชาติ รัฐธรรมนูญ ดังเช่น เพลง 8 นาฬิกา มีเนื้อร้องว่า “…แปดนาฬิกา ได้เวลาชักธง เราจะต้องยืนตรง เคารพธงของชาติไทย (ซ้ำ) เราสนับสนุน ป.พิบูลสงคราม เราจะต้องทำตาม ตามผู้นำของชาติไทย (ซ้ำ)…”
เพลงผู้นำของชาติ ที่มีเนื้อร้อง “เชื่อผู้นำของชาติ ประกาศทั้งชายและหญิง สตรีเอาไว้ผมยาว (ซ้ำ) ใส่หมวกรองเท้าให้ทันสมัย นุ่งถุงกระตุ้งกระติ้ง (ซ้ำ) มันน่ารักจริงยอดหญิงชาวไทย (ซ้ำ) และ เพลงชาติศาสนา มีเนื้อร้องว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ เทิดทูนเป็นที่บูชา เทียมดวงใจไม่เสียดายชีวิตชีวา ชาติ ศาสนา รักยิ่งชีวา ไว้เทิดทูน” เป็นต้น
เพลงปลุกเร้าจิตใจให้กล้าหาญ เช่น เพลงลพบุรี มีเนื้อร้องว่า “ลพบุรีเราเอ๋ย ไม่นึกเลย ว่าจะถูกโจมตี สี่เครื่องยนต์ เขามาบินล้อม (ซ้ำ) ทิ้งลูกบอมบ์ลงหน้าสถานี ก๊อกน้ำยังถูกทำลาย หัวรถไฟยังถูกปืนกล สี่เครื่องยนต์เข้ามายิงกราด (ซ้ำ) ยิงถูกตลาดหน้าห้องแถวลพบุรี สาวน้อยอย่าเพิ่งหนี หนุ่มน้อยอย่าเพิ่งหนี ลพบุรียังไม่เป็นไร เขามาข้างบน เขามาเรือบิน เราอยู่พื้นดินเอา ป.ต.อ. เข้ามาตั้ง ต่อสู้กันดูสักครั้ง (ซ้ำ) ป.ต.อ.เข้ามาตั้งหมายจะยิงเรือบิน”
เพลงที่โน้มน้าวให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและมีวิถีชีวิตใหม่ เช่น เพลงสาวน้อยเอวกลม มีเนื้อร้องว่า “สาวน้อยเอวกลม ไว้ผมดัดลอนดัดคลื่น ใส่น้ำมันหอมรื่น สวมแต่หมวกใบลาน แต่งตัวทันสมัย สาวไทยแบบหลวงพิบูล หิ้วกระเป๋าจันทบูรณ์ (ช.) แม่คุณจะไปไหนกัน (ญ.) ฉันจะไปดูโขน (ช.) ฉันจะไปดูหนัง (ซ้ำ) (ช.) มาขึ้นรถราง (พร้อม) มาไปด้วยกัน”
หมอเสนอ อินทรสุขศรี เล่าถึงความครึกครื้นของคนไทยในยามหน้าสิ่วหน้าขวานยังมีอารมณ์ขัน โดยคนสมัยนั้นได้แปลงเพลงลพบุรี ที่สะท้อนเหตุการณ์ทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตรในช่วงกลางสงครามที่มีเนื้อร้องว่า “เครื่องบินสี่เครื่องยนต์ มาบินเวียนวน ทิ้งระเบิดเวลา” แต่ต่อมา ในช่วงปลายสงคราม ปรากฏเครื่องบินเข้ามาเช่นเดิม แต่ไม่ทิ้งระเบิดแล้ว ชาวบ้านจึงแปลงข้อความในเพลงนี้เป็น “เครื่องบินสี่เครื่องบินมาบินเวียนวน แล้วทิ้งเครื่องยา” (เสนอ, 2548, 83)
ข้าราชการมหาดไทยบันทึกถึงการละเล่นของข้าราชการสมัยนั้นว่า “ขณะนั้น สงครามมหาเอเชียบูรพาได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รัฐบาลของท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้ดำเนินมาตรการในอันที่จะปลุกใจคนไทยให้รักประเทศชาติ และปลอบขวัญให้มั่นคง…รัฐบาลจึงกำหนดให้ข้าราชการทุกคนฝึกวิชาทหารทุกวันพุธ การฝึกมีเพียงระเบียบแถว การเดินทางไกล การวิ่ง ฝึกเสร็จแล้วสอนรำวงแบบกรมศิลปากร” (จำนง, 16)
ในช่วงเวลานั้น ไม่แต่เพียงการรำโทนนอกจากจะเป็นกิจกรรมบันเทิงแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียดให้กับประชาชนในยามสงครามให้ลืมความทุกข์ ลืมความเศร้าความโศกลงได้บ้าง
อดีตข้าราชการคนหนึ่งบันทึกว่า สมัยนั้น ทั้งคนงาน พ่อค้า ข้าราชการและฝ่ายการเมืองในรัฐบาลล้วนชื่นชอบรำโทนกันทั้งนั้น ชาวพระนครมีกิจกรรมรำโทนกันแทบทุกบ้าน ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ อุปกรณ์ในการเล่น มีเพียงโทนหนึ่งถึงสองใบ นักร้องไม่จำกัด มีโต๊ะตั้งกลางพร้อมผ้าปูสีสวยและแจกันดอกไม้สำหรับเป็นแกนกลางของวงรำโทน ส่วนพื้นที่ก็ใช้สนามหญ้า หรือลานบ้าน หรือม้าหินตามแต่สะดวก เจ้าภาพจะมีขนมและเครื่องดื่มเลี้ยงสนุกสนานอย่างประหยัด (หลวงยุกตเสวีฯ, 2537, 73)
ต่อมา รัฐบาลมอบให้กรมศิลปากรพัฒนาท่วงท่ารำในรำโทนให้มีมาตรฐานจนกลายเป็นรำวง ซึ่งเป็นการละเล่นที่กลายเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติอันเกิดขึ้นจากความจำเป็นในช่วงสงคราม ดังจะกล่าวต่อไปในตอนหน้า
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022