ประชานิยมปีกขวา (1) กำเนิดสายสกุล ‘ทรัมป์’

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

ประชานิยมปีกขวา (1)

กำเนิดสายสกุล ‘ทรัมป์’

 

“ผู้นำทางการเมืองคือ คนที่ทำในสิ่งที่ประชาชนต้องการ… [แต่] ถ้ามีอะไรผิดพลาด ก็ไม่ใช่ความผิดของพวกเรา”

Juan Peron

ผู้นำประชานิยมปีกขวาแห่งอาร์เจนตินา

 

ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างน้อยอาจเริ่มจากช่วงราวปี 2015 ที่ยุโรปเริ่มเผชิญกับการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่องจากปฏิบัติการของกลุ่มรัฐอิสลาม (The Islamic State หรือกลุ่ม IS) และเริ่มเห็นถึงการขยับตัวของกระแสความเป็นอนุรักษนิยมขวาจัดที่มีมากขึ้นในเวทีการเมืองยุโรป และไม่ใช่ขวาจัดในแบบเดิมที่เราคุ้นเคย

ต่อมาในปี 2016 ด้วยชัยชนะของกลุ่มปีกขวาในอังกฤษ ที่รณรงค์จนประสบความสำเร็จในการพาประเทศออกจากสหภาพยุโรป หรือปรากฏการณ์ BREXIT และในปลายปีดังกล่าว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง และก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำสหรัฐอเมริกา พร้อมกับข้อเสนอในเชิงนโยบายในแบบที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของความเป็นอนุรักษนิยมอเมริกันกระแสหลักอีกแล้ว

หลังจากปี 2016 ที่เห็นชัยชนะของฝ่ายขวาจัดทั้งในอังกฤษและในสหรัฐแล้ว กระแสนี้เริ่มขยายอิทธิพลทางความคิดมากขึ้นทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก โดยเฉพาะจะเห็นได้ชัดเจนถึงการมีบทบาทของพรรคการเมืองปีกขวาจัดในการเมืองยุโรป และพรรครีพับลีกันในสหรัฐ ที่ได้รับอิทธิพลจากชัยชนะของทรัมป์ ก็มีทิศทางเป็นขวาจัดมากขึ้น

กระแสขวาจัดชุดนี้ไม่ได้ยืนกับ “อนุรักษนิยมกระแสหลัก” แบบเดิมอีกต่อไป แม้จะถูกจัดเป็นความคิดในสเปกตรัมของอนุรักษนิยม แต่ก็ต้องถือว่าเป็น “ขวานอกกระแสหลัก” ที่กำลังมีอิทธิพลทั้งทางความคิดและการกระทำในการเมืองตะวันตกอย่างมาก จนอาจต้องกล่าวว่าโลกตะวันตกกำลังมีทิศทาง “เอียงขวา” มากขึ้น

 

ดังที่กล่าวนำแล้วว่า กระแสขวาที่ก่อตัวทางความคิดในโลกตะวันตกชุดนี้ เป็น “ขวาจัด” อย่างแน่นอน และความคิดนอกกระแสหลักชุดนี้ถูกนิยามในภาษาทางรัฐศาสตร์ว่าเป็น “ขวาประชานิยม”

ในทางวิชาการเราเรียกคนที่สมาทานความคิดชุดนี้ว่า “ประชานิยมปีกขวา” (The Right-Wing Populism) และกำลังเป็นกระแสขวาที่น่ากังวล โดยเฉพาะกับการพาให้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกรอบในปลายปี 2024 หรือไม่… ถ้าทรัมป์ชนะจริง เขาจะเป็นประธานาธิบดี 2 สมัยที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกัน

ดังนั้น ถ้าจะทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกตะวันตกในปัจจุบันแล้ว จะต้องเริ่มด้วยการทำความรู้จักกับพวกเขาก่อน ดังจะเห็นได้ว่าการเมืองตะวันตกวันนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายของกระแสประชานิยมปีกขวา โดยเฉพาะหลังผลของการเลือกตั้งสภายุโรป (European Parliament) ล่าสุดของปี 2024 ที่เห็นถึงการขยายจำนวนของฝ่ายขวาจัดในเวทีสหภาพยุโรป และหลังการรอดชีวิตจากการถูกลอบสังหารของโดนัลด์ ทรัมป์ ในเดือนกรกฎาคม 2024 เช่นกัน อันทำให้กระแสประชานิยมปีกขวาเป็นชุดความคิดหลักชุดหนึ่งของการเมืองร่วมสมัยที่ต้องเรียนรู้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขวาวันนี้ ไม่ใช่ขวาเดิมในแบบยุคสงครามเย็น ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างสุดโต่งอีกต่อไปแล้ว แต่กลับมีทิศทางที่ต่อต้านเสรีนิยมอย่างสุดขั้วมากกว่า

 

ปัญหาประชานิยม

การเรียนรู้เรื่อง “ประชานิยม” นั้น หนีไม่พ้นที่จะต้องเริ่มต้นด้วยคำถามพื้นๆ ว่า ประชานิยมคืออะไร?

