ข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในปัญหาไฟใต้

บทความพิเศษ | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

 

ข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ในปัญหาไฟใต้

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและผู้อ่านทุกท่าน

สำหรับประเทศไทยหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่กำลังรอ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาแก้ปัญหาคือเรื่องปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อถดถอยจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมไปถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่กำลังรอดูสถานการณ์การเมือง หลังจากนี้ รวมไปถึงโฉมหน้าของ ครม.ชุดใหม่ที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สิ่งที่ภาคเอกชนคาดหวังมากที่สุด คือต้องการเห็นการเมืองมีเสถียรภาพ เพราะมีผลต่อความเชื่อมั่นของลงทุน

ขณะที่ประชาชนบางส่วน บอกว่า แม้จะยังไม่เห็นผลงานเป็นรูปธรรมของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่ก็อยากให้โอกาสและขอให้ใช้โอกาสนี้เร่งแก้ปัญหาให้กับประชาชนและเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป

อย่างไรก็แล้วแต่ สำหรับชายแดนใต้แล้วที่อยู่ภายใต้ปัญหาไฟใต้ตลอด 20 ปี และเกือบหนึ่งปีภายใต้รัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ของเพื่อไทย จึงฝากนายกรัฐมนตรี/รัฐบาลชุดใหม่ ในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยพิจารณาจากจุดแข็งนายกรัฐมนตรีหญิง และเป็นคนรุ่นใหม่ รวมทั้งอำนาจทางการเมืองในเชิงประจักษ์ ดังนี้

 

เรื่องที่ (1) นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลจะต้องมีเจตจำนงทางการเมืองในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเจตจำนงทางการเมืองนี้ ตามรัฐธรรมนูญนั้นนายกรัฐมนตรีจะต้องแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งถ้าเราติดตามข่าวในอดีตสมัยนายกรัฐมนตรีเศรษฐานั้น ไม่ได้มีการพูดแนวทางการแก้ปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา (11 กันยายน 2566)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการพูดคุยจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่จะสะท้อนว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ ร่วมกับคณะรัฐมนตรีคนใหม่ มีเจตจำนงทางการเมืองหรือไม่ก็คือ คำแถลงในรัฐสภาในการจะเป็นรัฐบาล

เรื่องที่ (2) นำข้อเสนอ กมธ.สันติภาพสู่ภาคปฏิบัติกล่าวคือในขณะนี้ มีคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการได้มีข้อสรุปอะไรมากมายในการแก้ปัญหา ทั้งรากเหง้าและปัญหาการพัฒนา และกระบวนการพูดคุย

เรื่องที่ (3) ใช้การศึกษาเป็นฐานหลักแก้ปัญหา

ในฐานะที่เป็นคนทำงานในเรื่องของการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากให้รัฐมนตรีที่ลงมาขับเคลื่อนเชิงประจักษ์ว่าการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เหมาะสมกับพื้นที่สามารถแก้ปัญหา

สามารถพัฒนาบุคลากร เยาวชนของชาติ คนรุ่นใหม่ ได้อย่างดี

การศึกษาจึงควรเป็นฐานในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้และพัฒนาประเทศไทยในอนาคต

เรื่องที่ (4) หนุนเสริมบทบาทผู้หญิงต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้หญิงในภาคประชาสังคมได้เริ่มก่อตัวอย่างเด่นชัดหลัง เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ในปี พ.ศ.2547 โดยผู้หญิงได้เข้ามามี บทบาทในการสร้างสันติภาพด้วยการใช้วิธีการอย่างสันติวิธีซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ 4 ประการ คือ

1) การเยียวยา เยี่ยมเยือนและดูแลให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

2) ส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงให้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาผ่านโครงการกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

3) การประสาน ความเข้าใจระหว่างผู้ได้รับผลกระทบกับหน่วยงานรัฐ

และ 4) การเปิดพื้นที่การทำงาน ในชุมชนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งบทบาทดังกล่าวเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่นำมาสู่การสร้าง สันติภาพในการทำงานช่วยเหลือแก่สังคมและการมีพื้นที่สาธารณะในการทำงานภาคประชาสังคมนำไปสู่การยอมรับบทบาทของกลุ่มผู้หญิงที่มีส่วนร่วมในการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้มากยิ่งขึ้น

โดยใช้ช่องทางกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นนโยบายที่สําคัญของรัฐบาลที่ริเริ่มในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ในขณะที่เยาวชนชายแดนใต้มีจุดแข็งที่สำคัญหลายประการแม้จะอยู่ท่ามกลางไฟใต้ 20 ปี ไม่ว่าความรู้สึกยึดโยงกับพื้นที่ และยังมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้ดีขึ้น ในแง่ของการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับท้องถิ่น เช่น ของเยาวชนชายแดนใต้เคยการเข้าร่วมประชุมเพื่อจัดการปัญหาในพื้นที่มีการตั้งกลุ่มมากมายเพื่อลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเอง

ทั้งการเป็นอาสาสมัครต่างๆ เช่น ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม (ภาคใต้ 66.2% ประเทศ 56.0%)

นอกจากนั้น จากคำถามที่ให้เยาวชนประเมินความสำคัญของเป้าหมายในชีวิต พบว่ามีเยาวชนชายแดนใต้มีเพียง 37.5% เท่านั้นที่ประเมินว่าเป้าหมายการย้ายประเทศของตนมีความสำคัญ (ภาคใต้ 54.6% ประเทศ 62.5%) (อ่านรายงานโดยละเอียดใน https://www.the101.world/deepsouth-youth-obstacles/)

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของสตรี ที่ทำงานภาคประชาสังคมนี้ซึ่งมีประสบการณ์กับความพร้อมของเยาวชนในการพัฒนาท้องถิ่น ในการสร้างการมีส่วนร่วมออกแบบนโยบายภายในพื้นที่ เพื่อวางอนาคตของพวกใน 10-20 ปีข้างหน้า หรือแม้กระทั่งตั้งสตรีและเยาวชนในโต๊ะพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ก็ได้ ซึ่งอาจจะเห็นมิติใหม่และความคืบหน้าเห็นอนาคตของการพูดคุยก็เป็นไปได้

เรื่องสุดท้าย แม้อาจจะมีหลายข้ออีก คือยกระดับภูมิปัญญาชุมชนเป็น Soft Power ซึ่ง น.ส.แพทองธารถนัดในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ชายแดนใต้ขอให้รัฐลงมาสนับสนุนทุนให้ชุมชนและพัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างความยั่งยืนบนฐานภูมิปัญญาทางสังคมวัฒนธรรมร่วมรากและฐานทรัพยากรชุมชนเพื่อยกระดับเป็น Soft Power ที่มีมูลค่าเพิ่ม

เช่น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ร่วมราก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาและสมุนไพรจากพืชพันธุ์อันหลากหลาย การฟื้นฟูระบบนิเวศของฐานทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เชิงประวัติศาสตร์ เชิงสุขภาพ