ละครเรื่อง ‘วิญญูชน’ ปะทะ ‘ศรีธนญชัย’

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

ละครเรื่อง ‘วิญญูชน’

ปะทะ ‘ศรีธนญชัย’

 

หลังกรณีคำวินิจฉัยเรื่องอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา คำว่า “วิญญูชน” ถูกนำมาพิเคราะห์กันอย่างกว้างขวาง

จะด้วยเหตุผลกลใดไม่แน่ชัด พอเจอคำว่า “วิญญูชน” ก็ทำให้ผมคิดถึง “ศรีธนญชัย” มายืนอยู่คนละข้างกันทันที

เพราะสังคมไทยมีคนสองประเภทนี้ที่ทำให้เกิดความสับสนงุนงงได้ไม่น้อย

ภาษากฎหมาย คำว่า “วิญญูชน” หมายถึง ” บุคคลผู้รู้ผิดรู้ชอบตามปกติ”

นั่นแปลว่า หากเรายึดถือหลักความถูกต้องชอบธรรมเหมือนกัน รู้ดีรู้ชั่วในมาตรฐานเดียวกัน ก็คงจะไม่ยากเกินไปที่สังคมจะมองตรงกันว่าอะไรควรและอะไรไม่ควร

แต่ในหลายๆ กรณี โดยเฉพาะในแวดวงการเมือง กลับกลายเป็นว่าอะไรที่ผิดหลักผิดกฎผิดเกณฑ์กลับถูกบิดเบือนให้เป็นสิ่งที่ “ใครๆ เขาก็ทำกัน”

แย่กว่านั้นคือการทำให้สิ่งที่ผิดอย่างโจ๋งครึ่มถูก “ใช้ดุลพินิจ” ของผู้มีอำนาจให้ตีความว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมหน้าตาเฉย

ไปๆ มาๆ นักการเมืองพวกนี้กลายเป็น “ศรีธนญชัย” เพื่อปกปักรักษาผลประโยชน์ของตนเอง

ด้วยการทำตัวเป็นคนเจ้าปัญญา มีเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิง ไหวพริบคล่องแคล่ว สามารถแก้ปัญหาเอาตัวรอดจากปัญหาต่างๆ ได้

ภาษาในแวดวงนี้บอกว่า “ทุกอย่างเคลียร์ได้”

สอดคล้องกับสุภาษิตไทยโบราณว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

“ศรีธนญชัย” กลายเป็น “ฮีโร่” ของสังคมไทย

เพราะเกิดค่านิยมว่าเป็นคนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ตนเองและผู้อื่นในแบบที่คนมักคิดไม่ถึง ผิดวิถีธรรมดา

นั่นหมายถึงการใช้วาทศิลป์ ตรรกะทุกรูปแบบเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง

แม้ว่าจะเป็นตรรกะที่บิดเบี้ยว แต่ด้วยพรสวรรค์ของ “ศรีธนญชัย” ก็สามารถทำให้ดูเหมือนถูกต้องได้

เผลอๆ จะได้ความชื่นชมว่าเป็น “ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร”

บางครั้งก็ยินดีปรีดากับบทบาทของการเป็น “องค์รักษ์พิทักษ์”มาร” ได้อีกด้วย

 

ในสังคมที่มีค่านิยมเช่นนั้น คนที่พยายามจะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมากลับถูกมองว่าเป็นพวก “ซื่อบื้อ”

คนที่ได้รับคำชื่นชมกลับเป็นคน “ฉลาดแกมโกง” หรือ “ฉลาดแต่โกง”

เพราะมีความสามารถพิเศษ สามารถทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด ถูกฟ้องไม่กลัวเพราะสามารถจะทำให้หลุดคดีต่างๆ นานาได้

ไม่ใช่เพียงแค่มีเส้นสาย

หากแต่ยังวิ่งเต้นให้มีการตีความกฎหมายไปในทางที่เป็นคุณต่อผู้กระทำผิดอย่างชัดเจนด้วย

