Death of Place Death of People ภาพวาดบันทึกความทรงจำของสถานที่และผู้คนที่ (ถูกทำให้) สูญหายในประวัติศาสตร์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

Death of Place Death of People

ภาพวาดบันทึกความทรงจำของสถานที่และผู้คน

ที่ (ถูกทำให้) สูญหายในประวัติศาสตร์

 

ในตอนนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศกลับมาเล่าถึงนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจในเมืองไทยกันบ้าง นิทรรศการที่เราเพิ่งได้ไปชมมาหมาดๆ นี้มีชื่อว่า Death of Place Death of People โดย รณกร เกิดโชติ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยรุ่นใหม่ ผู้ทำงานศิลปะหลากสื่อหลายแขนง ทั้งประติมากรรม, ศิลปะจัดวาง, ศิลปะสื่อผสม และงานจิตรกรรม โดยในนิทรรศการครั้งนี้ รณกรนำเสนอผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันชุดล่าสุดของเขาจำนวนสองชุดอย่าง

Death of Place ผลงานภาพวาดที่ได้แรงบันดาลใจจากการติดตามข่าวของสถานที่ในประวัติศาสตร์และในความทรงจำของเขาที่ถูกทำให้สูญหาย โยกย้าย เปลี่ยนแปลง รื้อถอน สร้างใหม่ ให้กลายเป็นสิ่งอื่น

ยกตัวอย่างเช่น สถานที่อย่างสวนสัตว์ดุสิต หรือที่ใครหลายคนรู้จักกันในชื่อ เขาดิน ที่เขาได้ข่าวว่ากำลังจะถูกยุบและโยกย้าย หรือสถานที่อย่างสนามหลวง สนามม้านางเลิ้ง พระที่นั่งอนันตสมาคม ที่ประสบกับชะตากรรมที่ทำให้สูญหาย โยกย้าย และเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่นเดียวกัน

รณกรแปรเปลี่ยนความทรงจำที่มีต่อสถานที่เหล่านั้นให้กลายเป็นภาพวาดสีน้ำมันในโทนสีขาวดำ คล้ายกับภาพถ่ายในยุคโบราณเก่าก่อน เพื่อแสดงถึงการที่สถานที่เหล่านั้นถูกทำให้หลงเหลืออยู่แต่ในความทรงจำเท่านั้น

เขาถ่ายทอดความทรงจำเหล่านั้นออกมาด้วยฝีแปรงอันหยาบกระด้าง รุนแรง หากให้ความรู้สึกรวดเร็วฉับไว ราวกับจะรีบบันทึกความทรงจำที่มีต่อสถานที่เหล่านั้นเอาไว้ก่อนที่มันจะเลือนหายไป หรือเป็นการทบทวนความทรงจำอันเลือนรางที่มีต่อสถานที่เหล่านั้นว่ามันเกิดอะไรและจะเป็นอย่างไรต่อไป

สําหรับรณกร การวาดภาพสถานที่เหล่านั้นเป็นเสมือนหนึ่งการได้กลับไปเดินเล่นในที่ที่คุ้นเคยและประทับใจ ทั้งที่ในความเป็นจริงสถานที่เหล่านั้นต่างสูญหายเปลี่ยนแปลงไปจนหลงเหลือเอาไว้แต่ในความทรงจำเท่านั้น

ด้วยผลงานชุดนี้ รณกรตั้งคำถามต่อสถานที่ที่เคยมีประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมกับผู้คน ด้วยการนำกลับมาในรูปแบบของภาพวาดสีน้ำมัน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามว่า ปัจจัยหรืออำนาจอะไรที่ทำให้สถานที่เหล่านั้นสูญหายหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

“งานชุดนี้ของผมพูดถึงพื้นที่ที่เคยมีอยู่ในประวัติศาสตร์ แต่ในภายหลังถูกทำให้หายไป หรือถูกทำให้กลายเป็นสิ่งอื่นด้วยอำนาจบางอย่าง ผมสนใจสถานที่เหล่านั้นในแง่ของความทรงจำ บางพื้นที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนเคยเข้าไปเยี่ยมชมได้ แต่ปัจจุบันกลับถูกปิดไป ไม่ให้คนทั่วไปเข้าไปใช้ได้ อย่างเช่น สนามหลวง, สนามม้านางเลิ้ง, วังปทุมวัน, พระที่นั่งอนันตสมาคม, บ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งผมเองก็มีประสบการณ์ร่วมกับพื้นที่เหล่านั้นบางแห่งด้วย อย่างเช่น สวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดิน ที่ปิดไปเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ผมก็เลยวาดสถานที่ และรูปสัตว์ต่างๆ ที่เคยอยู่ในสวนสัตว์นำมาทำเป็นเหมือนโปสการ์ดแบ่งขายเป็นตัวๆ เหมือนสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในสวนสัตว์แห่งนี้”

ส่วนงานอีกชุดของเขาอย่าง Death of people เป็นภาพวาดหัวกะโหลกมนุษย์จำนวน 100 หัว ติดตั้งเรียงรายจนเต็มผนังด้านหนึ่งของห้องแสดงนิทรรศการจากพื้นจรดเพดาน รณกรวาดภาพหัวกะโหลกเหล่านี้ในช่วงเวลาการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เขาเก็บตัวเว้นระยะห่างทางสังคม และใช้เวลานับจำนวนผู้คนที่เสียชีวิตจากโรคระบาดนี้ โดยเริ่มวาดหัวกะโหลกตามจำนวนผู้เสียชีวิตที่เขาทราบจากข่าว

