เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (16) 500 ปี โคลงนิราศหริภุญไชย : คุณค่า และความทรงจำ (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

มาถึงตอนสุดท้ายของบทความเรื่อง “500 ปี โคลงนิราศหริภุญไชย” จากมุมมองของศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เมธี ใจศรี นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ล้านนารุ่นใหม่

ตอนนี้จะได้ปิดประเด็นด้วยเรื่องที่สำคัญยิ่ง 2 หัวข้อ คือเรื่อง เหตุการณ์ภัยแล้งเมื่อ 500 ปีที่แล้ว

และพลาดไม่ได้กับคำเฉลยว่าใครคือกวีผู้รจนาโคลงนิราศเล่มนี้ พร้อมด้วย “นางศรีทิพ” หวานใจของเขา

 

ภัยแล้ง วิกฤต “เอลนีโญ” ในล้านนา

ปี2060 ประวัติศาสตร์ล้านนาต้องจารึกไว้ ว่าได้เกิดภัยแล้งอย่างสาหัส ซึ่งอาจารย์อรุณรัตน์พูดติดตลกไว้ว่า “อุปมาอุปไมยดั่งวิกฤตเอลนีโญ” (El Nino ภาษาสเปน อันที่จริงคำนี้หมายถึงบุตรพระคริสต์) ที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อปี 2553 และอีกหลายๆ ปีที่ผ่านมา

หลักฐานเรื่องภัยแล้ง สมัยพระเมืองแก้ว (พ.ศ.2038-2068) ปรากฏอยู่ในโคลงนิราศหริภุญไชย ที่กวีได้พรรณนาถึงความร้อนไว้อย่างแล้งร้าย คล้ายภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ข้าวปลาอาหาร ผลผลิตต่างๆ ลดลง ประชาชนไม่มีอาหารถวายทำบุญ

โคลงนิราศหริภุญไชยเป็นเอกสารล้านนาที่กล่าวถึงความร้อนในสมัยเมื่อ 500 ปีก่อน และคงจะเกิดต่อเนื่องนานนับปี จนถึงขั้นวิปริต ทั้งที่ในสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูนอุดมไปด้วยป่าไม้ใหญ่ อากาศเย็นเกือบตลอดทั้งปี

การที่ผู้แต่งได้บรรยายความร้อนไว้ในโคลงนิราศหริภุญไชย สะท้อนว่าสภาพอากาศสมัยนั้นต้องร้อนมากผิดปกติ

วานน้ำขุงน่านน้ำ    เขินขุน   คอบเอ่

อกทะเลวังวุน    เล่าแล้ง

อังเกินทังอาดุร    แดเดือด    ทรวงเอ่

เห็นหาดหนหั้นแห้ง    เยียะแห้งแถมถนอม

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ให้ความหมายว่า วานให้น้ำ ลำน้ำ และเกาะแก่งกลับไป (บอกข่าวนาง) ท้องน้ำและวังวนยังแห้งไปเล่า คับแค้นเหลือเกินทั้งทุกข์ทนและเดือดร้อนในใจ เห็นหาด ณ ที่นั้นแห้ง ทำให้อกพี่แห้งเพิ่มขึ้น

บทนี้ผู้แต่งได้พบเห็นน้ำปิงแห้ง ขนาดเห็นเกาะแก่ง ท้องน้ำ วังวนที่อยู่ลึกมาก ตลอดจนเห็นหาดทราย ซึ่งในสมัยนั้นเหตุการณ์เช่นนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ อากาศร้อนมาก ทำให้นกหาน้ำจากแม่น้ำหรือหนองน้ำกินไม่ได้

เป็นธรรมชาติของนกในสภาวะที่มีอากาศร้อนหรือแห้งแล้งมากๆ นกที่จะหาน้ำดื่มจากดอกไม้ซึ่งซับน้ำเอาไว้ในดอก ผู้แต่งบรรยายไว้ในบทที่ 62 ได้อย่างชัดเจน ดังนี้

