Wave Garden / El Paradiso : ศิลปะแห่งคลื่นที่มุ่งเน้นในการนำพาสติรับรู้แก่ผู้ชม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

Wave Garden / El Paradiso

: ศิลปะแห่งคลื่นที่มุ่งเน้นในการนำพาสติรับรู้แก่ผู้ชม

 

ในตอนนี้เราขอนำเสนอนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจที่เราได้ไปชมมา

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Wave Garden / El Paradiso

นิทรรศการแสดงเดี่ยวของศิลปินร่วมสมัยชาวญี่ปุ่นผู้อาศัยและทำงานในเมืองไทยอย่าง เอจิ ซูมิ (Eiji Sumi) ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เป็นการผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ากับงานศิลปะร่วมสมัย

เขานำเสนอผลงานที่ผสานหลากสื่อหลายศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อกระตุ้นและปลุกเร้าความรู้สึกของผู้คนในเมืองใหญ่ที่อาจจะด้านชาให้ตื่นรู้และกลับมามีชีวิตชีวาจากศิลปะของเขา

ในนิทรรศการครั้งนี้เขานำเสนอผลงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจาก สวนเซนญี่ปุ่น ศิลปะแห่งการจัดสวนด้วยก้อนหิน กรวด และทราย เพื่อสร้างพื้นที่ภูมิทัศน์ทางจิตใจ (mind-scape) ที่แสดงออกให้เห็นถึงความงามแห่งจักรวาลท่ามกลางสภาพแวดล้อมธรรมชาติ อันเป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนานิกายเซนของญี่ปุ่น

ผลงานของเอจิสำรวจแนวคิดทางสุนทรียะที่สร้างขึ้นจากความสัมพันธ์อันขัดแย้งกันระหว่างวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมกับวัฒนธรรมร่วมสมัย หรือการเปรียบเทียบระหว่างสุนทรียะแบบมินิมอลอันเรียบง่ายลดทอนที่สร้างขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ ว่าแตกต่างกับความงามในธรรมชาติอย่างไร

เช่นเดียวกับในนิทรรศการของเขาที่ผ่านมา นิทรรศการครั้งล่าสุดของเขาครั้งนี้มุ่งเน้นในการสร้างสรรค์ที่เป็นการหลอมรวมระหว่างพรมแดนของศิลปะและวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างผลงานศิลปะที่นำเสนอจิตวิญญาณของสวนเซนญี่ปุ่น ที่เป็นการรวมตัวกันของธรรมชาติและสติปัญญาของมนุษย์ เพื่อสร้างพื้นที่ที่สามารถกระตุ้นสติรับรู้ของมนุษย์ขึ้นมาได้

“นิทรรศการนี้ของผมเป็นการพยายามตีความสวนเซนญี่ปุ่นขึ้นใหม่ ด้วยการค้นคว้าวิจัยที่เริ่มต้นจากประเด็นเกี่ยวกับ ‘คลื่น’ เพราะผมทำงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับความเป็นวิทยาศาสตร์ ในนิทรรศการครั้งก่อนหน้านี้ ผมเคยทำงานเกี่ยวกับอนุภาคและแรงโน้มถ่วง ในนิทรรศการครั้งที่สามนี้ผมทำงานเกี่ยวกับฟิสิกส์พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องของคลื่น หลังจากผมทำการค้นคว้าเกี่ยวกับคลื่น”

“ผมพบว่าสวนเซนญี่ปุ่นนั้นเป็นการใช้ความเป็นคลื่นที่มีแนวคิดเชื่อมโยงกับจักรวาล ผมจึงทำการค้นคว้าเกี่ยวกับสวนเซนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น และพบว่ารากเหง้าของสวนเซนนั้นมีที่มาจากประเทศจีน ทั้งความเชื่อเกี่ยวกับลัทธิเต๋า เขาพระสุเมรุ ชีวิตอมตะ และความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายในสรวงสวรรค์ และความกลัวความตาย”

“ก่อนหน้านี้ผมไม่สนใจเรื่องราวเหล่านี้ แต่ตอนนี้ผมสนใจเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น ผมเริ่มกลัวความตายขึ้นแล้ว เพราะผมมีลูกสาวแล้ว”