ยิ่งเมื่อสังคมวันนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น วิธีการโกงจึงแยบยลและซับซ้อนกว่าเดิมอย่างมาก

ถึงขั้นที่เป็น “ช่องหมาลอด” ก็กลายเป็น “ช่องคนลอด” ได้ด้วยซ้ำ

 

ไปๆ มาๆ คนปกครองบ้านเมืองคือ “ศรีธนญชัย”

ขณะที่ประชาชนทั่วไปที่เรียกว่า “วิญญูชน” มีอันต้องพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง

เพราะนักการเมืองแบบศรีนธนญชัยสามารถสร้างความชอบธรรมด้วยการความจริงเพียงครึ่งเดียว และสรุปด้วยภาษาหยดย้อยให้ผู้คนคล้อยตาม

เรื่องผิดๆ ก็อ้างข้อมูลบิดเบือนจนฟังเหมือนเป็นเรื่องถูกได้

ยิ่งสังคมไทยบูชาเงิน, อำนาจและบารมี ก็มักจะคล้อยตามคนที่มีฐานะและตำแหน่งทางการ

“ศรีธนญชัย” กลายเป็น “ค่านิยม” ยกย่องคนฉลาดแม้จะโกง

แต่หากถาม “วิญญูชน” แล้วสิ่งที่เรียกว่า “โกงเพื่อชาติ” เป็นวาทะหากินของ “ศรีธนญชัย” เท่านั้น

เพราะในท้ายที่สุด ศรีธนญชัยคือคนที่ใช้ความรู้ ใช้ปัญญาเพื่อหลอกคนอื่น เอาเปรียบคนอื่น

เป้าหมายคือการใช้ทุกวิถีทางเพื่อบิดให้สิ่งที่ผิดกลายเป็นเรื่องถูกต้อง

ถึงขั้นใช้เงิน, เส้นสาย, อำนาจ, บารมีเพื่อบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมได้

 

ผมจินตนาการภาพของ “วิญญูชน” กับ “ศรีธนญชัย” ที่ต้องเผชิญหน้าเพื่อพิสูจน์บทบาทของตนในเวทีสังคมไทยที่ประชาชนคนไทยนั่งเป็นผู้ดูอยู่ข้างล่าง

วาดภาพว่าทั้งสองตัวละครนี้ประชันบทบาทอย่างดุเดือด

ไม่ใช่ในฐานะฮีโร่หรือวายร้ายตามตำนานอภินิหารใดๆ

แต่ในฐานะผู้กำหนดชะตากรรมของแผ่นดิน และเนื้อหาที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์

ในละครเรื่องนี้ “ศรีธนญชัย” เป็นชายผู้เปี่ยมไปด้วยความสามารถในการใช้ลมปากและโวหารสร้างภาพตนเองในแวดวงการเมืองไทย

เก่งกาจสามารถในการสร้างข่าวลือ กระพือข่าวลวง วาทะพรั่งพรูด้วยคำมั่นสัญญาที่เป็นเพียงแค่เสียงไพเราะเสนาะหู

โดยกลอุบายทั้งหมดนี้ก็เพื่อเบียดเสียดให้ตัวเองเข้าสู่ตำแหน่งสูงๆ ในรัฐบาล

“ศรีธนญชัย” เติบใหญ่ในสังคมมิได้มาด้วยความสามารถหรือการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

หากแต่ตักตวงผลประโยชน์ทุกๆ ด้านด้วยกลเม็ดการหลอกลวง ความโลภ และความเห็นแก่ตัว

ความสามารถพิเศษคือการสร้างความหวังปลอมๆ

และเมื่อเข้าสู่อำนาจสำเร็จก็ใช้อำนาจนั้นเพื่อใช้เงินภาษีประชาชนเพื่อรักษาอำนาจนั้นไว้ให้นานที่สุด

 

อีกด้านหนึ่งบนเวทีแห่งนี้คือ “วิญญูชน”

