ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ
พื้นที่ความตายในเมืองกรุงเทพฯ (7)
: ความตายแห่งชาติ
ความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐชาติ” ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมทางสังคมการเมืองในยุคสมัยใหม่ กับ “ความตาย” มีหลายมิติที่เชื่อมโยงทั้งประเด็นการเมือง วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ รัฐชาติทั่วโลกต่างใช้ประโยชน์จากความตายในหลายรูปแบบ ทั้งเพื่อการสร้างความชอบธรรมของอำนาจ การสร้างประวัติศาสตร์แห่งชาติ การสร้างสัญลักษณ์ร่วมของชาติ
และที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างความรู้สึกว่าชาติคือสิ่งที่มีมายาวนานข้ามกาลเวลา มิใช่การประกอบสร้างทางสังคมที่เกิดขึ้นเมื่อราว 200 กว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้น (กรณีสังคมไทยราว 100 กว่าปี)
ภายใต้เป้าหมายเหล่านี้ พื้นที่ความตายรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “อนุสรณ์สถาน” หรือ “อนุสาวรีย์” เพื่อระลึกถึง “ความตายแห่งชาติ” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
รัฐชาติทุกแห่งมักเรียกร้องให้พลเมือง (หากถึงคราวจำเป็น) ยอมเป็นส่วนหนึ่งของความตายแห่งชาติ
แนวคิดเรื่อง “การรักชาติยิ่งชีพ” คือสิ่งจำเป็นที่จะต้องปลูกฝัง และการเสียชีวิตของพลเมืองที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อชาติ (ทั้งๆ ที่หลายอย่างเป็นเพียงการกระทำเพื่อรักษาอำนาจของกลุ่มผู้ปกครองมากกว่า) จะถูกนำเสนอว่าเป็นการเสียสละที่มีเกียรติสูงสุด
กระบวนการถัดมาที่ขาดไม่ได้ต่อมาคือ การระลึกถึงความตายแห่งชาติ รัฐชาติจำเป็นต้องผลิตซ้ำความตายเหล่านั้นให้คงอยู่ตลอดไป ผ่านพิธีกรรมและสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การวางพวงมาลา พิธีกรรมทางศาสนา สารคดีระลึกถึงเหตุการณ์ การจัดทำเหรียญที่ระลึก ฯลฯ
ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ทางอารมณ์และจิตวิญาณให้แก่พลเมืองที่ยังมีชีวิตอยู่และที่จะเกิดตามมาในอนาคต ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่แยกขาดไม่ได้ออกจากรัฐชาติ
ความตายแห่งชาติยังนำพาไปสู่อารมณ์ความรู้สึกว่าด้วย รัฐชาติที่เป็นสัจธรรม เป็นอมตะลอยพ้นกาลเวลา และจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ ผ่านการอธิบายความตายของผู้คนในอดีตมากมายว่าคือการตายเพื่อรักษาชาติ ทั้งที่ความตายเกือบทั้งหมดในอดีต (ที่เกินกว่า 200 ปีก่อน) ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับรัฐชาติในแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ตัวอย่างที่ชัดเจนของไทยคือ ความตายของชาวบ้านบางระจัน ซึ่งถูกอธิบายในทัศนะแบบรัฐชาติสมัยใหม่ว่าเป็นการยอมตายเพื่อรักษาอยุธยา (ราชธานีของคนไทยในอดีต) เอาไว้ให้ลูกหลายเหลนโหลนภายหน้า ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง บางระจันเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อรักษาชุมชนบ้านเรือนของตนเท่านั้น
เมื่อรัฐชาติย้อนกลับไปอธิบายความตายในอดีตอันไกลโพ้นให้กลายเป็นความตายแห่งชาติสำเร็จ รัฐชาติในฐานะหน่วยทางสังคมการเมืองที่ยืนยงนับพันปีและเป็นอมตะก็ได้ถือกำเนิดขึ้น และทุกความตายแห่งชาติก็คือการเสียสละที่สูงส่งหาใดเปรียบเพื่อทำให้ชาติยังคงเป็นอมตะต่อเนื่องไปอย่างไม่จบสิ้น
