ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
ในความแตกแยกอันเกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชาชน ในการปรากฏขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า “กลุ่มเพื่อนเนวิน” จำเป็นต้องให้ความสนใจไปยัง 3 จุดในทางการเมือง
1 ท่าทีจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 1 ท่าทีของพรรคพลังประชาชน
ขณะเดียวกัน ปัจจัย 1 ในทางการเมืองที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดคือท่าทีอันมาจากแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ซึ่งรู้จักในชื่อว่า “นปช.”
3 ส่วนนี้ดำเนินการอย่างสอดคล้อง สัมพันธ์กัน
โดยเฉพาะในสถานการณ์หลังคำวินิจฉัยยุบพรรค เนื่องจากเมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสลายการชุมนุมในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 บทบาทก็คือบทบาทในการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
เป็นเรื่องของตำรวจ เป็นเรื่องของศาล
บทบาทในการโต้กลับต่อ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ภายในพรรคอาจเป็นบทบาทของ ส.ส.ภาคอีสานเป็นหัวหอก แต่หัวหมู่ทะลวงฟันของ “นปช.” หรือ “คนเสื้อแดง” กลับเริ่มต้นจากเชียงใหม่ ภาคเหนือ
นี่คือการส่งสัญญาณแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้ง ความแตกแยกจากภายในของรัฐบาล ของพรรคพลังประชาชน
โดยมี “คนเสื้อแดง” เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน
เห็นได้จากสถานการณ์เมื่อเช้าวันที่ 9 ธันวาคม 2551 คนร้ายขว้างระเบิดเข้าไปในบ้านพักที่ อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นบ้านของ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา เขต 2
เด่นชัดยิ่งว่าเป็น ส.ส.ในสังกัด “กลุ่มเพื่อนเนวิน”
ก่อนเกิดการขว้างระเบิดได้มีผู้นำโลงศพ 2 ใบไปวางไว้หน้าบ้าน นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ พร้อมเขียนข้อความโจมตีกล่าวหาว่าเป็น ส.ส.ขายตัว ไม่มีอุดมการณ์
วันเดียวกัน ก็มีการเคลื่อนไหวขึ้นที่ขอนแก่น
นั่นก็คือ มีคนสวมเสื้อแดงประมาณ 30 คนไปชุมนุมหน้าบ้านพัก นายประจักษ์ แก้วกล้าหาญ ริมบึงแก่นนคร เขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยนำพวงหรีดดำไปแขวนที่ประตูรั้ว
ชูป้ายโจมตี นายประจักษ์ แก้วกล้าหาญ ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล
อีก 2 วันต่อมาคือในวันที่ 11 ธันวาคม กลุ่มคนเสื้อแดงขอนแก่น 150 คนเดินขบวนไปยังบ้าน นายประจักษ์ แก้วกล้าหาญ อีก พร้อมพูดโจมตี นายเนวิน ชิดชอบ นายปัญญา ศรีปัญญา
ทั้งยังได้แบกโลงศพจำลองเขียนชื่อ นายเนวิน ชิดชอบ นายปัญญา ศรีปัญญา นายประจักษ์ แก้วกล้าหาญ ติดข้างโลง
ก่อนนำไปวางบริเวณบ้าน นายประจักษ์ แก้วกล้าหาญ แล้วเผา
พื้นที่แห่งการเคลื่อนไหวของ “เสื้อแดง” มิได้จำกัดเพียงที่นครราชสีมา ชอนแก่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากแต่ปะทุขึ้นที่เชียงใหม่
บ่ายวันที่ 12 ธันวาคม “กลุ่มรักเชียงใหม่ 51” กว่า 100 คนเดินทางไปยังบริษัท เชียงใหม่ คอนสตรัคชั่น จำกัด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นของ นายคะแนน สุภา พ่อตา นายเนวิน ชิดชอบ
มอบพวงหรีดเพื่อฝากให้ นายเนวิน ชิดชอบ พร้อมทำพิธีเผาหุ่นและสาปแช่ง นายเนวิน ชิดชอบ มิให้เดินทางมาเชียงใหม่
ปลายหอกพุ่งเข้าใส่ นายเนวิน ชิดชอบ อย่างเป็นเอกภาพ
ที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดย่อมเป็นการเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากต่างแดน
เป็นการเคลื่อนไหวผ่านการเคลื่อนไหวของ “นปช.”
