สารทจีน : ความหมายของ ‘โฮ่เฮียตี๋’ เทศกาลเมตตาของปี เมื่อผีกลับบ้าน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

วันที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้เพิ่งผ่านพ้นเทศกาล “สารทจีน” ไปหมาดๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเทศกาลเซ่นไหว้ที่สำคัญ

กระนั้นคนจำนวนมากก็ให้ความสำคัญกับตรุษจีนมากกว่า อาจเพราะเป็นเทศกาลที่รู้สึกถึงความสดชื่น การเฉลิมฉลองและการรวมญาติ

ทว่า ที่จริงแล้วอาจารย์ของผมท่านเคยบอกว่า หากยึดคติที่เน้นบรรพชนและความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณเป็นสำคัญ เทศกาลสารทจีนนั้นสำคัญกว่าตรุษจีนเสียอีก

เพราะเป็นเทศกาลที่เน้น “ผี” โดยตรง

กล่าวคือ ตรุษจีนแม้มีการไหว้เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อย่างยิ่งใหญ่ แต่ก็เป็นไปในลักษณะของการไหว้ขอบคุณที่ได้ปกปักรักษาคุ้มครองมาตลอดทั้งปี รวมทั้งการไหว้ต้อนรับปีหรือสิ่งใหม่ที่กำลังจะเข้ามา

ส่วนสารทจีนนั้นเป็นเทศกาลไหว้ผีโดยเฉพาะ ถือว่าปรโลกเปิด บรรพชนทั้งหลายกลับมารับการเซ่นสรวงของลูกหลานที่บ้านเรือนของตน ส่วนผีอื่นๆ ก็ออกมารับทานและการอุทิศกุศลของผู้เมตตา

 

คติจีนว่า “เดือนเจ็ดคุยเรื่องเก่า” เพราะชีวิตผ่านพ้นมาแล้วครึ่งปี ในเดือนเจ็ด (จีน) อันเป็นเดือนที่มีเทศกาลสารทจีนนั้น เริ่มเข้าฤดูใบไม้ร่วง อากาศกึ่งร้อนกึ่งฝนไม่สดชื่นแจ่มใส ผู้คนหวนระลึกความหลัง ระลึกถึงผู้มาก่อนและบรรพชน เก็บเกี่ยวธัญญาหาร-ผลาหารเพื่อเป็นเสบียงในฤดูหนาวที่จะมาถึง บรรยากาศโดยรวมแม้จะสวยงามแต่ก็เศร้าสร้อยหม่นหมอง

คำว่าสารท หมายถึงฤดูใบไม้ร่วง (สันสกฤตว่า ศารท) เป็นช่วงเวลาแห่งการเซ่นไหว้ผีหรือเดือนผี และมักจะอยู่ในห้วงใกล้ๆ กันทั้งโลก

อย่างสารทไทยถือเอาเดือนสิบไทยเป็นช่วงเซ่นผีบรรพชน ทางภาคใต้ก็มีการรับส่งตายายซึ่งมักจะตรงกับช่วงปิตฤปักษะหรือช่วงครึ่งเดือนแห่งการบูชาเทพบิดรหรือ “ปิตฤ” ของอินเดีย (ไทยใต้ว่า เปรต ซึ่งเป็นคำเชิงบวก หมายถึงบรรพชน) ส่วนจีนภูมิประเทศและภูมิอากาศต่างจากไทยและอินเดียจึงถึงฤดูสารทก่อน

การที่ต้องไหว้ในช่วงเวลานี้ก็เพราะเป็นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ธรรมเนียมศาสนาผีเดิม เมื่อได้ผลผลิตแรกมาก็ต้องเอาเซ่นวักผีบรรพชนและเทพทั้งหลายให้อิ่มหนำ ผมเดาเอาว่า เหตุที่เน้นผีบรรพชนเป็นพิเศษก็เพราะพืชผลมันล้วนงอกเงยมาจาก “ดิน” ทั้งนั้นครับ ก็คนโบราณเห็นว่าใต้ผืนดินนี่แหละคือปรโลก คือที่อาศัยของคนตาย พืชพันธุ์มันงอกเงยมาเป็นอาหารก็ได้ผีบรรพชนนี่แหละช่วยบำรุงหล่อเลี้ยง จึงต้องตอบแทนเขา

