สุรชาติ บำรุงสุข : สันติภาพร้อน! ภูมิทัศน์การเมืองโลก 2018

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“แม้เรื่องราวส่วนใหญ่ในการเมืองโลกเป็นการต่อสู้แบบพื้นฐาน แต่ก็เป็นการต่อสู้ที่จะต้องทำอย่างชาญฉลาด”

Zbigniew Brzezinski

การเมืองโลก 2018 จะเป็นปีของ “สันติภาพร้อน” อันเป็นผลจากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ ซึ่งน่าจะทวีความเข้มข้นและร้อนแรงมากขึ้น

การแข่งขันเช่นนี้อาจจะมิได้หมายถึงการเผชิญหน้าและก้าวสู่สภาวะสงคราม

หากแต่จะเป็นการแข่งขันภายใต้กรอบของระเบียบโลกที่เป็น “สันติภาพ”

แต่การเผชิญหน้าที่ทวีความตึงเครียดมากขึ้นน่าจะเป็นวิกฤตนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี

และคาดเดาไม่ได้ว่าในปี 2018 วิกฤตนี้จะก้าวไปสู่ “จุดสุดท้ายที่ถอยกลับไม่ได้” (brinkmanship) หรือไม่

ประกอบกับความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นในยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อระเบียบโลกเช่นกัน

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองสำรวจปัจจัยหลักห้าประการที่จะกำหนดภูมิทัศน์ของการเมืองโลกในปี 2018

1)การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่

การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ถือได้ว่าเป็นภาวะปกติของการเมืองโลก จากยุคสงครามเย็นสู่ยุคหลังสงครามเย็นสะท้อนถึงสภาวะดังกล่าวอย่างชัดเจน

ในการแข่งขันเช่นนี้เราเห็นได้ชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ 3 มหาอำนาจใหญ่ของโลก

ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเช่นนี้มีผลอย่างมากกับบทบาทของรัฐมหาอำนาจ ได้แก่

(1) การเปลี่ยนแปลงผู้นำของสหรัฐอเมริกา

การเมืองโลกไม่เพียงจะเป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐมหาอำนาจใหญ่เท่านั้น แต่เรายังได้เห็นถึงปัจจัยตัวผู้นำที่จะมีผลโดยตรงในกระบวนการทำนโยบายของรัฐมหาอำนาจนั้นๆ อีกด้วย

ฉะนั้น ชัยชนะในการชิงตำแหน่งของประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในเดือนพฤศจิกายน 2016 นั้น เปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐในเวทีโลกอย่างมาก

จนต้องยอมรับว่านโยบายอเมริกันกลายเป็นสิ่ง “คาดเดาไม่ได้” เพราะผู้นำใหม่ที่ทำเนียบขาวไม่ใช่ข้าราชการหรือนักการเมืองที่ผ่านเวทีการเมืองมาก่อน

บุคลิกและวาทกรรมที่ถูกนำเสนอไม่ว่าจะเป็น “America First” (อเมริกาต้องมาก่อน) หรือ “Make America Great Again” (สร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง) พร้อมทั้งการแสดงออกด้วยแนวคิดและทิศทางแบบ “ขวาจัด” ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ อันส่งผลให้นโยบายของสหรัฐออกมาในแบบที่แตกต่างไปจากเดิมที่อเมริกาเคยเป็น “ผู้นำกระแสเสรีนิยม”

นโยบายใหม่จึงออกมาในรูปของการต่อต้านมุสลิม

การเตรียมสร้างกำแพงตามแนวชายแดนเม็กซิโก

การสนับสนุนการย้ายเมืองหลวงของอิสราเอล

การเปิด “สงครามน้ำลาย” กับผู้นำเกาหลีเหนือ และการตอบโต้การทดลองอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธระยะไกลของเกาหลีเหนือ

ทิศทางใหม่เช่นนี้ส่งผลให้นโยบายของสหรัฐกลายเป็นปัจจัยของ “ความไม่แน่นอน” ในเวทีโลกทั้งที่ทรัมป์อยู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเพียง 1 ปีเท่านั้น

