ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
เพิ่งเขียนเรื่องเพื่อไทยหมดเวลากินบุญเก่าและต้องปรับกลยุทธ์การสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจจุดยืนทางอุดมการณ์ทางการเมืองให้ชัดเจน
เพราะลำพังแบรนดิ้ง “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” นั้นไม่เพียงพอแล้วในบริบทของการเมืองที่ไม่ได้มีแค่สองขั้ว คือขั้วที่เป็นฝ่ายสืบทอดอำนาจของการรัฐประหาร กับพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เพราะหลังการเลือกตั้งปี 2566 เมื่อ 3 ป. ไม่อยู่ในสมการการเมืองหลังการเลือกตั้งอีกต่อไป
ทุกพรรคการเมืองที่เหลืออยู่ล้วนแต่เป็นพรรคที่ต้องอยู่ในครรลองของประชาธิปไตยไปโดยปริยาย แต่เป็นประชาธิปไตยที่แตกต่างกันไปในหลายเฉด เช่น พรรคประชาชนอยู่ในเฉดสังคมนิยม พรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาเป็นพรรคท้องถิ่นนิยม อนุรักษนิยม
พรรคเพื่อไทยจะเป็นประชาธิปไตยทุนนิยมเสรีนิยมก็ต้องรีบแสดงจุดยืนนี้ให้เด่นชัด
มากกว่าพูดเรื่องนโยบายหรือมาตรการปลีกย่อยอันไม่สามารถเชื่อมโยงถึงตัวอุดมการณ์ที่เป็นภาพใหญ่ได้
เช่น นโยบายเกษตร และทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเรื่องดิน น้ำ คุณภาพอากาศ สัมพันธ์กันในภาพกว้างอย่างไร
มีมิติทางการเมืองประชาธิปไตยอยู่ในนั้นอย่างไร
หรือแม้แต่นโยบายเรื่องการศึกษาที่เป็นวิสัยทัศน์ของพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไร แม้จะไม่ได้คุมกระทรวงศึกษาฯ ก็ต้องแสดงภาพวิสัยทัศน์นั้นออกมาให้ชัดเจนว่าสัมพันธ์กับแกนหลักที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคในภาพใหญ่อย่างไร
ยังไม่ทันที่จะติดตามการยกระดับงานสื่อสารของพรรคเพื่อไทย สิ่งที่ไม่คาดคิด (แต่ไม่เหนือความคาดหมาย) ก็เกิดขึ้น นั่นคือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากตำแหน่ง เหตุเพราะการแต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ
อีกครั้งที่ตุลาการภิวัฒน์ทำงานและเป็นประจักษ์พยานว่าเหนืออำนาจของประชาชนยังมีอำนาจของ “คนดี” คอยกำกับดูแล “จริยธรรม” ของนักการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชน
สิ่งที่เหนือความคาดหมายมากกว่านั้นคือ ครั้งนี้ไม่เกิดความระส่ำระสายใดๆ ในฝ่ายของนิติบัญญัติ และฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล
ในเมื่อพรรคเพื่อไทยที่เป็นนำรัฐบาลมีชื่อแคนดิเดตของพรรคเหลืออีกสองคน-จำได้ไหมว่า ตอนที่พรรคเพื่อไทยส่งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ สามคน พรรคถูกปรามาสว่าเป็นนายกฯ กล่องสุ่ม และด้อมของพรรคก้าวไกลนี่แหละที่สร้างวาทกรรมว่า พรรคเพื่อไทยหมกเม็ด ลักไก่ ไม่ชัดเจน ไม่ยอมบอกประชาชนตรงๆ ว่าใครจะเป็นนายกฯ กันแน่
มิไยที่พรรคเพื่อไทยจะบอกว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายเปิดให้ส่งได้สามชื่อก็จะส่งสามชื่อ ภายใต้บริบทและกติกาทางการเมืองแบบนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ นายกฯ ทำอาหารออกโทรทัศน์ยังปลิวจากตำแหน่งมาแล้ว
