ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ตุลวิภาคพจนกิจ |
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
15 ปีของ ‘ชุมชนจินตกรรม’
หรือ Imagined Communities (IC)
ปี 2567 (2024) “ชุมชนจินตกรรม : บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม” (Imagined Communities : Reflections on the Origin and Spread of Nationalism) ผลงานชิ้นเอกของอาจารย์เบ็น แอนเดอร์สัน อดีตศาสตราจารย์แห่งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐ ซึ่งล่วงลับไปในปี 2558 (2015) มีอายุครบ 15 ปี
มีการสัมมนาและอภิปรายถึงผลกระทบและฐานะของหนังสือสำคัญเล่มนี้ด้วยที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้
ที่ผ่านมามีหนังสือและสิ่งพิมพ์ไม่น้อยที่เขียนหรือพรรณนาถึงเรื่องราวในประเทศไทยด้านต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาและอื่นๆ แต่ไม่มีเล่มไหนที่มีการอ้างถึงและพูดถึงมากและนานที่สุดเท่า IC ของ อ.เบ็น
ปรากฏการณ์ทำนองนี้ไม่ใช่เฉพาะในวงการวิชาการและในหมู่ปัญญาชนสาธารณะในไทย หากแต่เป็นปรากฏการณ์ทั้งโลกก็ว่าได้
เป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษที่หนังสือวิชาการที่เขียนโดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอุษาคเนย์ศึกษา ที่สามารถส่งผลสะเทือนถึงนักวิชาการและปัญญาชนในโลกตะวันตกและแพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลกที่ต้องหยุดแล้วหันมาอ่านหนังสือ IC เล่มนี้
ว่าทำไมคนถึงตื่นเต้นและพูดถึงมันมากขนาดนี้
โดยปกติทั่วไปหนังสือวิชาการที่นักวิชาการทั่วโลกมักหยิบมาวิจารณ์หรือนำมาใช้ในการเรียนการสอนของพวกเขาล้วนเป็นผลงานที่สร้างโดยนักวิชาการในโลกตะวันตก แม้อาจเป็นคนเชื้อชาตินอกตะวันตกก็ตาม แต่พวกเขาล้วนทำงานและเผยแพร่กันภายในโลกตะวันตกเป็นหลัก
และแน่นอนเนื้อหาย่อมเป็นการพูดจากมุมมองหรือทัศนะที่เอาตะวันตกเป็นศูนย์กลาง
แต่ IC ของ อ.เบ็นกลับหัวกลับหางลักษณะดังกล่าวเสียสิ้น
งานนี้โดยเนื้อหาหลักคือการวิพากษ์ทฤษฎีชาตินิยมและความเป็นชาติและรัฐชาติที่เชื่อกันว่ามีกำเนิดและความเป็นมาในโลกตะวันตกที่ยุโรปเป็นแกน
อ.เบ็น แอนเดอร์สัน เสนอการตีความและอรรถาธิบายถึงกำเนิดและความเป็นมาของชาตินิยมอย่างละเอียดว่ามันมาจากดินแดนใน “โลกใหม่” ได้แก่อเมริกาเหนือและอเมริกากลางและใต้ในศตวรรษที่ 18 ก่อนจะแพร่หลายกลับเข้าไปในยุโรปและแตกกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งสยามไทย
น้ำหนักและความน่าเชื่อถือในทฤษฎีกำเนิดชาตินิยมของ อ.เบ็น ที่ทำให้นักวิชาการตะวันตกชะงักงันและหยุดคิดอีกหลายเพลาก่อนจะวิจารณ์หรือตอบโต้งานนี้
