ศาสนาผี ที่มรดกโลก ภูพระบาท (1) : ภาพเขียนสีบนเพิงผาหิน กับพลังชีวิตของผีบรรพชน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
หลักหินที่ภูพระบาท (ภาพโดย อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ)

พื้นที่บริเวณเขตอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติ ภูพระบาท และบริเวณพื้นที่แหล่งวัฒนธรรมสีมาวัดพระพุทธบาทบัวบาน ซึ่งต่างก็อยู่ในเขตพื้นที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เพิ่งจะได้รับการประกาศเป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” แห่งใหม่ของไทย ภายใต้ชื่อเรียกรวมๆ กันว่า “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sima stone tradition of the Dvaravati period) ไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมานี้เองนะครับ

โดยในเอกสารที่รัฐไทยใช้ยื่นขอให้ ภูพระบาท ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (World Heritage Nomination Phu Phrabat Historical Park, 2023) นั้น ได้จำกัดความสิ่งที่เป็น “คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “OUV” (Outstanding Universal Value) ของภูพระบาทเอาไว้ว่า

“การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรมสีมาหิน สมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมของการสืบทอดของวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่าสี่ศตวรรษ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสี”

แน่นอนว่า “วัฒนธรรมสีมาหิน” อันเป็นศาสนวัตถุในพระพุทธศาสนา ที่สร้างขึ้นใน “สมัยทวารวดี” (ราวระหว่าง พ.ศ.1100-1600) ก็คือหลักใหญ่ใจความสำคัญ ที่รัฐไทยอ้างว่าคือ “คุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล” ของภูพระบาท ที่ใช้สำหรับขอเป็นมรดกโลกนั่นเอง

แต่อะไรที่เรียกว่า “สมัย” หรือ “วัฒนธรรม” ที่มักจะเรียกกันว่า “ทวารวดีภาคอีสาน” (ในส่วนของความถูกต้องเหมาะสมในการใช้ชื่อเรียกว่า ทวารวดี กับกลุ่มวัฒนธรรมอย่างนี้ เป็นที่ถกเถียงกันอยู่) กลับไม่ใช่กลุ่มหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมของมนุษย์ ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในบริเวณพื้นที่ภูพระบาท และปริมณฑลเสียหน่อย

เพราะในความเป็นจริงแล้ว เขตบริเวณพื้นที่ภูพระบาท และปริมณฑล มีหลักฐานการอยู่อาศัย และการใช้งานพื้นที่ของมนุษย์มาตั้งแต่ในยุคก่อนที่ภูมิภาคอุษาคเนย์จะมีตัวอักษรใช้ อย่างที่เรียกกันว่า “ยุคก่อนประวัติศาสตร์” ซึ่งยังไม่ได้ยอมรับนับถือศาสนาพุทธจากอินเดีย (และย่อมไม่สร้างอะไรที่เรียกว่า “ใบเสมา” ตามความเชื่อแบบพุทธด้วยแน่) แล้วต่างหาก

 

นักมานุษยวิทยาชั้นครูอย่าง รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อดีตอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยนำคณะนักศึกษาโบราณคดี ลงสำรวจพื้นที่บริเวณภูพระบาท ตั้งแต่เมื่อเรือน พ.ศ.2508 แล้วเขียนรายงานตีพิมพ์ครั้งแรกลงในหนังสือที่ระลึกในวันแสดงผลงานของชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี ที่วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ.2509 ได้กล่าวถึงโบราณวัตถุ และการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่ภูพระบาทเอาไว้ว่า

“ภูมิประเทศรอบๆ ภูกูเวียน (หมายถึง ภูพระบาท ในปัจจุบัน-ผู้เขียน) เป็นที่ราบลุ่ม มีความชุ่มชื้น ทำไร่ไถนาได้ผลดี เพราะได้รับน้ำหล่อเลี้ยงจากธารน้ำและลำห้วยที่ไหลลงมาแต่ภูเขาไปออกแม่น้ำโขงทางเหนือในเขตอำเภอศรีเชียงใหม่ดินแดนในบริเวณนี้คงเป็นแหล่งที่มีคนอยู่เรื่อยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จึงปรากฏมีของก่อนประวัติศาสตร์ เช่น หินตั้ง ภาพเขียน ขวานหิน ในบริเวณภูเขาตอนนี้”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผลการสำรวจโดยกรมศิลปากรในเวลาต่อมาได้ระบุอายุสมัยของโบราณวัตถุสถาน ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภูพระบาทเอาไว้ว่ามีอายุอยู่ในช่วง 3,000-2,500 ปีมาแล้ว

เฉพาะในเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติ ภูพระบาท ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น มีแหล่งโบราณสถานที่สร้างขึ้นในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ เป็นแหล่งภาพเขียนสี เช่น ถ้ำวัว ถ้ำคน เป็นต้น แต่หากจะนับรวมกลุ่มภาพเขียนสีที่กรมศิลปากรสำรวจพบบริเวณที่เป็นปริมณฑลโดยรอบของภูพระบาท ก็จะมีอยู่เป็นจำนวนมากถึง 54 กลุ่มภาพ เป็นอย่างน้อยเลยทีเดียว

 

ถึงแม้ว่า จะไม่มีหลักฐานทางตรงว่า ภาพเขียนสีที่ภูพระบาทเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นสำหรับใช้ประโยชน์อันใดแน่?

