ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังเลนส์ในดงลึก |
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
ผ่านมาหลายปี หลังจากที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ดูเหมือนว่า ดอยอินทนนท์ ในวันที่ผมกลับมาเยือนต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2567 สถานภาพของผมคล้ายเป็นคนแปลกหน้าอย่างสิ้นเชิง
ที่สำนักงานผมไม่รู้จักใคร ผมถามหาใครๆ หลายคนที่ผมเคยร่วมงานงานด้วย ส่วนใหญ่ย้ายไปที่อื่น บางคนเกษียณ
เหลือเพียงโก๋ เจ้าหน้าที่ในหน่วยสื่อความหมาย วันที่เราตระเวนไปตามหมู่บ้าน บนดอยนั้น โก๋ คือ พี่โก๋ วันนี้เขาคือ ลุงโก๋ ที่ อีกไม่กี่เดือนจะเกษียณ
วันหนึ่ง เขามาทำหน้าที่ดูแลทีมเรา เราคุยกันถึงเรื่องเก่า ช่วงเวลาในหมู่บ้านต่างๆ มีหลายสิ่งเปลี่ยนไป บ้านขุนกลางกลายเป็นชุมชนใหญ่ ร้านค้า ที่พักมากมาย โรงเรือนปลูกดอกไม้ ขยายไปตามไหล่ดอย ผู้คนคึกคัก
“ดูร้านนั้นสิครับ ป้าแกมาแบบเสื่อผืนหมอนใบ ดูตอนนี้สิ กลายเป็นร้านใหญ่โต ป้าก็รวยแล้ว” โก๋กระซิบ แผนการหลังเกษียณของโก๋คือ ช่วยเมียขายส้มตำ, ก๋วยเตี๋ยว ที่จอมทอง
โก๋ทำให้ผมนึกถึงช่วงเวลาที่นี่ มีบทเรียนหลายอย่างที่ผมได้เรียนรู้
บางบทเรียน อันเป็นคล้ายปริศนา ผมพบกับคำตอบเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ทั้งๆ ที่คำตอบเฉลยไว้ตั้งแต่วันแรกที่ผมพบแล้ว
ทํางานบนดอยสูง หากไม่คิดว่าช่วงกลางๆ ปี ฝนคืออุปสรรค ข้อดีของมันทำให้ผมได้รับรู้แง่มุมอื่นๆ มากขึ้นบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ และบ้านพัก มีสภาพแวดล้อมสุขสบาย ถนนราบเรียบ อากาศไม่หนาวเย็นเกินไป เพราะอยู่บนระดับความสูงราว 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเลเท่านั้น
ฝนเป็นอุปสรรคของผมในการขึ้นไปเฝ้ารอกวางผาตามหน้าผา แต่สายฝนไม่ได้เป็นอุปสรรคกับพี่น้องชาวม้ง นอกจากภาพพวกเขาเดินแบกเข่งบรรจุดอกไม้ แปลงดอกไม้ภายใต้โรงพลาสติก ผมก็เห็นคนทำงานอยู่ในนั้นตั้งแต่เช้าจรดค่ำ
ในหมูบ้านไม่คึกคักนัก ช่วงฤดูฝนบนดอยเป็นเช่นนี้ ผู้คนมักจะมากันมากมายในช่วงฤดูหนาว
มีรถตู้พานักท่องเที่ยวต่างชาติขึ้นมาบ้าง อีกทั้งไม่ใช่ช่วงเวลาของการดูนก บริเวณร้านลุงแดง ศูนย์กลางของคนดูนกก็เงียบเหงา
บางวันผมเดินจากบ้านพักมาคุยกับลุงแดง บางวันผมทำเพียงนั่งเหม่อมองสายฝน บางวันฝนจางลงผมรีบขับรถขึ้นดอยเพราะคิดว่าอากาศเปิดแล้ว
เพียงแค่กิโลเมตรที่ 38 ผมก็พบกับหมอกหนาทึบ รวมทั้งกระแสลมแรง
บางวันผมเดินขึ้นไปสู่ริมผา หวังว่าอากาศจะเปิดให้มองเห็นอะไรบ้าง ที่พบก็เพียงหมอกหนาทึบ และลมพัดรุนแรง
ทั้งๆ ที่รู้ว่า นี่เป็นเวลาที่ต้องรอคอย แต่ดูเหมือนว่า ใจผมจะถูกความร้อนรุ่ม กระวนกระวายเข้าครอบคลุม