ด้วยเหตุนี้ การสร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงความตายแห่งชาติจึงจำเป็น ทั้งเพื่อเป็นการขอบคุณต่อการเสียสละขั้นสูงสุดที่มนุษย์แต่ละคนพึงกระทำให้แก่ชาติ
และในอีกด้านหนึ่ง สิ่งนี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่จะส่งถ่ายแนวคิดนี้สู่พลเมืองรุ่นต่อไปให้เชื่อ จดจำ และทำตามทุกอย่างเพื่อชาติ แม้ว่าจะต้องตายก็ตาม
ในสังคมไทย “อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1” คือพื้นที่สำหรับระลึกถึงความตายแห่งชาติของไทยที่สำคัญที่สุดแห่งแรก สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่รัชกาลที่ 6 ทรงนำสยามเข้าสู่สงครามโลกโดยประกาศเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร และมีการส่งทหารอาสาสมัครไปช่วยรบในยุโรป โดยในสงครามครั้งนี้มีทหารอาสาเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง
ต่อมารัชกาลที่ 6 จึงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อบรรจุอัฐิผู้เสียชีวิตขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้ตายและเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้น ณ บริเวณด้านหน้าของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยอนุสาวรีย์เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ.2462 โดยในทุกวันที่ 11 พฤศจิกายนของทุกปีจะเป็นวันประกอบพิธีวางพวงมาลาระลึกถึงเหตุการณ์นี้
น่าสังเกตนะครับว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ภายในกำแพงเมืองเก่า ในทัศนะแบบรัฐจารีต นอกจากจะไม่มีการอนุญาตให้ทำการเผาศพคนตาย (ยกเว้นกษัตริย์และเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า) ยังไม่มีการบรรจุอัฐิของผู้ตาย (ยกเว้นกษัตริย์และเจ้านาย) ด้วยเช่นกัน
แต่ในกรณีอนุสาวรีย์ทหารอาสาฯ ที่ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งกลางเมือง กลับมีการบรรจุอัฐิใส่ไว้ โดยแทบทั้งหมดก็เป็นเพียงข้าราชการทหารยศชั้นไม่สูงมากนักด้วย
สิ่งนี้ทำให้เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงต่อการมองความตายของรัฐไทยที่กำลังเปลี่ยนจากรัฐจารีตสู่รัฐชาติสมัยใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว
และหลังจากนั้นมา การบรรจุอัฐิของคนตายในเมืองกรุงเทพฯ ชั้นใน ก็เริ่มขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากอัฐิเหล่านั้นถูกอธิบายว่าเป็นส่วนหนึ่งของความตายแห่งชาติ
เช่นกรณีอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม บริเวณสวนสันติพร หัวมุมถนนราชดำเนินกลาง
สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ แนวคิดว่าด้วยความตายแห่งชาติได้เข้ามาทำลายกฎเกณฑ์เรื่องการห้ามเผาศพคนธรรมดาภายในกำแพงเมืองกรุงเทพฯ ลง โดยเมื่อคราวเกิดเหตุการณ์ปราบ “กบฏบวรเดช” ในปี พ.ศ.2476 ซึ่งทำให้ทหารและตำรวจฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิต 17 นาย เหตุการณ์นี้ถูกอธิบาย ณ ขณะนั้นว่าเป็นความตายที่สำคัญต่อชาติ เป็นการยอมสละชีวิตเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมณูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด
รัฐบาลได้เลือกจัดพิธีเผาศพของวีรชนเหล่านั้น ซึ่งเกือบทั้งหมดคือทหารตำรวจชั้นผู้น้อย หรือเรียกได้ว่าเป็นราษฎรสามัญทั่วไป บริเวณกลางท้องสนามหลวง ซึ่งถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดสำหรับการเผาศพกษัตริย์และเจ้าฟ้าเท่านั้น
