อาชญากร ‘เขียว’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เวลาผ่านไป 5 เดือนแล้ว การบำบัดซากขยะพิษในโรงงานวินโพรเสสที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง หลังเกิดไฟไหม้เมื่อเช้าวันที่ 22 เมษายน ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่เพราะใช้งบประมาณมากถึง 30 ล้านบาท ขณะที่ผลการสอบสวนพบมีโรงงาน “เอกอุทัย” อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา มีพฤติการณ์เชื่อมโยงเกี่ยวพันกัน

“วินโพรเสส-เอกอุทัย” จึงกล่าวได้ว่าเป็น 1 ในขบวนการทำลายสิ่งแวดล้อมที่อุกอาจโจ่งแจ้ง ไม่ต่างไปจากอาชญากรรมประเภทอื่นๆ

คุณจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกมายอมรับบนเวทีเสวนาเรื่อง “อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม” ของมูลนิธิบูรณะนิเวศ ว่า ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมานี้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเร่งรัด มีการขยายตัวของโรงงานมากมาย กฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อมมีบทลงโทษเบามาก

แต่ละปีมีผู้ยื่นคำขออนุญาตขนของเสียเป็นหมื่นราย ขนส่งของเสียเป็นแสนเที่ยว กว่าจะสอบสวนลงโทษใช้เวลานานไม่น้อยกว่า 4-5 ปี เสียค่าปรับไม่เกิน 2 แสนบาท คนกระทำผิดไม่เข็ดไม่จำ

 

เมื่อพูดถึงคดีวินโพรเสส คุณจุลพงษ์บอกว่าเป็นเรื่องที่รุนแรงมากติดอันดับโลกเพราะเกิดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมทั้งบนดินใต้ดิน

ผู้ที่อธิบายถึงขบวนการทำลายสิ่งแวดล้อมในคดีนี้ได้ละเอียด คือ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ผช.ผบ.ตร. “ธัชชัย” บอกว่า ประเด็นที่กำลังสอบสวนอยู่นั้นเป็นเรื่องของเพลิงไหม้ ซึ่งเกิดขึ้น 3 ครั้ง ที่ระยอง 1 ครั้ง ที่อยุธยา 2 ครั้ง ต้องดูว่าต้นเหตุเกิดจากอะไร เป็นเพราะวางเพลิงหรือประมาท ที่อยุธยาสืบสวนครั้งแรกเป็นการวางเพลิง

เอกสารที่นำมาสอบสวนดำเนินคดี “วินโพรเสสและเอกอุทัย” มีเป็นหมื่นชิ้น เบื้องต้นพบเอกสารปลอมแปลงมีมากถึง 2 พันชิ้น เป็นเอกสารตรวจสอบของห้องปฏิบัติการหรือผลแล็บ ปลอมแปลงเอกสารขนส่ง และยังพบว่าแอบฝังกลบขยะพิษใต้ตู้คอนเทนเนอร์

ในการสอบสวนยังพบพฤติการณ์ “อั้งยี่” ใช้นอมินีเพื่ออำพรางการทำนิติกรรม พฤติการณ์เหล่านี้เข้าข่ายการก่ออาชญากรรม ดังนั้น จะใช้แค่กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวไม่พอ ต้องดึงกฎหมายอาญาเข้ามาด้วย

 

นอกจากนี้ ยังมองว่าพฤติการณ์ที่เจ้าของโรงงานนำสารพิษทิ้งลงในแหล่งน้ำลำคลองควรจะนำกฎหมายอาญามาบังคับใช้ด้วยหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยเช่นกัน

ยกตัวอย่างโรงงานที่อำเภอภาชี ทิ้งน้ำกรดในลำน้ำสาธารณะ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ถามอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า ค่าความเป็นกรดเท่าไหร่เพราะยังเป็นสีดำๆ ทั้งที่ไฟไหม้ผ่านไปหลายวันแล้ว

อธิบดีกรมโรงงานฯ บอกว่า ต่ำกว่า 1 หรือศูนย์ พล.ต.ท.ธัชชัยถามต่อว่า ถ้าโดดลงไปในน้ำสีดำจะตายหรือไม่ สรุปว่าตาย

พล.ต.ท.ธัชชัยปรึกษากับอธิบดีกรมโรงงานฯ ทดลองนำไก่สดที่ซื้อจากตลาด ถอนขนออกแล้วเอาไปโยนในน้ำที่เป็นกรดตามที่ต่างๆ ในจุดเกิดเหตุพบไก่สุก

การทดลองนี้ได้บันทึกเป็นวิดีโอ เพื่อนำไปใช้ในชั้นศาล พิสูจน์ว่า เจ้าของโรงงานซึ่งเป็นผู้ให้บริการจำกัดของเสีย รู้ว่าสารประเภทใดอันตรายแค่ไหน

ถ้ารู้แล้วยังทิ้งในแหล่งน้ำลำคลอง เจ้าของโรงงานถือว่ามีเจตนาเล็งเห็นผลทำให้คนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ

อย่างที่บ้านค่าย น้ำรอบๆ โรงงานมีความเป็นกรด ชาวบ้านไม่สามารถนำไปใช้ได้ ต้องย้ายทิ้งถิ่นฐาน เมื่อพิจารณาอย่างนี้ การตั้งโรงงานแทบไม่มีความคุ้มค่าเลย

