ชีวิตกับความใฝ่ฝัน 141 ปีผ่านไป : คาร์ล มาร์กซ์ (พ.ศ.2426-2567)

“นักปรัชญาทั้งหลายอธิบายเรื่องโลกไปต่างๆ นานา ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงโลกต่างหาก…”

การพูดเช่นนี้มักมีคนนำไปตีความว่า ปรัชญานั้นไม่สลักสำคัญ เหมือนหมิ่นแคลนนักปรัชญาว่าไร้ฝีมือ

เราไม่ควรที่จะตีความเช่นนั้น เพราะมาร์กซ์เพียงต้องการจะบอกเราว่า วิชาปรัชญาที่อธิบายโลกและปรากฏการณ์ต่างๆ นั้นสำคัญ แต่จะสำคัญยิ่งขึ้นก็ต่อเมื่อมีการลงมือปฏิบัติ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงโลก

บรรทัดแรกมาจาก Karl Marx, Theses on Feuerbach, (ค.ศ.1845)

บรรทัดต่อๆ มา โปรดดู เกษียร เตชะพีระ “มาร์กซ์” แปล (2565) น.95-96

 

คาร์ล มาร์กซ์ :
ชีวิตและบริบททางสังคม

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และอีกเกินครึ่งของศตวรรษถัดมา ไม่มีนักคิดคนใดที่มีอิทธิพลโดยตรงและเข้มข้นต่อประเทศต่างๆ มากเทียบเท่ากับคาร์ล มาร์กซ์

ถึงแม้ว่าเขามิใช่ผู้นำที่มีคนรู้จักมากมายหรือได้รับความนิยมล้นหลาม เขามิใช่นักเขียนหรือนักพูดของมหาชน

เขาเขียนบทความและหนังสือมากก็จริง แต่คนอ่านใน ช่วงต้นๆ ก็ยังเป็นวงแคบ

เขามิใช่ผู้นำทางการเมือง เช่น เชอร์ชิล, คานธี, เลนิน, เหมา เจ๋อตง หรือ ลินคอล์น ฯลฯ เวลาส่วนใหญ่ของเขาคือ ห้องเขียนและห้องอ่านที่พิพิธภัณฑ์อังกฤษหรือห้องประชุมที่มีคนฟังแต่ละครั้ง 20-30 คน

แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นไปในยุโรปตะวันตก เคลื่อนไปทางยุโรปตะวันออก เอเชียบูรพาและอุษาคเนย์ แอฟริกา อเมริกากลาง และใต้ ตลอดจนความผันผวนทางการเมืองในส่วนอื่นๆ ของโลกหลีกไม่พ้นจากอิทธิพลทางความคิดของเขาแทบทั้งสิ้น

140 ปีผ่านไปแล้วหลังจากที่มาร์กซ์เสียชีวิตในปี ค.ศ.1883 ตลอดช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ (ค.ศ.1818-1883) รวม 65 ปีบนสี่แผ่นดิน (เยอรมนี, ฝรั่งเศส, เบลเยียม และอังกฤษ) ชีวิตของมาร์กซ์มีเรื่องสำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง

1. ยืนหยัดในอุดมการณ์เพื่อความยุติธรรมในสังคมและการปลดปล่อยมนุษยชาติ

2. ทุ่มเทศึกษา, เสาะหาและเผยแพร่แนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ว่าจะเป็นการโต้คารม, เสนอประเด็นผ่านบทความและหนังสืออย่างต่อเนื่อง

และ 3. ลงมือปฏิบัติการต่างๆ นั่นคือการไปพบปะ, จัดตั้งกลุ่ม, จัดและร่วมกิจกรรมต่างๆ

ทั้ง 3 ส่วนนี้หนุนส่งความเป็น ลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) ดังที่จะได้กล่าวต่อไป

 

มาร์กซ์เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ.1818 (พ.ศ.2361 ต้นรัชกาลที่ 3 ของสยาม) เป็นลูกชายคนโตในครอบครัวทนายความ ที่เมืองทริเอร์ (Trier) แคว้นไรน์แลนด์ ตอนกลางของเยอรมนี ใกล้ชายแดนฝรั่งเศส