ดังนั้น เพื่อไม่เป็นการประมาท พรรคจะส่งทั้งสามชื่อ และทั้งสามคนนี้เป็นนายกฯ ได้เท่าๆ กัน
จากอุบัติเหตุทางการเมืองหรือภาวะประสบภัยจากตุลากภิวัฒน์ก็พิสูจน์ว่า ที่พรรคเพื่อไทยพูดเรื่อง “กว่าจะนิ่งที่กลิ้งมาก่อน” นั้นไม่เกินจริง
จะบอกว่าการเมืองไทย ณ วันนี้ฝ่ายการเมืองมี resilience หรือในภาษาไทยเรียกว่ามีทักษะในการรับมือกับอุบัติเหตุทางการเมืองได้ดีขึ้น เช่น พรรคก้าวไกลเมื่อถูกยุบ ก็มีแกนนำ “แผงสาม” ที่ผ่านการเตรียมความพร้อม ถูกวางตัวไว้แล้วว่าจะต้องขึ้นมานำพรรคในวันที่พรรคถูกยุบและแกนนำถูกตัดสิทธิ
ส่วนทางรัฐบาลเมื่อคุณเศรษฐาต้องพ้นจากตำแหน่ง พรรคร่วมรัฐบาลก็ตั้งหลักได้โดยเร็ว มีฉันทามติโดยเร็วว่า นายกฯ คนต่อไปเป็นชัยเกษม นิติสิริ หรือ แพทองธาร ชินวัตร ตามหลักการที่ควรจะเป็น และวรรคทองในสถานการณ์นี้สำหรับฉันคือคำพูดของอนุทิน ชาญวีรกูล ที่บอกว่า “ครั้งนี้ผมไม่แข่ง ผมจะแข่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า”
นี่คือการเดินตามหลักการที่ควรจะเป็น นั่นคือ ประชาธิปไตยจะไปต่อได้ก็ต่อเมื่อเราไม่ยึดที่ตัวบุคคล แต่ยึดตามกระบวนการตามหลักการ และทุกพรรคการเมืองคือคู่แข่งในฤดูกาลเลือกตั้ง ถึงเวลาของการเลือกตั้งก็ต้องแข่งกันให้ถึงที่สุดเพื่อเอาชนะใจประชาชน
ถ้าฉันไม่ไร้เดียงสาจนเกินไป นี่คือวุฒิภาวะที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทย
นักการเมืองและพรรคการเมืองทั้งหลายพึงได้บทเรียนจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เมื่อออกจากครรลองแล้วมันจะเหลือที่ยืนและมีอำนาจต่อรองน้อยลงเรื่อยๆ จากพรรคขนาดใหญ่และทรงอิทธิพลมากๆ มาสู่การเป็นพรรคที่ปราศจากแรงดึงดูดใดๆ ในวันนี้
ในส่วนของพรรคเพื่อไทย เมื่อมีการหารือกันในพรรค ส.ส.ส่วนใหญ่ลงความเห็นให้หัวหน้าพรรคคือแพทองธารเป็นแคนดิเดต และพรรคร่วมรัฐบาลก็เคารพในมติของพรรคเพื่อไทย
ดังนั้น ภายในวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม ประเทศไทยก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น
ปัญหาอำนาจตุลาการภิวัฒน์ในการเมืองไทยยังต้องแก้ไข สะสางกันต่อ
แต่สิ่งที่เป็นเรื่องที่น่ายินดีคือการที่ฝ่าย “การเมือง” ประคองสถานการณ์โดยเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศต้องไม่มีสุญญากาศทางการเมือง ดังนั้น จึงต้องมีนายกฯ คนใหม่โดยเร็ว
มากไปกว่านั้น ไม่มีพรรคร่วมพรรคไหนที่ตีรวน “แย่งชิง” อำนาจ ตำแหน่ง ฉวยโอกาส ทุกคนทำตาม “มารยาท” ทางการเมืองที่ควรจะเป็น
ฝ่ายกองทัพก็มีมารยาท ไม่ออกมาพูดหรือแสดงความคิดเห็นก้าวก่ายทางการเมือง แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อตัดสินแล้วก็ไม่เข้ามาแทรกแซงใดๆ ส.ว.ก็อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง
พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนก็ทำหน้าที่ได้ถูกต้องตามมารยาท ไม่ได้พยายามขัดขวางกระบวนการโหวตนายกฯ ไม่ไปก่อม็อบสร้างความวุนวายอะไรแบบสมัย กปปส. ผิดหน่วยเลือกตั้ง