การทิ้งสารพิษในแหล่งน้ำสาธารณะ จึงเข้าข่ายกฎหมายอาญา มาตรา 228 และมาตรา 237

มาตรา 228 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อให้เกิดอุทกภัย หรือเพื่อให้เกิดขัดข้องแก่การใช้น้ำซึ่งเป็นสาธารณูปโภค ถ้าการกระทำนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนมาตรา 237 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดเอาของที่มีพิษหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือลงในอาหาร หรือในน้ำซึ่งอยู่ในบ่อ สระ หรือที่ขังน้ำใดๆ และอาหารหรือน้ำนั้นได้มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภค ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

 

คดีวินโพรเสสและเอกอุทัยนั้น พล.ต.ท.ธัชชัยบอกว่าจะเป็นคดีแรกที่เป็นตัวอย่างว่า เจ้าของโรงงานติดคุก ดำเนินคดีข้อหารุนแรง โทษอาจจะถึงจำคุกตลอดชีวิต

ต่อไปทุกคดีที่เกิดขึ้นเจ้าของโรงงานที่ทิ้งขยะอันตรายต้องเอามาลงโทษ ติดคุกเพราะถือเป็นอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม เมื่อโรงงานเหล่านี้ถูกกำจัดออกไป อุตสาหกรรมดีๆ จะเข้ามาตั้งในไทยเยอะขึ้นก็ได้

ผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจถ้านำมาผนวกกับหลักฐานการวิเคราะห์ของทีมงานกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่โรงงานวินโพรเสสหลังเกิดเหตุไฟไหม้ เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มน้ำหนักคดีให้แน่นหนาขึ้น

 

ดร.มนัสวี เฮงสุวรรณ นักธรณีวิทยาชำนาญการ นำทีมไปสำรวจผืนดินหนองพะวา ใกล้โรงงานวินโพรเสส เก็บตัวอย่างน้ำ 30 จุด ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2567 มาวิเคราะห์ทางเคมี พบน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินบริเวณรอบโรงงานมาถึงสระหนองพะวา มีความเป็นกรดตลอดทั้งแนว

ค่าของแข็งที่ละลายน้ำทั้งหมดหรือสารปนเปื้อนในน้ำ มีค่าสูงสุด 27,900 มิลลิกรัมต่อลิตร

ตามมาตรฐานน้ำบาดาลที่เหมาะสมกับนำมาใช้ดื่มกิน ไม่ควรกิน 1,200 มิลลิกรัมต่อลิตร

แสดงว่า น้ำใต้ดินรอบโรงงานวินโพรเสส สูงเกินค่ามาตรฐานถึง 20 กว่าเท่าตัว

ส่วนค่าเหล็กสูงถึง 10,000 มิลลิกรัมต่อลิตร ในขณะที่ค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 1 มิลลิกรัมต่อลิตร

ปริมาณอะลูมิเนียมในแหลงน้ำบริเวณโรงงานวินโพรเสส สูงถึง 772 มิลลิกรัมต่อลิตร ปกติแล้วอะลูมิเนียมไม่ค่อยละลายน้ำ และค่าปกติอะลูมิเนียมในน้ำไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร

สารเคมีอันตรายอีกตัวนั่นคือ ไวนิลคลอไรด์ ปนเปื้อนในแหล่งน้ำรอบโรงงานวินโพรเสส มีปริมาณ 80 มิลลิกรัมต่อลิตร เกินกว่าค่ามาตราฐานกำหนดไว้ที่ 2 มิลลิกรัมต่อลิตร มากถึง 40 เท่าตัว

เมื่อสำรวจบ้านเรือนห่างจากตัวโรงงานราว 1 กิโลเมตร ทีมสำรวจพบอะลูมิเนียมปนเปื้อนในน้ำ 6 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงไม่ควรนำมาใช้ดื่มกิน

 

หลักฐานทั้งจากสอบสวนของตำรวจและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล บอกให้รู้ว่าคดีวินโพรเสสและเอกอุทัยเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเครือข่ายทำลายสิ่งแวดล้อมที่ไม่ควรจะปล่อยผ่านซ้ำรอยเหมือนในอดีตที่ทำเพียงแค่โทษปรับอย่างเดียว ต้องใช้กฎหมายอาญาลงโทษติดคุกเพื่อให้เข็ดหลาบ

ประเด็นที่สำคัญคือการบำบัดทั้งที่โรงงานวินโพรเสสและโรงงานเอกอุทัย ประเมินเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 570 ล้านบาท และยังต้องชดใช้ความเสียหายให้ชาวบ้านที่ได้รับพิษ กลายเป็นคำถามตัวโตๆ ว่า รัฐจะเอามาจากที่ไหน เพราะถ้าหากใช้งบประมาณแผ่นดินมาแก้ไขปั้ญหา เหมือนกับช่วยแก๊งอาชญากรสิ่งแวดล้อม

มีข้อสังเกตว่า โรงงานวินโพรเสสคิดค่าบริการขยะพิษตันละ 4,000 บาท ถ้ารับของเสียมาทั้งหมด 260,000 ตัน เป็นเงินกว่า 1 พันล้านบาท เงินจำนวนนี้ควรจะใช้กฎหมายฟอกเงินยึดมาใช้ในกระบวนบำบัดดีกว่าเอาเงินภาษีประชาชนมาจัดการ

ฉะนั้น น่าจะได้ข้อสรุปว่าการดึงกฎหมายอาญาและกฎหมายฟอกเงินมาใช้กับอาชญากรสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” •