ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
สถานการณ์ปัญหาของ “เด็กเล็ก” หรือ “เด็กปฐมวัย” ในไทยมีมายาวนาน และดูเหมือนยังไม่มีพรรคการเมืองใด หรือรัฐบาลไหน กระโดดลงมาเล่นเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้จะมีพูดถึงอยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มที
ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี 2567 เรื่องการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย” โดยมีกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย คณะอนุกรรมการ นักวิชาการ ครูปฐมวัย ผู้บริหารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย บุคลากรทางการศึกษาปฐมวัยจากหน่วยงานทุกสังกัด และผู้ปกครอง ร่วมประชุม
“บิ๊กอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ซึ่งน่าจะกลับมานั่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.อีกครั้ง มองว่า “วิกฤต” เด็กปฐมวัย เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ จากการเรียนในห้องเรียน ไปเป็นการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย
บวกกับเด็กติดการใช้สื่อหน้าจอ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับวิกฤตความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา วิกฤตครอบครัว จากปัญหา “คุณแม่วัยใส” ที่เพิ่มมากขึ้น
ศธ.จึงหยิบยกข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม ประกอบด้วย “3 เร่ง” คือ เร่งความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครูผู้ดูแลเด็ก ชุมชน และสังคม, เร่งสวัสดิการการเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้า และเร่งเสริมศักยภาพองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และกลไกระดับพื้นที่ใกล้ตัวเด็ก
ส่วน “3 ลด” คือ ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยก่อนวัย 2 ขวบ, ลดความเครียด คืนความสุขแก่เด็กปฐมวัย และลดการใช้ความรุนแรงต่อเด็กปฐมวัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ
และ “3 เพิ่ม” คือ เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ ผ่านการเล่นหลากหลาย เช่น ดนตรี กีฬา การออกกําลังกาย, เพิ่มการเล่าและอ่านนิทานสม่ำเสมอ และเพิ่มความรัก ความใส่ใจและส่งเสริมเวลาคุณภาพของครอบครัว
ชูขึ้นเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก ชุมชน และสังคม!!
นอกจากนี้ ศธ.ยังเดินหน้าจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ส่งเสริมศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกลไกระดับพื้นที่ใกล้ตัวเด็ก ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง 2 ปี ลดการใช้ความรุนแรงกับเด็กปฐมวัยทั้งทางร่างกาย และจิตใจ รวมทั้งเพิ่มการส่งเสริมพัฒนาการเรียนและการเรียนรู้ให้เด็ก
โดยรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เห็นว่า พ่อแม่จะต้องเป็นต้นแบบให้กับลูก โดยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในท้องถิ่น จะต้องสอนวิธีการดูแลเด็กเล็กให้กับพ่อแม่ นอกเหนือจากการให้การศึกษาแก่เด็กๆ
“บิ๊กอุ้ม” ยังได้ประกาศ “ผลักดัน” การขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม ซึ่งมีแนวทางการทำงาน ได้แก่
1. สกศ.รับผิดชอบประสานการจัดทำแผนการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยใช้เว็บไซต์ “ปฐมวัยไทยแลนด์” เป็นสื่อกลางเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าให้กับผู้ที่สนใจ
2. ศธ., กระทรวงมหาดไทย (มท.), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็น 4 กระทรวงหลัก ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานอื่น ขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม
และ 3. คณะอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย และภาคเอกชน จัดทำแผนการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เชิงรุก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง Mindset ของคนในสังคม ในการดูแลเด็กปฐมวัยอย่างถูกวิธี โดยผ่าน Main Campaign “เพิ่มเวลาคุณภาพ เล่นเป็น กอดเป็น เล่าเป็น” และ Second Campaign “งดจอก่อนสองขวบ ร่วมสร้างวินัย ไม่ใช้ความรุนแรง”
เพื่อให้การเดินหน้านโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น!!
ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าวว่า สสส.มีเป้าหมายสร้างเสริมสุขภาวะประชากรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย เพราะเป็นวัยสร้างฐานทุนสุขภาพที่ดีตลอดชีวิต เน้นการดำเนินงาน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1. เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ครอบครัว และชุมชน
2. ส่งเสริมพื้นที่เล่น และเรียนรู้ใกล้บ้าน
3. พัฒนาระบบสนับสนุนเด็ก และครอบครัวแบบไร้รอยต่อ
และ 4. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของเด็กและเยาวชนในการพัฒนาสังคมสุขภาวะ
จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัย ปี 2566 โดยสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย สธ.พบว่า เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการล่าช้าด้านการใช้ภาษาสูงถึง 74.8% การเข้าใจภาษา 60.9% ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก และสติปัญญา 44.6% และด้านการเคลื่อนไหว 28.2%
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเด็กอีกมาก เข้าไม่ถึงระบบฟื้นฟู ติดตามช่วยเหลือ โดยเฉพาะสถานการณ์โรคโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อเนื่อง “ซ้ำเติม” ให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย
เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย สสส.จึงเดินหน้าสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ภายใต้แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2564-2570 โดยพัฒนาเว็บไซต์ปฐมวัยไทยแลนด์ ecd.onec.go.th เพื่อสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาวะเด็กปฐมวัย เสริมทักษะความเป็นพ่อแม่
โดยพัฒนานวัตกรรม 366 Q KIDS ซึ่งเป็นโปรแกรมส่งเสริมครู และบุคลากร ให้มีความรู้ และทักษะในการพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยใช้ 3 ตัวช่วย คือ
1. เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ
2. ทีมวิชาการพี่เลี้ยง
และ 3. ชุดความรู้พร้อมใช้ ในรูปแบบ 6 กิจกรรมเรียนรู้
จากการดำเนินการภายใน 6 เดือน พบมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเข้าร่วมโปรแกรม และเกิดเป็นต้นแบบ 51 แห่ง ยกระดับพัฒนาการเด็กปฐมวัยครอบคลุม 2,000 คน
ซึ่ง สสส.จะร่วมมือกับ 4 กระทรวงหลักเจ้าภาพงานพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อขยายผลโปรแกรมต่อไป!!
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ และอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลงต่ำกว่าปีละ 5 แสนคน รวมถึงข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในปี 2566 พบว่า ช่วงอายุ 3-5 ปี ถึง 3.17 แสนคน ยังไม่ได้เข้าสู่การพัฒนาที่เหมาะสม
ซึ่ง ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.มองว่า เป็นสัญญาณที่น่าห่วง เพราะถ้าต้องการพัฒนาประเทศโดยใช้รากฐานของการพัฒนาคนเป็นหลัก ก็ไม่ควรปล่อยให้เด็กปฐมวัยจำนวนมากขาดการพัฒนาที่เหมาะสม
ฉะนั้น ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและพัฒนาทุนมนุษย์ ระหว่าง กสศ., มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ Center for Economics of Human Development, University of Chicago โดย Professor James J. Heckman เพื่อช่วยให้ไทยมีเครื่องมือทางนโยบาย และข้อเสนอนโยบายในการพัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่างรวดเร็วที่สุด เริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิด จนถึงวัยแรงงาน ระยะ 5 ปี
จะมุ่งนำองค์ความรู้ประสบการณ์ผลงานวิจัยที่ดีที่สุด พัฒนาเด็กไทย โดยเฉพาะกลไกสำคัญของการเลี้ยงดู และช่วยเหลือครอบครัวที่ต้องการการสนับสนุนอย่างเต็มที่
โดยหนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่พูดมานานในไทย และระดับนานาชาติ คือ การเลี้ยงดู บทบาทของครอบครัว บทบาทของการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม และทันเวลา
ดร.ไกรยศทิ้งท้ายว่า ความร่วมมือนี้จะนำไปสู่แนวทางการกำหนดนโยบาย และมาตรการในการพัฒนาการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยในบริบทของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวยากจน และครอบครัวแหว่งกลาง ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีปัญหาต่างๆ และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่
ต้องติดตามว่า ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะลุยแก้วิกฤต และพัฒนา “เด็กปฐมวัย” ให้กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศ ได้หรือไม่!! •
| การศึกษา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022