ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง |
เผยแพร่ |
แปลกแต่จริง เมื่อกฎหมายเปลี่ยนไป ชื่อเรียกรายการยาสมุนไพรที่เป็นยาสามัญประจำบ้านก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 คำศัพท์ ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ และอื่นๆ ทั้งหลายเรียกเป็น “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” พูดสรุปโดยย่อตามประกาศคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ออกมาเป็นระยะในรอบ 5 ปีที่ผ่านมานั้น ใช้มุมมองจำแนกยาสมุนไพรกับสถานที่จำหน่ายหรือที่จ่ายยา ได้แก่
“ผลิตภัณฑ์สมุนไพรขายทั่วไป” คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่สามารถขายได้ทั่วไป โดยผู้ขายไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาต หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อและร้านขายของชำได้ ซึ่งมีเจตนาให้เกิดการกระจายสมุนไพรได้กว้างขวาง ส่งเสริมการใช้ในหมู่ประชาชนมากขึ้น
“ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขายเฉพาะสถานที่มีใบอนุญาต” หมายถึงยาสมุนไพรวางขายได้เฉพาะร้านขายยาที่มีใบอนุญาตเท่านั้น ไม่สามารถวางขายตามร้านค้าทั่วไปเหมือนกับกลุ่มแรกนั่นเอง และ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ใช้เฉพาะในสถานพยาบาล” คือสมุนไพรที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งต้องจ่ายยาโดยแพทย์ในสถานพยาบาลเท่านั้น ผลิตภัณฑ์จึงต้องระบุไว้บนฉลากชัดเจนด้วยคำว่า “ใช้เฉพาะในสถานพยาบาล”
เมื่อชื่อที่เปลี่ยนไป ความรู้สึกและความมุ่งหมายการใช้ยาสมุนไพรก็เปลี่ยนไป จากที่เคยมียาสามัญประจำบ้าน ที่บ่งบอกว่าตัวยาหรือตำรับยาเหล่านี้ควรมีไว้ประจำบ้านเพื่อช่วยดูแลสุขภาพยามเจ็บไข้ได้ป่วยในครัวเรือน แต่ชื่อยาแนวใหม่มองไปที่การขายได้ทั่วไป ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าซื้อหามาใช้ได้ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญสั่งจ่ายยา ก็อาจจะพอเทียบเคียงได้หรือไม่ว่า หาซื้อมาไว้ในตู้ยาประจำบ้านได้เช่นกัน
วันนี้ลองย้อนยุค ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข “รายการยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ.2556” ได้จัดกลุ่มยาให้เห็นว่าเราสามารถพึ่งพาตนเองในครัวเรือน ได้แก่ ยาขับลม (แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ บํารุงธาตุ) ยาถ่าย หรือยาระบาย ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ไข้ ยาแก้ร้อนใน ยาบรรเทาหัด อีสุกอีใส ยาแก้ลมวิงเวียน ยาแก้ไอ ขับเสมหะ ยากษัยเส้นหรือยาบรรเทาอาการปวดเมื่อย (ยากิน) ยาทาบรรเทาอาการปวดเมื่อย (ยาใช้ภายนอก) ยาบรรเทาริดสีดวงทวารหนัก ยาถ่ายพยาธิตัวกลม ยาบรรเทาอาการผื่นคันตามผิวหนัง (ยากิน) ยาบรรเทาอาการผื่นคันตามผิวหนัง (ยาใช้ภายนอก) ยาแก้กลากเกลื้อน (ยาใช้ภายนอก) ยาบรรเทาฝีแผล (ยาใช้ภายนอก ยาบรรเทาฝีแผล (ยาใช้ภายนอก) ยาทาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ยาใช้ภายนอก) ยาทาบรรเทาอาการแมลงกัดต่อย (ยาใช้ภายนอก) ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ ยาทาแก้ลิ้นเป็นฝ้า ยาทา หรือดมบรรเทาอาการคัดจมูกเนื่องจากหวัด