ในคติความเชื่อจีนหลังมีศาสนาเต๋า-พุทธแล้ว ชาวศาสนาเต๋าเขาถือว่าวันสารทจีน ได้แก่ วันขึ้นสิบค่ำเดือนเจ็ดเป็นวันเทวสมภพของเทพเจ้า “ตี่ก๊วนไต่เต่” หรือ “ปฐพีเทวาธิราช” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามไตรเทวาธิราช (ฟ้า ดิน น้ำ) ของศาสนาเต๋าแบบชาวบ้าน

ท่านเป็นผู้ปกครองผืนดินและบรรดาพืชพรรณส่ำสัตว์บนดินทั้งหลาย รวมถึงผีในโลกบาดาลหรือปรโลกด้วย

ผมเลยคิด (เอาเอง) ว่า การที่โบราณกำหนดให้วันนี้เป็นวันเทวสมภพของเทวราชแห่งผืนดิน ก็น่าจะเพราะเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่แผ่นดินมอบผลผลิตให้เรานั่นเอง

เมื่อเป็นวันเทวสมภพหรือ “วันเฉลิมฯ” ของพระเทวราชแล้ว ย่อมต้องมีพระราชประเพณีอย่างที่พระราชาของมนุษย์กระทำ คือการพระราชทานอภัยโทษและปล่อยผู้ถูกจองจำคุมขัง หากแต่เป็นการอภัยโทษภูตผีทั้งหลาย

ดังนั้น คนจีนจึงเชื่อว่าเดือนเจ็ดมีผีจำนวนมากได้มายังโลกมนุษย์ของเรา มีทั้งดีทั้งเลว จึงเกรงกลัวเภทภัยจากผีจำเพาะเดือนนี้เป็นพิเศษ ดังที่มักมีผู้พูดถึงข้อห้ามต่างๆ มากมาย เช่น อย่าออกไปไหนกลางคืน อย่านั่งรถเที่ยวดึก ฯลฯ

แต่ผมคิดว่าเราอย่าไปถือจริงจังมากเกินไปเสียจนไม่กล้าจะทำอะไรเลย เพราะหากมีเมตตาจิตแล้วย่อมคุ้มภัยจากผีปีศาจได้แน่

 

ส่วนทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจีน ก็ถือว่าวันสิบห้าค่ำเดือนเจ็ดเป็นวันออกพรรษาซึ่งไวกว่าทางบ้านเราเช่นกัน พระภิกษุได้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสแล้ว จึงมีความเชื่อว่าหากได้ถวายทานในวันนี้ย่อมจะมีผลานิสงส์เป็นพิเศษ ถึงกับอุทิศกุศลแก่บรรพชนแลบิดามารดาย้อนไปได้เจ็ดชาติภพ

พระสูตรฝ่ายมหายานที่เล่าถึงเรื่องนี้คือ “อุลลัมพนสูตร” กล่าวถึงมารดาของพระโมคคัลลานะ ตายแล้วนางไปบังเกิดเป็นเปรตเพราะอกุศลที่ทำไว้

ครั้นพระโมคคัลลานะไปโปรดก็มิอาจช่วยมารดาได้ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงพระสูตรนี้แล้วให้จัดถวายสังฆทานอุทิศแก่สงฆ์ มารดาของพระโมคคัลลานะจึงจะพ้นจากทุกข์นั้นได้

ผมฟังเรื่องนี้แล้วนึกถึงคาถาอาคมของบ้านเราบทหนึ่ง คือคาถา “พระโมคคัลลาน์ดับไฟนรก” ใช้เสกเป่าผู้ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก คงเป็นเค้ารอยมหายานแปลงอันหนึ่งในทางไสยเวทไทยๆ

 

“อุลลัมพนะ” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าห้อยหรือแขวน เข้าใจว่าคงเป็นคำจากคติความเชื่อเรื่องนรกขุมปุตตะของพราหมณ์ คือมีนรกขุมหนึ่งที่หากไม่มีบุตร (ปุตรแปลว่าผู้ช่วยให้พ้นขุมปุตตะ) ทำพิธีศราทธอุทิศกุศลให้ วิญญาณนั้นจะต้องห้อยหัวลงจากต้นไว้จนตกลงไปในหลุมไฟอย่างน่ากลัว