ในอีกแง่หนึ่ง การวาดภาพหัวกะโหลกเหล่านี้ก็เป็นเหมือนการย้ำเตือนตนเองในเชิงมรณานุสติและจินตนาการว่าวันหนึ่งตนเองอาจจะต้องตาย และมีสภาพไม่ต่างอะไรกับหัวกะโหลกเหล่านี้ เช่นเดียวกับงานศิลปะแบบ Memento mori ที่ทำหน้าที่ย้ำเตือนผู้ชมให้จดจำไว้ว่าเราทุกคนต้องตายในสักวันหนึ่ง

สําหรับศิลปิน ภาพวาดกะโหลกเหล่านี้คือความทรงจำของผู้ที่มีชีวิตอยู่ที่ย้ำเตือนให้ผู้ชมหวนระลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นอีกครั้งหนึ่ง

“หัวกะโหลกพวกนี้ ผมวาดช่วงโควิด แรกๆ ก็มีคนตายไม่กี่คน ผมก็นึกว่าสถานการณ์จะจบแล้ว แต่พอวาดๆ ไป คนตายก็เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ ผมก็เลยเขียนหัวกะโหลกไปเรื่อยๆ จนครบ 100 หัว ผมใช้เวลาทำงานชุดนี้ตั้งแต่ช่วงปี 2020-2021 ก็ทำมาเรื่อยๆ เหมือนเป็นบันทึกสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น”

นอกจากการระลึกถึงผู้ตายในช่วงเวลาการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ภาพวาดหัวกะโหลกเหล่านี้บางภาพ ยังมีต้นแบบจากหัวกะโหลกในประวัติศาสตร์ของทั้งไทยและสากล อย่างหัวกะโหลกที่ถูกใช้ในการทดลองวิถีกระสุน ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงนิติวิทยาศาสตร์ ของพิพิธภัณฑ์นิติวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช และหัวกะโหลกจากการพบหลุมฝังศพของราชวงศ์โรมานอฟ ไปจนถึงหัวกะโหลกเด็ก, คนแก่, คนที่ตายจากอุบัติเหตุ, สงคราม และหัวกะโหลกจากการทดลองทางการแพทย์อีกด้วย

นอกจากผลงานชิ้นหลักแล้ว ในนิทรรศการนี้ยังมีผลงานภาพวาดสีน้ำมันกระดาษอันมีต้นแบบจากภาพถ่ายเก่าๆ ของคนในครอบครัว (ที่บางคนหลงเหลืออยู่แค่ในความทรงจำ) หรือภาพที่บันทึกจากการเดินทางท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนสถานที่ต่างๆ ซึ่งบางภาพในจำนวนนั้นก็รวมถึงสถานที่ที่ถูกทำให้สูญหายไปด้วย ภาพวาดชุดนี้ถูกจัดแสดงในแฟ้มคล้ายกับอัลบั้มภาพถ่าย

ผลงานชุดนี้นอกจากจะเป็นบันทึกความทรงจำส่วนตัวของศิลปินแล้ว ยังเป็นเหมือนสารตั้งต้นที่พัฒนาไปสู่ผลงานชิ้นหลักในนิทรรศการครั้งนี้อีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจในผลงานภาพวาดในนิทรรศการครั้งนี้ของรณกรก็คือ การใช้ฝีแปรงอันหยาบกระด้าง รุนแรงและเนื้อสีอันหนาหนักพอกนูนจนเกิดเป็นพื้นผิวขรุขระแบบ อิมพาสโต (Impasto) เช่นเดียวกับที่ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) ใช้บันทึกความทรงจำที่มีต่อความประทับใจในสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเบื้องหน้าอย่างฉับพลัน แนวทางการวาดภาพเช่นนี้ยังเป็นแนวทางที่ศิลปินเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) ใช้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอันท่วมท้นรุนแรงภายในจิตใจอย่างทรงพลังเช่นเดียวกัน

ด้วยการใช้ฝีแปรงอันฉับไว หยาบกระด้าง รุนแรง เนื้อสีหนาหนัก เต็มไปด้วยร่องรอยของพลังงานในภาพวาดเหล่านี้ นอกจากศิลปินจะพยายามบันทึกความทรงจำที่เคยมีต่อสถานที่ที่สูญหายและเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เขายังถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอัดอั้น กดดัน หรือแม้แต่โกรธเกรี้ยว ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ต้องก้มหน้าจำทนอยู่ในประเทศที่สถานที่ หรือแม้แต่ผู้คนที่มีชีวิตเลือดเนื้อจำนวนมาก ต่างถูกบังคับให้สูญหายไปโดยอำนาจรัฐอันดิบเถื่อน โดยที่ประชาชนตัวเล็กจ้อยเท่าฝุ่นธุลีผู้ไม่มีปากมีเสียงอย่างเราๆ ได้แต่มองตาปริบๆ เท่านั้นเอง

นิทรรศการ Death of Place Death of People โดย รณกร เกิดโชติ คัดสรรโดย ยิ่งยศ เย็นอาคาร ติดตั้งโดย สุวินัย เหล่าพันนา จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม-22 ตุลาคม 2024 ที่ Cartel Artspace เปิดทำการตั้งแต่วันพุธ-อาทิตย์, ปิดทำการวันจันทร์, อังคาร

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ facebook Cartel Artspace หรืออีเมล [email protected]

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์