“แนวคิดของสวนเซนยังเป็นความพยายามในการทำให้ตัวเองมีสติรับรู้ ซึ่งเป็นความต้องในการปลดปล่อยสมองและความคิดให้ว่าง เพื่อเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งรอบตัวหรือแม้แต่จักรวาล โดยผมได้แรงบันดาลใจมาจากประโยคในหนังสือ Mr. Palomar ของ อิตาโล คัลวีโน อย่าง ‘การมองคลื่นทะเล’ (look at a wave) ซึ่งเป็นการข้ามพ้นจากความกลัวด้วยการมองคลื่นทะเลเท่านั้น รวมถึงหนังสือ Looking Closely at Ocean Waves : From Their Birth to Death ของ ฮิซาชิ มิทซูยาสุ (Hisashi Mitsuyasu) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสำรวจคลื่น ตั้งแต่การถือกำเนิดไปจนถึงจุดจบของคลื่น ว่าคลื่นถือกำเนิดและสิ้นสุดอย่างไร เป็นการนำเสนอความเป็นคลื่นที่สื่อถึงการเดินหน้าสู่ความตาย”

“จากบริบทที่ว่านี้ ผมเริ่มค้นคว้าต่อ และพบว่าแนวคิดของสวนเซนนั้นเกี่ยวข้องกับความเป็นคลื่น ด้วยการใช้หินกรวดสร้างวงกระเพื่อมของท้องทะเล ที่เชื่อมโยงกับแนวคิดของเต๋า เขาพระสุเมรุ และความอยากมีชีวิตอมตะของมนุษย์”

“ดังนั้น ผมจึงต้องการสร้างพื้นที่ที่ผู้คนสามารถเข้ามาระบายหรือข้ามพ้นจากความกลัว หรือแม้แต่เชื่อมโยงกับจักรวาลด้วยผลงานชุดนี้ ด้วยการสร้างผลงานศิลปะจัดวางคลื่นจำลอง อันประกอบด้วยแท็งก์ยาวที่บรรจุน้ำเอาไว้ และมีกลไกที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดคลื่นน้ำ ไหลเรื่อยมาจนกลายเป็นน้ำตกลงไปในอ่างน้ำข้างล่าง และหมุนเวียนหวนกลับมาเป็นคลื่นอีกครั้ง”

นอกจากผลงานศิลปะจัดวางคลื่นจำลองแล้ว ในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีประติมากรรมจัดวางรูปทรงคล้ายกับน้ำพุไม้ไผ่ในสวนญี่ปุ่น วางเรียงรายเคียงข้างอยู่หลายชิ้น

“ผลงานประติมากรรมจัดวางเหล่านี้ผมได้แรงบันดาลใจจาก ซุอิกินกุสึ (Suikinkutsu) อุปกรณ์ตกแต่งสวนญี่ปุ่น ที่เป็นอ่างหินใส่น้ำที่ซ่อนกระถางดินเผาคว่ำฝังอยู่ในพื้นดิน เมื่อน้ำจากอ่างด้านบนหยดลงไปในกระถางด้านล่างก็จะสร้างให้เกิดเสียงสะท้อนดังขึ้นมา”

“อุปกรณ์ที่ว่านี้เป็นงานช่างแบบโบราณที่ไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนัก ผมหยิบเอาอุปกรณ์นี้มาดัดแปลงใหม่ด้วยการเอากระถางที่ซ่อนอยู่ด้านล่างขึ้นมาให้เห็นบนพื้น โดยปรับใช้กระถางดินเผาท้องถิ่นของไทย นำมาดัดแปลงให้เป็นผลงานประติมากรรมเสียงของผม โดยใช้เทคนิคโบราณแบบเดียวกันกับซุอิกินกุสึ”

“ที่ผมเลือกใช้วัสดุท้องถิ่นของไทยมาทำผลงานชิ้นนี้ก็เพราะผมเป็นคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย ลูกสาวของผมเองก็เป็นลูกครึ่งไทย/ญี่ปุ่นเหมือนกัน”

“เสียงสะท้อนของน้ำในผลงานประติมากรรมจัดวางเหล่านี้นี่เองที่สร้างเสียงสะท้อนอันเสนาะหูให้เกิดในสภาพแวดล้อมของพื้นที่แสดงงานไม่ต่างอะไรกับเครื่องดนตรี เสียงที่ว่านี้ยังถูกปรับแต่งให้กลายเป็นเสียงดนตรีดิจิทัลโดยนักออกแบบเสียง ฆวน คูเวส (Juan Cueves) อีกด้วย”

นอกจากงานศิลปะจัดวางที่จัดแสดงบนพื้นห้องแสดงงานแล้ว บนผนังด้านข้างยังมีผลงานจิตรกรรมวาดเส้นที่แสดงภูมิทัศน์จากมุมมองเบื้องบนของดินแดนหลากแห่งทั่วโลกมารวมเอาไว้ในพื้นที่เดียวกันอย่างน่าประหลาด