และโลกยังคงต้องอยู่กับความไม่แน่นอนจาก “ปัจจัยทรัมป์” อีก 3 ปี

(2) การกลับสู่เวทีโลกของรัสเซีย

การสิ้นสุดของสงครามเย็นในปี 1989/1990 การหมดพลังของสหภาพโซเวียต จนในที่สุดก็เกิดการแตกสลายจนกลายเป็นรัสเซียเช่นในปัจจุบัน

หลังจากนั้นบทบาทรัสเซียในเวทีโลกก็ลดลงอย่างมาก จนการเมืองโลกมีลักษณะที่เป็น “ขั้วเดียว” ที่สหรัฐเป็นแกนหลักของโลกฝ่ายเดียว คือเป็น “unipolar” (ในขณะที่ยุคสงครามเย็นมีลักษณะเป็น “bipolar”)

แต่ผลพวงจากวิกฤตการณ์ในยูเครนสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัสเซียฟื้นบทบาทของตนแล้ว

และหลังจากการฟื้นเช่นนี้ก็เห็นในอีกบริบทหนึ่งจากปฏิบัติการทางทหารในสงครามกลางเมืองซีเรีย

อันเป็นการยืนยันว่า รัสเซียกลับคืนสู่เวทีการเมืองโลกแล้ว

และในตะวันออกกลางบทบาทของรัสเซียที่หายไปถึง 25 ปีก็เห็นชัดถึงการกลับมาอีกครั้ง

(3) การเติบใหญ่ของจีน

วันนี้สถานะของจีนเป็นหนึ่งในมหาอำนาจใหญ่ของโลกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นความชัดเจนที่บ่งบอกถึงสถานะที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ

ผลที่ตามมาก็คือการขยายบทบาทของจีนในเวทีโลก ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาจีนยังขยายขีดความสามารถทางทหารอย่างมาก

การปรากฏตัวของเรือบรรทุกเครื่องบิน “เหลียวหนิง” และกองเรือรบจีนในเอเชีย-แปซิฟิกเป็นคำยืนยันในกรณีนี้

สภาวะเช่นนี้ถูกเรียกง่ายๆ ว่า “The Rise of China” และเห็นถึงบทบาทจีนในเวทีสากลอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ในขณะที่ “ปัจจัยทรัมป์” เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความผันผวนในเวทีระหว่างประเทศ ผู้นำจีนอย่างสีจิ้นผิงกลับแสดงให้เห็นว่า “ปัจจัยจีน” นั้นเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพในเวทีโลก

สภาวะเช่นนี้คงต้องยอมรับว่าปี 2017 เราเห็นถึง “ภาพลบ” ของทรัมป์ แต่สีจิ้นผิงกลับแสดงให้เห็น “ภาพบวก” ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศสนับสนุนระเบียบโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์

2)ความเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลาง

ในปี 2018 ตะวันออกกลางจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการเมืองโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีปัจจัยที่สำคัญ เช่น

1) การต่อสู้แข่งขันชิงความเป็นรัฐผู้นำระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน ซึ่งบทบาทของผู้นำใหม่ของซาอุดีอาระเบียเป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยมีความพยายามที่จะสร้างฐานะการนำของซาอุดีอาระเบียให้เป็นที่หนึ่งในโลกอิสลาม

2) ปัญหาการย้ายเมืองหลวงของอิสราเอลจะคงเป็นปัญหาสำคัญในปี 2018 และจะเป็น “จุดเดือด” หนึ่งในปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3) ปัญหาสงครามกลางเมืองซีเรีย

4) ปัญหาสงครามกลางเมืองในเยเมน

5) ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งจะต้องจับตาดูต่อไปว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะดำเนินการอย่างไร เพราะสหรัฐคงยกเลิกทิศทางเดิมในยุคโอบามา และเป็นความกังวลว่าปัญหานี้อาจจะขยายตัวเป็น “วิกฤต” ได้ในอนาคต

6) ปัญหาการขยายตัวของการก่อการร้ายในภูมิภาค ซึ่งปัญหานี้จะยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการเมืองโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และน่าสนใจว่าในปี 2018 การก่อการร้ายในตะวันออกกลางจะเป็นไปในทิศทางใด และจะมีรูปแบบความรุนแรงเป็นเช่นไร

