ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีข่าวน่าสนใจเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา เมื่อ “เบต้า มีเดีย” ของเวียดนาม ประกาศความร่วมมือที่จะทำ “กิจการร่วมค้า” กับ “อิออน เอ็นเตอร์เทนเมนต์” แห่งญี่ปุ่น
ความร่วมมือครั้งนี้จะดำเนินงานผ่านเม็ดเงินลงทุนมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบๆ 7,000 ล้านบาท อันจะนำไปสู่การสร้างโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ระดับพรีเมียมจำนวน 50 แห่ง
นอกจากนั้น เงินลงทุนอีกส่วนจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการสร้างและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ซึ่งจะช่วยขยายขอบเขตของอุตสาหกรรมหนังในเวียดนามให้กว้างขวางออกไปยิ่งขึ้น
“อิออน เอ็นเตอร์เทนเมนต์” ถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น หากพิจารณาในแง่ของจำนวนโรงภาพยนตร์ 96 แห่ง และจอภาพยนตร์ 821 จอ ที่พวกเขาครอบครองอยู่
นี่คือกิจการธุรกิจบันเทิงซึ่งอยู่ในเครือ “อิออน กรุ๊ป” ที่ก่อนหน้านี้ ได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจค้าปลีกของเวียดนามด้วยเม็ดเงินมหาศาล
ขณะที่ “เบต้า มีเดีย” ซึ่งเริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2014 มีกิจการโรงภาพยนตร์รวมทั้งสิ้น 20 สาขา ทั่วประเทศเวียดนาม
โรงภาพยนตร์ของพวกเขามีความโดดเด่นด้วยรูปแบบการดีไซน์ที่ทันสมัยแบบคนรุ่นใหม่ และการกำหนดราคาบัตรเข้าชมที่ย่อมเยา (ราวๆ 2 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 70 บาทต่อใบ) กระทั่งปัจจุบัน พวกเขามีฐานผู้บริโภคในปริมาณ 6 ล้านรายต่อปี
เมื่อปี 2023 “เบต้า มีเดีย” มีรายได้เพิ่มขึ้น 150 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับสถานการณ์ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิดเมื่อปี 2019
ทั้งนี้ โรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์แห่งแรกภายใต้แบรนด์ร่วมทุน “อิออน เบต้า ซีเนม่า” จะเปิดทำการได้ในปี 2025 ก่อนที่จะมีการทยอยสร้างโรงหนังอีก 49 แห่งในจังหวัดต่างๆ ทั่วทั้งประเทศเวียดนาม ในปีเดียวกัน
นอกจากจะให้ความสำคัญกับการลงทุนก่อสร้างโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์จำนวนมากแล้ว กิจการร่วมค้าระหว่างเอกชนญี่ปุ่น-เวียดนาม ยังจะเข้าไปลงทุนสร้างและจัดจำหน่ายภาพยนตร์
โดย ณ เบื้องต้น พวกเขามีแผนจะจัดหน่ายหนังเวียดนาม ญี่ปุ่น และนานาชาติ ในตลาดเวียดนาม
ทางการเวียดนามเพิ่งจะอนุญาตให้ภาคเอกชนในประเทศสามารถสร้างภาพยนตร์ออกเผยแพร่สู่สาธารณะ เมื่อสองทศวรรษที่แล้วนี่เอง
อย่างไรก็ดี นับจากกลางทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา ตัวเลขยอดจำหน่ายบัตรเข้าชมภาพยนตร์ในประเทศที่มีประชากรราว 100 ล้านคนประเทศนี้ จะมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์โดยสม่ำเสมอ อันเป็นผลมาจากจำนวนโรงและจอภาพยนตร์ที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
ก่อนการร่วมทุนกันระหว่าง “เบต้า มีเดีย” กับ “อิออน เอ็นเตอร์เทนเมนต์” ผู้ลงทุนรายใหญ่ในธุรกิจโรงภาพยนตร์ของประเทศเวียดนาม ก็คือ ทุนจากเกาหลีอย่าง “ซีเจ อีเอ็นเอ็ม” และ “ล็อตเต้ เอ็นเตอร์เทนเมนต์”
ขณะที่ผู้ประกอบกิจการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ระดับท้องถิ่นอีกเจ้าหนึ่งอย่าง “กาแล็กซี่ ซีเนม่า” ก็ได้รับเงินทุนสนับสนุนบางส่วนจาก “โกลเด้น สกรีน ซีเนม่าส์” ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงจากประเทศมาเลเซีย
ตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมภาพยนตร์เวียดนามนั้นเติบโตขึ้นอย่างรอบด้าน
ด้านหนึ่ง ก็มีหนังบล็อกบัสเตอร์ระดับท้องถิ่นที่สร้างรายได้สูงขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดภายในประเทศ
อีกด้านหนึ่ง ภาพยนตร์สารคดีและภาพยนตร์เชิงศิลปะจากเวียดนามก็ไปสร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ โดยมีผลงานที่เกือบได้เข้าชิงรางวัลออสการ์, ผลงานที่ได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และผลงานที่ได้รับรางวัลในเทศกาลหนังเบอร์ลิน •
ภาพโรงภาพยนตร์จาก https://www.facebook.com/betacinemas
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022