เมื่อ ‘ผลเลือกตั้ง’ คือคำตอบ

วาระทางการเมืองในเดือนสิงหาคมที่ทุกคนทุกฝ่ายรู้ว่าจะส่งผลสะเทือนรุนแรงต่อความเป็นไปของประเทศ และคาดเดากันไปต่างๆ นานา วันนี้มีคำตอบชัดเจนแล้ว

“พรรคก้าวไกล” ถูกยุบ คณะกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ เป็นไปตามคาด

“นายเศรษฐา ทวีสิน” ถูกตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นไปตามคาด

ทั้ง 2 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ถูกจัดการแบบที่เรียกว่าเดินเกมเร็ว

“พรรคประชาชน” ได้รับการตั้งมารับสมาชิก “พรรคก้าวไกล” แบบที่เรียกว่าทันที พร้อมเลือกผู้บริหารพรรคชุดใหม่ อาจไม่เป็นไปตามคาดที่ได้ “นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” มาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ไม่ได้ส่งผลอะไร ไม่มี “ส.ส.งูเห่า” ประชาชนแห่สมัครสมาชิก และบริจาคเงินให้พรรคล้นหลาม พร้อมๆ กับพรรคแถลงเดินหน้าทำงานในกรอบของอุดมการณ์เดิม มี “ประเทศไทยต้องเปลี่ยน” และ “ความเหลื่อมล้ำ” จะต้องถูกจัดการเป็นเป้าหมาย

เช่นเดียวกับ “พรรคเพื่อไทย” แม้การที่ “นายเศรษฐา” หลุดจากเก้าอี้ไม่อยู่ในความคิด แต่เมื่อเกิดขึ้น การจัดการให้มี “นายกรัฐมนตรี” คนใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายอะไรที่ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร-อุ๊งอิ๊ง” จะขึ้นมาทำหน้าที่ “ผู้นำประเทศ” แทน

เพราะว่าไปเธอคือ “ตัวจริงเสียงจริง” ที่ไม่เพียงสมาชิกพรรคเพื่อไทยต่างรู้ และต้องการ ผู้ที่ติดตามการเมืองใกล้ชิดย่อมเห็นเช่นนั้นด้วย เพียงแต่อาจจะมีบางคนที่ไม่คิดว่าจะมาเร็วเช่นนี้

แต่นั่นแหละ ไม่ว่าจะอยู่ในการคาดการณ์ หรือเหนือการคาดเดาทุกอย่างเป็นไปเช่นนั้นแล้ว

ภารกิจของ “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคประชาชน” แม้ที่สุดแล้วเหมือนกันคือ “สร้างคะแนนนิยม เพื่อผลการเลือกตั้งครั้งหน้า” แต่ระหว่างทางนั้นแตกต่างกัน

 

“นิด้าโพล” ล่าสุดสำรวจเรื่อง “ความเป็นไปได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า”

ในคำถาม “ความเป็นไปได้ที่จะมีพรรคการเมืองซึ่งได้รับชัยชนะแบบ Landslide จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้” ร้อยละ 27.40 ระบุว่า เป็นไปได้มาก, รองลงมา ร้อยละ 27.25 ระบุว่า ค่อนข้างไปได้, ร้อยละ 22.52 ระบุว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้, ร้อยละ 21.15 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย และร้อยละ 1.68 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามถึง “ความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองซึ่งได้รับชัยชนะเป็นอันดับที่หนึ่ง แต่ไม่ใช่การชนะแบบ Landslide อาจจะต้องไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน” ร้อยละ 38.17 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้, รองลงมา ร้อยละ 29.77 ระบุว่า เป็นไปได้มาก, ร้อยละ 18.78 ระบุว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้, ร้อยละ 12.21 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย และร้อยละ 1.07 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามถึง “ความเป็นไปได้ที่จะมีพรรคการเมืองจับมือเป็นพันธมิตรกันและหลีกทางให้กันในบางเขตเลือกตั้ง” ร้อยละ 34.81 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้, ร้อยละ 27.02 ระบุว่า เป็นไปได้มาก, ร้อยละ 18.24 ระบุว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้, ร้อยละ 18.17 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย และร้อยละ 1.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ภาพรวมของความเชื่อเช่นนี้ ย่อมตีความได้ว่าคนส่วนใหญ่เห็นไปในทางที่ว่าหากจะให้การจัดตั้งรัฐบาลมีพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมามากที่สุดเป็นแกนนำจัดตั้ง พรรคนั้นจะต้องได้รับเลือกมาด้วยจำนวน ส.ส.เกินครึ่งสภาเท่านั้น และต้องเป็นการตัดสินใจกาคะแนนที่เด็ดขาด ไม่ปล่อยให้การวางเกมเพื่อ “ฮั้วกัน” ของพรรคการเมืองบางพรรคประสบความสำเร็จ

การวางเกมเพื่อกำหนดผลการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นไปอย่างแหลมคมอย่างยิ่ง

 

ภารกิจของ “พรรคเพื่อไทย” คือสร้างผลงานเพื่อเรียกศรัทธาประชาชนคืน หลังจากถูกเกมบังคับให้ทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้สนับสนุนยากขึ้น แต่เป็นพรรคปลดล็อกการถูกปฏิเสธอำนาจสถาปนาที่มีพลังในการกำหนดความเป็นไปได้มากกว่าอำนาจประชาชน เพียงแต่ฐานะพลังของ “พรรคเพื่อไทย” จำเป็นต้องมาจากการสนับสนุนของประชาชน

หาก “การสร้างผลงาน” ไม่ประสบความสำเร็จ จะเสียหายต่อราคาต่อรองกับ “อำนาจสถาปนา”

ขณะที่ “พรรคประชาชน” การจัดการเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจาก “อำนาจประชาชน” ดูจะไม่ใช่เรื่องยาก หากแต่ “การได้อำนาจจากประชาชนกับการได้อำนาจรัฐ” ดูจะแยกจากกัน เพราะ “อำนาจสถาปนา” มีบทบาทในการกำหนดมากกว่า

เมื่อหนทางเดียวของ “พรรคประชาชน” ถือผลการเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” เกินครึ่ง ซึ่งใช่ว่าโอกาสจะเกิดขึ้นได้ง่าย ท่ามกลางการบริหารจัดการเลือกตั้ง และการอนุญาตให้ชนะยังมีกลไกที่ซับซ้อน และปฏิบัติการที่ซ่อนเงื่อนอีกมาก

ด้วยความเป็นไปเช่นนี้เองที่ทำให้นับจากนี้การเมืองจะต้องมีการวางเกมที่แหลมคมอย่างยิ่ง

แม้เป้าหมายคือผลการเลือกตั้ง จะช่วงชิงกันในอีก 3 ปีข้างหน้าก็ตาม