ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ศัลยา ประชาชาติ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ
โจทย์หินเศรษฐกิจไทย
โจทย์ใหญ่ ‘แพทองธาร’
สารพัดปัญหารอการแก้ไข
การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เมื่อมองไปข้างหน้า ดูเหมือนจะเจอโจทย์ที่ท้าทาย จากภาวะเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง
ทั้งจากปัจจัยภายนอก จากเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัว สงครามการค้า และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงปัญหาภายในประเทศ ที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีปัญหา รอการ “ปรับรื้อ” อย่างจริงจัง
ล่าสุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย ไตรมาส 2 ปี 2567 ออกมา ขยายตัวได้ 2.3% ขณะที่ทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.3-2.8% (ค่ากลาง 2.5%)
ซึ่งแม้ภาพรวมจะดูฟื้นตัว แต่ไส้ในพบว่ามีปัจจัยที่น่ากังวล คือ การลงทุนรวมที่หดตัว -6.2% ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง -6.8% เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส และการลงทุนภาครัฐที่หดตัว 4.3%
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า การลงทุนที่หดตัวในไตรมาสที่ 2 เกิดจากการชะลอตัวของการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ นอกจากเครื่องมือเครื่องจักรที่มีการลงทุนไปในไตรมาสก่อนหน้าแล้ว ยังมาจากทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ภาคการผลิตได้รับผลกระทบ รวมถึงการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบลดลง
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยในเรื่องของการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน จากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงมาก เนื่องจากขาดสภาพคล่องในการใช้จ่าย รวมทั้งความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ที่มีมากขึ้น
“ด้วยสภาพขณะนี้ ภาครัฐก็ต้องมีบทบาทในการที่จะเร่งการลงทุนอัดเงินเข้าไป จึงต้องเร่งสิ่งที่ทำได้ตอนนี้ ก็คือเร่งเบิกจ่ายงบฯ ก่อสร้างทั้งหลาย ซึ่งช่วงนี้สัญญาโครงการใหม่ต่างๆ ก็ผูกพันสัญญาแล้ว ก็ต้องเร่งเบิกจ่าย ล่าสุด การเบิกจ่ายงบฯ ลงทุน ออกไปได้แล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท ก็น่าจะดีขึ้น รวมถึงจะมีแรงหนุนจากงบประมาณปี 2568 ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมอีก”
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า โจทย์ของรัฐบาล “แพทองธาร” ก็คือ
1. ต้องสร้างความมั่นใจให้กับเศรษฐกิจในระยะสั้น
2. ต้องดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งสำคัญมาก เพราะบุญเก่าของประเทศไทยหายไปแล้ว
และ 3. ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
“ถ้าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งคงต้องกระตุ้นระยะสั้นด้วย เพราะดูทิศทางเศรษฐกิจแล้วเริ่มแผ่วจริง แต่อีกส่วนก็ต้องแก้เรื่องความสามารถในการแข่งขันในภาคการผลิต ซึ่งการมีมาตรการระยะยาว ก็จะดีกว่าการเอาเงินมาแจก การลงทุนอาจจะเห็นผลช้า กว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจต้องใช้เวลา แต่ต้องทำเพื่ออนาคต การดึงดูดการลงทุนต่างประเทศสำคัญ แต่ก็ต้องดูว่าทำไมคนที่เราไปชวนมาลงทุน เขาไปมาเลเซียกันหมด ซึ่งถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ตอนนี้เราโตต่ำสุดในอาเซียน ก็อาจจะเป็นอย่างนี้ไปอีกเป็นสิบปี”
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สิ่งที่ควรทำและมีความจำเป็น คือ ต้องเร่งประคอง และ กระตุ้นการลงทุนมากกว่าการบริโภค เพราะการลงทุนยังคงติดลบต่อเนื่อง โดยภาครัฐควรเร่งดำเนินการ ทั้งมาตรการระยะสั้น คือ
1. มาตรการด้านภาษี ยกเว้นภาษี เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุน
2. มาตรการอุดหนุน อาจจะใช้เม็ดเงินในการช่วยเหลือในผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุน
และ 3. สร้างความเชื่อมั่น
ขณะที่มาตรการระยะยาวก็ต้องดำเนินการ มีอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ภายในประเทศ จะต้องมีการพัฒนาความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) แก้ปัญหาความซ้ำซ้อน และต้องขออนุญาตหลายหน่วยงาน ให้เป็นแห่งเดียว
2. นโยบายของแต่ละอุตสาหกรรมควรจะมีความชัดเจน และมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน
และ 3. การมีนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ส่งเสริมการเชื่อมกับตลาดโลก เพื่อให้ไทยไปอยู่บนซัพพลายเชนของโลก
“ต้องทำทั้งมาตรการระยะสั้น ควบคู่ไปพร้อมกับมาตรการระยะยาวไปด้วยเลย ซึ่งในระยะ 2 ปีข้างหน้า อาจจะช่วยให้ภาคการลงทุนปรับตัวดีขึ้น ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย จะเห็นว่ากรณีของญี่ปุ่นใช้เวลาในการปรับตัวและปฏิรูป 3 ปี เพราะเห็นว่า Landscape โลกเปลี่ยนไป จึงใช้จังหวะนี้ฉวยโอกาสในการปรับเปลี่ยน”
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวนั้น หมวดที่ชะลอตัวรุนแรงจะเป็นหมวด “เครื่องจักร” สะท้อนว่า เอกชนไม่มีการลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้า หรือขยับไลน์การผลิตเพิ่มเติม โดยเน้นใช้สินค้าคงคลังเก่าที่มีอยู่ก่อน
ดังนั้น การแก้ปัญหา คือ
1. จะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน ไม่เฉพาะแค่รายใหญ่ แต่รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากกลุ่มนี้มีความกังวลในเรื่องของตลาดโลกและผลกระทบจากสินค้าจีน ทำให้เกิดความลังเลในการลงทุนเพิ่มเติม
2. การเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาจจะต้องทำเป็นมาตรการในเชิงนโยบายสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว
นอกจากนี้ หมวดการก่อสร้างก็หดตัวต่อเนื่องยาวนาน หากไม่มีมาตรการหรือสร้างแรงจูงใจ จะเห็นการซึมที่ยาวนานและลงลึกมาก ซึ่งจะทำให้ระบบมีปัญหา และกระทบเชื่อมไปยังสายป่านธุรกิจอื่น จนกระทบต่อภาคการเงินได้
“จะต้องมีการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยมาตรการกระตุ้นจะต้องไม่กระทบเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล”
ดร.อมรเทพกล่าวว่า โจทย์คือ รัฐจะต้องเร่งความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยด้วย นอกเหนือจากดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่เป็นระยะยาว โดยต้องมีมาตรการที่เป็น Quick Win ใส่เม็ดเงินในกระเป๋าประชาชน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ ไม่มัวแต่รอโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเดียว
“ถ้าไม่ทำอะไร เศรษฐกิจอาจจะลงลึกกว่านี้ โดยแม้ว่าเศรษฐกิจวันนี้จะขยายตัวดีกว่าคาด โดยไตรมาส 2 ขยายตัวที่ 2.3% แต่ยังคงโตต่ำกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน”
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า อยากให้มีการทบทวนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพราะหลายคนยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำให้เกิดพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจได้ 4-5 รอบ จึงเป็นโอกาสให้รัฐบาลใหม่สามารถที่จะยึดแนวทางผลลัพธ์เดิม แต่อาจจะปรับวิถีทางที่อาจนำไปสู่ผลลัพธ์นั้น
“เช่น หาแนวทางคล้ายๆ กับรัฐบาลที่แล้ว อย่างโครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณไปได้ครึ่งหนึ่ง และนำงบประมาณไปทำอย่างอื่นต่อ ที่ยังสามารถสร้างผลลัพธ์ให้กับเศรษฐกิจได้ดีขึ้นกว่าเดิม”
ทั้งหมดนี้ เป็นเสียงสะท้อนถึงปัญหาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ และรอให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้ปัญหา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022