อาจจะยังมีแขวะนิดๆ หน่อยๆ เรื่องรัฐบาลข้ามขั้ว แต่คำนี้ก็กลายเป็นคำเฉพาะตัวของฝ่ายค้านที่ไม่มีใครถือเอามาเป็น “ความ” ใดๆ อีกแล้ว เพราะชัดเจนว่าเป็นเพียงวาทกรรมโจมตีทางการเมือง เพราะในทางหลักการประชาธิปไตย หลังจากการเลือกตั้งจบไปเกินหนึ่งปี คำว่า “ขั้ว” ประชาธิปไตย vs เผด็จการ มันไม่มีแล้ว ถ้ามันจะมีก็ต่อเมื่อมีรัฐประหารอีกครั้ง แล้วถึงวันนั้นเรามาดูว่าจะมีพรรคไหนไปสมยอมกับการรัฐประหารบ้าง
สำหรับฉัน สิ่งนี้คือประจักษ์พยานว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยเข้มแข็งขึ้น
เวลาที่เราจะดูว่าประชาธิปไตยเรามีพัฒนาการหรือไม่ เราจะได้คะแนนเต็มร้อยหากรัฐบาลคุณเศรษฐาอยู่ครบ 4 ปี หรือถ้าไม่ครบ ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ในปีที่สองหรือสาม หรือสี่ โดยไม่ถูกยุบ ถูกตัดสิทธิ การเลือกตั้งใหม่ราบรื่น มีรัฐบาลใหม่ตามกลไกสภา
หากสิ่งนี้เกิดขึ้นถือว่าได้ร้อยเต็มร้อย
แต่การที่มีพรรคถูกยุบ ทว่า ฟื้นตัวได้เร็ว มีนายกฯ ถูกถอดถอน ทว่า ไม่มีสุญญากาศทางการเมือง ไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง ไม่มีใครแหกมารยาททางการเมือง
คนเชียร์รัฐบาลแม้เสียใจเรื่องเศรษฐา แต่ก็ทำใจได้อย่างรวดเร็ว ถ้าคะแนนประชาธิปไตยเต็มร้อย ฉันถือว่าเราเก็บแต้มไป 70 คะแนน
อยากให้คนไทยเห็นว่าการทำงานทางความคิดเรื่องประชาธิปไตยในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมาไม่สูญเปล่าแม้แต่นิดเดียว
ยี่สิบปีที่แล้วคนไทยเชียร์รัฐประหาร
สิบปีที่แล้วคนไทยไม่เข้าใจว่าการยุบพรรคการเมืองถือเป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตย
ห้าปีที่แล้วคนไทยจำนวนมากไม่เก็ตว่าตุลาการภิวัฒน์ทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ ละเมิดอำนาจโดยชอบธรรมของประชาชน
แต่วันนี้คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจสามเรื่องนี้เป็นอย่างดี
อาจจะมีเห็นต่างกันในประเด็นที่คนไทยกลุ่มหนึ่งต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป
คนไทยบางกลุ่มต้องการการเปลี่ยนแปลงที่แหลมคม รวดเร็ว
แต่ในภาพรวม ฉันยืนยันว่า สังคมไทยมีความก้าวหน้าทางความคิดการเมืองขึ้นมากอย่างก้าวกระโดด
หากเราไม่มีพัฒนาการทางการเมืองแบบนี้ ฉันเชื่อว่าการได้นายกฯ คนใหม่อย่างราบรื่นภายในสี่วันจะไม่เกิดขึ้น
สําหรับนักวิชาการหรือปัญญาชนสาธารณะไทยที่ติดกับดักคอนเส็ปต์ political dynasty หรือการสืบทอดอำนาจของโคตรวงศ์ทางการเมือง โดยมองว่า ตระกูลชินวัตรน่ากลัวเหลือเกิน ดูสิ จากทักษิณ ชินวัตร สู่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สู่แพทองธาร ชินวัตร ฉันก็อยากจะย้อนตรรกะให้ดูง่ายๆ ว่า ถ้าไม่มีรัฐประหารปี 2549 ก็จะไม่มีนายกฯ ชื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การรัฐประหารปี 2549 นำมาสู่การยุบพรรค การตัดสิทธิทางการเมืองของกลุ่มเอลิสต์ของพรรคเพื่อไทยที่เราเรียกกันว่าบ้านเลขที่ 111 และในบ้านเลขที่ 111 นั้นไม่มีใครนามสกุลชินวัตร แม้แต่คนเดียว
