ดิจิทัลวอลเล็ต ได้ไปต่อหรือไม่ โจทย์ร้อนวัดฝีมือ นายกฯ ‘แพทองธาร’

หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เรียกว่า ผิดคาด หักปากกาเซียนกันเลยทีเดียว

เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีนายกรัฐมนตรี ของ “เศรษฐา ทวีสิน” สิ้นสุดลงเฉพาะตัว

ประเทศไทยจึงต้องมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยเร็วที่สุด

ฝ่ายรัฐสภาเดินเกมเร็ว เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 16 สิงหาคม เลือกนายกรัฐมนตรี

“แพทองธาร ชินวัตร” ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาด้วยคะแนน 319 เสียง ให้ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31

และวันที่ 18 สิงหาคม มีพิธีอัญเชิญพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปคือ หน้าตาคณะรัฐมนตรีชุดแรกของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร”

จากบรรยากาศงานพิธีวันที่ 18 สิงหาคม นอกจากคนของพรรคเพื่อไทยร่วมพิธี แสดงความยินดี ยังมีพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ร่วมแสดงความยินดี ซึ่งเป็นพันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาลนั้นเอง คล้ายจะย้ำว่าโควต้าพรรคร่วมยังคงเดิม

อีกประเด็นใหญ่ที่น่าติดตามเช่นกันคือ นโยบายของรัฐบาลจะมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะนโยบายที่หลายคนสงสัย คือ นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะสานต่อหรือไม่

 

ก่อนการเลี่ยนแปลงนายรัฐมนตรี โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เดินมาถึงขั้นตอนที่รัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียน ผ่านแอพพลิเคชั่นทางรัฐ เพื่อรับสิทธิแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1-15 สิงหาคม ที่เปิดลงทะเบียนมา มีประชาชนให้ความสนใจ 30 ล้านคนแล้ว

แต่ทันทีที่เศรษฐาหลุดจากตำแหน่ง มีกระแสข่าวทันทีว่า “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี สั่งให้ล้มโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อาจเพราะเป็นโครงการที่เต็มไปด้วยอุปสรรค

กอปรกับคาดเดากันว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อาจจะสิ้นสุดลงพร้อม “เศรษฐา ทวีสิน” เนื่องจากแรกเริ่มโครงการนี้มาจากการหาเสียงของ “เศรษฐา ทวีสิน” ในช่วงการเลือกตั้งปี 2566 พร้อมแถลงต่อรัฐสภาในวันแถลงนโยบายของรัฐบาล

โดยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านการเปลี่ยนแปลงมามากมาย การถูกมองว่าไม่ตรงปกกับตอนหาเสียงจึงไม่แปลก

ทั้งเรื่องจำนวนกลุ่มเป้าหมาย จากที่หาเสียงว่า อายุ 16 ปีขึ้นไปรวม 56 ล้านคนได้เงินทุกคน เปลี่ยนมาจนลดลงเหลือ 45-50 ล้านคน อาจเพราะต้านเสียงค้านไม่ไหว เลยตัดคนรวยออกไปกว่า 6 ล้านคน

หรือคำที่ว่า “หากได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะแจกทันที 10,000 บาททุกคน” แต่เมื่อตั้งรัฐบาลกันยายน 2566 ก็เลื่อนไปแจกเป็น 1 กุมภาพันธ์ 2567 ล่าสุดเลื่อนแจกเป็นไตรมาสที่ 4 ปี 2567

 

ขณะที่แหล่งเงินก็ไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะโครงการนี้ใช้เม็ดเงินก้อนใหญ่มาก 5 แสนล้านบาท แต่งบประมาณแต่ละปีมีจำกัด จึงมีข้อเสนอเรื่องการกู้ ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน แต่ก็ติดๆ ขัดๆ ด้านกฎหมาย และกลัวสภาตีตก ทำให้โครงการสิ้นสุดลง

รัฐบาลจึงดั้นด้นหาทางออกใหม่ ด้วยการหาเงินในกรอบงบประมาณ เดือนเมษายน 2567 มีมติ ครม.เห็นชอบในหลักการว่า แหล่งเงินสำหรับการดำเนินโครงการ ได้แก่

1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 จำนวนประมาณ 1.52 แสนล้านบาท

2. การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวนประมาณ 1.75 แสนล้านบาท

และ 3. การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวนประมาณ 1.72 แสนล้านบาท รวมเป็นเงิน 5 แสนล้านบาท

กระนั้นความวุ่นวายก็ยังไม่จบ เพราะก้อนที่จะดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือการใช้งบฯ ตามวิธีการทางงบประมาณ มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เทียบเท่ากับใช้งบฯ นอกงบประมาณ และรัฐบาลตั้งงบฯ ตามไปใช้หนี้ตามสัญญา พบเสียงค้านอยู่ตลอด พร้อมคำเตือนว่าจะซ้ำรอยโครงการจำนำข้าว

สุดท้าย รัฐบาลตัดสินใจใช้แค่เงินจากงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท คืองบประมาณปี 2567 และตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท พร้อมบริหารจัดการงบประมาณอีก 4.3 หมื่นล้านบาท และจากงบประมาณปี 2568 วงเงิน 1.52 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณอีก 1.32 แสนล้านบาท

โดยตีตกการใช้เงินตามมาตรา 28 จาก ธ.ก.ส. ให้กลายเป็นตัวเลือกสำรองแทน

 

ล่าสุด “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ระบุขอให้ทุกท่านติดตามการแถลงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมเดือนกันยายนนี้ พร้อมย้ำว่า มีความตั้งใจทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด เพื่อไม่ให้โดนคดี เพราะไม่มีใครอยากโดนอย่างคุณพ่อ (ทักษิณ ชินวัตร) และคุณอา (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

นายกฯ แพทองธารยังตอบคำถามโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไป และรายละเอียดต้องมีความชัดเจน เพราะเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ

“แต่ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย สภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป จะต้องศึกษาและรับฟังความคิดเห็น แน่นอนว่าต้องอยู่ในกรอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไป และรายละเอียดต้องมีความชัดเจน”

นายกฯ แพทองธารเน้นย้ำ

 

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ประชาชนจำนวนมากมีความหวัง รอคอยการได้เงิน รัฐบาลคาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่เอกชนบางส่วนมีมุมมองต่างออกไป

“วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุ ส่วนตัวเชื่อว่าถึงไม่มีการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทางรัฐบาลก็ยังมีหลายวิธีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การส่งออก การส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยว ดังนั้น หากมีการยกเลิกดิจิทัลวอลเล็ตจริง จะไม่ได้ส่งผลกับเศรษฐกิจไทยนัก

ขณะที่ “ธนิต โสรัตน์” รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ระบุ หากรัฐบาลใหม่จะสานต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ให้ใช้ภายในปี 2567 คงไม่น่าทัน อยากแนะนำว่าถ้าจะสานต่อโครงการนี้ ต้องทบทวนกติกาใหม่ ไปช่วยเหลือคนที่ยากจนและขาดสภาพคล่องทางการเงินมากกว่า หรือทำให้คล้ายกับโครงการคนละครึ่ง หรืออาจจะออกเป็นคูปอง คิดว่าได้ผลมากกว่ากติกาเก่า

เส้นทางของ “ดิจิทัลวอตเล็ต” จะไปต่ออย่างไร จับตาฝีมือนายกฯ “แพทองธาร” นับจากนี้!!