ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ฝนไม่ถึงดิน |
ผู้เขียน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี |
เผยแพร่ |
เมื่อคุณแพทองธาร ชินวัตร ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่องราวในรั้วรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อ 20 ปีที่แล้วถูกนำมาหยิบยก โดยนำคุณแพทองธาร เป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายต่างๆ
สำหรับผู้เขียนเองซึ่งเข้าเรียนที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในปีเดียวกันนี้ มองย้อนกลับไปเห็นว่ามีแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว
เรื่องน่าสนใจที่อาจไม่ถูกฉายและอาจหลงลืมไปตามกาลเวลา
หลงเหลือเพียงแค่ภาพจำที่ไม่สมบูรณ์นัก
บริบททางสังคมในช่วงเวลานั้น ความน่าสนใจในช่วงระหว่างปี 2547-2548 เป็นช่วงที่ประเทศไทยว่างเว้นจากการรัฐประหารยาวนานถึง 14 ปี
ดังนั้น บรรยากาศในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ช่วงนั้น จึงมีความสร้างสรรค์ และนำเสนอแนวทางที่หลากหลายมาก เพราะไม่มีใครคาดคิดทั้งในทางการเมืองหรือทางทฤษฎีว่าจะมีรัฐประหารอีก
ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ถึงการเลือกวุฒิสมาชิกโดยตรง ต้องบอกว่าความคาดหวังส่วนใหญ่ของประชาคมคือการมองประชาธิปไตยในฐานะทางเลือกทางออกเดียวของสังคม
แม้จะมีคำอธิบายที่แตกต่างกันไป โลกเข้าสู่ยุคอินเตอร์เน็ตแบบเต็มตัว แม้สมาร์ตโฟนหรือมือถือที่ใช้อินเตอร์เน็ตได้จะไม่ทันในยุคนี้ แต่การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เปิดกว้างมากขึ้น
กระนั้นการสื่อสารหลักยังคงเป็น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ
ยุคนั้นจึงกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการสื่อสารและการเรียนรู้ทางการเมือง
บริบททางวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อุดมด้วยนักวิชาการหลากหลายและเป็นหัวหอกด้านวิชาการของสังคมมาตลอด
ในช่วงที่ผู้เขียนเข้าเรียนในปี 2547 เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้สนทนากับคน “เชื้อเจ้า” – ซึ่งคือ รศ.ม.ร.ว.พฤทธิสาร ชุมพล ที่บรรยายวิชาความรู้เบื้องต้นทางการเมืองแก่นิสิตปี 1 ผ่านกรอบแนวคิดคลาสสิค ของ David Easton
รวมถึงกรอบแนวคิดวัฒนธรรมทางการเมืองของ Almond ที่ระบุให้เห็นปัญหาการขาดการตระหนักรู้ถึงอำนาจของตนเองของประชาชนภายใต้วัฒนธรรม “ไพร่ฟ้า”
นอกจากนั้น ลูกศิษย์สายตรงของ ม.ร.ว.พฤทธิสาร คือ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง เป็นนักวิชาการสาย NGO ที่ทำเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านประชาธิปไตยทางตรงผ่านกรณีศึกษาสมัชชาคนจน
นอกจากนี้ ยังมีรุ่นพี่ของ อ.ประภาส อ.นฤมล ทับจุมพล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ที่เป็นนักวิชาการสำหรับคนยากคนจนในช่วงเวลานั้น
นอกจากนี้ ในภาควิชาการเมืองการปกครอง ก็มี รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ (บุตรชายคนเล็ก อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์) และ รศ.สุชาย ตรีรัตน์ นักวิชาการสายสังคมนิยม ที่นำแนวคิดทรอตสกี้กลับมาวิพากษ์ความล้มเหลวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และพยายามสร้างข้อเสนอที่ไปไกลกว่าประชานิยมของทักษิณ ชินวัตร ในช่วงเวลานั้น
ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ยินคำว่ารัฐสวัสดิการ ในฐานะข้อเสนอทางการเมืองจาก อาจารย์ฝ่ายซ้ายทั้งสองท่านนี้
ขณะเดียวกัน ในสายปรัชญาและทฤษฎีทางการเมือง ผู้เขียนมีโอกาสเรียนรู้จาก ศ.ดร.ไชยันต์ ชัยพร รวมถึง ศ.ดร.วีระ สมบูรณ์ นักคิดคนสำคัญของยุค
โดยเฉพาะท่านอาจารย์วีระได้มีการนำแนวคิด ทฤษฎี และปรัชญาการเมืองเข้าสู่การอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่ออธิบายจุดกำเนิดของสงคราม ความขัดแย้งความร่วมมือ
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมโดยรัฐและการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะนั้นก็ยังมีอาจารย์หนุ่มอย่าง ศ.สรวิศ ชัยนาม ที่เพิ่งบรรจุเป็นอาจารย์ด้วยวัยยี่สิบปลายๆ ขณะนั้น สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นิสิต นักศึกษารุ่นใหม่ๆ ในการศึกษาแนวคิดจักรวรรดินิยมและการครอบงำในช่วงเวลานั้น
ขณะเดียวกันก็มีเมธีวิจัยอาวุโส อย่าง ศ.ดร.สุภางค์ จันทวาณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยคุณภาพ ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน
และ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ที่เป็นหลักใหญ่ในการนำเสนอทฤษฎีในทางวิชาการที่นำพลวัตการเมืองภายนอกมาอธิบายปรากฏการณ์การเมืองภายใน ตามแนวทาง Robert.W.Cox
ผู้เขียนเล่ามาถึงตรงนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงที่มีความหลากหลายทางวิชาการอย่างมากจากซ้ายถึงขวา ยากนักที่จะบอกว่าจะทำให้เกิดความลำบากใจในการใช้ชีวิตทางวิชาการทั้งในฐานะผู้เรียนและผู้สอน
ที่จริงแล้วช่วงระหว่างปี 2548-2549 เป็นช่วงที่สำคัญ เพราะมันเป็นช่วงก่อนการเมืองยุคแบ่งขั้ว กระแสความสนใจต่างๆ ไม่ได้ไวรัลรวดเร็ว ผู้คนยังมีโอกาสใคร่ครวญขบคิด สนทนา
เมื่อผู้เขียนรณรงค์เรื่องต่างๆ พบว่า ผู้คนส่วนมากไม่มีธงมาก่อนและสามารถรับฟังข้อมูลแลกเปลี่ยนกันได้
เรื่องใหญ่สำหรับวงการการศึกษาทางการเมืองในช่วงนั้นก็คือ นโยบายที่มีปัญหาสมัย คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แน่นอนว่าการวิจารณ์นโยบายของรัฐบาล กับการสนับสนุนรัฐประหารปี 2549 เป็นคนละเรื่องกัน และนโยบายที่ถูกพูดถึงในขณะนั้น คือนโยบายที่มีการตั้งคำถามในเรื่องสิทธิมนุษยชนในวงกว้าง อย่างเหตุการณ์ตากใบ และสงครามยาเสพติด
ดังที่ผู้เขียนเล่าถึงบรรยากาศทางวิชาการไปแล้ว ก็นับเป็นเรื่องปกติที่จะมีการตั้งคำถามในวงกว้าง ซึ่งทำให้บรรยากาศในทางวิชาการมีสีสันอย่างมาก
แต่แน่นอนว่ารัฐประหารปี 2549 ก็สร้างทางแยกทางวิชาการในประชาคมรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
สำหรับผู้เขียนเอง แม้จะวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลทักษิณ แต่ก็เป็นผู้ร่วมต้านรัฐประหาร ซึ่งก็เป็นแนวทางของนักวิชาการส่วนหนึ่งในขณะนั้น
แต่ก็มีกลุ่มนักวิชาการที่ยังเห็นด้วยกับรัฐประหารช่วงแรกและแปรเปลี่ยนภายหลัง ซึ่งก็เป็นปกติของพลวัตทางความคิดทางสังคม
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เสื้อแดงในปี 2553 ก็นับว่าทำให้การศึกษาด้านรัฐศาสตร์แตกขั้วมากขึ้น
เรื่องที่น่าสนใจคือ กลุ่ม “นักวิชาการ” ที่ถูกจัดหมวดเป็น “แดง” ก็มากขึ้นแบบมีนัยสำคัญต่อการต่อต้านเหตุการณ์เมษายน พฤษภาคม 2553
