ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ลึกแต่ไม่ลับ |
ผู้เขียน | จรัญ พงษ์จีน |
เผยแพร่ |
ลึกแต่ไม่ลับ | จรัญ พงษ์จีน
การเมืองไม่มีสิ่งแน่นอน
“การเมืองไม่มีสิ่งแน่นอน การไม่ประเมินสถานการณ์ให้ดีอย่างถ่องแท้ มิต่างอะไรกับประมาท เอาไข่ไปกระแทกหิน…ไข่แตก” พลิกล็อกวินาศสันตะโร เซียนอยู่รู หมูอยู่ตึก เห็นจะจะ มาหมาดๆ
กับคดีที่ 40 ส.ว.ชุดที่หมดอายุไปแล้ว เข้าชื่อกันยื่นผ่านประธานวุฒิสภาในขณะนั้น เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ กรณีแต่งตั้ง “นายพิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยรับโทษ 6 เดือน จึงถือเป็นบุคคลที่มีการกระทำอันเป็นการไม่ซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ช็อตแรก “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 6 ต่อ 3 เสียง รับคำร้องไว้วินิจฉัย และ 5 ต่อ 4 เสียง ไม่สั่ง “นายเศรษฐา” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ระหว่างที่นัดพิจารณาวินิจฉัย ให้ “ผู้ถูกร้อง” ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และทีมกฎหมายผู้ถูกร้องส่งคำแถลงปิดคดีด้วยเอกสาร ไปครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันชี้ชะตา “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” 9 คน นัดประชุมปรึกษาหารือปิดคดี สรุปว่า ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า “ความเป็นนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง(4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(4) และมีพฤติกรรมอันมีการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(5)”
“เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ตามมาตรา 167 วรรคหนึ่ง(1) ให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง(1) มาบังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งต่อไป”
คำวินิจฉัย ระบุตอนหนึ่งว่า การที่ “นายเศรษฐา” รู้หรือควรรู้ข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 2 โดยตลอดแล้ว แต่ยังเสนอชื่อ ย่อมเป็นการปฏิบัติโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเสนอชื่อบุคคลที่ไม่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
“แม้ผู้ถูกร้องที่ 1 จะกล่าวอ้างว่าตนเองมีภูมิหลังจากการประกอบธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองที่จำกัด ไม่มีความรู้ทางด้านนิติศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ จึงไม่อาจวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ได้ เพราะนายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายบริหาร ทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมือง จึงต้องมีความรับผิดชอบทุกการกระทำ”
โดยตุลาการเสียงข้างมาก ที่วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ “นายเศรษฐา” สิ้นสุดลงประกอบด้วย “1.นายปัญญา อุดชาชน 2.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 3.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์”
ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อย ที่เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของ “นายเศรษฐา” ไม่สิ้นสุดลง ได้แก่ 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นภดล เทพพิทักษ์ 3.นายอุดม รัฐอมฤต 4.นายสุเมธ รอยกุลเจริญ
เท่ากับเป็นการปิดตำนานนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 “นายเศรษฐา ทวีสิน” นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบผลสำเร็จ เมื่อย่างก้าวเข้าสู่ถนนสายการเมือง กลับโรยด้วยกลีบกุหลาบ ใช้เวลาไม่นานกระโจนลงสู่สนามในนาม “บัญชีชื่อนายกฯ” ของพรรคเพื่อไทย แม้ต้นสังกัดจะได้รับเลือกตั้งมาในอันดับที่ 2 จำนวน 141 เสียง แต่แชมป์คือก้าวไกลในขณะนั้น ชนปังตอ คือวุฒิสมาชิก ที่ยังมีอำนาจเลือกตั้งได้ตามบทเฉพาะกาล แต่กลับมาเทคะแนนให้กับ “นายเศรษฐา” ด้วยคะแนนท่วมท้น และผงาดขึ้นเป็นผู้นำประเทศได้อย่างสง่างาม เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 จนสามารถฟอร์มรัฐบาลผสมจาก 11 พรรคการเมือง ฐานเสียงสนับสนุน 314 ที่นั่ง
“นายเศรษฐา” ขึ้นแท่นผู้นำประเทศ ในฐานะนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทยได้ 358 วัน แต่ต้องลงจากเก้าอี้หมายเลข 1 ตึกไทยคู่ฟ้า ด้วยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ต้องพ้นจากตำแหน่ง พร้อมกับรัฐมนตรีทั้งคณะ แต่ยังคงไว้ในฐานะรัฐมนตรีรักษาการ
“นายเศรษฐา” เป็นนายกฯ คนที่ 3 ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นเก้าอี้ คนที่หนึ่งคือ “นายสมัคร สุนทรเวช” นายกฯ คนที่ 25 ฐานไปรับจ้างเป็นพิธีกรในรายการชิมไปบ่นไป เมื่อปี 2551 สอง “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกฯ คนที่ 28 เก้าอี้กระเด็น ในคดีโยกย้าย “นายถวิล เปลี่ยนศรี” เลขาธิการ สมช.โดยมิชอบ เมื่อปี 2556 และสาม “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ คนที่ 30 คดีแต่งตั้ง “นายพิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
โดยมีรอดปาฏิหาริย์ 2 ราย ได้แก่ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” นายกฯ คนที่ 23 ในคดีซุกหุ้น และที่รอดแล้วรอดอีก หลายกระทง คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ คนที่29 คดีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปี 2562 คดีบ้านพักหลวงปี 2563 และคดีเป็นนายกฯ ครบ 8 ปี เมื่อปี 2565
“ห้องเครื่อง” ที่ทำให้ “นายเศรษฐา” ตกเก้าอี้ คือ “นายพิชิต ชื่นบาน” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เพราะเคยถูกศาลฎกาพิพากษาให้มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และถูกจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2551 เคยมีชื่อติดโผเป็นรัฐมนตรี เมื่อครั้งฟอร์ม ครม. “นิด 1” แต่ถูกเบรก จนชื่อหลุดออกจากวงโคจร แต่พอปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ ไม่รู้ว่าโดนใครกดดัน “นายเศรษฐา” จำใจต้องแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ เรื่องเลยไปเข้าทางปืน 40 ส.ว.ชุดเก่า และกลายเป็นตัวแปรสำคัญทำให้ “นายกฯ คนที่ 30” ตกเก้าอี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถึงวันชี้ชะตา 14 สิงหาคม วันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย “นายเศรษฐา” ดูเหมือนจะมั่นใจ ว่าผลออกมาเป็นบวก ใครต่อใครต่างพากันฟันธงไปทิศทางเดียวกันว่า “รอด” มากกว่า
เจ้าตัวอารมณ์เบิกบาน ซอฟต์ๆ ชิลๆ จนถึงชี้ขาด แต่สุดท้าย “ไม่รอด”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022