ดินแดนแถบนี้ตกเป็นของฝรั่งเศสด้วยฝีมือของนโปเลียนที่ขึ้นมามีอำนาจ 10 ปีหลังการปฏิวัติของฝรั่งเศส ค.ศ.1789

และหลังจากนโปเลียนพ่ายแพ้ เยอรมนีก็กลับไปสู่สภาพเดิม นั่นคือเป็นแคว้นศักดินาแบบเก่า ผู้ปกครองของแต่ละแคว้นไม่ว่ากษัตริย์หรือขุนนางก็เร่งฟื้นอำนาจเพราะกลัวการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงแบบที่ฝรั่งเศส ขณะเดียวกัน โรงงานและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ก่อนเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยบอนน์ และย้ายไปมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน มาร์กซ์เป็นเด็กชอบอ่านหนังสือมาก เขามีคำถามมากมายและมักเป็นคำถามยากๆ

เขาชอบคุยกับผู้ใหญ่ และมักมีประเด็นแหลมคมเสมอ

ในบรรยากาศเมืองใหญ่ที่การผลิตแบบทุนนิยมกำลังเติบโต มีแหล่งชุมนุมของเหล่าขุนนางอำมาตย์และกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้ามากมาย

การย้ายไปเรียนที่เบอร์ลินในปี 1836 และภายใต้กระแสปรัชญาและประวัติศาสตร์ของสำนักเฮเกเลี่ยน (วิลเฮล์ม เฮเกล, Georg Wilhelm Hegel, 1770-1831) มาร์กซ์ก็หันเหจากวิชากฎหมายไปเรียนวิชาปรัชญา ด้วยอุดมการณ์ที่อยากเห็นโลกใหม่ของคนส่วนใหญ่

มาร์กซ์ได้ทุ่มเทการศึกษาและเข้าไปเป็นสมาชิกของกลุ่มเฮเกเลี่ยนหนุ่ม (the Young Hegelians) ที่ให้ความสำคัญของจิต บทบาทของจิตที่อยู่เหนือวัตถุและสสารต่างๆ ซึ่งทำให้โลกเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ

สำนักเฮเกเลี่ยนเสนอหลักวิภาษวิธี นั่นคือ ความขัดแย้งทางความคิดแต่ละสำนัก ซึ่งมีบทบาทต่อมาร์กซ์อย่างแรงกล้า

 

มาร์กซ์ศึกษาวิชาปรัชญาและวิชาประวัติศาสตร์สังคม หลังจากโคลัมบัสค้นพบโลกใหม่ในปี 1492, ลูเธอร์เสนอญัตินิกายโปรเตสแตนต์ในปี 1517, ขณะที่ชาวอังกฤษนิกายโปรเตสแตนต์อพยพไปอยู่ในโลกใหม่และภายหลังได้ลุกขึ้นสู้และสร้างสาธารณรัฐขึ้นเป็นแห่งแรกในโลกในปี 1776, การปฏิวัติครั้งใหญ่ที่ฝรั่งเศสในปี 1789 และนโปเลียนยึดอำนาจและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ 10 ปีต่อจากนั้น ส่งผลให้เยอรมนีแถบบ้านเกิดของมาร์กซ์กลับคืนสู่ระบอบอำนาจเก่า แต่โรงงานอุตสาหกรรมกลับเพิ่มมากขึ้น

นี่คือ ช่วง 2 ศตวรรษเศษตั้งแต่การค้นพบโลกใหม่ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมผลักดันให้มาร์กซ์วัยหนุ่ม เร่าร้อนอย่างยิ่งที่จะศึกษาและเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะเขตบ้านเกิดของเขาที่อำนาจเก่าได้รับการรื้อฟื้นหลังนโปเลียนถูกขับออก แต่พลังการผลิตแบบทุนนิยมกลับเคลื่อนเข้ามาไม่หยุด

มาร์กซ์เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “เปรียบเทียบปรัชญาของเดโมคริตุส (Democritus, 460-370 B.C.) และของ เอพิคิวรุส (Epicurus, 341-270 B.C.)” 2 นักปรัชญาชาวกรีก (คนแรกศึกษาทฤษฎีสสารในจักรวาล คนหลังศึกษาทฤษฎีความสุขทางกายและจิตของคนเรา) ก็เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับแนวคิดสำนักเฮเกลที่เป็นหลัก และเขาหวังว่าจะได้งานเป็นอาจารย์หลังจบการศึกษา