สาลิการักร่ำถ้อง   เถิงแล   แม่ฤๅ

ฤๅเศียรเสียงซอแซ   ซ่ำซ้ำ

ชิงดวงดอกจอแจ    เถียงถ่อง    กันเอ่

รอยร่างเสวยรสน้ำ    ดอกนั้นน่านิรม

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ให้ความหมายว่า นกขุนทองพูดกับนกแก้วได้เสียงชัด เสียงดังจอแจติดๆ กัน ต่างก็ชิงดอกไม้กันเถียงกันเสียงจอแจ นกนับร้อยกินน้ำหวานของดอกไม้น่าบันเทิงใจ

นอกจากนั้น ผู้แต่งยังบรรยายไว้เปรียบเทียบอีกว่า แม้นตอนพลบค่ำแล้ว สายลมก็ยังไม่โบกโบย ทั้งๆ ที่เวลานี้น่าจะมีลมหนาว ทำให้ผู้แต่งคิดถึงเวลาที่ได้เคยโอบกอดกัน กล่าวไว้ 2 บท ดังนี้

สนธยายามเยียะแล้ง   ลมถวิล

หนาวอ่อนอรพิน   พรากข้าง

อรชรชอบยามยิน   อุรุเล่า  ไปเอ่

ขามเขือกเขรงน้องร้าง เรียกขวั้นขวัญมา

เมื่อมาถึงวัดพระยืน จังหวัดลำพูน ผู้แต่งบรรยายไว้อีกว่า เกิดภัยแล้งขึ้นนานนับปี จึงไม่มีผู้ใดนำเครื่องบูชามาถวายพระพุทธรูปในวัด ทั้งๆ ที่การบูชาพุทธรูปนั้นมีอานิสงส์มาก ดังนี้

นานนักชระลิ่วแล้ง    สาลี

ภันโภชน์นานนับปี    อ่านปั้น

ปูชารูปรอยมี ผลมาก    นักเอ่

ก็เท่าลุแก้วหมั้น    แม่เอ้ยยาไสน

ปัญหาเรื่องภัยแล้งส่งผลอย่างมากต่อความเข้มแข็งของเชียงใหม่ในสมัยพระเมืองแก้ว จนต้องขอพึ่งพิงเมืองบริวาร นำมาซึ่งการที่เมืองบริวารเหล่านี้เห็นจุดอ่อนของเชียงใหม่จึงเริ่มแข็งเมือง สมัยนั้นเห็นได้ว่าอำนาจทางการเมืองของเชียงใหม่ค่อยๆ ลดและเสื่อมลงจนเสียเมืองแก่พระเจ้าบุเรงนองใน ปี พ.ศ.2101

 

ปริศนา “นางศรีทิพ”
และ “ผู้แต่งโคลงนิราศหริภุญไชย”

นางศรีทิพ นางที่ผู้เขียนพรรณนาถึงคือใคร เป็นคำถามที่ท้าทาย นักวรรณกรรมล้านนาโบราณเป็นอย่างมาก หลายครั้งก็เชื่อว่า นางศรีทิพ คงเป็นนางในจินตนาการของผู้แต่งเป็นแน่แท้

ในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ เคยให้ข้อสังเกตไว้บ้างแล้ว ในบางบทที่มีการถอดความโคลง อาจารย์ให้ข้อสังเกตว่า นางศรีทิพนี้ น่าจะเป็นราชนิกูล หรือมีเชื้อสายเจ้านาย

เพราะในโคลงบทที่ 180 มีข้อความว่า “ป่านแปงทูล ทิพอาช ญาเอ่” แต่อาจารย์ก็ได้ทิ้งคำถามนี้ไว้ให้นักวรรณกรรมรุ่นหลังช่วยกันศึกษา ค้นหาดู ซึ่งอาจจะได้ความกระจ่างในสักวันหนึ่ง

เนื่องจากวรรณกรรมเรื่องนี้มีอายุครบ 500 ปี อาจารย์อรุณรัตน์และลูกศิษย์คือเมธี จึงช่วยกันกลับมาอ่านโดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งถือว่านานมากหลังจากวันที่อาจารย์ประเสริฐได้ทิ้งคำถามเอาไว้ จนพบคำไขหลายคำในโคลงหลายบทที่น่าจะบ่งบอกว่านางศรีทิพ คือใคร ขอได้พิจารณาร่วมกันดังนี้