แต่เราก็อาจจะเทียบเคียงกับตัวอย่างของหน้าที่การใช้งานของภาพเขียนสีจากที่อื่นๆ ซึ่งยังมีการใช้ประโยชน์จากภาพเขียนสีเหล่านี้อยู่

โดยในที่นี้ผมจะยกตัวอย่างจากการใช้งานภาพเขียนสีผนังถ้ำ หรือเพิงผา ของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองออสเตรเลีย ที่เรียกว่าพวกอะบอริจิ้น (Aborigines)

พวกอะบอริจิ้นแทบทุกเผ่าให้ความสำคัญกับพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านจากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ (initiation rite) ทำนองเดียวกับพิธีโกนจุก ในสมัยโบราณของบ้านเรา ซึ่งโดยปกติแล้วชาวอะบอริจิ้นจะให้เด็ก (โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย) เข้าไปอยู่ในมณฑลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอาจจะเป็นสถานที่เร้นลับอันศักดิ์สิทธิ์ของเผ่า ซึ่งมีภาพเขียนสีเล่าเรื่องปกรณัมเหล่านั้นอยู่ในมณฑลพิธี ซึ่งอาจจะอยู่ในถ้ำ หรือเพิงผาหิน (แต่บางครั้งพิธีกรรมเหล่านี้ก็อาจกระทำในอาณาเขตที่ถูกสร้างไว้อย่างลำลอง เช่น การเอาเชือกมาขึงเพื่อกั้นพื้นที่บางส่วนไว้เป็นมณฑลพิธีก็ได้)

ภายในมณฑลพิธีนั้นเด็กๆ จะได้จะสวมบทบาทอยู่ในปกรณัม หรือตำนานท้องถิ่นของเผ่า เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวีรกรรมของบรรพชนของเผ่าตนเอง จนกระทั่งเสร็จสิ้นพิธีกรรมแล้ว เด็กเหล่านี้จึงจะถูกนับว่าเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว

พวกอะบอริจิ้นเรียกปกรณัมเหล่านี้รวมๆ กันว่า “Dreamtime” ซึ่งสามารถแปลเป็นภาษาไทยอย่างตรงตัวว่า “ห้วงความฝัน” และก็ดูจะเหมาะสมดีกับสภาวะ “เคลิ้มฝัน” (trance) คือกึ่งหลับกึ่งตื่น อันเป็นสภาวะของการเข้าทรง

โดยในที่นี้หมายถึงการเข้าทรงเป็นหนึ่งเดียวกับ “ผีบรรพชน” เพื่อร่วมเป็นร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบุกเบิกพื้นที่ในการก่อร่างสร้างชุมชนของเผ่าตนเอง

 

แน่นอนว่า “Dreamtime” เป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เดิมศัพท์บัญญัติคำนี้จึงเป็นคำที่ฝรั่งแปล มาจากคำว่า “Alcheringa” ในภาษาของพวกอะบอริจิ้น เผ่าอรันทาเหนือ (Northern Arunta) อีกทอดหนึ่ง

โดยคำคำนี้นอกจากจะมีความหมายถึง “ห้วงความฝัน” ซึ่งก็คือ “ปกรณัม” ที่ว่าด้วยบรรพชนของพวกเขา (เพราะพวกอะบอริจิ้นทุกชนเผ่าไม่นับถือเทพเจ้า มีเพียงจิตวิญญาณของธรรมชาติ และผีบรรพชน) แล้ว ก็ยังมีรากมาจากคำว่า “alcheri” หรือ “alchera” ซึ่งหมายถึง “ความฝัน” ในยามที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกเคลิ้มหลับด้วยเช่นกัน

พวกอะบอริจิ้นเผ่าอื่นก็มีศัพท์เรียก “ความฝัน” โดยมีความหมายถึง “ห้วงความฝัน” คู่กันไป ไม่ต่างจากพวกเผ่าอรันทาเหนือ เช่น คำว่า “meri” ในภาษาชนเผ่าดิเอริ (Dieri), “djugur” ของเผ่าอะลูริดจา (Aluridja), “bugari” ในเผ่าการาดเจรี (Karadjeri), “Ungud” หรือ “lalun” ของพวกอุนคารินคิน (Ungaringin) ฯลฯ ล้วนแล้วแต่สื่อความหมายแบบเดียวกันนี้ทั้งสิ้น