และท่ามกลางการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจทุนนิยม ชาวนาชาวไร่และกรรมกรขัดแย้งกับรัฐเรื่องที่ดิน ค่าน้ำ ป่าไม้ และค่าแรง การอภิปรายของสำนักเฮเกเลี่ยนหนุ่มก็ยิ่งเข้มข้น

ลุดวิก ฟอยเออร์บัค (Ludwig Feuerbach, 1804-1872) เสนอว่าวัตถุต่างหากที่เป็นตัวกำหนดความคิด และจิต

มาร์กซ์สนับสนุนและเสริมว่า วัตถุและสิ่งแวดล้อมต่างหากที่กำหนดจิต ความขัดแย้งกับเจ้า-ขุนนาง-นายทุนกับกรรมกร-ชาวนา ที่มาร์กซ์ได้ประสบนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขตพัฒนาแนวคิดนี้เป็น “วัตถุนิยมวิภาษวิธี” ที่ใช้เป็นหลักในการอธิบายความขัดแย้งทางสังคมและประวัติศาสตร์การพัฒนาของสังคมมนุษย์ (Dialectical materialist interpretation of historical development) ต่อจากนั้น

ขณะที่เขาจบการศึกษาในปี 1841 แต่ยังไม่มีการเปิดรับอาจารย์ (เข้าใจว่ามาร์กซ์เองคงไม่อยากย้ายไปเมืองอื่น) เขาจึงทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ก้าวหน้ารายงานและวิเคราะห์ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและสังคม

เขาทำงานจนถึงปลายปี 1842 ก็ได้เป็น บก. แต่เพราะ น.ส.พ.อยู่ในความสนใจของฝ่ายรัฐ ไม่นานรัฐบาลก็สั่งยุติ

โชคดีที่เขาได้งานหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส-เยอรมันร่วมทุนกันออก น.ส.พ.ใหม่ ความที่ไม่ชอบใจในรัฐบาลเยอรมนีที่อนุรักษนิยมอยู่แล้ว มาร์กซ์จึงย้ายไปทำงานที่ปารีสในช่วงปลายปี 1843

เขาได้พบนักสู้ทางการเมืองฝ่ายสังคมนิยมมากมาย และแต่งงานกับเจนนี่ที่ครองรักกันมาแล้ว 7 ปี เพียงไม่นานหลังออก น.ส.พ.ฉบับแรก รัฐบาลเยอรมนีก็สั่งปิด น.ส.พ.ฉบับนี้ และจับกุม บก.

ส่งผลให้มาร์กซ์ตกเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง

 

ปีค.ศ.1844 นับเป็นปีสำคัญสำหรับมาร์กซ์ เขาใช้เวลาตลอดปีคร่ำเคร่งศึกษาและพัฒนาแนวคิดทางปรัชญาและการเมืองของเขา และได้ประกาศตนเองชัดเจนว่าเป็นชาวคอมมิวนิสต์

เขาได้พบ เอฟ. เองเกลส์ (Frederich Engels, 1820-1895) จากนั้น มิตรภาพทางความคิดของคนทั้งสองก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และได้ร่วมกันเขียนหนังสือด้วยกันเล่มแรก คือ ครอบครัวอันศักดิ์สิทธิ์ (the Holy Family, 1845) ซึ่งวิพากษ์ความคิดของสำนักเฮเกเลี่ยนหนุ่ม การเริ่มใช้ชีวิตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเต็มตัว และการเริ่มต้นชีวิตครอบครัว

อนึ่ง เนื่องเพราะรัฐบาลเยอรมนีกดดันฝรั่งเศสให้ขับนักสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ชาวเยอรมันออกไปจากปารีส ในที่สุด ครอบครัวมาร์กซ์ก็ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่เบลเยียม

ทั้งต้องให้สัญญากับเบลเยียมว่าจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองใดๆ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ผิดสังเกต เวลา 3 ปีในเบลเยียมได้เปิดโอกาสให้มาร์กซ์ได้ทำงานการเมืองหลายครั้ง

ที่สำคัญ เช่น เขาจัดตั้งคณะกรรมการติดต่อสื่อสารชาวคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ

การทำสัญญากับผู้ผลิตหนังสือว่าจะเขียนหนังสือว่าด้วยบทวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมือง (มาร์กซ์เขียนไม่เสร็จ) และภายหลังงานนี้ได้กลายเป็นหนังสือชิ้นสำคัญชื่อ ทุน (Capital)

เองเกลส์ได้ไปพบเขาหลายครั้ง และเขาได้ติดตามเองเกลส์ไปศึกษาเศรษฐกิจทุนนิยมที่เมืองแมนเชสเตอร์ เป็นเวลาถึง 6 สัปดาห์

มาร์กซ์จัดเวลาเขียนหนังสือได้ 1 เล่ม คือ อุดมการณ์เยอรมัน (The German Ideology)

เขาไปลอนดอนเพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่ขององค์การสันนิบาตคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งก่อตั้งปลายปี 1947

ผลการประชุมจบลงโดยมาร์กซ์และเองเกลส์ร่วมกันเขียน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) ฉบับสำคัญให้แก่สันนิบาตฯ (กุมภาพันธ์ 1848) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นงานที่สำคัญยิ่ง

 

การปฏิวัติอีกครั้งที่ฝรั่งเศสในปี 1848 ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทั่วยุโรป ขณะที่เบลเยียมเกรงเหตุการณ์บานปลายจึงสั่งให้มาร์กซ์ออกนอกประเทศภายใน 24 ชั่วโมง เป็นเวลาพอดีที่ฝรั่งเศสยกเลิกคำสั่งเนรเทศผู้ลี้ภัย และพร้อมกันนั้นได้เกิดการลุกขึ้นสู้ของมวลชนในเยอรมนี

มาร์กซ์จึงรีบกลับไปเยอรมนีพร้อมกับระดมทุนจัดทำ น.ส.พ. สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

แต่เมื่อกระแสการปฏิวัติเฟื่องฟูได้ไม่นานกลับแผ่วลง มาร์กซ์จึงต้องออกนอกประเทศอีกครั้ง และครั้งนี้ถูกปฏิเสธที่ฝรั่งเศสด้วย

สิงหาคม 1849 เขาจึงโดยสารเรือไปอังกฤษ เฝ้ารอกระแสการปฏิวัติครั้งหน้า หวังกลับคืนสู่มาตุภูมิ

เมื่อมาร์กซ์และครอบครัวไปอยู่ที่กรุงลอนดอนในช่วงแรก (1849-1852) ชีวิตค่อนข้างขัดสนเพราะมีรายได้จำกัด พ่อแม่และลูกน้อย 4 คนต้องอาศัยขนมปังและมันฝรั่งไปหลายมื้อ

สุดท้าย ลูกคนที่ 4 ก็เสียชีวิตด้วยวัยไม่ถึงขวบปี

แต่กระนั้นเขาก็ยังคงร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างเข้มแข็ง โดยร่วมงานกับสันนิบาตคอมมิวนิสต์ เขาเขียนเรื่องการปฏิวัติในฝรั่งเศส และหนุนช่วยสันนิบาตคอมมิวนิสต์ที่เมืองโคโลญในเยอรมนีหลายครั้ง

ตั้งแต่ปี ค.ศ.1852 มาร์กซ์เริ่มมีรายได้อย่างสม่ำเสมอ จากการเขียนบทความส่งให้ น.ส.พ.นิวยอร์ก ทริบูน เป็นประจำ และสามารถย้ายไปอยู่ที่บ้านใหม่ที่ดีกว่าเดิม

เขาเขียนงานเรื่องทุน ซึ่งเป็นงานขนาดยาว และมีงานอื่นๆ เข้ามาแทรกบ้าง เช่น กรณีพิพาทกับนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายด้วยกัน เกิดการกล่าวหาและฟ้องร้องกันในศาล

แม้ในที่สุดมาร์กซ์จะเป็นฝ่ายถูก แต่ก็เสียเงินในการต่อสู้ทางศาลไม่น้อย และเสียเวลา แทนที่จะใช้เวลาไปเขียนงานด้านความคิดและทฤษฎีที่สำคัญมากกว่า

 