1. ในโคลงบทที่ 8 บาทที่ 2 เขียนไว้ว่า “ขงเขตนพบุร ยกย้าย” นพบุร คำว่า นพ + บุร หมายถึงเมืองเชียงใหม่ หรือ “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่”

2. ในโคลงบทที่ 12 บาทที่ 3 เขียนไว้ว่า “กุศลพี่ทำเพียร นพราช เดียวเอ่” แปลว่า กุศลที่พี่เพียรทำเพื่อ ให้ได้พบน้องนางเดียวเท่านั้น (ผู้เป็นกษัตริย์หญิงแห่งเชียงใหม่) ไม่ประสงค์ไปเกิดในโลกหรือสวรรค์อื่นใด เพราะ นพ + ราช = กษัตริย์เชียงใหม่

3. ใน พ.ศ.2060 กษัตริย์เชียงใหม่เป็นผู้หญิง เนื่องจาก พ.ศ.2038 พระญายอดเชียงราย กษัตริย์เชียงใหม่ในขณะนั้นถูกเนรเทศไปอยู่เมืองซะมาศ เหล่าเสนามาตย์จึงอัญเชิญ พระเมืองแก้ว ซึ่งมีอายุเพียง 14 ปี ขึ้นเป็นกษัตริย์แทนพระบิดา

ด้วยพระเมืองแก้วยังทรงพระเยาว์ พระราชมารดาจึงเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือบริหารราชการแผ่นดินแทนหรือร่วมด้วย เอกสารการรับรู้ของคนในสมัยนั้น เรียกทั้งพระมารดาและพระโอรสว่าเป็นกษัตริย์เหมือนกัน จึงบันทึกพระนามว่า “พระเป็นเจ้าแม่ลูก” โคลงนิราศหริภุญไชยบทที่ 160 กล่าวว่า พระราชมารดานั้น มีฐานะเป็นกษัตริย์ด้วยพระองค์หนึ่ง “ธิบาธิเบศร์แก้ว กัลยา ก็มา” ในบาทที่ 1 นั้นน่าจะหมายถึง กษัตริย์ผู้หญิงก็มา ดังนี้

ธิบาธิเบศร์แก้ว   กัลยา ก็มา

ปกป่าวชุมวนิดา   แห่ห้อม

คือจันทร์อำรุงดา   ราล่อง   งามเอ่

สนมนาฏเลือนเลือนล้อม   เนกหน้าเต็มพลาน

4. นางศรีทิพ คือคนเดียวกันกับพระราชมารดาพระเมืองแก้วใช่หรือไม่ นางศรีทิพถูกกล่าวถึงในโคลงบทที่ 180 มีคำว่า “แปงทูลทิพอาชญา” ทำให้เชื่อได้ว่า นางศรีทิพ นั้นคือกษัตริย์ผู้หญิงที่มีชีวิตอยู่จริงในขณะที่แต่งโคลงนิราศหริภุญไชย ผู้แต่งใช้เรียกคนรักของตนเสมอมาว่า “ทิพ” ส่วนคำว่า “อาชญา” นั้น ในล้านนาใช้สำหรับกษัตริย์เท่านั้น คือ ทิพผู้ทรงอาชญา

คราวครานเถิงถาบห้อง   หริภุญช์

ริร่ำสองอาดูร   นิราศร้าง

ปุนขะสดป่านแปงทูล   ทิพอาช   ญาเอ่

ถวายแด่นุชน้องอ้าง    อ่านเหล้นหายฉงน

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ให้ความหมายว่า คราวเดินทางไปถึงเมืองลำพูน รำพันถึงสองคนทุกข์ร้อนเพราะพลัดพรากจากกันน่าเศร้าใจ แต่งขึ้นเพื่อทูลถวายนางศรีทิพผู้ทรงอาชญา ถวายเพื่อให้น้องอ่านเล่นหายความรู้สึกที่ไกลกัน