และหากไม่มีการรัฐประหารปี 2549 นายกฯ ในการเลือกตั้งปี 2551 อาจจะเป็นอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจจะเป็นกรณ์ จาติกวณิช อาจจะเป็นจาตุรนต์ ฉายแสง หรืออาจจะเป็นภูมิธรรม เวชยชัย หรืออาจจะเป็นเนวิน ชิดชอบ เป็นนิกร จำนง
หรืออาจจะเป็นใครต่อใครได้อีกหลายในเวลานั้น หากเราปล่อยให้การเมืองประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งเป็นไปตามครรลอง
แต่การรัฐประหารต่างหากที่ทำให้เกิดการยุบพรรค เกิดการตัดสิทธินักการเมืองดาวรุ่งเป็นร้อยคน
เมื่อนักการเมืองดาวรุ่งนับร้อยถูกตัดสิทธิ “ตัวเล่น” ทางการเมืองท่ามกลางวิกฤตก็แทบไม่เหลือ ต้องไปเข็นคนแบบสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องไปเข็นคน “นอกพรรค” อย่างสมัคร สุนทรเวช มาเล่น
ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะกลไกการเมืองปกติมันถูกบิดเบือน และพรรคไทยรักไทยก็ถูกบีบให้ไม่เหลือตัวเล่นนอกจากคนใน “ครอบครัว” เพราะยามหน้าสิ่วหน้าขวาน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ
หนึ่ง ความไว้วางใจสูงสุด และฉันถามตรงๆ ว่า ในยามที่ทุกหอกดาบพุ่งมาหา ณ ยามที่ไม่รู้ใครเป็นมิตรเป็นศัตรู หากจะต้องส่งใครสักคนไปในสนามการเมือง เราจะส่งใครได้นอกจากคนในครอบครัว และในที่สุด ไม่เหลือตัวเล่นจนต้องส่งน้องสาวคนสุดท้องที่ชีวิตนี้ไม่คิดว่าจะต้องมาลงการเมืองก็ต้องลง เพราะมันไม่เหลือใคร
ถามกลับไปว่าทำไม ไม่เหลือใคร ก็เพราะการรัฐประหารไง ก็เพราะการยุบพรรคไง และก็เพราะนักการเมืองแถวหน้าถูกตัดสิทธิไปหมดแล้วไง
สอง ในวิกฤตการเมืองที่โดนยุบพรรค ตัดสิทธิ เสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางกันเป็นว่าเล่น ใครจะกล้ามาลงการเมืองในนามพรรคที่เพิ่งถูกรัฐประหาร ไม่ใช่ครั้งเดียว แต่หลายครั้ง แถมยังเจอสงครามวาทกรรมปาขี้ใส่ไม่หยุดหย่อน
เอาข้อหนึ่งกับข้อสองมารวมกันก็จะเข้าใจได้ว่า ทำไม ณ วันหนึ่ง ลูกสาวคนสุดท้องของทักษิณ ชินวัตร ต้องมาเป็นหัวหน้าพรรค และต้องมาเป็นนายกรัฐมนตรี
และหากเศรษฐา ทวีสิน ไม่เจอการ “สอย” กลางอากาศ วันนี้ นายกฯ ก็ไม่ชื่อแพทองธาร ให้เหล่านักวิชาการ ปัญญาชนต้องมาค่อนแคะว่าเป็น political dynasty
ไม่นับการรัฐประหารสองครั้งในรอบยี่สิบปี ตุลาการภิวัฒน์ รัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงของการรัฐประหารนี่แหละที่บิดเบือนกระบวนการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองแทนที่จะเป็น “กงสี” ของกลุ่มตระกูล เพราะมันบีบให้มีตัวเล่นทางการเมืองน้อยลง
เกมการเมืองถูกบีบให้ต้องเลือกคนที่ “ไว้ใจ” ได้สูงสุดพร้อมกันนั้นคนที่ไม่มี “ต้นทุน” ในชีวิตมากพอก็ไม่ต้องการเอาชีวิตมาเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางกับการเมืองที่ผันผวน คาดเดาไม่ได้ และกฎหมายที่ถูกใช้ตามอำเภอใจมากกว่าตามหลักความเป็นธรรม
