ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
โบราณคดีไทยโดยสรุปมีกำเนิดในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ถูก “ล็อก” ด้วยการเมืองเรื่องเชื้อชาติและรัฐชาติ ทั้งจากภายนอกและภายใน
(1.) การเมืองภายนอก จากยุโรปซึ่งมีพลังสูงแผ่ไปทั้งโลกเรื่องเชื้อชาติกับรัฐชาติ เพื่อล่าอาณานิคมมากกว่า 250 ปีมาแล้ว เรือน พ.ศ.2300 (ตรงกับสมัยปลายอยุธยา)
ครั้นหลังอินโดจีนตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส นักค้นคว้าจากฝรั่งเศสแปลความหลักฐานโบราณคดีด้วยสำนึกเชื้อชาติและรัฐชาติสมัยใหม่ในระบบเมืองขึ้น (ซึ่งขัดแย้งประเพณีดั้งเดิมเป็นการเมืองระบบเครือญาติทางการแต่งงาน) จึงกระตุ้นความขัดแย้งรุนแรงระหว่างเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทยกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ
(2.) การเมืองภายใน เรื่องชาตินิยมคลั่งเชื้อชาติไทย ซึ่งรับแนวคิดเชื้อชาติกับรัฐชาติจากยุโรปแผ่ถึงสยามมากกว่า 150 ปีมาแล้ว เรือน พ.ศ.2400 (ตรงกับสมัยต้นรัตนโกสินทร์) กระตุ้นชนชั้นนำสยามมีสำนึกใหม่คลั่งเชื้อชาติไทย จึงเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย เมื่อ 85 ปีที่แล้ว พ.ศ.2482 (เรื่องนี้นายปรีดี พนมยงค์ เขียนเล่าไว้เองว่าคัดค้านการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย)
จากนั้นชนชั้นนำเปลี่ยนประวัติศาสตร์สยามของชาวสยามเป็นประวัติศาสตร์ไทยของคนไทยแท้ “เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์” มีถิ่นกำเนิดในจีน (ตามการค้นคว้าของนักค้นคว้าชาวยุโรป-ไม่ใช่จากนักค้นคว้าชาวสยาม) ต่อมาถูกจีนรุกรานต้องถอยร่นลงไปตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย
การเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” ผลักดันให้มีโบราณคดีเป็น “องครักษ์พิทักษ์เชื้อชาติไทย” ด้วยการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้ผู้คัดค้านหรือคิดต่างจากประวัติศาสตร์ไทยแนวเชื้อชาตินิยม ถูกใส่ร้ายว่าไม่รัก “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” แล้วต้องสงสัยเข้าข่ายมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีโอกาสถูกจับติดตะรางขังลืม
ความกลัว ทำให้เสื่อม
ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก ถูกสั่นคลอนจากหลักฐานโบราณคดีที่บ้านเก่า (จ.กาญจนบุรี) หลังมีการขุดค้นด้วยเทคนิคโบราณคดีสากลเป็นครั้งแรก (ตามโครงการไทย-เดนมาร์ก) ระหว่าง พ.ศ.2503-2505 พบโครงกระดูกมนุษย์หลายสิบโครงอายุเก่าแก่หลายพันปีมาแล้ว ทำให้สังคมตั้งคำถามในใจ (เพราะไม่กล้าแสดงออก) ดังนี้
(1.) โครงกระดูกมนุษย์ที่บ้านเก่า เขาเป็นใคร? มาจากไหน? (2.) เป็นคนไทยหรือเปล่า? (3.) ถ้าเป็นคนไทย-แล้วที่ว่ามาจากอัลไต-น่านเจ้า จะเอายังไง
นับแต่นั้นได้มีโบราณคดีกลุ่มหนึ่งคิดต่างด้วยการจัดกิจกรรมแสดงหลักฐานวิชาการตรงข้ามประวัติศาสตร์ไทย กระแสหลัก อย่างน้อย 2 ครั้ง (เท่าที่พบหลักฐาน) ได้แก่ จัดสัมมนาวิชาการ และพิมพ์หนังสือเสนอบทความวิชาการ
เมื่อ 60 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2507) อาจารย์โบราณคดีกลุ่มหนึ่งแสดงออกอย่างองอาจในความรับผิดชอบทางวิชาการต่อสังคม ด้วยการจัดสัมมนาทางวิชาการ หัวข้อ “บรรพบุรุษของไทยเป็นใคร” ที่ท้องพระโรงวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร
การสัมมนาได้รับความสำเร็จอย่างสูงมาก (ตามสภาพสมัยนั้น) แต่ที่สำคัญมากกว่าคือการตั้งคำถามครั้งแรกอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะว่าคนไทยมาจากอัลไต-น่านเจ้า จริงหรือ? (ก่อนหน้านั้นคำถามทำนองนี้ต้องกระซิบกระซาบที่สุด)
เมื่อ 53 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2514) นักศึกษาโบราณคดีกลุ่มหนึ่ง ร่วมกันยกหยิบเรื่องเชื้อชาติในประวัติศาสตร์ไทย กระแสหลัก มาศึกษาและทำความเข้าใจ ว่าเป็นเรื่องเหลวไหล ไม่มีจริง และมีแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งกีดกันและฆ่าฟันกันในสังคมมนุษย์
พบอยู่ตอนต้นของบทความวิชาการ “ข้อขัดแย้งในเรื่องประวัติศาสตร์ไทย ของ ศรีศักร วัลลิโภดม ในหนังสือนภศูล (ฉบับที่ 1 ปีการศึกษา 2514) ของชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร (คณะผู้จัดทำเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)