ดังนั้น สิ่งที่ผู้เขียนอยากถ่ายทอดคือ แม้ช่วงเวลาในการเรียนรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ของนายกรัฐมนตรี คุณแพทองธาร ชินวัตร อาจไม่ใช่ช่วงเวลาส่วนตัวที่น่าจดจำ
เพราะปี 2547-2548 ก็เป็นช่วงเวลาที่การตั้งคำถามต่อนโยบายรัฐบาลคุณทักษิณอย่างเข้มข้น
และปี 2549-2551 ก็เป็นช่วงปกครองโดยรัฐบาลคณะรัฐประหาร แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนโยบายหลายอย่างของพรรคไทยรักไทยก็ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในทางวิชาการในช่วงเวลานั้นที่ปรับปรุงให้สังคมดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ
และขณะเดียวกัน หลังปี 2549 ก็มีนักวิชาการ นิสิตนักศึกษาจำนวนไม่น้อย ที่เอาชีวิตการทำงาน หรือชีวิตจริงๆ ยืนยันต่อต้านการทำรัฐประหาร ในฐานะการที่ คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่ชอบธรรมแม้พวกเขาจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยก็ตาม
หนังสือ Coup for the Rich ของ รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ หากวิเคราะห์ตามมาตรฐานการวิพากษ์วิจารณ์ในปัจจุบันต้องถือว่าไม่ได้รุนแรงมากเพียงแต่ย้ำให้เห็นว่า “รัฐประหารแต่ละครั้ง ไม่ได้ทำเพื่อศีลธรรมและคุณธรรมอะไร เว้นแต่การรักษาประโยชน์ของคนรวย”
หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในชนวนที่ อ.ใจ ต้องลาออกจากราชการ และย้ายออกจากประเทศไทยไปอยู่ที่สหราชอาณาจักรในปี 2552
ซึ่ง อ.ใจ ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ต่อต้านนโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทยรักไทยอย่างแข็งขัน และต่อต้านการรัฐประหารคนแรกๆ ด้วย
ที่จริงแล้วคนที่ใช้ชีวิตที่ยากลำบากในจุฬาฯ ยุคนั้นในความทรงจำของผู้เขียน ก็คือเพื่อนๆ น้องๆ จำนวนมากจากต่างจังหวัดที่ต้องทำงานพิเศษ ยื่นขอทุนการศึกษาเพื่อได้เล่าเรียน หลายคนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าถ่ายเอกสาร หรือต้องขาดเรียนเพราะเงื่อนไขเศรษฐกิจที่บ้าน
ไม่กี่เดือนก่อนผู้เขียนมีโอกาสบรรยายให้คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อีกครั้งในฐานะอาจารย์พิเศษ เรื่องราวไม่ต่างไปมากนัก ยังเห็นคนรุ่นใหม่ที่มีความฝัน พยายามอย่างเต็มที่เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น ฝ่าด่านหลายชั้นกว่าจะได้เข้ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก็ยังมีกำแพงชนชั้นที่สูงชันกั้นไว้อีก
ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่มีโอกาสมากมายโดยกำเนิดที่พยายามไม่มากนักก็สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ก็คือภาพปกติที่สะท้อนสังคมใหญ่มาเช่นกัน
เราคงไม่สามารถ Reset ทุกอย่างและให้ทุกคนเท่ากันได้ แต่เงื่อนไขสำคัญคือการที่ผู้คนที่มีโอกาสมากกว่าในสังคม จะต้องไม่ลืมว่าองค์ประกอบในสังคมมีความหลากหลาย ผู้คนมีโอกาสไม่เท่ากัน คนที่มีโอกาสมากกว่าจะเลือกที่จะใช้เสียงของตนทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมมันน้อยลงได้หรือไม่ หรือจะใช้เสียงรักษาสความเหลื่อมล้ำต่อไป
ให้ชาติกำเนิดของทุกคนเป็นโมฆะ และเริ่มใหม่ที่ความสามารถและความฝันของแต่ละคน ที่มีสังคมโอบอุ้ม
นี่คงเป็นสิ่งที่ผมจะฝากถึงนายกรัฐมนตรีจากอดีตถึงอนาคต ไม่ว่าจะอายุน้อย อายุมาก จบนายร้อยหรือรัฐศาสตร์ คงเป็นสิ่งเดียวที่จะฝากฝังและคาดหวังกันต่อไป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022