ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
1.ที่มาของอำนาจ
การยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการพรรค 10 ปี และถัดมาอีก 7 วัน นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จากเพื่อไทย ก็ถูกปลดจากตำแหน่ง ทำให้ ครม.ถูกยุบทั้งคณะ
คือสิ่งที่บอกว่า ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด เพราะทั้งสองพรรคมีประชาชนเลือกถึง 25 ล้านเสียง มี ส.ส.เกือบ 300 คน ยุทธวิธีนี้ถูกใช้ต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปีแล้ว
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โครงสร้างอำนาจ ค่อยๆ เปลี่ยนจากหลายร้อยปีก่อน แต่ดูแล้วก็ยังไม่เปลี่ยนมากเท่าไร แม้จะผ่านมาเกือบร้อยปี
เพราะที่มาของอำนาจในประเทศนี้มาจากหลายทาง ซึ่งในแต่ละยุคสมัยก็มีสัดส่วนองค์ประกอบที่แตกต่างกัน
1. อำนาจจากการใช้กำลัง เช่น อาวุธ ทหาร
2. อำนาจที่มาจากความนับถือ ความเชื่อ ตามจารีตประเพณีวัฒนธรรม เช่น ความนับถือในสถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์
3. อำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น เงินทอง ที่ดิน การควบคุมการค้า การผลิต สัมปทาน
4. อำนาจที่ผ่านตัวบทกฎหมาย และระบบยุติธรรม ซึ่งจะใช้ผ่านรัฐบาล ระบบราชการ ผ่านฝ่ายตุลาการ ผ่านองค์กรอิสระ
5. อำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชน ปัจจุบันยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งของอำนาจ ดังนั้น ผู้ที่ชนะเลือกตั้งก็อาจจะยังไร้อำนาจ ถ้าไม่มีองค์ประกอบอื่นหนุนหลัง
6. อำนาจที่ทันสมัยที่สุดในยุคนี้คืออำนาจจากความรู้และข้อมูล โดยการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล การวิเคราะห์ หาสาเหตุ ผลกระทบ และการแสดงความคิดเห็นของคนในสังคมที่สามารถแสดงผ่านระบบสื่อสารยุคใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
แม้ไม่มีฐานันดรพิเศษในสังคม แต่ปริมาณและความเร็วกลายเป็นพลังที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบัน
ฐานทางอำนาจจาก 6 ส่วน มีมาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน มีความแตกต่างและองค์ประกอบของแต่ละยุค เช่น ในสมัยโบราณอำนาจจากทหาร ความเชื่อถือในสถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบสำคัญ
เมื่อมีอำนาจ ผู้ปกครองก็จะกำหนดเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เช่น จัดระบบถือครองที่ดินแบบศักดินา ให้คนที่มียศถาบรรดาศักดิ์ได้ถือครองที่ดินจำนวนมาก ชาวบ้านถือครองที่ดินได้เพียงเล็กน้อย จัดระบบการเก็บภาษีที่จะต้องส่งให้กับผู้ปกครอง มีการเกณฑ์แรงงาน และระบุว่าทั้งหลายนั้นคือ กฎหมายและความยุติธรรม ซึ่งทุกคนต้องทำตาม เรื่องแบบนี้มีทั้งในยุโรป ในเอเชียและประเทศไทย มานานหลายร้อยปีแล้ว
ส่วนอำนาจตามตัวบทกฎหมายที่ผ่านตัวแทนประชาชนจากการเลือกตั้งก็ถูกกำหนดตามขึ้นมา และเพิ่งมามีบทบาทใน 100 ปีหลังนี้
2.ยุทธศาสตร์กลุ่มอำนาจเก่าหลัง 2549 ยังคงเดิม
หลังการรัฐประหาร 2549 เมื่อมีการเลือกตั้ง กลุ่มอำนาจเก่าก็พ่ายแพ้มาตลอด แต่พวกเขากลับเป็นผู้มีอำนาจจริง เพราะยุทธศาสตร์ที่วางไว้ทำได้สำเร็จ
ถ้าจะวิเคราะห์แผนของกลุ่มอำนาจเก่าจะพบว่าพวกเขาไม่ได้ใช้แนวทางรัฐสภามาต่อสู้ แต่ใช้ 3 แผน
1. ใช้อำนาจตุลาการมาแก้ปัญหาการเมือง โดยใช้อำนาจองค์กรอิสระและศาล กฎหมายที่ตัวเองร่าง ตัดสินเอง
2. ยึดกุมอำนาจทางทหารไว้ตลอด ถ้าแก้ปัญหาไม่สำเร็จ ก็ใช้กำลังอาวุธมารัฐประหาร
3. แบ่งแยกประชาชน ให้มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน เพื่อทำให้กำลังฝ่ายประชาชนอ่อนแอลง
ยุทธศาสตร์นี้ใช้ต่อเนื่อง ถึงการเลือกตั้งปี 2566 กลุ่มอำนาจเก่าก็ยังแพ้ยับเยิน ครั้งนี้มวลชนที่ชนะการเลือกตั้งทั้งใน กทม.และใกล้เคียงมีแต่แดงกับส้ม การใช้ม็อบกดดันจึงไม่เกิด แต่มีการใช้กฎหมาย นำหน้า
เริ่มจาก ใช้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาล
การทำลายฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ยังไม่ตั้งรัฐบาล…โดยวิธีแบ่งแยกแล้วปกครอง
…เพราะพลังของสองพรรค คือก้าวไกล 151+เพื่อไทย 141 ทำให้มีอำนาจในสภามาก วิธีการก็จะต้องแยก 2 พรรคนี้ออกจากกัน ให้กลายเป็นศัตรูกันหรือเป็นคู่แข่งที่ซัดกันไม่เลิก
เพราะอำนาจ ส.ว.ในการตั้งนายกฯ ใกล้จะหมดแล้ว แต่ยังทิ้งทวนด้วยการบังคับให้เกิดรัฐบาลผสมข้ามขั้ว
แผนนี้ถือว่ากลุ่มอำนาจเก่าทำสำเร็จ ยิงกระสุนนัดเดียว ล้มสองพรรค กระสุนพุ่งไปที่ก้าวไกลและให้ทะลุไปถูกเพื่อไทยที่หน้าอก กระสุนยังฝังในอยู่จนเดี๋ยวนี้
พรรคก้าวไกลโดนยุบพรรค เพราะมีนโยบายก้าวหน้าที่สุด ซึ่งจะทำลายโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจเก่ามากที่สุด ซึ่งเป็นหนังเก่าฉายซ้ำ เหมือนตอนยุบพรรคต่างๆ ที่ผ่านมา
ก้าวไกลต้องแปลงกายเป็นพรรคประชาชน แล้วก็สู้ต่อ
3.พรรคเพื่อไทย
ถอยหลังพิงฝาสู้
สำหรับพรรคเพื่อไทย แม้นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จะได้กลับมาเมืองไทยแต่ก็อยู่ในฐานะตัวประกันจริงๆ ตามที่นักวิเคราะห์ได้คาดกันไว้ เพียงแต่สิ่งที่ผูกมัดนายกฯ ทักษิณไว้กลายเป็นคดี 112 ซึ่งไม่รู้จะยืดเยื้อไปนานกี่ปี
ในขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็ถูกโจมตี โดยการปลดนายกฯ เศรษฐาออกจากตำแหน่ง ต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่าการปลดนายกฯ เศรษฐาไม่ใช่การโจมตีตัวบุคคล เหมือนที่โจมตีนายกฯ ทักษิณ แต่นี่คือการโจมตีเพื่อสั่งสอนหรือตักเตือนพรรคเพื่อไทย ว่าการเคลื่อนไหวทั้งหมดต้องอยู่ในกรอบและอาจจะต้องขออนุมัติก่อน
เพื่อไทยเองก็ไม่มีทางเลือกเพราะยังจะต้องรักษาตำแหน่งนายกฯ ไว้เหมือนเดิม จะถอยให้พรรคอื่นก็ไม่ได้ เพื่อให้คงอำนาจมากที่สุด
การเตรียมขึ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแพทองธาร ชินวัตร แผนเดิมคงไม่ได้หวังว่าจะรวดเร็วขนาดนี้ แต่ในเมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้ก็ไม่มีทางเลือก เพราะยังไงก็เตรียมตัวมาเป็นปีแล้ว เพื่อไทยต้องเดินหน้าต่อไปและต้องคิดว่าผลงานในรัฐบาลชุดนี้และตัวนายกฯ คนนี้ จะต้องใช้ตอนออกไปสู้ศึกในการเลือกตั้งครั้งหน้าปี 2570
การโจมตีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ชื่อ แพทองธาร ชินวัตร จะยังคงดำเนินต่อไปทั้งเรื่องเก่า เรื่องใหม่ ตั้งแต่นโยบายจนไปถึงการแต่งตัว เสื้อผ้า หน้า ผม กระดุม รองเท้า ในขณะที่การโจมตีพรรคก้าวไกลจะมีอย่างต่อเนื่อง แต่จำกัดวงอยู่ในเรื่องการเมือง ในสังคมแบบนี้ประมาทไม่ได้ ไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเล็ก
4. กลุ่มอำนาจเก่า ใช้ยุทธศาสตร์เดิมแล้ว
และจะใช้ต่อไปอีกประมาณ 8 ปี
หลังการเลือกตั้งและหลังการจัดตั้งรัฐบาลแบบสลับขั้วจนกระทั่งถึงวันที่ทักษิณกลับเข้ามาและเมื่อก้าวไกลถูกยุบ นายกฯ เศรษฐาถูกปลด แพทองธารเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังมองไม่เห็นความสามัคคีของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย เมื่อเป็นเช่นนี้พรรคเพื่อไทยจะถูกผลักดันให้ไปร่วมอยู่กับกลุ่มอนุรักษ์อย่างเต็มตัว
ก้าวไกลซึ่งเปลี่ยนเป็นพรรคประชาชนไปแล้ว จะต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว และก็จะกลายเป็นแบบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคอนาคตใหม่
ถ้าคิดต่อสู้โดยเอาชนะในการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเดียวจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงอะไรได้
ยุทธศาสตร์ของฝ่ายก้าวหน้าจะต้องถูกปรับใหม่เพราะ 18 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าการชนะเลือกตั้งอย่างเดียวแก้ปัญหาโครงสร้างประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่ได้ไม่มีความสมดุลในอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ
ขณะนี้ยุทธศาสตร์การแก้รัฐธรรมนูญมีปัญหา เพราะการเลือก ส.ว.ที่ผ่านมาฝ่ายก้าวหน้าจะหาสียง ส.ว.สนับสนุนได้ไม่ถึง 1 ใน 3 คือ 67 คน ถ้ารัฐธรรมนูญยังคงเดิม กลุ่มอำนาจเก่าก็ยังสามารถใช้อิทธิพลต่อรัฐบาลและฝ่ายบริหารได้ ในขณะเดียวกันก็มีอิทธิพลต่อฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภามากพอควร
บทเรียนจากการยุบพรรค และปลดนายกฯ ทำให้ทุกฝ่ายต้องระมัดระวัง ไม่ให้ทำผิด ไม่เพียงแค่ต้องดูกฎหมาย แต่ต้อง “ตระหนักรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำหรือไม่ ตามมาตรฐานวิญญูชน”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022