นางศรีทิพ ในโคลงนิราศหริภุญไชยจึงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก พระนางสิริยศวดี หรือท้าวอโนชาหรือนางโป่งน้อยพระราชมารดาพระญาเมืองแก้ว หรือกษัตรีย์ของเมืองเชียงใหม่นั่นเอง

5. ใครคือผู้แต่งโคลงนิราศหริภุญไชย มีข้อความโคลงบทที่สามารถไขข้อข้องใจเรื่องผู้แต่งได้ดีที่สุดคือ โคลงบทที่ 47 ดังความว่า

ธาดามังราชเจ้า   จุพาลักษณ์

สาส่วนเป็นอารักษ์   ใฝ่เฝ้า

อังเชิญส่งสารอัคร   ชาเยศ   มารา

เป็นดังฤๅร้างเจ้า   จากข้าใครโลม

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ให้ความหมายว่า ไหว้มเหสีของพระญามังราย ซึ่งเทพารักษ์ปกปักรักษาอยู่ ขออัญเชิญให้ส่งข่าวภรรยา (อัครชาเยศ) มาให้ด้วย เหตุใดต้องจากเจ้ามา พี่ไม่อยู่ใครจะปลอบโยนหรือโลมน้อง

จากความหมายของโคลงบทนี้ทำให้ทราบว่า ผู้แต่งเป็นสามีนางศรีทิพ ถ้านางศรีทิพในประวัติศาสตร์ คือพระราชมารดาของพระญาเมืองแก้ว ผู้แต่งจะเป็นใครเล่า ในเมื่อพระญายอดเชียงรายได้สิ้นพระชนม์ ปี พ.ศ.2050 ก่อนที่ผู้แต่งจะแต่งโคลงนิราศหริภุญไชย 10 ปี

แต่พระนางสิริยศวดีมีพระสวามีคนใหม่ซึ่งเป็นราชนิกูลและอำมาตย์ใหญ่ชื่อ ศิริยวาปีมหาอำมาตย์ ในชินกาลมาลินี ซึ่งแปลโดยพระยาพิมลธรรม มีข้อความดังนี้

“…ลำดับนั้นพระสิริยศวดีผู้เป็นราชมารดาจึ่งบริจาคทรัพย์เป็นอันมาก ยกเอาที่บ้านแห่ง ศิริยวาปีมหาอำมาตย์ผู้เป็นสามี นั้นสร้างเป็นสังฆารามแล้ว ก่อเจดีย์ลงในอารามนั้นเป็นที่สักการบูชา…”

โคลงนิราศหริภุญไชย ตลอดเรื่องให้รายละเอียดว่า เดินทางล่วงหน้ามาเมืองลำพูนด้วยขบวนเกวียนทอง ซึ่งประดับประดาหางนกยูงและตราหงส์อย่างสวยงามพร้อมขบวนเกวียนร้อยเล่ม มาที่เมืองลำพูนเพื่อมาตรวจตราความพร้อมของงานก่อนที่พระญาเมืองแก้วและพระราชมารดาจะเดินทางตามมาภายหลัง

นอกจากนั้น ภูมิรู้ต่างๆ ของผู้แต่งมีมาก คงได้มาจากระบบศึกษาของราชสำนัก ดังนั้น ผู้แต่งคงต้องมีฐานะทางสังคมสูง และจากการสังเกตการใช้คำในโคลงนิราศแล้ว ทำให้คิดว่าจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “ศิริยวาปีมหาอำมาตย์ผู้เป็นพระสวามี”

ขอจบบทความด้วยโคลงบทที่ 92 ความว่า

อันรักร้อยฟ้าฟาก   ภุดล

คืออยู่กลางทรวงหน   แห่งข้า

บ่รักเสกสันขน ในแว่น   วักษณ์เอ่

ฤๅห่อนยลแย้มหน้า   นาถเห้ยวัลภี

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ถอดความว่า รักกันแม้อยู่ห่างร้อยฟากฟ้าแผ่นดิน ก็เหมือนอยู่ในทรวงอกของพี่ แต่ถ้าไม่รักแล้วก็เปรียบเหมือนขนหน้าอก ไม่มีวันได้โผล่ออกมาพบหน้ากันดอกน้องที่รักเอ๋ย