งานของ สมาคมคนงานสากล (International Workingmen’s Association) ซึ่งต่อมาเรียกว่า องค์การสากลที่หนึ่ง (First International) ก่อตั้งในปี ค.ศ.1864 ที่เลือกมาร์กซ์เข้าไปเป็นกรรมการคนหนึ่ง ย่อมเป็นเรื่องปกติที่ต้องอาศัยเวลา และดึงเวลาที่เขาจะต้องไปทำงานอย่างอื่น

มาร์กซ์เขียนหนังสือ ทุน เล่มแรกเสร็จในปี 1867 และงาน สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส (The Civil War in France) เสร็จในปี 1871 ผลการปราบปราบคอมมูนปารีสอย่างรุนแรงส่งผลให้องค์การสากลอ่อนแอลง และย้ายสำนักงานไปที่นิวยอร์ก

แต่มาร์กซ์ยังคงเขียนหนังสือทุน เล่ม 2 และ 3 ต่อไปแม้ว่าจะเสร็จ แต่ได้ให้เองเกลส์นำไปแก้ไขและตีพิมพ์ภายหลังมาร์กซ์จากไป

แต่ถึงตอนนั้น ความคิดของมาร์กซ์ก็เริ่มแพร่หลายออกไปมากแล้ว เนื่องจากหนังสือทุนเล่มแรกตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 ในปี 1871, ฉบับแปลเป็นภาษารัสเซียตีพิมพ์ในปีถัดมา ติดตามด้วยฉบับแปลภาษาฝรั่งเศส ส่วนฉบับภาษาอังกฤษมาทีหลังสุด

งานสำคัญชิ้นสุดท้ายของมาร์กซ์ คือ บทวิพากษ์หลักนโยบายโกธา (Critique of the Gotha Program) ซึ่งเป็นการประชุมของพรรคสังคมนิยมในแว่นแคว้นต่างๆ ของเยอรมนี และเขาพูดถึงการเปลี่ยนผ่านจากทุนนิยมไปสู่คอมมิวนิสต์ หลักการ “เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ” และการจัดระเบียบของสังคมคอมมิวนิสต์ในอนาคต จัดขึ้นที่เมืองโกธา ในปี ค.ศ.1875 และจัดพิมพ์ขึ้นภายหลังมาร์กซ์จากโลกนี้ไป

ในช่วงท้ายของชีวิต ด้านหนึ่ง ชื่อเสียงจากผลงานของเขาจำนวนมากมีการพิมพ์ซ้ำ ทำให้เป็นที่รู้จัก

แต่อีกด้านหนึ่ง ครอบครัวของมาร์กซ์ก็ต้องเผชิญกับสัจธรรมของชีวิต

ลูกสาว 2 คนของเขาคือ เจนนี่และลอร่า พบปัญหาก่อน ลอร่าสูญเสียลูกทั้ง 3 ก่อนถึงวัย 3 ขวบ เจนนี่มีลูก 5 คน โชคดีที่เหลือรอด 4 คน แต่คนแรกจากไปตั้งแต่เล็ก ในปี 1881 เจนนี่-ภรรยาของมาร์กซ์ล้มป่วยและจากไปในเดือนมกราคม 1883

เจนนี่-ลูกสาวซึ่งล้มป่วยในปี 1882 ก็จากไปในปีเดียวกัน

แล้ว 14 มีนาคม ค.ศ.1883 นักคิดนักเขียนและนักสู้ชาวเพื่อสังคมคอมมิวนิสต์ก็จากไป ทิ้งไว้แต่ชื่อผลงาน และแนวคิดจำนวนมาก ร่างของเขาฝังอยู่ที่สุสาน Highgate นครลอนดอน จนกระทั่งบัดนี้

 

บทวิเคราะห์

ในงานชิ้นสำคัญ (ปี 1859) ของมาร์กซ์ ชื่อ “บทอุทิศแก่การวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมือง” มาร์กซ์เขียนว่า การผลิตในสังคมจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับระบบการผลิต โครงสร้างเศรษฐกิจ กฎหมาย การเมือง และจิตวิญญาณของชีวิตในขณะนั้น “การดำรงอยู่ทางสังคมต่างหากที่กำหนดจิตสำนึกของผู้คน” ในขั้นตอนที่แน่นอนหนึ่งของการพัฒนา ที่เสนอมานี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นบทบาทของสิ่งแวดล้อมรอบๆ ชีวิตของคนคนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน การกำหนดเช่นนี้ ก็มิใช่ด้านเดียวทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละชีวิตมีปฏิกิริยาต่อสิ่งรอบๆ อย่างไร

