ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
องค์การอนามัยโลก เพิ่งประกาศให้ “ฝีดาษลิง” หรือ “เอ็มพ็อกซ์” เป็นโรคระบาดฉุกเฉินระหว่างประเทศ ที่นานาชาติควรเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือ
การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเกิดการระบาดอย่างหนักในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือ ดีอาร์คองโก ที่ว่ากันว่ามีผู้ติดเชื้อหลายหมื่นคน และมีอย่างน้อย 450 รายเสียชีวิต
โรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสนี้ยังระบาดต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในทวีปแอฟริกาด้วยกัน อย่างประเทศแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตกอีกด้วย
เอ็มพ็อกซ์ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ในตระกูลเดียวกันกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้ทรพิษ แต่โดยรวมแล้วมักก่อให้เกิดอันตรายค่อคนได้น้อยกว่าไข้ทรพิษมาก เชื้อชนิดที่ก่อให้เกิดเอ็มพ็อกซ์ก่อนหน้านี้ จึงไม่สู้จะเป็นที่วิตกกันมากมายนัก
ผู้ที่ติดเชื้อเข้าไปมักเริ่มแสดงอาการไข้ออกมาเป็นลำดับแรก มีอาการปวดหัว จากนั้นก็จะมีอาการบวมบริเวณต่อมไร้ท่อ พร้อมกับมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ต่อมาจึงจะเกิดเม็ดผื่น เริ่มจากบริเวณใบหน้าก่อนลุกลามไปที่ส่วนอื่นของร่างกาย ที่พบมากที่สุดก็เป็นส่วนของฝ่ามือ ข้อมือ ข้อเท้าและฝ่าเท้า
ตุ่มคันและเจ็บเหล่านี้จะค่อยๆ กลายเป็นสะเก็ด หลุดร่วงทิ้งรอยแผลเอาไว้ ซึ่งหากร่างกายแข็งแรงพอก็จะสามารถขจัดเชื้อไปได้เองในช่วงระยะเวลาประมาณ 14-21 วัน
แต่ในหลายกรณี โดยเฉพาะกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในดีอาร์คองโก อาการของโรคจะทรุดหนักลงและถึงเสียชีวิตในที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นต้น
ในกรณีรุนแรงเช่นนี้ มักพบว่าเชื้อแพร่ออกไปโจมตีทั่วร่างกาย มีรอยแผลชัดเจนโดยเฉพาะบริเวณปาก ตา และอวัยวะเพศ อันเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมกลุ่มนิยมรักร่วมเพศถึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบาดนี้ เพราะวิธีการแพร่เชื้อของโรคก็คือการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่ติดเชื้อนั่นเอง
เอ็มพ็อกซ์ที่เคยระบาดออกไปทั่วโลกระหว่างเกิดการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2022 และที่ระบาดอยู่ในเวลานี้ มีอยู่ 2 ชนิดหรือ 2 สายพันธุ์ ชนิดแรกนั้นทางการแพทย์เรียกว่า “เคลด 1” ซึ่งมักก่อโรคร้ายแรงกว่าอีกชนิดที่เรียกว่า “เคลด 2”
เคลด 1 เป็นเชื้อที่ระบาดอยู่ในดีอาร์คองโกมาเป็นช่วงๆ นานหลายสิบปีมาแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ที่กำลังระบาดหนักอยู่ในเวลานี้ เป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ ทำให้ระบาดได้เร็วกว่า และก่อโรคที่รุนแรงมากกว่าเดิม เรียกว่า สายพันธุ์ “เคลด 1 บี”
ศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคแห่งแอฟริกา (แอฟริกาซีดีซี) ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อเฉพาะในดีอาร์คองโกตั้งแต่ต้นปีเรื่อยมาจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้แล้วมากกว่า 14,500 คนและเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 450 คน หากเทียบสถิติกับช่วงเดียวกันของปี 2023 ก็พบว่า เป็นการระบาดเพิ่มขึ้นถึง 160 เปอร์เซ็นต์ และทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19 เปอร์เซ็นต์
ปัญหาก็คือ ในขณะนี้เริ่มมีการพบผู้ติดเชื้อนอกทวีปแอฟริกากันแล้ว เช่นในสวีเดน และ ในเอเชียอย่าง ฟิลิปปินส์ ไม่นานหลังการประกาศการระบาดขององค์การอนามัยโลก ซึ่งตระหนักดีจากประสบการณ์เมื่อปี 2022 ว่า วิถีชีวิตในปัจจุบันนี้เอื้อต่อการระบาดของโรคโดยง่ายได้อย่างไร แม้ว่าในเวลานั้น เชื้อที่ระบาดจะเป็นชนิด “เคลด 2” ก็ตามที
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เชื้อ “เคลด 2” ซึ่งระบาดจากแอฟริกามายังยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ทุกวันนี้ก็ยังแพร่กระจายอยู่ในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ในยุโรป ทุกวันนี้ก็ยังมีรายงานการติดเชื้อ “เคลด 2” อยู่ทุกเดือน เดือนละราว 100 ราย
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า เอ็มพ็อกซ์ไม่ใช่โควิด ไม่มีความจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย และไม่มีความจำเป็นต้อง “ล็อกดาวน์” เหมือนกับที่เคยเผชิญกันมาในช่วงที่โควิดระบาดหนัก และแม้ว่าเชื้อ “เคลด 1 บี” จะเป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่ยังจำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยอีกไม่น้อย แต่ก็ยังมั่นใจว่า ในที่สุดก็จะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของเอ็มพ็อกซ์ได้
นายแพทย์ฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นยุโรป เชื่อว่าจะสามารถใช้วิธีการแบบเดียวกับที่เคยใช้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในการยับยั้งการระบาดของโรคขนานใหญ่ได้ คือการใช้ความร่วมมือใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชากรกลุ่มเสี่ยง อย่างเช่น กลุ่มรักร่วมเพศ ให้การศึกษา แนะแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เป็นต้น
ทาริก ยาซาเรวิช โฆษกขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันเอ็มพ็อกซ์แก่ประชาชนทั่วไป เพียงแค่แนะนำให้ใครก็ตามที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงในแอฟริกา ฉีดวัคซีนไปก่อนล่วงหน้าเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน ดีอาร์คองโก และไนจีเรีย สองประเทศในทวีปแอฟริกาก็จะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันเอ็มพ็อกซ์ ให้กับประชาชนทั่วไปในสัปดาห์หน้านี้ โดยแอฟริกาซีดีซี วางแผนว่า จะผลิตวัคซีนออกมาให้ได้ราว 10 ล้านโดส สำหรับแจกจ่ายให้กับประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาต่อไป ภายใต้ความร่วมมือจากบาวาเรียน นอร์ดิก บริษัทผู้พัฒนาและผลิตวัคซีนเอ็มพ็อกซ์ สัญชาติเดนมาร์ก
เพื่อจัดการโรคระบาดที่ต้นตอ ป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ไปทั่วโลกอีกครั้ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022