“เชื้อชาติ” ไม่มีในโลก
24 ปีที่แล้ว วันที่ 26 มิถุนายน 2543 นักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ใน “โครงการจีโนมมนุษย์” ร่วมกันประกาศที่สหรัฐอเมริกาว่า “ความเชื่อในเชื้อชาติ ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ” (ศ.ดร.เจ. เครก เวนเทอร์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ) มีผลเท่ากับเชื้อชาติไม่มีในโลก
นับแต่นั้น นานาชาติก็ทยอยประกาศยกเลิกเชื้อชาติ (RACE) อาจมีตกค้างบางประเทศ เช่น ตกค้างในประวัติศาสตร์ไทย กระแสหลัก
“เชื้อชาติไทย” ก็ไม่มี ต้นปีนี้เอง วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 นักโบราณคดี (มหาวิทยาลัยศิลปากร) และนักพันธุศาสตร์ (มหาวิทยาลัยนเรศวร) ร่วมกันถอดรหัสสืบรากมนุษย์โบราณในไทย (แม่ฮ่องสอน) พบว่าคนสมัยนั้นมีการผสมผสานทางชาติพันธุ์อันหลากหลาย อย่างน้อย 1,700 ปีมาแล้ว
ซึ่งเท่ากับยืนยันด้วยผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ว่าไม่มีเชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์
[จากงานวิจัยของ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช (นักโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) และ รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ (นักพันธุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก ผู้ศึกษาดีเอ็นเอกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย) มีการแถลงข่าวที่ ท้องพระโรง หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567]
“เชื้อชาติ” ไม่มีในโลก และ “เชื้อชาติไทย” ก็ไม่มี ถูกประกาศแล้วแบ่งปันสู่สาธารณะผ่านโลกของโซเชียล แต่ถึงขณะนี้ไม่พบความเคลื่อนไหวทางวิชาการจากโบราณคดีไทย
“ปลดล็อก” ตนเอง
โบราณคดีไทยเสียการทรงตัวทางวิชาการ ดังนั้น เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการเท่าทันโบราณคดีสากล ควร “ปลดล็อก” ตนเองจากพันธนาการล้าหลัง ดังนี้
(1.) ยกเลิก “เชื้อชาติไทย” และ ยกเลิก “ความเป็นไทย” ไม่เหมือนใครในโลก
(2.) ซื่อตรงต่อหลักฐานโบราณคดี ว่าความเป็นคนมีก่อนความเป็นไทย เพราะความเป็นไทยถูกสร้างและมีพัฒนาการหลังความเป็นคนในอุษาคเนย์และในโลก
เมื่อโบราณคดีไทยซื่อตรงต่อหลักฐานโบราณคดี จะพบว่าไทยมาจากสยาม ครั้นต่อมาสยามถูกเปลี่ยนเป็นไทย เมื่อ 85 ปีที่แล้ว พ.ศ.2482
ดังนั้น ประวัติศาสตร์ไทยมีรากเหง้าจากประวัติศาสตร์สยาม ตรงตามพระราชดำรัส ร.5 ซึ่งทรงเปิดโบราณคดีสโมสร 117 ปีมาแล้ว พ.ศ.2450 (ดูในหนังสือ 111 ปี โบราณคดีสโมสร สมาคมนักโบราณคดี พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2561 หน้า 17-22)
ประเทศไทยมาจากประเทศสยาม และคนไทยมาจากชาวสยาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากความเป็นมาของอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว สืบเนื่องถึงปัจจุบัน โดยมีหลักฐานทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ตั้งแต่วัฒนธรรมบ้านเก่า (กาญจนบุรี), วัฒนธรรมบ้านเชียง (อุดรธานี), ถึงวัฒนธรรมโขง-ชี-มูล (ที่ราบสูงโคราช) ที่หลอมรวมเป็นวัฒนธรรมสยาม (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) แล้วกลายเป็นไทย
เกี่ยวกับสยาม พบหลักฐานและมีการค้นคว้าศึกษาสืบต่อกันมาตามลำดับดังนี้
(1.) “เสียมกุก” ภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด (2.) สยามเรียกตนเองว่าไทย อยู่ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ สมัยพระนารายณ์ฯ อยุธยา (3.) ประวัติศาสตร์สยาม เป็นโครงสร้างประวัติศาสตร์ชาติ อยู่ในพระราชดำรัส ร.5 เปิดโบราณคดีสโมสร (4.) สยามมีรากคำจาก ซัม, ซำ หมายถึงบริเวณดินดำน้ำชุ่ม อยู่ในหนังสือความเป็นมาของคำ สยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ (5.) ชาวสยาม คือคนหลายชาติพันธุ์ที่พูดภาษาไทย-ไต-ไทย-ลาว เป็นภาษากลางในการสื่อสารต่างชาติพันธุ์ อยู่ในงานค้นคว้าวิชาการของ ศรีศักร วัลลิโภดม และ นิธิ เอียวศรีวงศ์ •
| สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022