ทั้งนี้เพราะเบ็นใช้หลักฐานและข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมือง รวมถึงจิตวิทยาและศาสนาที่เป็นของและอยู่ในยุโรปทั้งหมด ในการพรรณนาถึงกำเนิดของความคิดชาติที่กลายมาเป็นปัจจัยทรงพลังในการเมืองการปกครองยุคใหม่ต่อมา
วิธีวิทยาในการศึกษาค้นคว้าของเบ็นที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการท้าทายความคิดทฤษฎีของนักคิดตะวันตกคือต้องยึดกุมหัวใจของความเป็นตะวันตกให้ได้ก่อน นั่นคือภูมิปัญญาของพวกเขา
อ.เบ็นเริ่มต้นนิพนธ์อันโด่งดังของเขาอย่างธรรมดาไม่สลับซับซ้อนเหมือนอย่างนักหลังสมัยใหม่ชื่อดังทั้งหลาย
นั่นคือเขาเสนอว่าชาตินิยมหรือความเป็นชาติแท้จริงแล้วเป็น “ประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมที่จำเพาะชนิดหนึ่ง” (cultural artefacts of a particular kind) เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องในสิ่งวัฒนธรรมนี้ จะต้องลงไปดูว่าปัจจัยทั้งหลายนี้ได้กลายมาเป็น “สัตทางประวัติศาสตร์” (historical being) หรือสิ่งที่ดำรงอยู่ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างไร ความหมายของมันมีการเปลี่ยนแปลงไปในหนทางใดบ้างในเวลาที่ผ่านมา และทำไมในปัจจุบันมันถึงควบคุมความชอบธรรมในอารมณ์ความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อความเป็นชาติอย่างดูดดื่มยิ่งขนาดนี้ได้
เบ็นกล่าวต่อไปว่าการเกิดประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมนี้ในศตวรรษที่ 18 มาจากการแปรธาตุอย่างเป็นไปเองของพลังทางประวัติศาสตร์หลายอย่างที่ตัดผ่านกันไปมา
แต่หลังจากที่ประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมถูกสร้างขึ้น มันกลายเป็น “แบบแผน” (modular) ที่สามารถนำไปถ่ายปลูกใช้ในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบและอย่างมีสำนึกของตนเองและอาจหลอมรวมเข้ากับกลุ่มการเมืองและอุดมการณ์ในที่ต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง
และเขาจะแสดงให้เห็นด้วยว่าทำไมประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมนี้ได้ปลุกเร้าความรู้สึกที่ผูกพันมันอย่างลึกซึ้ง
ก่อนจะอธิบายกระบวนการเกิดและพัฒนาของชาติ เขาเสนอว่าควรทำความเข้าใจในมโนทัศน์หลักที่ใช้ในการศึกษานี้
เขาตั้งข้อสังเกตว่านักทฤษฎีลัทธิชาตินิยมทั้งหลายไม่เคยให้นิยามและหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันเป็นที่ประจักษ์เลยว่า ชาติคืออะไร ทำไมมีแต่ชาติที่เป็นสมัยใหม่แต่มักอ้างรากเหง้าของมันกลับไปในประวัติศาสตร์โบราณของประเทศต่างๆ
สรุปคือ ไม่เคยมีใครบอกได้ว่าชาติคืออะไร แต่อ้างกันว่ามันดำรงอยู่แล้วในรัฐสมัยใหม่ที่เกิดในตะวันตก
เบ็นเสนอนิยามชาติอย่างนักมานุษยวิทยา นั่นคือ ชาติคือ “ชุมชนจินตกรรมทางการเมือง และจินตกรรมในลักษณะที่ทั้งจำกัดและเป็นอธิปไตยมาแต่แรก”