3)วิกฤตของสหภาพยุโรป

จากปี 2015 เป็นต้นมาเห็นได้ชัดว่าสหภาพยุโรป (EU) เผชิญกับวิกฤตชุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตก่อการร้าย คู่ขนานกับวิกฤตผู้อพยพ ผลเช่นนี้ทำให้ภูมิทัศน์การเมืองภายในของยุโรปหันไปสู่ความเป็น “ประชานิยมปีกขวา” (Rightwing Populism) ชัยชนะของการพาอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปเป็นคำยืนยันที่ชัดเจน อีกทั้งยังจะเห็นได้ถึงการขยายตัวของกลุ่มประชานิยมปีกขวาในการเมืองยุโรปมากขึ้น

แม้ในปี 2017 กลุ่มนี้จะไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี แต่ก็เห็นถึงการเพิ่มมากขึ้นของอิทธิพลในทางความคิด

เช่น แม้พวกเขาจะไม่ชนะการเลือกตั้งในเยอรมนี แต่ผลที่ได้รับก็ถือว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญในการทำให้พรรคการเมืองที่มีแนวคิดแบบขวาจัดสามารถเข้ามานั่งในรัฐสภาเยอรมนีอย่างเป็นกลุ่มก้อนหลังจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

หรือการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำใหม่ในการเลือกตั้งของออสเตรียก็เป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองในปีกนี้

วันนี้คงต้องยอมรับว่าการเมืองภายในของสหภาพยุโรปกำลังถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มขวาจัดที่เป็นประชานิยม และคงต้องยอมรับว่า “ประชานิยมปีกขวา” กำลังเป็นพลังที่เติบโตในภูมิทัศน์ของการเมืองยุโรป

การปรากฏตัวของพวกเขาบ่งบอกอย่างชัดเจนถึงภูมิทัศน์การเมืองของยุโรปที่เปลี่ยนไปทางขวา และขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความกลัวอิสลาม การไม่ยอมรับผู้อพยพ การไม่พอใจต่อโลกาภิวัตน์

และปัจจัยเช่นนี้กำลังส่งสัญญาณถึงการกำเนิดของ “ชาตินิยมใหม่” ที่กำลังก่อตัวขึ้นในหลายๆ ประเทศของยุโรป และพวกเขาไม่ต้องการอยู่ในสหภาพ

ในอีกด้านหนึ่ง สหภาพก็ถูกท้าทายจาก “ชาตินิยมเก่า” ที่ต้องการตั้งรัฐเอกราชใหม่ หรือลัทธิของการแยกตัวออก (Separatism) ในกรณีของคาตาโลเนีย เสียงสนับสนุนต่อการตั้ง “แคว้นกาตาลุญญา” เป็นวิกฤตการเมืองของสเปน แต่ขณะเดียวกันก็ท้าทายต่อการจัดการของสหภาพยุโรป

อันจะส่งผลให้สหภาพในปี 2018 ต้องเผชิญกับความท้าทายเช่นนี้มากขึ้น

4)ความท้าทายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2018 ก็เผชิญกับความท้าทายไม่แตกต่างกัน

ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ยังคงเป็นปัญหาที่ดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

การขยายอำนาจทางทะเลของกองทัพเรือจีนเป็นปัจจัยสำคัญเท่ากับท่าทีของผู้นำสหรัฐว่าจะมีบทบาทอย่างไรในภูมิภาค

ประเด็นนี้จะเป็นปัญหาต่อไปในปี 2018 ในอีกด้านหนึ่ง

ตัวแบบของการโจมตีและยึดเมืองมาลาวีในภาคใต้ฟิลิปปินส์เป็นสัญญาณเตือนภัยการก่อการร้ายที่สำคัญในภูมิภาค

เพราะเป็นปฏิบัติการที่อยู่ภายใต้ตัวแบบกลุ่มรัฐอิสลามเช่นในอิรักหรือซีเรีย

เมื่อตัวแบบนี้เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นสัญญาณของการขยายอิทธิพลของกลุ่มรัฐอิสลามในพื้นที่แถบนี้แล้ว ยังบ่งบอกถึงการขยายแนวคิดแบบ “สุดโต่ง” อีกด้วย

ปัญหาเช่นนี้ทำให้ “ตัวแบบมาลาวี” เป็นความท้าทายต่อรัฐบาลในภูมิภาคอย่างมาก

และปัญหาก็คือในปี 2018 จะเกิดตัวแบบนี้ขึ้นอีกหรือไม่

นอกจากนี้ ภูมิภาคยังเผชิญกับ “วิกฤตผู้อพยพ” ไม่แตกต่างกับยุโรป

กรณีโรฮิงญาไม่เพียงแต่บอกถึงความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์และวัฒนธรรมในเมียนมา แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา “ความกลัวอิสลาม” ไม่แตกต่างจากยุโรปเช่นกัน

ปัญหานี้จะเป็นความท้าทายต่อไปในปี 2018 เช่นที่เราได้เห็นมาแล้วในปีที่ผ่านมา

5)การเผชิญหน้าในเอเชียตะวันออก

เอเชียตะวันออกในปี 2018 จะเผชิญความท้าทายที่สำคัญอันเป็นผลจากสถานการณ์ “วิกฤตนิวเคลียร์” บนคาบสมุทรเกาหลี ความตึงเครียดที่เห็นได้ในปี 2017 เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า “การเผชิญหน้านิวเคลียร์” ระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือเป็นปัญหาการเมืองที่มีนัยสำคัญทั้งต่อภูมิภาคและต่อโลก

และดูเหมือนสถานการณ์ต่างๆ จะไม่ลดระดับความรุนแรงลง

ไม่ว่าจะเป็น “สงครามน้ำลาย” ที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงโดยปริยาย

และขณะเดียวกัน ความตึงเครียดก็เพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยของการเตรียมการและท่าทีทางทหารของทั้งสองฝ่าย อีกทั้งเมื่อต้องผนวกเข้ากับบุคลิกและท่าทีของผู้นำทั้งสองฝ่ายแล้ว หลายๆ ฝ่ายดูจะมีความกังวลคล้ายๆ กันถึงความกลัวสงครามนิวเคลียร์

วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลียังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ “ลุ่มๆ ดอนๆ” ระหว่างจีนกับสหรัฐ ตลอดรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจทั้งสองกับประเทศในภูมิภาคนี้ทั้งหมด

ในความกลัวเช่นนี้ก็ยังมีความหวังในปี 2018 ว่าการผลักดันให้เครื่องมือทางการทูตจะสามารถขับเคลื่อนได้มากน้อยเพียงใด

หรือปี 2018 จะเป็นช่วงเวลาที่ระดับการเผชิญหน้าจะถูกยกสูงขึ้นหรือไม่

ดังนั้น คาบสมุทรเกาหลี 2018 เป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่จะเป็นประเด็นสำคัญในการเมืองโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้อย่างมีนัยสำคัญก็คือ บุคลิกและอารมณ์ของผู้นำที่วอชิงตันและเปียงยางจะเป็นอย่างไรในปี 2018

แต่อย่างน้อยสัญญาณจากการเจรจาสองฝ่ายของเกาหลีก็ดูจะทำให้บรรยากาศของสถานการณ์เป็นไปในทางบวกอยู่บ้าง

สันติภาพร้อน

ปัจจัยทั้งห้านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระเบียบของการเมืองโลกปัจจุบันจะอยู่ในลักษณะที่เป็น “สันติภาพร้อน” (Hot Peace) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากปัจจัยการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่แล้ว ก็เห็นได้ชัดว่า แม้รัฐมหาอำนาจใหญ่จะแข่งขันกัน แต่ก็มิได้หมายความว่าพวกเขาต้องการพาการแข่งขันนี้ไปสู่การเป็นสงคราม

เพราะหากสงครามของรัฐมหาอำนาจเกิดขึ้นแล้ว ก็อาจจะทำให้เกิด “สงครามโลก” อีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่ความคุ้มค่าทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการแข่งขัน และเป็นการแข่งขันที่น่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่าระเบียบโลกในสภาวะเช่นนี้จะอยู่ในสภาวะที่เป็น “สันติภาพร้อน”

อีกทั้งเมื่อผนวกเข้ากับปัจจัยความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงของการเมืองในตะวันออกกลาง วิกฤตในสหภาพยุโรป ความท้าทายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดรวมถึงการเผชิญหน้านิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีแล้ว

สันติภาพร้อนของปี 2018 ก็น่าจะร้อนมากขึ้น!