ข้อแรก มาร์กซ์เป็นคนมีสติปัญญาดีเยี่ยม มีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่สนับสนุนการศึกษาที่ดีแก่เขา ทำให้เขามีเวลาอ่านหนังสือและศึกษาค้นคว้าอย่างเต็มที่ ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมดังกล่าวและสังคมเยอรมนีที่ส่งเสริมการศึกษา ทำให้มาร์กซ์มีความก้าวหน้าในการเรียนรู้และศึกษาสังคมมากขึ้นเป็นลำดับ

ข้อที่สอง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในยุโรปตะวันตกนับตั้งแต่นักสำรวจออกไปค้นพบโลกใหม่ การปฏิรูปศาสนา (the Reformation) ทำให้เกิดการแยกตัวของคริสต์ศาสนาเป็น 2 นิกายใหญ่ การเกิดขึ้นของนักคิดนักปรัชญาจำนวนมากในยุโรปตะวันตก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในอังกฤษ สหรัฐ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ฯลฯ

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1490 เป็นต้นมาจนถึงทศวรรษ 1830 ที่มาร์กซ์เติบโตเป็นวัยรุ่น ทำให้โลกที่เป็นเวทีการเรียนรู้ครั้งใหญ่ของนักเรียนคุณภาพเยี่ยมเช่นมาร์กซ์ และยิ่งได้พบอ่านงานเฮเกล และศิษย์ของเขาจำนวนมาก ขณะที่เยอรมนีมีความขัดแย้งอย่างมากระหว่างชาวนาชาวไร่และกรรมกรกับชนชั้นนำของเยอรมันที่อนุรักษนิยมและต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

การปะทะกันระหว่างแนวคิดจิตนิยมของ เฮเกลและแนวคิดวัตถุนิยมของฟอยเออร์บัคจึงเป็นโรงเรียนชั้นยอดของมาร์กซ์ที่จะเรียนรู้และพัฒนาต่อไป

ข้อที่สาม มาร์กซ์มีพ่อแม่เชื้อสายยิวซึ่งได้รับการหมิ่นแคลนอย่างมากในเยอรมนี แม้ในหมู่ชนชั้นกลาง จะไม่แสดงออกอย่างเปิดเผย แต่เขาก็ตระหนักดี ขณะเดียวกัน เนื่องเพราะเขาเกลียดความอยุติธรรมในสังคม และไม่ชอบการที่คนส่วนใหญ่ถูกเอารัดเอาเปรียบ โลกรอบตัว-การเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศสที่ส่งผลกระทบต่อแคว้นไรน์-บ้านเกิดของเขา

การได้เห็นความไม่เป็นธรรมรอบตัว และระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมของเยอรมนี เมื่อได้ประสานเข้ากับการศึกษาในมหาวิทยาลัยและปัญญาชนหัวก้าวหน้าในเวลานั้น บวกเข้ากับการที่มาร์กซ์ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ฝรั่งเศสและเบลเยียมตั้งแต่อายุ 21 (ค.ศ.1843) และต่อเนื่องนับแต่นั้นจนต้องลี้ภัยไปอยู่ที่อังกฤษแบบถาวรนานถึง 34 ปี (1849-1883) จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

สำหรับมาร์กซ์ เส้นทางชีวิตของเขาจึงเหลือเพียง : ยอมจำนน กลับไปเรียนต่อด้านกฎหมายและทำงานเหมือนบิดา หรือสู้ต่อไป

ข้อที่สี่ มาร์กซ์ ได้รับรักแท้จากเจนนี่ ฟอน เวสต์ฟาเลน (Jenny von Westphalen, 1814-1881) ภรรยา เธออยู่เคียงข้างเขาเสมอไม่ว่าสถานการณ์ของครอบครัวและรอบๆ จะเป็นเช่นไร และรักแท้ของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เฟรเดอริก เองเกลส์ ที่ร่วมกันทางความคิด การต่อสู้ และเงินทอง ทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมทางเดินของชีวิตที่มั่นคงตราบจนวาระสุดท้าย

ข้อที่ห้า ตลอดชีวิตของมาร์กซ์ เขาได้ประสาน 3 สิ่งเข้าด้วยกัน คือ ยืนหยัดอุดมการณ์ อุดมการณ์เพื่อคนส่วนใหญ่ของสังคม; ศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ความคิดเรื่องสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์อย่างต่อเนื่อง และลงมือทำงานทุกรูปแบบให้ความคิดเหล่านั้นปรากฏเป็นจริง เป็น 3 ประสานที่หนักแน่นดุจหินผา ดังที่เขากล่าวไว้ในปี ค.ศ.1845 (พ.ศ.2388) นั่นคือ อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมแล้วก็ลงมือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นปัญหา

และ ข้อสุดท้าย มาร์กซ์ไม่ใช่เทวดา เขาเป็นคนเดินดินที่มีเลือดเนื้อ มีจุดอ่อนหลายข้อ องค์ตถาคตพูดถึงความจริงเกี่ยวกับความเป็นอนิจจังของชีวิต ท่านพูดถึงหนทางการออกจากวัฏสงสารนั้น ผู้คนมากมายให้ความเคารพนับถือถ้อยคำอมตะและเจ้าของถ้อยคำนั้น คนมีสินทรัพย์และอำนาจมหาศาลก็อ้างถ้อยคำอมตะนั้นพร้อมกับยกฐานะของตัวเองขึ้นไปตามผู้ทรงศีลนั้นอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ

แต่มาร์กซ์พูดถึงการเปลี่ยนแปลงสังคม มิใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลใด ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณสินทรัพย์และอำนาจมหาศาลของบางชนชั้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกปกปิดมายาวนานและยิ่งมีแนวโน้มจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

 

141 ปีที่ผ่านมา ชีวิตและผลงานมาร์กซ์จึงได้รับการกล่าวถึงอย่างหลากหลาย และไม่น่าแปลกใจที่จะเป็นถ้อยคำแบบดุด่าโจมตี ถูกบิดเบือนใส่ร้ายสารพัดจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นชอบกับการเปลี่ยนแปลงสังคม ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับชีวิตและ “พระธรรมคำสอน” ของ “องค์ตถาคตเจ้า” ที่เน้นการตื่นรู้และลงมือทำของปัจเจก

หลายครั้งเมื่ออ่านชีวิตและการต่อสู้ของมาร์กซ์ เขาเฝ้ารอกระแสสูงของการเปลี่ยนแปลงสังคมในโลกทุนนิยมโดยเฉพาะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนี-บ้านเกิด พูดไปก็เหมือนกับหลายๆ คนในประเทศนี้จากเหตุการณ์ 7/14 สิงหาคม ไม่กี่วันที่ผ่านมา ความปรารถนาต่อสังคมธรรมเป็นเรื่องหนึ่ง แต่จิตใจก็ต้องตระหนักว่าความเป็นจริงเป็นเช่นไร และจะต้องอดทนและใช้สติปัญญาความสามารถเท่าใดเพื่อสร้างความรู้และเปลี่ยนใจคนเรา

สุดท้าย ทุกอย่างก็เริ่มต้นจากความเป็นจริง โลกมิได้สร้างขึ้นมาในวันเดียว องค์ตถาคตพูดมา 2 พันกว่าปีแล้ว มาร์กซ์ก็คงได้ก้าวร้าวรุนแรงในคำพูดและท่าทีระหว่างการโต้เถียงหลายๆครั้ง นั่นก็เป็นเพียงร้อยกว่าปีที่แล้ว กว่าจะมาเป็น “ลัทธิมาร์กซ์” ที่ยังไม่ได้พูดถึงเลยในบทความนี้ ยังต้องรอตอนต่อไป และหลังจากนั้นร้อยกว่าปีแล้ว ความปรารถนาของผู้คนที่อยากจะเห็นสังคมเป็นธรรมก็ยังไม่เคยสิ้นสุด

เราผู้อยู่หลังจะเรียนรู้จากผู้ที่ผ่านโลกและจากโลกนี้ไปแล้วอย่างไรดี นั่นคือ การสำรวมจิต มีสมาธิตั้งมั่น ค้นคว้าหาความจริง ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง และ “ไม่หวั่นเกรงต่อสิ่งใดๆ”