ปัจจุบันนี้ยาสามัญประจำบ้านแปลงกายมาในรูป “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรขายทั่วไป” แต่สรรพคุณหรือประโยชน์ในการดูแลสุขภาพยังไม่เปลี่ยนไป การซื้อหามาประจำบ้านเป็นวัฒนธรรมการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรที่ควรรณรงค์กันให้กว้างขวาง และยังสอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ที่จัดเก็บข้อมูลด้านอนามัยและสวัสดิการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2517 (แต่เดิมทำการสำรวจทุก 5 ปี) ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ปรับความถี่ในการดำเนินการสำรวจอนามัยและสวัสดิการเป็นทุก 2 ปี ซึ่งล่าสุดในปี 2566 เป็นการสำรวจครั้งที่ 23 โดยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนมีนาคม พ.ศ.2566 จากครัวเรือนส่วนบุคคล ตัวอย่างประมาณ 28,960 ครัวเรือน
ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ วิธีการรักษาพยาบาล พบว่า ผู้ที่เจ็บป่วยแบบไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในสถานพยาบาล ซึ่งวิธีการรักษาด้วยซื้อยากินเอง ภาพรวมทั้งประเทศ ร้อยละ 23.5 โดยที่ในกรุงเทพมหานครมีวิธีการรักษาพยาบาลแตกต่างจากผู้ป่วยในภาคอื่น
โดยใช้วิธีการรักษาซื้อยากินเองมากที่สุดถึงร้อยละ 34.7 ภาคใต้ ร้อยละ 23.9 ใกล้เคียงภาคกลาง ร้อยละ 23.8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 20.7 และน้อยสุดภาคเหนือ ร้อยละ 18.3
ข้อมูลการสำรวจนี้ การซื้อยากินเอง หมายถึง การซื้อหรือหายาแผนปัจจุบัน แผนโบราณ หรือยาสมุนไพรมาเพื่อบำบัดรักษาด้วยตนเอง การซื้อยากินเอง รวมถึงการซื้อยาจากร้านขายยาซึ่งในร้านอาจมีเภสัชกรแนะนำหรือไม่ก็ตาม การที่ผู้ปกครองซื้อยามารักษาเด็ก การซื้อยาโดยเคยรู้ชื่อยาจากหมอ เป็นต้น จึงยังไม่สามารถรู้ได้ว่าคนไทยนิยมการใช้ยาสมุนไพรเป็นสามัญประจำบ้านมากน้อยเท่าใด แต่ก็เห็นข้อมูลว่าซื้อยากินเองกับอาการเจ็บไข้ได้ป่วยพื้นฐานนั้นทั้งประเทศอยู่ที่ ร้อยละ 34.7 ซึ่งก็เป็นจำนวนไม่น้อย
หากนโยบายรัฐหรือท่านรัฐมนตรี นอกจากมุ่งส่งเสริมการจ่ายยาสมุนไพรในสถานพยาบาลแล้ว การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจการซื้อยากินเองอย่างสมเหตุสมผล เพื่อดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน จะช่วยส่งเสริมยาไทยและเศรษฐกิจยาสมุนไพรในประเทศได้อย่างดี
ตัวอย่างยาสามัญประจำบ้านที่แม้จะเปลี่ยนชื่อไปแล้ว แต่เคียงคู่ครัวเรือน เช่น ยาแก้ไข้ ยาจันทน์ลีลา ยาเขียวหอม หรือ ยาฟ้าทะลายโจร ยาลมยาหอม เหมาะกับผู้สูงอายุ เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร์ แก้อาการท้องอืดเฟ้อ เช่น ยาธาตุบรรจบ หรือยาน้ำเปลือกอบเชย แก้ริดสีดวงทวารหนัก ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับใช้ทดแทนยาฝรั่งก็คือ ยาเพชรสังฆาต ยาใช้ภายนอก แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย บรรเทาปวดเมื่อย และยาสูดดมแก้คัดจมูกหรือแก้ลมวิงเวียน ก็มียาดมสมุนไพรหลายสิบสูตรให้มีไว้ประจำบ้าน
ยาสามัญประจำบ้านสมุนไพร ไม่ได้หายไปไหน ประโยชน์และสรรพคุณยังคงเดิม ช่วยกันส่งเสริมหาไว้ประจำบ้าน โรงเรียน วัด สถานที่ทำงานรัฐและเอกชน •
สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022