เปิดผลกระทบประเทศไทย หลังยกเลิกจัดอินดอร์เกมส์

หลังจากยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ในที่สุด สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ก็ส่งหนังสือแจ้งยกเลิกการเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน เอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 ของประเทศไทย

ต้องบอกว่ามหกรรมนี้หลังจากจบการแข่งขันครั้งที่ 5 ที่ กรุงอัชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถาน เมื่อปี 2560 ก็ไม่มีใครรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ จน ชีค อาหมัด อัล ฟาฮัด อัล ซาบาห์ ประธานโอซีเอ เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อขอเข้าพบตัวแทนรัฐบาลและขอให้ไทยรับหน้าเสื่อในการเป็นเจ้าภาพ ก่อนที่ไทยจะตอบตกลงและมีการเซ็นสัญญาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันไปเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 พร้อมกำหนดให้มีการแข่งขันในวันที่ 10-19 มีนาคม 2564

ทว่า กลับกลายเป็นมหกรรมที่ยืดเยื้อ เลื่อนการแข่งขันจนกินเวลาเกือบ 4 ปี ยังไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ จนการแข่งขันครั้งต่อไปที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย มาจ่อรอในปี 2568 แล้ว

 

การเลื่อนครั้งแรกก็มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ยังคุกคามโลกในเวลานั้น ทำให้ต้องเลื่อนการแข่งขันออกมา 1 ปี เป็นวันที่ 10-22 มีนาคม 2565

ก่อนที่เวลาต่อมาสถานการณ์โควิดยังไม่ดีขึ้น จึงต้องเลื่อนการแข่งขันออกมาอีกครั้งหนึ่ง และได้กำหนดเอาไว้ระหว่างวันที่ 17-26 พฤศจิกายน 2565

จากนั้นมีการเปลี่ยนแปลง รัฐบาล ทำให้ประสบปัญหาเรื่องของการวางแผนงานหรือเตรียมงบประมาณ ไทยจึงเจรจาขอเลื่อนกำหนดการแข่งขันเป็นครั้งที่ 3 โดยเลื่อนมาแข่งขันในช่วงระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์-6 มีนาคม 2567

ซึ่งช่วงเวลานั้นมีการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง โอซีเอเดินทางมาตรวจสนามต่างๆ รวมถึงมีการให้คำมั่นว่าจะสามารถจัดการแข่งขันได้

อย่างไรก็ตาม เอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ต้องมีการเลื่อนโปรแกรมการแข่งขันเป็นครั้งที่ 4 หลังจากโอซีเอมีการพิจารณาว่าช่วงเวลาดังกล่าวใกล้กับการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำให้ทุกชาติประสบปัญหาในการเตรียมนักกีฬา อีกทั้งนักกีฬาส่วนใหญ่โฟกัสที่การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ทำให้ไม่สามารถมีส่วนร่วมกับการแข่งขันได้ทั้ง 2 รายการ

ทำให้โอซีเอขอให้ไทยเลื่อนการแข่งขันออกไป และได้ข้อสรุปว่าจะจัดระหว่างวันที่ 21-30 พฤศจิกายน 2567

ทว่า ในช่วงที่ผ่านมา ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการจัดการแข่งขันเลย ทั้งๆ ที่เวลาก็กระชั้นชิดเข้ามาใกล้มากแล้วยังไม่มีการเตรียมการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัญหาหลักมาจากยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณในการจัดการแข่งขันเข้ามา

ทำให้โอซีเอมีแผนที่จะยกเลิกการจัดการแข่งขันของประเทศไทยตั้งแต่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ขณะที่ นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ และรองประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ได้พยายามขอเวลาเพื่อรอความชัดเจนจากรัฐบาลไทยก่อน

จนกระทั่งช่วงระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ร่วมประชุมกับโอซีเอ และตัวแทนจาก คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เพื่อพูดคุยถึงการจัดการแข่งขันให้ลุล่วง จากนั้นหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ทางโอซีเอได้ส่งหนังสือแจ้งขอลดชนิดกีฬาจากเดิมที่จะจัด 36 ชนิดกีฬา ให้ตัดออกไป 14 ชนิดกีฬา เหลือจัดแค่ 22 ชนิดกีฬา กับอีก 2 กีฬาสาธิต เพื่อให้การแข่งขันสามารถดำเนินการจัดการแข่งขันได้

จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ทางโอซีเอได้ส่งหนังสือแจ้งยกเลิกการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยไป โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยยังไม่สามารถปลดล็อกในเรื่องของงบประมาณที่จะใช้จัดการแข่งขันได้ และเวลาที่เหลือกระชั้นชิดเกินไป อย่างไรก็ตาม ทางโอซีเอเปิดช่องว่าถ้าหากไทยยังต้องการเป็นเจ้าภาพอยู่ ให้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไปต่อจากที่ซาอุดีอาระเบีย จะเป็นเจ้าภาพในปี 2568

 

แน่นอนว่าผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดของการยกเลิกการจัดการแข่งขัน คือการเสียภาพลักษณ์ของประเทศ ที่เสนอตัวจัดการแข่งขันแล้วไม่สามารถทำได้ตามที่วางแผนเอาไว้ และอาจจะส่งผลกระทบต่อการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาอื่นๆ อย่างเช่น เป้าหมายของประเทศไทยที่ต้องการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ยูธโอลิมปิกเกมส์ อยู่

ผลกระทบต่อมาคือนักกีฬาหลายคน ที่รอคอยเวทีสำหรับการแข่งขัน เนื่องจากกีฬาบางประเภทไม่มีในมหกรรมกีฬาใหญ่ๆ อย่างเอเชี่ยนเกมส์หรือโอลิมปิกเกมส์ ฉะนั้น จะทำให้นักกีฬาสูญเสียโอกาสตรงนั้นไปแทน และอีกหนึ่งผลกระทบคือค่าชดเชยสัญญาต่างๆ ที่ได้มีการทำเอาไว้แล้ว

ส่วนเรื่องการเตรียมนักกีฬาที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้เสียเปล่าเสียทีเดียว เพราะงบฯ ที่ใช้เตรียมนักกีฬาในการเก็บตัวฝึกซ้อมหรือส่งแข่งขัน ก็เป็นเรื่องของการพัฒนานักกีฬา และสามารถเตรียมเพื่อทัวร์นาเมนต์อื่นๆ อย่างเช่น ซีเกมส์, ชิงแชมป์เอเชีย, ชิงแชมป์โลก เวิลด์เกมส์ ได้เช่นกัน

ขณะที่ในส่วนที่หลายคนกังวลกันว่าประเทศไทยจะถูกแบนจากโอซีเอไม่ให้เข้าแข่งขันกีฬารายการต่างๆ โดยเฉพาะเอเชี่ยนเกมส์ 2026 นั้น ต้องบอกว่าในสัญญาไม่ได้มีการระบุถึงการแบนห้ามเข้าร่วมการแข่งขันอื่นๆ หากไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีการยกเลิกการจัดการแข่งขันกีฬามาแล้วหลายรายการ แต่เจ้าภาพที่ยกเลิกก็ไม่เคยโดนแบนสักประเทศเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกการเป็นเจ้าภาพอาจจะมีแง่มุมที่ดีอยู่บ้าง ก็คือถ้าหากเราดื้อด้าน ฝืนจัดไป ทั้งๆ ที่ไม่มีความพร้อม จนทำให้การแข่งขันออกมาไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อันนั้นก็จะส่งผลถึงภาพลักษณ์ที่แย่ของประเทศไทยได้เช่นกัน

และอีกข้อดีหนึ่ง คือการยกเลิกเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนอินดอร์ฯ ก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถโฟกัสในการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพ ซีเกมส์ ที่จะมีขึ้นในปี 2568 ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสามารถต่อยอดจากการเตรียมงานเอเชี่ยนอินดอร์ฯ มาจัดซีเกมส์ได้ด้วย

ก็ถ้าคิดว่าครั้งนี้เสียภาพลักษณ์ไป ก็ต้องใช้ซีเกมส์กู้หน้ากลับมานี่แหละ •

 

เขย่าสนาม | Stivie Toon

[email protected]