ชาวจีนรับเอาคำนี้ไปใช้ บางทีจึงเรียกเทศกาลช่วงเดือนเจ็ดว่าเทศกาลอุลลัมพนะ มีการจัดงานมหาสันนิบาตอุลลัมพนะ (อูหลันเซ่งโห่ย) ทำกุศลอุทิศแก่วิญญาณ เช่น พิธีเปรตพลีและโยคะตันตระตามแบบมนตรยานตะวันออก หรือบางที่เพียงเซ่นไหว้และแจกทานทิ้งกระจาดตามศาลเจ้าและชุมชนต่างๆ

คนจีนฮกเกี้ยนทางภูเก็ตนิยมเรียกเทศกาลนี้ว่า “พ้อต่อ” แปลว่าฉุดช่วย และมีการไหว้เทพเจ้า “พ้อต่อก๊อง” ที่มาจากคติพุทธ ปรากฏในพระสูตร “โยคะตันตระอัคนีชวาลมุขเปรตพลีโยคกรรม” เชื่อกันว่าพระอวโลกิเตศวร (กวนอิม) ได้นิรมาณกายมาโปรดเปรตและวิญญาณทั้งหลายในรูป “อัคนีชวาลมุขเปรต” หรือพ้อต่อก๊องตามที่นิยมเรียกกันแบบชาวบ้าน

พิธีพ้อต่อทางใต้เน้นการเซ่นไหว้พ้อต่อก๊องกับดวงวิญญาณเป็นหลัก หมุนเวียนไปตามชุมชนต่างๆ อาจมีคติแบบพุทธเจือจางกว่าทางภาคกลางที่ปฏิบัติกันตามวัดจีนและโรงเจต่างๆ อยู่บ้าง แต่ก็เป็นเทศกาลสำคัญอันหนึ่งของชาวบ้าน

นอกจากพิธีในสถานชุมนุมชนเหล่านี้ ในบ้านเรือนก็มีพิธีเซ่นไหว้เช่นเดียวกับเทศกาลอื่นๆ ทั้งไหว้เทพเจ้าและบรรพชน

แต่บางครอบครัวจะให้ความสำคัญกับการไหว้โฮ่เฮียตี๋ (แต้จิ๋วว่า ฮ่อเฮียตี๋) ในเทศกาลเป็นพิเศษ ซึ่งจะจัดของเซ่นไหว้ในช่วงบ่ายหลังไหว้บรรพชนไปแล้ว

 

โฮ่เฮียตี๋แปลว่า “พี่น้องที่ดี” เป็นคำเรียกญาติมิตร ปัจจุบันผู้คนมักใช้หมายถึง ผีไร้ญาติหรือผีไม่มีญาติ ซึ่งน่าจะเลือนจากความหมายเดิม

อันที่จริงตามที่ผมเรียนมาจากอาจารย์ (หากผิดแผกจากสิ่งที่ท่านรู้มาก็ขออภัยไว้ด้วยครับ) โฮ่เฮียตี๋ มิได้หมายถึงผีเร่ร่อนไร้ญาติที่เราไม่รู้จักเลย แต่มีความหมายพิเศษโดยเฉพาะ ซึ่งยังถือกันในกลุ่มคนฮกเกี้ยนที่พอรู้คติเดิม หมายถึงญาติพี่น้องห่างๆ หรือคนรู้จักมักคุ้นของเรา

ทว่า ท่านเหล่านี้อาจประสบชะตากรรมสิ้นชีพไปนานแล้วและไร้ผู้สืบสกุลที่จะมาเซ่นไหว้ให้ เราจึงได้ระลึกด้วยความคำนึงถึงเรื่องหนหลังและได้จัดเซ่นไหว้ให้แทน

ที่โฮ่เฮียตี๋กลายเป็นผีเร่ร่อนที่เราไม่รู้จักเลย ก็เพราะเราเป็นคนรุ่นหลังอพยพแล้วไงครับ ในคราที่บรรพชนของเราอพยพมาจากแผ่นดินใหญ่นั้น ท่านก็มีเพื่อนมีญาติลงเรือด้วยความยากลำบากมาด้วยกัน บางคนตายเสียระหว่างทาง บางคนก็มาอดยากยากจนตายเสียในแผ่นดินใหม่ บางคนก็หายลับไปไม่ทราบข่าว

