ธุรกิจพอดีคำ : “อาหารเช้า”

ถ้าจะพูดถึงบิดาแห่งการบริหารจัดการองค์กรหนึ่งคน

ชื่อนี้คงจะโผล่ขึ้นมาในหัวของคนหลายคน

“ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter Drucker)”

บิดาแห่งการบริหารจัดการรูปแบบใหม่

กับคำพูดติดปาก ที่หลายๆ องค์กรนำไปใช้

“วัฒนธรรม กิน แผนกลยุทธ์ เป็นอาหารเช้า” (Culture Eats Strategy as breakfast)

มันหมายความว่าอย่างไรกัน

ถ้าจะให้พูดถึงคำว่า “วัฒนธรรม” แล้ว

หลายๆ คนอาจจะนึกถึง ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา

แต่ถ้าจะให้พูดถึงคำว่า “วัฒนธรรม” ในโลกของธุรกิจ

เชื่อว่าหลายๆ คนจะต้องนึกถึง “ตัวย่อ” ภาษาอังกฤษ

เราอยากให้พนักงานขององค์กรเราประพฤติตัวอย่างไร

เราก็สร้างเอาตัวอักษรภาษาอังกฤษมาเรียงๆ กัน

เช่น ถ้าเราอยากให้พนักงานของเรามีความคิดสร้างสรรค์

ในตัวย่อของวัฒนธรรม ก็จะต้องมีตัว “C” คำขึ้นต้นของคำว่า “Creative”

ถ้าเราอยากให้พนักงานของเรา “ทำงานรวดเร็ว”

เราก็จะเอาตัว “A” ที่มาจาก “Agile”

สองตัวยังไม่สวยพอ ยังเป็นคำสวยๆ ไม่ได้

เราก็หากันอีกสักตัวมาลองใส่ดู

อาจจะเป็นตัว “T” ที่มาจากคำว่า “Trust” พนักงานต้องไว้เนื้อเชื่อใจกัน

รวมสามตัว ก็กลายเป็นคำเก๋ๆ ว่า CAT แปลว่า “แมว”

เราก็อาจจะมีการทำประชาสัมพันธ์ “โลโก้” รูปแบบ

เป็นเหมือนทูตสัมพันธไมตรี ระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน

มีแมวตัวนี้ที่ไหน ก็จะพูดถึง “วัฒนธรรม” องค์กรที่นั่น

มีการเล่นเกมแข่งกัน ดูซิว่าใครสามารถจำตัวย่อขององค์กรได้บ้าง

ต่อยอด มีการแข่งวาดรูปตัว “แมว” สร้างจินตนาการ ให้รางวัลกันไป

ทุกคนจำได้ ท่องได้ แต่ว่าทำได้รึเปล่า ยังไม่แน่ใจ

หากแต่ว่า “วัฒนธรรม” องค์กรที่ดีนั้น ควรจะเริ่มจากที่ใดกันแน่

“รีด ฮอฟฟ์แมน (Reid Hoffman)” ผู้ก่อตั้ง LinkedIn โซเชียลเน็ตเวิร์กในการหางานระดับโลก

เคยบอกเอาไว้ในหนังสือ The Start Up of You

องค์กรยุคใหม่ในยุคดิจิตอล ควรจะมี “วัฒนธรรม” ที่เรียกว่า “ทดลองตลอดไป (Permanent Beta)”

Permanent แปลว่า ถาวร

Beta สื่อถึงผลิตภัณฑ์ที่ยังอยู่ในช่วงการทดลอง

ถ้าคุณอยากเป็นองค์กรที่ผลิตอะไรใหม่ๆ แข่งขันได้ตลอดไป

องค์กรคุณควรจะ “ทดลองตลอดไป”

ไม่ใช่สำเร็จเพียงอย่างเดียวก็ “ลำพองใจ” คิดว่าสิ่งนั้นจะอยู่กับบริษัทไปตลอด

บริษัทอย่าง LinkedIn ใช้ “วัฒนธรรม” แบบนี้ พัฒนา “ผลิตภัณฑ์” ตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง

ทดลองปรับไปเรื่อยๆ ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากที่สุด

สร้างบริษัท เติบโต จนกระทั่งขายไปให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft

ด้วยมูลค่าสองหมื่นหกพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

หรือประมาณหนึ่งล้านล้านบาท

บริษัท Amazon.com อีคอมเมิร์ซระดับโลก

ก็มี “วัฒนธรรม” ชื่อเท่ๆ ว่า “วันแรกเสมอ (Day One)”

เจฟฟ์ เบซอส เจ้าของบริษัท เขียนจดหมายถึงผู้ถือหุ้น อธิบายเอาไว้อย่างน่าสนใจ

Day One คือ วันแรกที่บริษัทเริ่มทำงาน

ทุกอย่างยังใหม่ มีแต่ความไม่แน่นอน

เป็นวันที่ยาก เป็นวันที่ต้องพุ่งเป้าทุกอย่างไปที่ความต้องการของลูกค้า

เป็นวันที่ “ความสำเร็จ” ยังไม่มาบดบัง “ความกล้าหาญ”

วันที่บริษัทเติบโตขึ้นมา จากความ “ไม่รู้” จนกระทั่ง “รู้อะไรบางอย่าง”

ความรู้สึกของ “วันแรก” ที่แต่ละคนเข้ามาทำงาน

ความตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ และเรียนรู้ ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

นั่นแหละคือ “วัฒนธรรม” ของ Amazon.com

มีผู้ถือหุ้นคนหนึ่งยกมือถามเขาว่า

แล้ว “วันที่สอง (Day Two)” ล่ะ มีหน้าตาเป็นอย่างไร

เจฟฟ์ เบซอส นิ่งไปสักครู่ ยิ้มที่มุมปาก ก่อนตอบออกไปว่า

“วันที่สองคือ หายนะ”

เป็นวันที่คนในองค์กรเริ่มยึดติดกับความสำเร็จที่ได้มาจาก “วันแรก”

เป็นวันที่องค์กรคิดจะทำ “สิ่งเดิม”

แล้วหวังว่า มันจะประสบความสำเร็จไปเรื่อยๆ ไร้ซึ่งกาลเวลา

ความคิดและพฤติกรรมของ “วันที่สอง”

คือ “หายนะ” ของบริษัทอย่างแท้จริง

“วันแรก (Day One)” ก็เป็นวัฒนธรรมที่ช่วยสร้างบริษัท Amazon.com ขึ้นมา

จน เจฟฟ์ เบซอส ติดอันดับผู้ที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในโลกไปแล้ว แข่งกับ บิลล์ เกตส์ (Bill Gates)

แผนกลยุทธ์ที่ “สวยหรู”

สไลด์เป็นสิบๆ แผ่น ข้อมูลแน่นปึ้ก จากบริษัทที่ปรึกษาทั้งหลายแหล่

หากปราศจากซึ่ง “วัฒนธรรม” องค์กร

ที่ผลักดัน “พฤติกรรม” ของพนักงาน ให้ลงมือทำแผนกลยุทธ์นั้นๆ ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

แผนเหล่านั้นก็เรียกได้ว่าเป็น “อาหารเช้า (Breakfast)” ดีๆ ของ “วัฒนธรรม” องค์กรนั่นเอง

“ตัวย่อ” ที่ท่องได้เป็นนกแก้วนกขุนทอง

ก็คงจะ “ไม่มีประโยชน์” อันใด