การเผาศพครั้งนั้น คือหมุดหมายที่ทำให้การแบ่งแยกพื้นที่เมืองตามระบบจารีตพังทลายลง สนามหลวงไม่จำเป็นต้องเผาศพของเจ้านายชั้นสูงเพียงเท่านั้นอีกต่อไป แต่ยังสามารถเผาศพประชาชนคนธรรมดาได้ หากว่าความตายของพวกเขาเหล่านั้นคือ ความตายแห่งชาติ
การเผาศพของประชาชนกลางท้องสนามหลวงที่เสียเสียชีวิตจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่ยืนยันความเปลี่ยนแปลงเรื่องพื้นที่ความตายในรัฐสมัยใหม่ของไทย
(อย่างไรก็ตาม สนามหลวงในปัจจุบันได้ย้อนกลับไปสู่แนวคิดการมองความตายแบบจารีตอีกครั้ง และคงไม่มีการเผาศพที่เป็นความตายแห่งชาติที่เป็นคนธรรมดาอีกต่อไป)
ในส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ นอกกำแพงเมืองชั้นใน อนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงความตายแห่งชาติ เกิดขึ้นตามมาอีกหลายแห่งนับตั้งแต่การสร้างอนุสาวรีย์ทหารอาสาฯ ที่สำคัญเช่น อนุสาวรีย์ปราบกบฏ บริเวณบางเขน ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช
อนุสาวรีย์เมื่อแรกสร้างถูกออกแบบขึ้นโดยมีลานด้านหน้าตลอดจนองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมหลายอย่างเพื่อเป้าหมายในการสร้างบริเวณนี้ให้เป็นพื้นที่แห่งการระลึกถึงความตายแห่งชาติที่แรกในยุคประชาธิปไตย โดยทุกวันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีจะมีการประกอบพิธีและวางพวงมาลาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ความตายแห่งชาติที่สำคัญ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของทหาร ตำรวจและพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (สงครามอินโดจีน) ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 59 คน
ในเวลาต่อมารัฐบาลได้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์นี้ขึ้นบริเวณกลางถนนพลโยธิน ทำการเปิดเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2485 โดยภายในมีการบรรจุอัฐิของผู้เสียชีวิตเอาไว้ และต่อมามีการบรรจุอัฐิของผู้เสียชีวิตในการต่อสู้เพื่อชาติอีกหลายกรณี ที่สำคัญคือ สงครามเกาหลี
ทุกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี รัฐไทยถือว่าเป็นวันทหารผ่านศึกและจะมีพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งอนุสาวรีย์แห่งนี้อาจถือว่าเป็นพื้นที่ความตายแห่งชาติที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ณ ปัจจุบันก็ว่าได้ โดยภายในมีอัฐิของวีรชนมากถึงกว่า 800 นาย
ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับว่า รัฐจารีตก็ใช้ประโยชน์จากความตายเช่นกัน เช่น การประหารนักโทษและเสียบประจานในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ราษฎรเกิดความเกรงกลัวต่อการทำความผิด ผ่านการสร้างความตายที่โหดร้ายทารุณนานาชนิด
แต่การหาประโยชน์จากความตายของรัฐทั้งสองแบบมีลักษณะที่ต่างกัน
กล่าวโดยย่อ รัฐจารีตมักใช้ประโยชน์จัดการความตายของปฏิปักษ์แห่งรัฐ (นักโทษ กบฏ ฯลฯ) ในที่สาธารณะเพื่อสร้างความกลัวไม่ให้คนอื่นทำตาม (ยกเว้นกรณีเดียวคือความตายของกษัตริย์ ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และต้องอธิบายแยกในโอกาสอื่น)
แต่รัฐสมัยใหม่ การจัดการความตายของปฏิปักษ์แห่งรัฐมักถูกปิดซ่อนไม่ให้สาธารณะรับรู้ ในขณะที่ความตายของผู้ทำคุณงามความดีแก่ชาติต่างหากที่จะได้รับการจัดการในพื้นที่สาธารณะ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022