และหากเราจะซื่อสัตย์กับตัวเอง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ไม่ใช่คนอื่นไกลในวงการเมือง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็คือญาติ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็เป็นหลานของ ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ เลขาฯ คนสนิทของทักษิณ ในพรรคก้าวไกลก็มี โตวิจักษ์ชัยกุล มี มีนชัยนันท์ ซึ่งก็คือลูกของนักการเมือง และวันใดวันหนึ่งอาจจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้
และทำไมการขึ้นสู่อำนาจ หรือการกลายมาเป็นนักการเมืองของคนอื่น ตระกูลอื่นไม่ถือเป็น “รัฐสมบัติ” ไม่ถือเป็น nepotism ไม่ถือเป็น political dynasty
และหากเราจะทำใจร่มๆ คิดให้ดีๆ เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนมาเพื่อให้พรรคการเมืองที่เป็นส่วนต่อขยายของพรรคไทยรักไทยไม่ว่าจะเป็นพลังประชาชน หรือไทยรักไทย หรือแม้แต่ไทยรักษาชาติต้องอ่อนแอสูญพันธุ์ การรัฐประหารทำให้ทักษิณลี้ภัย 17 ปี ทำให้ยิ่งลักษณ์ลี้ภัยยังไม่ได้กลับประเทศ
ดังนั้น การขึ้นมาเป็นนายกฯ ของแพทองธารจึงไม่ใช่การรับมรดกอำนาจ แต่คือการยืนต้านการถูกกระทำครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่สมัยไทยรักไทย ตั้งแต่สมัยของยิ่งลักษณ์และจนมาถึงเพื่อไทยในปัจจุบัน
เราจะเรียกการขึ้นมาเป็นนายกฯ ของแพทองธารว่าเป็นการสืบทอด political dynasty ได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่มีสักหนึ่งวันที่ทักษิณ หรือยิ่งลักษณ์ ยึดอำนาจประชาชน สถาปนาอำนาจของตระกูลตัวเอง สั่งยุบพรรคคนอื่น แล้วถือครองอำนาจรัฐจากรุ่นสู่รุ่น ตรงกันข้าม มีแต่ถูกทำลายล้างจากรุ่นสู่รุ่น
ฉันคิดว่าถ้าเรามองภาพที่ใหญ่กว่าตัวบุคคล เราจะเห็นว่า นักการเมืองและพรรคการเมืองคือข้อต่อระหว่างประชาชนกับรัฐ และมันจะอันตรายมากหากเราเชื่อว่ามีเพียงพรรคการเมืองใดพรรคการหนึ่งวิเศษกว่าคนอื่น เป็นพระผู้ไถ่อยู่พรรคเดียวท่ามกลางโจร
ศัตรูที่แท้จริงของประชาชนไม่ใช่ทักษิณ ไม่ใช่ตระกูลชินวัตร ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย ศัตรูที่แท้จริงของประชาชนคือจิตสำนึกที่ไม่ศรัทธาใน “กระบวนการประชาธิปไตย”
แล้วเมื่อไม่สามารถชนะในเกมการเลือกตั้งแล้วมีแนวโน้มอยากพึ่งพาอำนาจนอกระบบรัฐสภา
และฉันก็จะต้องพูดอีกรอบที่ล้านว่าประชาธิปไตยไม่ได้การันดีรัฐบาลที่เก่ง ไม่ได้การันดีนายกฯ ที่จีเนียส
ประชาธิปไตยคือกระบวนการทำงานของตัวแทนประชาชนในสภา
การทำงานของฝ่ายบริหารที่ไม่การันตีว่าดีงามเลิศเลอ
แต่มันคือกระบวนการเรียนรู้ เติบโต ลองผิดลองถูกไปด้วยกันชั่วฟ้าดินสลาย
ไม่ต้องกลัวหรอกว่าจะได้เด็กฝึกงานเป็นนายกฯ เพราะยังไงก็ดีกว่านายพลเกษียณมาทุบหัวประชาชน ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วครองอำนาจไปโดยละม่อมยาวนานกว่าทศวรรษ โดยมี “สื่อ” ที่อ้างว่าเป็นสื่อน้ำดีคอยเป็นกองเชียร์อย่างปราศจากความละอาย
จะเหน็ดเหนื่อยกับนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งขนาดไหน เขาก็อยู่กับเราแค่สี่ปี
ได้โปรดอนุญาตให้ตัวเองได้เติบโต และอย่าตายไปพร้อมความขลาดเขลาเพียงเพราะความถือดีอย่างผิดๆ เลย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022