คํ่าวันหนึ่ง ผมเดินฝ่าสายฝนไปบ้านหน่อเย้ง เขาเพิ่งกลับจากสวนดอกไม้
หน่อเย้งเป็น “คู่หู” อีกคนของผม เขาทำหน้าที่พาผมลัดเลาะไปตามหน้าผา นำทางไปหากวางผา
ข้าวซ้อมมือในหม้อกำลังเดือด ส่งกลิ่นหอม
“หน้าซายจัว ดูไม่สบายนะ” ซายจัว คือชื่อภาษาม้งของผม พวกเขาตั้งให้ มันมีความหมายว่า ผู้มีชีวิตอยู่ร่มหน้าผา
“ฝนบนดอยก็แบบนี้แหละ เดี๋ยวนี้ยังดีกว่าตอนเราเด็กๆ ตอนนั้นมีแค่ฤดูหนาวกับฤดูฝนเท่านั้น ฝนหนักกว่านี้ เวลาหนาวก็หนาวจนปวดกระดูก น้ำท่าไม่ได้อาบเป็นเดือน ตอนนี้ยังมีวันร้อนๆ บ้าง” หน่อเย้งพูด
“เราห้ามไม่ให้ฝนตกไม่ได้หรอก” เขาพูดเบาๆ
หน่อเย้งพูดเช่นเดียวกับที่เพื่อนที่เกาะลันตาคนหนึ่งเคยพูด ขณะผมดื้อรั้นจะลงเรือในขณะฝนกระหน่ำผืนทะเล
กิม ทะเลลึก ผู้เฒ่าชาวอูรักลาโว้ย เห็นความร้อนรนของผม พูดถ้อยคำนี้
“เราห้ามฝนที่ตกลงมาไม่ได้ แต่เรารอให้ฝนหยุดได้ไม่ต้องรีบร้อน นั่งพักให้สบายเถอะ”
ทั้งกิมและหน่อเย้ง มีวิถีอันแตกต่าง แต่พวกเขามีความคล้ายคลึงในการเรียนรู้ เพื่อปรับตัวและใจ ยอมรับกับวิถีแห่งธรรมชาติ
ผมเดินกลับบ้านพัก ข้างนอกบ้าน สายฝนโปรย ถนนลาดยางมีน้ำขังเป็นหย่อมๆ ผมเดินฝ่าความมืด ละอองฝนกระทบเสื้อฝนดังเปาะแปะ
บนดอยนี้ ผมมาตามหากวางผา อันเป็นเรื่องราวของกวางผา ถึงที่สุด ผมก็เริ่มรู้ว่า ปริศนาไม่ได้อยู่บนหน้าผา
ปรับตัวไปพร้อมกับธรรมชาติดูจะไม่ยุ่งยาก
เราต่างรู้ดีว่า ความยากอยู่ที่การปรับใจ
ผมพบกับลุงแดง วันนี้ในวัยกว่า 80 แล้ว นอกจากยกมือไหว้ จับมือ เราไม่ได้พูดอะไรกันมากนัก ป้านกใช้เวลาสักพักจึงจำผมได้
กะเพราหมูราดข้าวของลุงแดง รสชาติคงเดิม
ถึงวันนี้ บ้านลุงแดงไม่ได้เป็นเพียงศูนย์กลางคนดูนกเท่านั้น คนดูแมลง, สัตว์เลื้อยคลาน ครึ่งบกครึ่งน้ำ ดูดอกไม้, ผีเสื้อ พวกเขาใช้ที่นี่เป็นที่พัก เป็นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล
หน่อเย้งเพิ่งทุเลาจากอาการอัมพฤกษ์
วันเวลาผ่านไปเร็ว เหลือไว้เพียงความทรงจำ
การตามหากวางผา ปริศนาของกวางผา บนหน้าผาเป็นบทเรียนที่ดี
มันทำให้ผมพบอีกคำตอบหนึ่ง เป็นคำตอบที่ธรรมชาติตั้งใจให้ได้รู้
คำตอบอันทำให้ปริศนาในใจคลี่คลาย
ตั้งแต่ผมพบกับกวางผาครั้งแรก และทุกครั้ง ลักษณะหนึ่งที่ผมเห็นคือ ยืนนิ่ง สงบนิ่ง หยุดใจที่ร้อนรุ่มกระวนกระวาย รีบร้อนจุดหมายยิ่งไกลห่าง
ผมพบกับคำตอบนี้ตั้งแต่วันแรกที่มาถึงหน้าผา
แต่ใช้เวลาหลายปีจึงรู้
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเริ่มเข้าใจ ดูเหมือนเราจะใช้เวลามากมาย เดินทางไปไกลแสนไกล เพื่อตามหาปริศนาต่างๆ ที่อยากรู้
โดยลืมไปว่า “ปริศนา” อันควรหาคำตอบให้พบนั้น อยู่ในใจ… •
หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022