เป็นตัวแทนของประชาชนที่ตื่นรู้ถึงความอยุติธรรมในสังคม

เป็นเสียงสะท้อนของชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม

เขาคือพลเมืองที่ศึกษาและวิพากษ์วิจารณ์การกระทำอันมิชอบของผู้มีอำนาจ

รวมถึงเยาวชนที่เชื่อมั่นว่าประเทศนี้ยังมีทางที่จะเป็นดินแดนที่เที่ยงธรรมและโปร่งใส

แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าศรีธนญชัยไม่ได้มีความเกรงกลัวต่อวิญญูชนเลยแม้แต่น้อย

เมื่อวิญญูชนออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความโปร่งใส ศรีธนญชัยก็ใช้วาจาเสียดสีเยาะเย้ย

ปากก็บอกว่า “เราจะรับฟังความเห็นของทุกคน”

แต่ในทางปฏิบัติ ศรีธนญชัยทำทุกอย่างเพื่อกลบเสียงของวิญญูชน

วิญญูชนรู้ว่าคำพูดของศรีธนญชัยเป็นเพียงการหลอกลวง แต่ดูเหมือนคนจำนวนไม่น้อยจะเชื่อวาทะอันคล่องแคล่วและแหลมคม

วิญญูชนสู้ด้วยความตระหนักแต่เพียงว่าวันหนึ่งความจริงจะปรากฏและประชาชนจะตื่นรู้

แต่นั่นคือสงครามที่ยากเย็นและยืดเยื้อสำหรับฝ่ายที่ต้องการต่อสู้เพื่อความถูกต้องชอบธรรม

 

ศรีธนญชัยใช้เงินและอิทธิพลใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองเป็น “คนดี” ที่ห่วงใยประชาชน

ทั้งๆ ที่นั่นคือการกลบเกลื่อนความผิดและพฤติกรรมฉ้อฉลของตน

วิญญูชนสู้ด้วยข้อมูล ความรู้ ความจริง และความซื่อสัตย์เป็นอาวุธ

เป็นการต่อสู้ที่ยากลำบาก แต่วิธีการของวิญญูชนคือการฟ้องประชาชนถึงความบิดเบือนของข้อมูลของผู้มีอำนาจ

ยืนหยัดด้วยการนำเสนอข้อมูลและงานวิจัยที่พิสูจน์ได้เพื่อเปิดโปงกลลวงของศรีธนญชัย

ด้วยความเชื่อมั่นว่าความยุติธรรมจะต้องมีชัยในที่สุด

การมีวิญญูชนแม้แต่คนคนเดียวที่ยืนหยัดก็เป็นแสงสว่างที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้

แต่ศรีธนญชัยใช่จะยอมแพ้ง่ายๆ

เมื่อเห็นว่าวิญญูชนเริ่มมีพลังมากขึ้น ก็คิดว่าวิธีใหม่ๆ ที่จะปิดปาก

พฤติกรรมที่ปราฏให้เห็นบ่อยๆ คือการเริ่มใช้กฎหมายเป็นอาวุธ

ใช้อำนาจรัฐเพื่อกำจัดผู้ที่เห็นต่าง

ตามมาด้วยการข่มขู่หรือจับกุมด้วยการยัดเยียดข้อหาที่ไม่เป็นจริงตามวิธีการ “ฟ้องเพื่อปิดปาก”

“วิญญูชน” สื่อสารกับสังคมด้วยการยืนยันจากกระทำอย่างจริงจังว่าสงครามเยี่ยงนี้ไม่ได้ทำแค่เพื่อเขาเอง แต่เพื่อให้สังคมทั้งมวลอยู่ภายใต้กติกาที่ยุติธรรมและโปร่งใส

ความหวังคือให้ชื่อของศรีธนญชัยกลายเป็นเพียงตำนานเล่าขานในอดีต ไม่ใช่สิ่งที่คอยครอบงำอนาคต

 

ผมตกใจตื่นจากภวังค์เรื่อง “วิญญูชนกับศรีธนญชัย”

เหงื่อแตกพลั่กเต็มตัว

ทำไมความฝันกับโลกความจริงมาบรรจบกันที่จินตนาการผมจนได้?