สำหรับชาวอะบอริจิ้นแล้ว “ความฝัน” และ “ปกรณัม” หรือ “ตำนาน” จึงเป็นสิ่งเดียวกัน

แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า พวกอะบอริจิ้นคิดว่าความฝันเป็นเรื่องไร้สาระ ตรงกันข้ามสำหรับพวกเขาแล้ว ความฝันคืออีกโลกหนึ่งที่ขนานคู่อยู่กับโลกของความเป็นจริง (แน่นอนว่าสำหรับเหล่าอะบอริจิ้นแล้ว ห้วงความฝันก็เป็น “ความจริง” ไม่แพ้โลกที่คนไม่ใช่อะบอริจิ้นอย่างพวกเราไปยัดเยียดให้พวกเขาเรียกว่าโลกแห่งความจริง)

ห้วงความฝันจึงเป็นสิ่งที่ทั้งคงสภาพ เป็นนิรันดร์ และต่อเนื่องมาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของกาลเวลาในอดีต ปัจจุบัน และต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต

บางคนจึงเปรียบเปรยว่า สำหรับพวกอะบอริจิ้นแล้ว “ห้วงความฝัน” นั้นเปรียบได้กับ “คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์” ในพระศาสนา ไม่ต่างไปจากคัมภีร์โตราห์ของพวกยิว, อัลกุรอานของชาวมุสลิม, หรือพันธสัญญาใหม่ของคริสเตียน

โดยแน่นอนว่า มีผนัง “ถ้ำ” หรือ “เพิงผา” เป็นเล่มคัมภีร์ และก็มี “ภาพเขียนสี” เป็นเหมือนตัวอักษรที่จดจารตำนานเหล่านั้นไว้

 

ภาพเขียนสีที่ภูพระบาท อาจจะมีรายละเอียดของเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไปจากพวกอะบอริจิ้น แต่เรื่องราวที่เขียนก็ย่อมเป็นสิ่งที่ว่าด้วยความเฮี้ยน หรือความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีดั้งเดิมของท้องที่ เช่นเดียวกับแหล่งภาพเขียนสีในแหล่งอื่นๆ ในโลกด้วยนั่นเอง

ส่วน “พลังชีวิต” ของ “ผีบรรพชน” ที่มาลงทรง จนพวกอะบอริจิ้นทั้งหลาย ตกอยู่ในภวังค์ของ “ห้วงความฝัน” นั้นมาจากที่ไหนได้ นอกจากจะเป็น “ภาพเขียนสี” อันเป็นเรื่องราววีรกรรมของพวกเขานั่นแหละครับ

ควรสังเกตด้วยว่า ภาพเขียนสีเหล่านี้ เกือบทุกแห่งในโลกมักจะเขียนด้วย “สีแดง” ซึ่งก็คือสัญลักษณ์แทน “เลือด”

“เลือด” ในที่นี้ย่อมหมายถึง “พลังชีวิต” ดังนั้นเลือดในที่นี้ก็ย่อมต้องหมายถึง “เลือดประจำเดือน” ของผู้หญิง เพราะเป็นสัญลักษณ์ของการให้กำเนิดชีวิต ซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ในศาสนาโบราณทั่วทั้งโลก เพราะการที่มนุษย์จะเปลี่ยนผ่านจากเด็กมาเป็นหญิงผู้ให้กำเนิดทายาทของมนุษย์ได้นั้น ก็ต้องผ่านการมีประจำเดือนเสียก่อน (ดังนั้น พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านจากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในสังคมโบราณเป็นอย่างมาก แน่นอนว่า หมายรวมถึงสังคมของพวกอะบอริจิ้นด้วย)

ดังนั้น “สีแดง” จึงเหมาะสมที่จะเป็นสีที่กักเก็บ “พลังชีวิต” ของ “ผีบรรพชน” เป็นที่สุด

แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว การที่สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของเลือด คือความอุดมสมบูรณ์ จึงย่อมมีนัยยะถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วย ภาพวัวเขียนด้วยสีแดงที่อยู่บนเพิงผา หมายความได้ถึงทั้ง พลังชีวิตของวัว ในนิทานหรือตำนานสักเรื่อง (ที่คนในยุคปัจจุบันอาจไม่รู้จักแล้ว) หรือเป็นสัญลักษณ์ของพิธีกรรมที่ว่าด้วยความอุดมสมบูรณ์ ที่มีวัวเป็นสัญลักษณ์ก็ได้ทั้งนั้น

ภาพเขียนสีกลุ่มต่างๆ ที่ภูพระบาท ก็เขียนด้วยสีแดงนะครับ ดังนั้นจึงเกี่ยวข้องกับ “พลังชีวิต” ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของผีบรรพชน หรือความอุดมสมบูรณ์ ตามความเชื่อในศาสนาผี ที่มีมาก่อนการเข้ามาพุทธศาสนาในบริเวณภูพระบาทนั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