“งานชุดนี้เป็นจิตรกรรมวาดเส้นที่เชื่อมโยงประเทศญี่ปุ่น, จีน, ไทย และ อินเดีย เข้าไว้ด้วยกัน สำหรับประเทศญี่ปุ่น ผมวาดพื้นที่ที่ครอบครัวของผมอาศัยอยู่ใกล้กับจังหวัด ฮิโรชิม่า-ยามากุจิ, ศาลเจ้าอิสึคุชิมะ และภูมิทัศน์จากสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่มีความเชื่อมโยงกับศิลปะจัดวางคลื่น”

“หรือพื้นที่ในประเทศจีน ที่ผมวาดภาพร่ม ที่สื่อไปถึงเหตุการณ์ การปฏิวัติร่มในฮ่องกง เข้าไปด้วย ผมไม่ต้องการรื้อฟื้นอดีตอะไรแต่ แต่ต้องการพูดถึง เสรีภาพในการพูด (freedom of speech) ของผู้คน”

“หรือในพื้นที่ประเทศไทยเองก็มีประเด็นเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนของประเทศจีน และมลภาวะจากฝุ่น PM 2.5 โดยผมวาดภาพประเทศไทยที่เชื่อมกับประเทศจีนทางภาคเหนือโดยมีสัญลักลักษณ์เป็นวัดร่องขุ่นในจังหวัดเชียงราย แต่ถึงแม้กรุงเทพฯ จะอยู่ไกลออกไป แต่ก็เรายังสามารถมองเห็นตึกมหานครในภาพด้วย”

“ส่วนพื้นที่ของประเทศอินเดีย ผมยังไม่เคยอยู่และไม่รู้จักที่นั่นมากนัก ผมเลยวาดเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ เพราะมันเป็นสัญลักษณ์แทนจักรวาล หรือสรวงสวรรค์ที่คนเดินทางไปหลังความตาย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับแนวคิดของสวนเซน เพราะสวนเซนคือการจำลองความพยายามในการมีชีวิตเป็นนิรันด์”

นอกจากนี้ บนผนังในห้องนิทรรศการเล็กด้านข้าง และผนังด้านหลังของห้องแสดงงานหลัก ยังมีผลงานภาพวาดนามธรรมที่ดูคล้ายกับฟองน้ำที่เกิดจากคราบไคลของหมึกจัดแสดงอยู่หลายภาพ

“ภาพวาดนามธรรมเหล่านี้ เป็นสัญลักษณ์ถึงความพยายามในการทำให้ตัวเองมีสติรับรู้ โดยวาดขึ้นด้วยการประกอบกับเอกสารการค้นคว้าของผม ในการคิดถึงจักรวาล เขาพระสุเมรุ ท้องทะเล หรือความพยายามในการค้นหาความเป็นอมตะ เมื่อคุณเข้าไปในสวนเซน อาจจะทำให้คุณคิดถึงสิ่งเหล่านี้ แต่ในทางกลับกัน ความซับซ้อนยุ่งเหยิงของจิตใจคุณก็จะทำให้คุณเข้าไม่ถึงการมีสติรับรู้”

“ภาพวาดเหล่านี้ก็คือแผนที่ในการแสวงหาการมีสติรับรู้ และการทำให้จิตว่าง ผ่านวงคลื่นน้ำกระเพื่อมที่สร้างขึ้นจากฟองหมึกบนกระดาษญี่ปุ่น”

ในนิทรรศการที่ผ่านมา เอจิมักเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์หรือแม้แต่เล่นสนุกกับผลงานของเขาได้โดยตรง https://shorturl.at/LBB5X แต่ในนิทรรศการครั้งนี้กลับแตกต่างออกไปจากครั้งที่แล้วสักหน่อย ตรงที่เขาให้เราดูชมแต่ตา มากไปกว่านั้นก็แค่ใช้หูสดับรับฟังเสียงเท่านั้น

“ถึงแม้ในนิทรรศการครั้งนี้จะไม่เปิดให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์หรือเล่นกับผลงานของผมโดยตรง แต่ผมต้องการให้ผู้ชมเชื่อมโยงกับผลงานชุดนี้ทางจิตใจมากกว่า ผมอยากให้พวกเขาได้เข้ามามองคลื่น และคิดถึงชีวิต หรือแม้แต่ลืมชีวิตที่เป็นอยู่ ได้พานพบกับประสบการณ์ที่แตกต่างจากที่เคยพบเจอในชีวิตประจำวัน และเพลิดเพลินไปกับพื้นที่ที่เต็มไปด้วยคลื่น และเสียงแห่งวงคลื่น ที่อาจนำพาให้ผู้คนได้มีสติรับรู้ก็เป็นได้”

นิทรรศการ Wave Garden / El Paradiso โดย เอจิ ซูมิ จัดแสดงที่หอศิลป์เว่อร์ (Gallery VER) ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม-21 กันยายน 2024 สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2120-6098 หรืออีเมล [email protected]

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Gallery VER •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์