เหตุที่เขาเรียกว่าชุมชนการเมืองนี้ถูก “จินตกรรม” ขึ้นมาเพราะสมาชิกร่วมชาติทั้งหมดไม่เคยพบเห็นคนอื่นๆ ในชาตินั้นทั้งหมดเลย ไม่เคยแม้จะได้ยินชื่อเสียงเรียงนามพวกเขา แต่กลับเป็นว่าในใจของแต่ละคนมีภาพลักษณ์ของความเป็นชุมชนร่วมกันอยู่เหมือนกับว่ารู้จักกันหมด
ชาติมีข้อจำกัดที่อำนาจมีอยู่ในอาณาเขตประเทศตนเท่านั้น พ้นจากเขตแดนของตนเป็นอาณาเขตของประเทศอื่นที่มีอธิปไตยของเขาเช่นกัน ไม่สามารถทำให้คนอื่นทั้งโลกมาเป็นคนในชาติของตนแห่งเดียวได้ และเป็นอธิปไตยเพราะความชอบธรรมของอำนาจและอุดมการณ์ของรัฐราชวงศ์ที่ปกครองมาก่อนโน้นได้ถูกทำลายลง
ปรัชญาแสงสว่างทางปัญญาแทนที่ลัทธิเทวสิทธิ์ของกษัตริย์ นั่นคือประชาชนก้าวขึ้นมาเป็นฐานแห่งความชอบธรรมทางการเมืองโดยสมบูรณ์
ประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมนี้ประกอบด้วยสองระบบวัฒนธรรม อันแรกคือชุมชนศาสนา สองคืออาณาจักรราชวงศ์ สองประการนี้คือกรอบที่รองรับความชอบธรรมของผู้คนในอาณาจักรก่อนสมัยใหม่ กินพื้นที่ไปเกือบทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการในประวัติศาสตร์เกิดความเปลี่ยนแปลงจากภูมิรัฐศาสตร์ เทคโนโลยีและระบบการผลิต โดยเฉพาะการแพร่ขยายของระบบทุนนิยมในยุโรปที่นำไปสู่ความเสื่อมสลายและพังทลายของสองระบบวัฒนธรรมนี้ในที่สุด
อันเป็นกำเนิดของลัทธิชาตินิยมและความเป็นชาติที่ก่อรูปและพัฒนามาในแต่ละพื้นที่ตามเงื่อนไขและองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์ของตนเอง
ความเป็นอัจฉริยะทางวัฒนธรรมของเบ็น แสดงในคำพรรณนาที่เขาอธิบายถึงความศักดิ์สิทธิ์ของภาษาในชุมชนศาสนา ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการสร้างอำนาจและความเป็นสากลให้แก่ศาสนา บทวิเคราะห์ในภาษาศาสนาที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่สาวกและผู้ตามทั่วไปอย่างเป็นจริงเป็นจัง ด้วยความสามารถทางด้านภาษาของเบ็น ที่หาคนจับยากแม้ในยุโรปเอง ทำให้งานของเขาไม่อาจถูกวิพากษ์แลตีตกได้ง่ายๆ เหมือนอย่างงานของนักวิชาการนอกโลกตะวันตก
ข้อสังเกตของผมจากการติดตามการทำงานวิชาการค้นคว้าของเบ็น คือเขาหากุญแจในการไขเข้าไปสู่ประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง และความเปลี่ยนแปลงในสังคมเหล่านั้นในภาษาของประเทศและสังคมนั้น ทั้งจากภาษาพูดและภาษาเขียน
กิจวัตรประจำวันของเบ็นคือการทำ Cross Words ในหน้าหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ซึ่งเขาบอกว่าง่ายไป ต้องให้แม่และน้าส่งโจทย์ยากกว่าจากอังกฤษมาให้บ่อยๆ
แต่เบ็นไม่คิดว่า ชุมชนจินตกรรมของชาติเป็นเพียงพัฒนาการต่อเนื่องจากสองระบบวัฒนธรรมที่เสื่อมสลายไปแต่อย่างใด
