ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
ตรวจสอบ ภูมิหลัง
ฐานความคิด สุจิตต์ วงษ์เทศ
วัฒนธรรม ธรรมดา
มีความเหมือน มีความต่าง ระหว่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ กับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับ สุชาติ สวัสดิ์ศรี กับ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ดำรงอยู่
มิได้เป็นในเรื่องของ “เทศะ” อันเป็น “รากฐาน”
เนื่องจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นคนบ้านโป่ง ราชบุรี ไปเติบใหญ่อยู่ปากน้ำ สมุทรปราการ เนื่องจาก สุชาติ สวัสดิ์ศรี เกิดที่ทุ่งสีกัน ดอนเมือง เนื่องจาก ชลธิรา สัตยาวัฒนา เป็นคนฝั่งธน
ขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นคนปราจีนบุรี
หากแต่มองผ่านเส้นทางแห่งการศึกษาก็ยิ่งแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เรียนมัธยมที่สวนกุหลาบแล้วเข้าธรรมศาสตร์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เรียนมัธยมที่ดอนเมืองแล้วเข้าธรรมศาสตร์ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ฝึกปรือวิทยายุทธ์จากซางตาครู้สคอนแวนท์ เข้าเตรียมอุดมแล้วกลายเป็นชาวเทวาลัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยผ่านวัดมกุฏกษัตริยาราม เคยผ่านวัดนวลนรดิศ เคยผ่านผดุงศิษย์พิทยา ก่อนเข้าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สวมบทบาทเป็น ทองปน บางระจัน
กระนั้น จุดร่วมอย่างสำคัญคือความสนใจในประวัติศาสตร์ คือความสนใจในวรรณกรรม แล้วผันตนเองเป็น “นักเขียน”
จากนั้นจึงเป็น นักข่าว เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ
ตรวจแถว “ไอดอล”
พิมพ์ชีวิต ประทับใจ
ไม่ว่าจะเป็น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ไม่ว่าจะเป็น สุชาติ สวัสดิ์ศรี ไม่ว่าจะเป็น ชลธิรา สัตยาวัฒนา ไม่ว่าจะเป็น สุจิตต์ วงษ์เทศ ล้วนมี “ไอดอล” ให้ความนิยมชมชอบ
ไม่ว่าในทาง “การเขียน” ไม่ว่าในทาง “วิชาการ”
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจชมชอบ วิลาศ มณีวัต สวนกุหลาบรุ่นพี่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี อาจชมชอบกามูส์ ซาตร์ ชลธิรา สัตยาวัฒนา อาจนำเอาเรื่องราวของขุนช้าง ขุนแผนประสานเข้ากับทฤษฎีฟรอยด์
สุจิตต์ วงษ์เทศ อาจถูกตรึงอยู่กับสำนวน “ไม้ เมืองเดิม” อย่างจำหลักหนักแน่นพอๆ กับจารึกพ่อขุนรามคำแหง
เมื่อสำรวจอย่างต่อเนื่องย่อมมองเห็น “ร่องรอย”
กระนั้น จุดต่างอย่างสำคัญก็คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ เติบใหญ่อยู่ในอาราม แม้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี จะเคยยืนยันว่าเคยเป็นเด็กวัดเหมือนกันในห้วงที่เรียนศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่ยากอย่างยิ่งจะจำหลักอย่างหนักแน่นเท่า สุจิตต์ วงษ์เทศ
การเริ่มต้นสนใจศิลปะของ สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงมีรากฐานมาจากวัด มาจากทางด้านศาสนา
เพียงแต่เป็นความประทับใจอันต่างไปจากเด็กวัดโดยทั่วไป
เป็นความสนใจในเรื่องการสวดคฤหัสน์ เป็นความสนใจในเรื่องการตอบโต้บนเวทีแห่งปุจฉาวิสัชนาอันเข้มข้น เป็นความสนใจที่ถ่ายโยงไปยังเพลงพื้นบ้านและการละเล่นในแบบชาวบ้าน
ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบบนพื้นฐานแห่งวัฒนธรรม ธรรมดา
เด็กวัด เทพธิดาราม
วังท่าพระ ศิลปากร
การเป็นเด็กวัดเทพธิดารามย่อมมีสายสัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับสุนทรภู่ การเข้าเรียนที่คณะโบราณคดี วังท่าพระ กลายเป็นศิษย์ของท่านสุภัทร มีความใกล้ชิดกับ ศรีศักร วัลลิโภดม นั่นแหละคือฐานสำคัญยิ่ง
ไม่ว่าในเชิง “ประวัติศาสตร์” ไม่ว่าในเชิง “มานุษยวิทยา”
ศรีศักร วัลลิโภดม ดำรงอยู่เหมือนเป็นกระดานหกในทางความรู้ในทางความคิดไปยัง มานิต วัลลิโภดม ไปยัง แสง มนวิทูร
ทั้งหมดนี้คือบุคลากรน่าทึ่งยิ่งในทาง “วิชาการ” ในทาง “วรรณคดี”
ความเป็นเด็กวัดอาจทำให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ มีความนอบน้อมถ่อมตน ตระหนักว่ารู้น้อยจำเป็นต้องใฝ่หาเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน การแสวงหาความรู้ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็มิได้ได้จากตำราอย่างด้านเดียว
ตรงกันข้าม สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นนักเดินทางและชมชอบอย่างยิ่งในการเดินทางไกล
เป็นการเดินทางไปพร้อมกับหาดเสี้ยวแนบข้าง
อย่าได้แปลกใจในการตัดสินใจขอลาจากอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน เดินทางไปยังสำนักอิทะกะ คอร์แนล ในห้วงแห่งความรุ่งโรจน์หนึ่งของชีวิตการเป็นนักหนังสือพิมพ์
และที่นั่นนั้นเองที่ทำให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ปะทะในทางวัฒนธรรม ความคิด อย่างมหึมา มหาศาล
กระทบ กระแทก รุนแรง
รุนแรงยิ่งกว่า ทองปน บางระจัน ประสบในห้วงแห่งการดำรงอยู่ของ “หนุ่มหน่ายคัมภีร์”
ไม่ว่าในเรื่อง “สงคราม” ไม่ว่าในเรื่องของ “คอมมิวนิสต์”
มองอย่างเปรียบเทียบ สุจิตต์ วงษ์เทศ ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ชลธิรา สัตยาวัฒนา ประสบ แต่น่าจะหนักหน่วงและรุนแรงยิ่งกว่า
หากเทียบกับ “รากฐาน” การเติบใหญ่ในทาง “ความคิด”
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ไม่น่าจะแปลกใจเพราะว่าเขาดูดซับเอาปรากฏการณ์ใหม่เข้ามาอย่างไม่ขาดสายอยู่แล้วในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี มักคุ้นอย่างยิ่งกับเส้นทางของกามูส์ ของซาตร์
ชลธิรา สัตยาวัฒนา ลูบคลำกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์อย่างเจนจบจึงสามารถเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโทได้
สร้างความตื่นตะลึงให้แม้กระทั่งต่อ สุชาติ เมอร์เรย์
แต่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เติบใหญ่มาจากพงศาวดาร คึกคักอยู่กับเพลงอีแซว สนุกสนานอยู่กับเพื่อนพ้องในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แปลกแยกยิ่งกับความดุดันของเพื่อนนักศึกษาจากท่าพระจันทร์
อาจตื่นตะลึงกับการปรากฏของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่มาในยานแห่ง “สังคมศาสตร์ปริทัศน์”
แต่ก็เป็นความตื่นตะลึงของ “คอนเซอร์เวทีฟ” ที่มีลักษณะ “ราดิคัล”
เส้นทาง นอกวังท่าพระ
ช่อฟ้า ไปสู่ “สยามรัฐ”
การออกจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มาทำ “ช่อฟ้า” แล้วค่อยๆ สไลด์ไปประจำทำงานอยู่ “สยามรัฐ” ถือได้ว่าเป็นการประคองตนอย่างสำคัญ
จัดความสัมพันธ์ในทาง “ความคิด” ในลักษณะ “คอนเซอร์เวทีฟ”
มองเห็นภาพ ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี มองเห็นภาพ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล มองเห็นภาพ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
มองเห็นภาพ ไม้ เมืองเดิม มองเห็นภาพ อุษณา เพลิงธรรม
แม้จะมีคนอย่าง มานิต วัลลิโภดม มาคั่น แม้จะมีคนอย่าง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาเปรียบเทียบ
แต่ก็ยังเป็น “ราดิคัล” บนรากฐานแห่ง “คอนเซอร์เวทีฟ”
จุดเด่นเป็นอย่างมากของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คือการตั้งคำถามในลักษณะเดียวกันกับที่ ทองปน บางระจัน ตั้งคำถาม
คำถามต่อ “อาจารย์” คำถามต่อ “เพื่อน”
เป็นคำถามเหมือนกับจะเป็นเรื่องเล็ก แต่เมื่อดำรงอยู่ในจุดที่แน่นอนก็กลายเป็นเรื่องใหญ่
ไม่ว่าต่อพิธีแรกนาขวัญ ไม่ว่าต่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระ
จุดเปลี่ยนอย่างสำคัญในทางความคิดของ สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงอยู่ที่การเดินทางไปยัง อิทะกะ คอร์แนล
ที่เขียนหนังสือ เมด อิน U.S.A. คือ ความชัดเจน
แม้จะเป็นความชัดเจนที่มีปัจฉากับตนเองในลักษณะ โง่ เง่า เต่า ตุ่น จึงดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างฝังลึก
กลายเป็น โพสต์ สุจิตต์ วงษ์เทศ เมื่อกลับเมืองไทย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022