หนังสือที่เป็นตำราทางรัฐศาสตร์มีความเห็นคล้ายคลึงกันว่า อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะนิยามว่าประชานิยมคืออะไร เพราะมีความเห็นและข้อโต้แย้งในหมู่นักคิดอยู่มากพอสมควร เช่น เราอาจจะเคยได้ยินคนเรียกประธานาธิบดีที่มีความคิดออกไปทางปีกซ้ายในละตินอเมริกาว่าเป็นประชานิยม ขณะเดียวกันเราก็เคยได้ยินคนเรียกผู้นำปีกขวาจัดในยุโรปหรือในสหรัฐอเมริกาว่าเป็นพวกประชานิยม… ตกลงแล้วพวกเขาคือใครกันแน่?

นอกจากนี้ เราอาจพบคำนี้ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในสื่อตะวันตก หรือในวงวิชาการตะวันตกก็มีการใช้คำคำนี้ในการบ่งบอกถึงจุดยืนทางการเมืองของบุคคล หรือของพรรคการเมือง จนบางครั้งดูเหมือนว่าการใช้คำดังกล่าวจะเป็นการสร้างความสับสน หรือทำให้เกิดความไม่เข้าใจเสียมากกว่าจะทำให้เข้าใจในปรากฏการณ์การเมืองของขวาปัจจุบัน

ดังนั้น เราจะพบว่าเมื่อมีการใช้คำนี้กันอย่างกว้างขวางเช่นในปัจจุบัน ก็ยิ่งทำให้เกิดความจำเป็นในการทำความเข้าใจกับความหมายของความเป็นประชานิยมอย่างมาก เพราะด้านหนึ่งความเข้าใจจะทำให้เกิดความชัดเจนที่จะระบุว่านักการเมืองคนใด หรือพรรคการเมืองพรรคใดเป็นประชานิยม หรือทิศทางนโยบายแบบใดที่เป็นประชานิยม

 

อย่างไรก็ตาม คำนี้มักถูกหยิบขึ้นมาใช้เพื่อป้ายสีนักการเมือง และ/หรือพรรคการเมืองที่เราไม่ชอบว่าเป็นพวกประชานิยมไปหมด อีกทั้งถ้าเราไม่เข้าใจความหมายของคำดังกล่าวอย่างชัดเจนแล้ว เราอาจจะใช้คำนี้แบบ “เหวี่ยงแห” โดยใช้ไปทั่ว และไม่มีความหมายที่แน่ชัดว่าคืออะไร การกระทำในลักษณะเช่นนี้สุดท้ายแล้วจะทำให้เรานิยามคำนี้ไม่ได้เลย เพราะทุกอย่างจะถูกจัดหมวดหมู่ให้เป็นประชานิยมไปหมด

การสร้างนิยามแบบเหวี่ยงแหที่ใช้ครอบคลุมทุกอย่างนั้น จะทำให้นักการเมืองทุกคนกลายเป็นพวกประชานิยม หรือในทำนองเดียวกันจะเกิดมุมมองว่าพรรคการเมืองเป็นพรรคประชานิยมไปหมดอย่างไม่จำแนก การทำความเข้าใจกับความหมายของคำศัพท์ทางรัฐศาสตร์คำนี้ อย่างน้อยก็ช่วยให้เกิดการแยกระหว่างคนที่เป็นประชานิยม กับคนที่ไม่ได้เป็นประชานิยม อันเป็นปัญหาของการจำแนกระหว่างตัวแสดงที่เป็น “populist vs. non-populist” ในการเมืองปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ความยุ่งยากในอีกส่วนอาจเป็นเพราะว่าคนที่เรามองว่าเขาเป็นประชานิยมอย่างนายพลฮวน เปรอน และภรรยาอิวิตา เปรอน (General Juan and Evita Peron) ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกยกย่องให้เป็น “ประชานิยมใหญ่” แห่งละตินอเมริกานั้น เขาไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นประชานิยมแต่อย่างใด

หรือผู้นำสายขวาจัดในวันนี้อย่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่เคยประกาศตัวในเวทีใดเลยว่า เขาเป็นประชานิยม… ไม่เคยมีคำนี้สักคำหลุดจากปากของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย

 

อุดมคติประชานิยม

ฉะนั้น เพื่อให้เห็นรูปการณ์ทางความคิดที่เป็นประชานิยมแล้ว เราอาจต้องเริ่มด้วยการพิจารณาการเมืองในบริบทของประชาธิปไตยเสรีนิยม (liberal democracy) เนื่องจากในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์นั้น ประชานิยมเป็นชุดความคิดทางการเมืองที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาธิปไตยเสรีนิยมมากที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่าอยู่ใกล้มากกว่าประชาธิปไตยแบบอื่นๆ ดังเห็นชัดเจนว่าฝ่ายประชานิยมเคลื่อนไหวอยู่ในปริมณฑลของการเมืองประชาธิปไตยเสรีนิยม หรืออย่างน้อยก็อยู่ในกรอบของพื้นที่ทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม

แม้อาจจะดูเป็นเรื่องแปลก แต่นี่คือภาพสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะของความเป็นจริงในทางการเมืองที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชานิยมคือผลสืบเนื่องด้านลบของระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมในตัวเอง เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีประชาธิปไตยในแบบเสรีนิยมแล้ว เมื่อนั้นย่อมจะต้องมีประชานิยมตามมา หรือที่ในทางทฤษฎีมีนัยว่า ประชานิยมมี “ความใกล้ชิด” อย่างมากกับประชาธิปไตยเสรีนิยม

หากกล่าวโดยทั่วไปแล้ว เราอาจเริ่มด้วยการจัดวางกรอบคิดในเบื้องต้นว่า

ประชานิยมหมายถึง “การสร้างวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยโดยผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนในเวทีการเมือง”

 

ถ้านิยามเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรในทางการเมือง และประชานิยมน่าจะมีนัยเป็น “พลังเชิงบวก” สำหรับการเคลื่อนไหวของประชาชน แต่ก็ต้องเน้นว่าประชาชนในที่นี้สำหรับพวกเขาคือ “สามัญชนคนทั่วไป” (common people) เท่านั้น อีกทั้งการเคลื่อนไหวนี้เป็นไปเพื่อสร้างประชาธิปไตยในแบบ “ความเป็นชุมชนนิยม” (Communitarianism) ซึ่งความเป็นชุมชนนิยมเช่นนี้ เป็นชุดความคิดที่ให้ความสำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างปัจเจกบุคคลกับชุมชน (community) และมองว่าความเป็นชุมชนจะเป็นปัจจัยหลักในการสร้างบุคลิกภาพและอัตลักษณ์ของบุคคลผ่านความสัมพันธ์ที่เกิดในชุมชนนั้น

ในกรอบของการตีความที่กว้างขึ้น ความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่เรื่องเพียงแค่ในระดับปัจเจกบุคคล แต่เป็นระหว่างชุมชนกับชุมชนที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ร่วมกัน กับชุมชนที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน

ชุดความคิดแบบชุมชนนิยมในลักษณะเช่นนี้ เป็นสายหนึ่งของความเป็นอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน และยังแสดงออกด้วยการไม่ยอมรับแนวคิดเรื่องปัจเจกบุคคลของลัทธิเสรีนิยม หรือต่อต้านระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี หรือนโยบายทางเศรษฐกิจในทิศทางดังกล่าว เพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยในการลดทอนเสถียรภาพของชุมชนโดยรวม หรือในความหมายของชาวอนุรักษนิยมโดยทั่วไป คือ ความคิดแบบเสรีนิยมสั่นคลอนต่อสิ่งที่เป็นสถาบัน ระเบียบ และประเพณีดั้งเดิมของสังคม

ดังนั้น อุดมคติของสำนักคิดนี้จึงต้องการสร้างตัวแบบของ “ประชาธิปไตยชุมชน” (communitarian model of democracy) ให้เกิดขึ้นในสังคม ประกอบกับพวกเขามักมีความเชื่อว่า ประชาธิปไตยในขณะนี้กำลังมีปัญหาหรือมีวิกฤต และต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้าง “ประชาธิปไตยแบบสุดขั้ว” (radical democracy อันมีนัยถึงแนวคิดแบบอนุรักษนิยมขวาจัด)

ดังนั้น ในมิติทางความคิด ชาวประชานิยมจึงมีความเชื่ออย่างมุ่งมั่นว่า ประชานิยมจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาทางการเมือง และจะแก้ได้ด้วยการสร้างประชาธิปไตยแบบสุดขั้ว ด้วยการจับเอาปัญหาความขัดแย้งมานำเสนอใหม่ให้แก่เวทีการเมือง ซึ่งในการดำเนินการเช่นนี้ พวกเขาจะต้องสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่แยกตัวออกจากสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนสถานะเดิม

 

หัวหน้าใหญ่มาแล้ว!

การคิดเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า พวกเขากำลังร้องหาความเปลี่ยนแปลงในอีกแบบ การเรียกร้องเช่นนี้อาจกลายเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยความรุนแรง โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้าง “รัฐประชานิยม” ภายใต้การบริหารของ “รัฐบาลประชานิยม” ด้วยทิศทางของ “นโยบายประชานิยม”

เราเคยเห็นรัฐบาลประชานิยมที่กรุงวอชิงตันในช่วงปี 2016-2020 มาแล้ว… วันนี้จึงท้าทายอย่างมากว่ารัฐบาลแบบนี้ภายใต้การนำของ “หัวหน้าขวาจัด” ที่ใหญ่ที่สุดที่ชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมาสร้างความกังวลให้โลกในอนาคตอีกหรือไม่!