เขามองว่าเบื้องหลังการเสื่อมสลายนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการทำความเข้าใจโลกแบบใหม่เกิดขึ้น
และนี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้การคิดถึง “ชาติ” แบบใหม่นี้เกิดขึ้นได้
มโนทัศน์เรื่องเวลาแบบใหม่นี้เป็นทฤษฎีที่ซับซ้อนและยากต่อการทำความเข้าใจมาก ผมคิดว่านักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎี IC ก็ยากที่จะปฏิเสธและคัดง้างมโนทัศน์ใหม่เรื่องเวลาของเบ็นได้ เพราะมันสุดยอดของปรัชญาสมัยใหม่ที่สังเคราะห์วิภาษวิธีและความเป็นสมัยใหม่เข้าด้วยกันอย่างลึกซึ้ง
นั่นคือแนวคิดที่นำมาจากนักคิดดังวอลเตอร์ เบนจามิน เรียกว่า “กาลเวลาแบบเมสไซอาห์” ซึ่งเป็นการบังเกิดขึ้นพร้อมกันของอดีตและอนาคตในปัจจุบันขณะ
ในฉบับภาษาไทยใช้ศัพท์ที่ท้าทายนักอ่านยิ่งคือ “สุญกาลสหมิติ” (homogeneous empty time) ผมเข้าใจอย่างหยาบว่าคือกาลเวลาในความรับรู้ขณะปัจจุบันของเรากลายเป็นเวลาอันว่างเปล่าที่ปราศจากการขีดคั่นด้วยเวลาที่เป็นของอดีตหรืออนาคต ทั้งหมดหลอมรวมเป็นเวลาเดียวกัน มองเห็นได้โดยคนธรรมดาที่ไม่ต้องเป็นพระเจ้าอย่างแต่ก่อน
สุดท้ายปัจจัยที่ทำให้ชาติกลายเป็นชุมชนจินตกรรมที่แพร่หลายไปทั่วมาจากบทบาทอันทรงพลังของระบบทุนนิยมซึ่งก่อรูปและเริ่มแพร่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก ทุนนิยมส่วนที่มีบทบาทในการสร้างความคิดเรื่องชาตินี้คือระบบการพิมพ์ที่เรียกว่า “ระบบการพิมพ์ทุนนิยม” สินค้าสำคัญของมันคือหนังสือรวมถึงสิ่งพิมพ์ทุกประเภทที่ผลิตจากแท่นพิมพ์สมัยใหม่
สองอย่างที่ยกมาเป็นตัวการคือการเขียนนวนิยายและหนังสือพิมพ์
เป็นครั้งแรกที่ประวัติศาสตร์การพิมพ์ถูกนำมาอธิบายให้เห็นอิทธิพลของมันมากกว่าที่เรารับรู้กันมาว่าเพียงแค่ทำให้ยุโรปอ่านและเขียนหนังสือกันมากกว่าที่อื่นในโลก
แต่ อ.เบ็นยืนยันด้วยข้อมูลละเอียดและมีความหมายในบริบทที่ท้าทายยิ่ง มันทำให้การคิดเรื่องเวลาและชุมชนของคนเริ่มเปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึง
หลังจากนั้นคือการบรรยายการเกิดกลุ่มการเมืองใหม่ที่ตั้งใจมองตนเองว่าเป็นประชาชาติเป็นสาธารณรัฐ (ปราศจากราชวงศ์) ซึ่งแห่งแรกที่ให้กำเนิดรัฐชาติคือดินแดนโลกใหม่ อันเป็นผลงานบุกเบิกของพวกครีโอล (คนสเปนที่เกิดและโตในละตินเมริกา) ที่ต่อต้านอำนาจของเมืองแม่ในยุโรป จนก่อรูปเป็นขบวนการชาตินิยมของประชาชน อีกด้านในอาณาจักรเก่าเช่นรัสเซียและสยาม เกิดเป็นลัทธิชาตินิยมทางการที่เป็นผลงานของชนชั้นปกครองจารีตซึ่งต้องการสกัดกั้นการเกิดชาตินิยมของประชาชน
ทั้งหมดนี้คือบทสรุปสั้นๆ ของ IC ของ อ.เบ็น แอนเดอร์สัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022