ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โฟกัสพระเครื่อง |
เผยแพร่ |
“พระอุปัชฌาย์คง” หรือ “หลวงพ่อคง ธัมมโชโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
เป็นพระเกจิอาจารย์ลุ่มแม่น้ำแม่กลองอีกรูป ที่มีวัตรปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาไม่แพ้หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร วัดพวงมาลัย
วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังทุกรุ่นได้รับความนิยม เป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2484
ที่นับว่าโดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันอย่างดี ไม่แพ้เหรียญรุ่นแรก คือ “พระผงพิมพ์เล็บมือ”
สร้างก่อนปี พ.ศ.2484 เนื้อผงผสมดินเผาตามตำรับการลบผงของหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง, หลวงพ่อหรุน วัดช้างเผือก และพระอธิการด้วง-พระอธิการทิม วัดเหมืองใหม่ องค์พระมีลักษณะเป็นรูปเล็บมือ
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่ง ปางสมาธิ บนฐานชุกชี 3 ชั้น รอบองค์พระมีเส้นซุ้มทรงระฆังบังคับพิมพ์ล้อไปกับองค์พระ
ด้านหลัง อูมนูน มีอักขระยันต์ขอมอ่านได้ว่า อะ อุ
ยังมีอีกพระผงอีกรุ่น ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ “พระผงพิมพ์โคนสมอ”
สร้างก่อนปี พ.ศ.2484 เช่นกัน องค์พระมีลักษณะเป็นรูปจำลองของพระประธานในภายโบสถ ชาวบ้านมักเรียกกันว่าพระโคนสมอ
ด้านหน้า เป็นรูปจำลององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่ง ปารมารวิชัย หรือบางพิมพ์จะเป็นปางสมาธิ บนฐานชุกชีพาดด้วยผ้าทิพย์ รอบองค์พระมีเส้นซุ้มทรงระฆังครอบบังคับพิมพ์ล้อไปกับองค์พระ องค์พระอวบอิ่มลึกและคมชัด
ด้านหลัง เรียบ ในบางองค์มีรอยจาร
หลังจัดสร้างแล้วเสร็จได้รับความนิยมอย่างสูง
เกิดในสกุล จันทร์ประเสิรฐ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2407 ณ ต.บางสำโรง อ.บางคนที จ.สุมทรสงคราม
บิดา-มารดา ชื่อ นายเกตุ และนางทองอยู่ จันทร์ประเสิรฐ
เล่ากันว่าเกิดในเรือนแพ ซึ่งมีความเชื่อกันว่า ถ้าใครถือกำเนิดในห้องเล็กที่ใต้เรือนแพ จะต้องเป็นผู้ชายและครองสมณเพศตลอดชีวิต โดยบิดา-มารดาซื้อเรือนแพนี้มาอีกทอดหนึ่ง
พออายุได้ 12 ปี บรรพชาที่วัดเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม มีความสนใจในวิชาเมตตามหานิยม
กระทั่งอายุได้ 19 ปี ลาสิกขาเพื่อไปช่วยครอบครัวประกอบอาชีพ
ครั้นเมื่อมีอายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดเหมืองใหม่ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนสิงหาคม 2427 มีพระอาจารย์ด้วง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการจุ้ย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการทิม วัดเหมืองใหม่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับฉายาว่า ธัมมโชโต แปลว่า ผู้รุ่งเรืองในธรรม
จําพรรษาอยู่ที่วัดเหมืองใหม่ คอยอุปัฏฐากรับใช้พระอุปัชฌาย์ ด้วยอุปนิสัยที่รักการศึกษาเล่าเรียน ศึกษาเล่าเรียนทั้งทางคันถธุระ วิปัสสนาธุระ กับพระอุปัชฌาย์เป็นพื้นฐาน ต่อมาได้ไปศึกษากับพระเถระชื่อดังในยุคนั้นอีกหลายรูป
ได้ศึกษาคัมภีร์มูลกัจจายน์ ซึ่งเป็นตำราเรียนบาลีไวยากรณ์ในสมัยโบราณ กับอาจารย์นก ซึ่งเป็นอุบาสกในละแวกนั้นเป็นเวลา 13 ปี จนมีความคล่องแคล่วสามารถแปลธรรมบทตลอดจนคัมภีร์ต่างๆ ได้
นอกจากนี้ ยังสนใจการศึกษาวิทยาคม โดยร่ำเรียนกับพระเกจิชื่อดัง เริ่มแรกศึกษาคัมภีร์นี้กับพระอาจารย์ด้วง ซึ่งท่านเชี่ยวชาญการลบผงวิเศษ เป็นที่นับถือในสมัยนั้น ต่อมาเล่าเรียนกับหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง พระเถระผู้ที่มีวิทยาคมอันแก่กล้า โดยเฉพาะวิชานะปัดตลอด
อีกทั้งยังได้ไปศึกษากับหลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก ผู้เชี่ยวชาญในพระกัมมัฏฐาน
ในพรรษา 19 มีอาการอาพาธ จึงหยุดพักผ่อน หันมาสอนสมถะกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานให้กับลูกศิษย์ลูกหา
เอาใจใส่การดูแลก่อสร้างเสนาสนะ เนื่องจากมีฝีมือในเชิงช่าง ในเบื้องต้นซ่อมแซมหอไตรที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมให้มีสภาพที่ดีขึ้น พร้อมกันนั้นก็ปั้นพระป่าเลไลยก์ด้วยฝีมือตัวเอง
จนกระทั่งพรรษาที่ 21 ในปี พ.ศ.2448 ชาวบ้านใน ต.บางกะพ้อม อาราธนามาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งในขณะนั้นวัดบางกะพ้อมไม่มีสมภารปกครองวัด และวัดก็อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม
ฟื้นฟูบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัด ซึ่งชำรุดทรุดโทรม ด้วยท่านมีฝีมือในการพัฒนาเป็นทุนเดิม จึงทำให้การสร้างความเจริญให้แก่วัดสำเร็จลุล่วงในเวลาอันสั้น
พ.ศ.2464 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลบางกะพ้อม และแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
แม้จะมีภาระงานปกครองวัด แต่ในเดือน 4 ของทุกปี จะไปปักกลดในป่าช้าข้างวัดเป็นเวลาราว 1 เดือน เรียกกันว่า รุกขมูลข้างวัด ชำระจิตใจให้สะอาด หลังจากยุ่งกับเรื่องราวทางโลกเกือบตลอดทั้งปี
ช่วงบั้นปลายชีวิตอาพาธด้วยโรคชรา เนื่องจากมีงานอยู่หลายอย่างต้องทำ ด้วยเป็นกิจของสงฆ์ ทั้งานการสร้างพระพุทธรูป การสร้างวัตถุมงคล ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2486 ขณะนั่งร้านเพื่อตกแต่งพระขนงพระพุทธรูปประธานองค์ใหม่ เมื่อสวมพระเกตุพระประธานแล้วเสร็จ ก็เกิดอาการหน้ามืด คล้ายจะเป็นลม แต่มีสติดี เอามือประสานในอิริยาบถนั่งสมาธิจนหมดลมถึงแก่มรณภาพในอาการอันสงบ
คณะศิษย์เห็นท่านนั่งอยู่นาน จึงประคองร่างลงมาจากนั่งร้าน จึงรู้ว่ามรณภาพไปแล้ว
สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58 •
โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022