ท่านผู้ใหญ่ในบ้านของเราที่ยังจดจำคนเหล่านั้นได้ จึงเซ่นไหว้ให้แทนญาติพี่น้องเขาด้วยความเมตตา

แต่จะไหว้ในบ้านก็มิได้เพราะมีบรรพชนเป็นผีในเรือนอยู่แล้วและมีเทพเจ้าต่างๆ ปกปักมิให้ผีนอกเข้าไป จึงต้องไหว้นอกเรือนนั่นเอง

คนฮกเกี้ยนจะไหว้โฮ่เฮียตี๋ที่ลานหลังบ้านซึ่งมักเชื่อมต่อกัน มิใช่หน้าบ้านหรือถนน เพราะเป็นพื้นที่ของคนคุ้นเคยไม่ใช่ใครที่ไหนก็ได้จะเข้ามาก็ได้ และจัดสำรับวางไว้บนโต๊ะมิใช่บนพื้น สองสิ่งนี้เป็นเครื่องแสดงความหมายของโฮ๋เฮียตี๋ซึ่งเราเคารพให้เกียรติ ส่วนการไหว้วางของบนพื้นตามถนนก็มีอยู่เช่นกัน แต่เรียกว่าไหว้ “โก้ยหลอสีน” หรือ “จรเทพ” (เป็นคำให้เกียรติ) ซึ่งหมายถึงวิญญาณมีฤทธิ์กึ่งผีกึ่งเทพคล้ายๆ พวกเปรตบางชนิดทางพุทธ จรไปไม่อยู่เป็นที่

พวกนี้ตอนมีชีวิตอยู่ทำดีและชั่วปนๆ กันไป แต่พอไม่เชื่อเรื่องปรโลกหรือเรื่องบาปบุญ จึงต้องท่องไปในโลกนี้ เร่ร่อนไม่มีหลักแหล่ง จะไปโลกหน้าก็ไม่ได้ เพราะบุญบาปไม่พอส่งให้แถมตัวก็ไม่เชื่ออีก ญาติพี่น้องก็มักเป็นพวกไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ไปด้วย จึงไม่ทำทั้งอุทิศกุศลหรือเซ่นไหว้ให้

ดังนั้น จะไปรับการเซ่นไหว้หรือกุศลก็ไม่มีที่ไป แต่เพราะอยู่มานานจึงมีฤทธิ์บ้าง และด้วยความเมตตาสงสาร ผู้คนจึงได้จัดสำรับใส่ถาดพอประมาณ มีข้าวน้ำกระดาษเงินทองวางไว้ตามพื้นหัวมุมถนนหรือหน้าบ้าน ให้พวกเขาได้พอกินดื่มแก้กระหาย

 

หากเรื่องนี้อาจต่างจากสิ่งที่ท่านเชื่อหรือยึดถือก็มิใช่เรื่องที่ต้องกังวลครับ เพราะผมเองเรียนรู้มาแบบนี้ ก็บอกเล่าไปตามนั้นมิได้ปิดบัง ท่านใดมีความเชื่อและปฏิบัติกันมาอย่างไรในครอบครัวก็ทำตามนั้นต่อไปเถิด

พิธีกรรมเหล่านี้เดิมเกิดจากความเมตตาและเอื้อเฟื้อที่มีมนุษย์ต่อกันเป็นอย่างแรก

ต่อมาความหมายเลือนกลายเหลือในเชิงรูปแบบหรือเกิดความหมายใหม่ที่สำคัญกว่าขึ้นมาแทน เช่น เชื่อกันว่าถ้าใครไหว้โฮ่เฮียตี๋ พวกนี้ก็จะตอบแทนด้วยความร่ำรวยหรือมีลาภลอย เป็นต้น

บุญกิริยาและพิธีกรรมทั้งหลายในเดือนเจ็ด ไม่ว่าเซ่นไหว้ ทิ้งกระจาด แจกทาน โยคะเปรตพลี สวดมนต์ ฯลฯ ล้วนมีเป้าหมายใจความหลักเพื่อเมตตาจิตไม่มีประมาณนี้ทั้งสิ้น ผมคิดว่าหากเราได้ระลึกถึงมิตินี้บ้าง

เดือนเจ็ดและสารทจีนก็จะกลายเป็นเทศกาลแห่งเมตตาธรรม

ตามมโนคติแห่งมหายาน •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง