ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก “ปารีส 2024” ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่มีชื่อว่า Counterfactual Thinking อีกคำรบหนึ่ง
นั่นคือ ความเสียใจของคนที่ได้เหรียญเงิน กับความดีใจของคนที่ได้ “เหรียญทองแดง” เพราะเหรียญเงินคือสัญลักษณ์ของความพ่ายแพ้ แต่ “เหรียญทองแดง” ได้มาจากชัยชนะ
เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ได้เหรียญเงินมักจะคิดว่า “อะไรวะ พลาดนิดเดียวแพ้เลย” ขณะที่ผู้ที่ได้ “เหรียญทองแดง” กลับคิดว่า “ดีใจจัง อย่างน้อยก็ยังได้ของปลอบใจติดมือกลับบ้าน”
เรื่องนี้หาใช่เหตุบังเอิญไม่ เนื่องจากมีนักวิจัยจำนวนมากที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ Counterfactual Thinking
ศาสตราจารย์ ดร. Thomas D. Gilovich นักจิตวิทยาแห่ง Cornell University บอกว่า การดีใจในสิ่งที่พลาดหวัง ย่อมดีกว่าการเสียใจในสิ่งที่มุ่งหวัง
ศาสตราจารย์ ดร. Thomas D. Gilovich ระบุว่า โดยทั่วไปสามารถแบ่งชนิดของความเสียใจในชีวิตของมนุษย์ออกได้เป็น 2 ประเภท กล่าวคือ
1. Regretful Action หมายถึง เสียใจในสิ่งที่ได้ทำลงไป
2. Regretful Inaction หมายถึง เสียดายในสิ่งที่ไม่ได้ทำ
ศาสตราจารย์ ดร. Thomas D. Gilovich บอกว่า ในระยะสั้น ความเจ็บปวดแบบ Regretful Action มักจะมากกว่าความเจ็บปวดแบบ Regretful Inaction
ทว่า ในระยะยาว ความเจ็บปวดแบบ Regretful Inaction จะมีมากกว่าความเจ็บปวดแบบ Regretful Action
ปัญหาของ Regretful Action/Regretful Inaction ก็คือ ความเจ็บปวดระยะสั้นของ Regretful Action มีมากกว่าความเจ็บปวดระยะสั้นของ Regretful Inaction
เห็นได้จากคนส่วนใหญ่ ที่หวาดผวาผลของการตัดสินใจ มากกว่าการกลัวพลาดโอกาสของการไม่ตัดสินใจทำอะไร
ศาสตราจารย์ ดร. Thomas D. Gilovich สรุปว่า การที่มนุษย์เกลียดทั้งความเสียใจ และความเสียดาย สามารถทำให้คนเราตัดสินใจไม่ทำในสิ่งที่อยากทำ เนื่องจากอาการกลัวความล้มเหลว หรือ Regretful Action
“สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลทำให้เราเกิดความเจ็บปวดมากกว่าความรู้สึกเสียดายในสิ่งที่ไม่ได้ทำในระยะยาว” ศาสตราจารย์ ดร. Thomas D. Gilovich สรุป
เกี่ยวกับควันหลงโอลิมปิก 2024 นอกจากกรณี Regretful Action/Regretful Inaction แล้ว ทีมวิจัยของ “วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน” หรือ LSE (London School of Economics and Political Science)
ร่วมกับ “ศูนย์ประเมินศักยภาพเศรษฐกิจ” หรือ CEP (Centre for Economic Performance) และ “สภาวิจัยเศรษฐศาสตร์และสังคม” หรือ ESRC (Economic and Social Research Council)
ได้ทำงานวิจัยเรื่อง Without My Medal on My Mind : Counterfactual Thinking and Other Determinants of Athlete Emotions แปลว่า “ใจที่ไร้เหรียญ : การสมมุติคิดและปัจจัยทางอารมณ์ของนักกีฬา”
นำทีมโดยศาสตราจารย์ ดร. Georgios Kavetsos, Laura Kudrna, Chloe Foy และ Paul Dolan ได้ทำการทดสอบระดับความสุขของผู้ชนะการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยใช้วิธีการตั้งกล้องเพื่อติดตามตรวจสอบการเคลื่อนไหวใบหน้านักกีฬา
เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าร่วมพิธีรับเหรียญรางวัล ช่วงรอรับรางวัล ช่วงอยู่บนแท่นรับเหรียญ ไปจนถึงช่วงการบรรเลงเพลงชาติประเทศของผู้ที่ได้เหรียญทอง
ผลการวิจัยพบว่า ใบหน้าของผู้ได้รับเหรียญเงิน มีความสุขน้อยกว่าคนที่ได้เหรียญทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เหรียญทองแดง” กล่าวคือ ผู้ชนะเลิศเหรียญทอง มีระดับความสุข 6.65 คะแนน เหรียญเงิน 5.92 คะแนน
ขณะที่ “เหรียญทองแดง” มีระดับความสุข 6.06 คะแนน
ศาสตราจารย์ ดร. Georgios Kavetsos นักวิชาการด้านพฤติกรรมศาสตร์ของ LSE กล่าวว่า นักกีฬาที่ได้เหรียญทอง และ “เหรียญทองแดง” มักจะ “ยิ้มตาหยี” ด้วยความเบิกบานขั้นสุด คือยิ้มแบบใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนบนใบหน้า
“การยิ้มแบบนี้ นักจิตวิทยาถือว่าเป็นการแสดงออกทางอารมณ์เชิงบวกแบบสุดสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานักกีฬาเหรียญทองแดง มีอาการยิ้มหน้าบานมากกว่านักกีฬาเหรียญเงิน” ศาสตราจารย์ ดร. Georgios Kavetsos กล่าว
การค้นพบดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า นักกีฬาเหรียญทองมีความสุขมากที่สุดจากผลงานโดดเด่นในสนาม ส่วนนักกีฬา “เหรียญทองแดง” ก็มีความสุขเช่นกัน เพราะรู้สึกโชคดีที่ยังได้ขึ้นมาบนโพเดียม ศาสตราจารย์ ดร. Georgios Kavetsos กล่าว และว่า
“ต่างจากคนที่ได้เหรียญเงิน ที่ยังคงคิดถึงความผิดพลาดของตนในการแข่งขันที่เพิ่งจบไป จนแทบไม่มีความสุขในพิธีรับรางวัล”
ศาสตราจารย์ ดร. Georgios Kavetsos เผยว่า โดยทั่วไปแล้ว คนได้เหรียญเงินจะมีความสุขมากกว่าคนได้เหรียญทองแดงก็ต่อเมื่อคนได้เหรียญทองมีคะแนนทิ้งห่างอันดับอื่น และคะแนนของเหรียญเงินใกล้เคียงกับเหรียญทองแดง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนได้เหรียญเงินจะมีความสุขน้อยที่สุด เมื่อแพ้ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศชนิดเฉียดฉิว
ศาสตราจารย์ ดร. Georgios Kavetsos ระบุว่า ผลการวิจัยครั้งนี้ สอดคล้องกับการศึกษาหลายชิ้นก่อนหน้านี้ ที่ยืนยันตรงกัน ว่าผู้ชนะเลิศอันดับ 3 มีความสุขมากกว่าอันดับที่ 2 เพราะส่วนใหญ่แล้ว คนที่ได้ที่ 2 มัวแต่เปรียบตนเองกับคนได้ที่ 1
แต่คนได้ที่ 3 เกือบทุกคน จะเอาตัวเองไปเทียบกับคนที่ไม่ได้รับเหรียญรางวัล
ศาสตราจารย์ ดร. Georgios Kavetsos บอกว่า วิธีคิดเช่นนี้ เป็นกระบวนการที่เรียกว่า Counterfactual Thinking ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบสิ่งที่ตัวเองคาดหวัง กับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท กล่าวคือ
1. Downward Counterfactual Thinking หมายถึง การเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่แย่กว่า กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หรือความรู้สึกที่เรียกว่า “เกือบดีแล้ว” นี่คือวิธีคิดแบบรู้สึกดีกับตัวเองของผู้ที่ได้ “เหรียญทองแดง” ที่มีความสุขในชีวิต
2. Upward Counterfactual Thinking หมายถึง การเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่ดีกว่า กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หรือความรู้สึกที่เรียกว่า “ไม่น่าเลย” นี่คือวิธีคิดแบบรู้สึกแย่กับตัวเองของผู้ที่ได้เหรียญเงิน จนทำให้จิตใจหดหู่ และเอาแต่โทษตัวเองไม่รู้จบ
บทสรุปจากงานวิจัย Without My Medal on My Mind: Counterfactual Thinking and Other Determinants of Athlete Emotions หรือ “ใจที่ไร้เหรียญ : การสมมุติคิดและปัจจัยทางอารมณ์ของนักกีฬา” ของ LSE ชี้ว่า นักกีฬาที่ได้ตำแหน่ง “รองชนะเลิศ” หรือ “เหรียญเงิน” ไม่มีความสุขในช่วงเวลารับเหรียญรางวัลมากที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ได้ “เหรียญเงิน” มีความสุขน้อยกว่าคนที่ได้ “เหรียญทองแดง” เหตุผลก็คือ คนที่ได้ “เหรียญเงิน” คิดว่าตัวเองนั้น “พ่ายแพ้”
แต่คนที่ได้ “เหรียญทองแดง” มองโลกในแง่บวกว่า “อย่างน้อยก็ยังได้รางวัล” โดยคิดว่าตัวเองนั้น “ชนะอันดับ 4” และคนที่ตกรอบไปทั้งหมด
ศาสตราจารย์ ดร. Georgios Kavetsos สรุปผลการวิจัยว่า อย่าลืมว่า ทุกการแข่งขันย่อมมี “ผู้แพ้” และ “ผู้ชนะ” และต้องไม่ลืมว่า “ผู้ชนะ” นั้น มีเพียงหนึ่งเดียว แต่ “ผู้แพ้” นั้น คือผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ทุกเกมกีฬา ก่อนการแข่งขัน ทุกคนล้วนตั้งใจจะทำให้เต็มที่ที่สุด ทุกคนล้วนวาดหวังในชัยชนะ และทุกคนต้องการได้รับเหรียญทอง-สัญลักษณ์ของ “ที่หนึ่ง” ในการแข่งขัน
ไม่มีใครอยากเป็นพระรอง ผู้ครองตำแหน่งรองชนะเลิศนั้น ไร้คนจดจำ และบางครั้งบางเวที พระรองยิ่งถูกหลงลืมได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีการประกาศชื่อพระรอง พระรองจึงทำได้แค่เพียงแสดงความยินดีกับผู้ชนะเท่านั้น
ดังนั้น งานวิจัยจำนวนมากจึงระบุว่า ผู้ที่ได้อันดับ 2 คือผู้ที่มีความสุขน้อยที่สุดในทัวร์นาเมนต์
“คนที่ได้เหรียญเงิน มักมองว่าตัวเองคือผู้แพ้คนแรก ในขณะที่คนที่ได้เหรียญทองแดง มักคิดว่าตนเองเป็นคนสุดท้ายที่ชนะครับ” ศาสตราจารย์ ดร. Georgios Kavetsos ทิ้งท้าย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022