นั่นก็คือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นัดหมายจัดกิจกรรมรายการ “ความจริงวันนี้ ความจริงประเทศ” สัญจร ณ สนามกีฬาแห่งชาติ ในวันที่ 13 ธันวาคม
บนพื้นที่ สนามกีฬาแห่งชาติ จุคนเข้าร่วมได้ 40,000 คน โดยกำหนดให้ผู้เข้าร่วมอยู่ในชุด “เสื้อแดง” อย่างพร้อมเพรียงกัน
เดิมทีมีวาระที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะ “โฟนอิน” เข้าไป
แต่เมื่อถึงเวลา 20.20 น. แกนนำ นปช.ตัดสินใจนำวีทีอาร์ บันทึกภาพและเสียง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความยาว 23 นาทีเปิดให้ฟัง
เนื้อหาเริ่มจากปัญหาเศรษฐกิจแล้วค่อยเข้าสู่ประเด็นทางการเมือง
บ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะปฏิวัติรัฐประหารทำลายล้างระบอบประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่การรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยทหาร แต่หลังการเลือกตั้งพรรคพลังประชาชนได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาล
เกิดการปฏิวัติรัฐประหารอีกแบบหนึ่ง โดยใช้กระบวนการยุติธรรม มีการยุบพรรคเป็นครั้งที่ 2
ผมถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี
มีการลอบฆ่าถึง 3 ครั้ง และมีความพยายามยึดพาสปอร์ต ทำให้อยู่ในสภาพหมาจนตรอก
ระบบยุติธรรมมีสองมาตรฐาน
การเมืองถูกแทรกแซง นักการเมืองบางคนหักหลังประชาชน บอกประชาชนให้เลือกเข้ามาแล้วจะเอา “ทักษิณกลับบ้าน” แต่วันนี้กลับจะไปยกมือให้ฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณ
นี่คือนักการเมืองที่หักหลังประชาชน ต้องระวัง
เพราะนักการเมืองที่หักหลังประชาชนจะอยู่ไม่ได้ ประชาชนจะจำไปทั้งตระกูลต่อไปใครลงเลือกตั้งก็ไม่ได้
ถามว่าทำไมถึงไม่ “โฟนอิน” ทำไมจึงต้องเป็น “วิทีอาร์” หนังสือ “มติชนบันทึก ประเทศไทย ปี พ.ศ.2551” มีคำตอบ
เป็นคำตอบจาก นายวีระ มุสิกพงศ์
เนื่องจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กับ นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช
“ขอร้องเราอย่าให้มีการโฟนอิน เพื่อให้มีเครดิตต่อการจัดตั้งรัฐบาล”
สะท้อนให้เห็นว่าในการเคลื่อนไหวอันน่าสงสัยของ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ก็มีการทำแนวร่วมกับพรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคประชาราช
แม้ “นปช.” จะต้องการรุก แต่ก็ต้องฟังเสียงของ “แนวร่วม”
เป็นแนวร่วมจากพรรคเพื่อแผ่นดินที่นำโดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นแนวร่วมจากพรรคประชาราชที่นำโดย นายเสนาะ เทียนทอง
นี่คือภาวะพลิกผัน แปรเปลี่ยนในทางการเมือง
เป็นภาวะพลิกผันแปรเปลี่ยนอันมีจุดเริ่มตั้งแต่ นายสมัคร สุนทรเวช ต้องถูกถอดถอนจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ก่อให้เกิดทางเลือก 2 สาย 2 แนวทางภายในพรรคพลังประชาชน
แนวทาง 1 ต้องการให้ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แม้ว่าแนวทางนี้ไม่ราบรื่นก็พยายามเสนอชื่อ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
แนวทาง 1 ต้องการให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ความเด่นชัดเป็นอย่างยิ่งก็คือ แนวทางผลักดัน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้รับชัยชนะ
เป็นชัยชนะที่เหมือน “ลิ่ม” ทะลวงเข้าไปภายในพรรคพลังประชาชน
เป็นชัยชนะที่ปรากฏการเคลื่อนไหวในนาม “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ขึ้นมาอย่างเด่นชัด
กลายเป็นจุดอ่อนไหวที่อีกฝ่ายทะลวงเข้ามาทำให้ความขัดแย้งพัฒนา
พัฒนากลายเป็น “ความแตกแยก” พัฒนากลายเป็น “การแยกตัว” และนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในการจัดตั้งรัฐบาล
และนี่คือรากฐานแห่งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022