’15 ปีชุมชนจินตกรรมพากย์ไทย’ (1)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

’15 ปีชุมชนจินตกรรมพากย์ไทย’ (1)

 

ศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (1936-2015) ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเปรียบเทียบภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ไทยและฟิลิปปินส์ แห่งคณะการปกครอง มหาวิทยาลัยคอร์แนล ได้ฟันธงสรุปไว้ตรึงใจในงานชิ้นเอกของท่านเรื่อง Imagined Communities : Reflections on the Origin and Spread of Nationalism (หรือ IC พากย์อังกฤษพิมพ์ครั้งแรกปี 1983 พากย์ไทยพิมพ์ครั้งแรกปี 2009) ว่า :

ชาติ = ชุมชนในจินตนากรรม (ผมขออนุญาตใช้คำนี้แทน “จินตกรรม” เพราะถูกอัธยาศัยกว่า)

นัยสำคัญทางการเมืองและประวัติศาสตร์ของงานชิ้นนี้อยู่ตรงด้วยการรื้อคิดว่า “ชาติ” คือชุมชนในจินตนากรรมอันเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม ครูเบ็น แอนเดอร์สัน ได้ :

– ทำให้เป็นไปได้ที่จะแยกชาติ/รัฐออกจากกันในทางความคิด-จินตนากรรม-การเมือง ชาติไม่ถูกกำกับจำกัดผูกขาดโดยรัฐถ่ายเดียวอีกต่อไป

– ทำให้เป็นไปได้ที่จะคิดถึงชาติกับประวัติศาสตร์ชาติเป็นพหูพจน์ มีได้หลายเวอร์ชั่น แทนที่จะเป็นเอกพจน์หนึ่งเดียวตลอดไป

บนฐานความเข้าใจข้างต้นนี้ ผมใคร่สำรวจเค้าโครงเบื้องต้นอย่างรวบรัดว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างกับรัฐ/ชาติในการเมืองโลกและการเมืองไทยรอบ 15 ปีที่ผ่านมา?

ร่างคำอภิปรายของผู้เขียนในงานเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีการตีพิมพ์หนังสือชุมชนจินตกรรม หรือ Imagined Communities พากย์ไทยของครูเบ็น แอนเดอร์สัน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 24 สิงหาคมศกนี้

หลัง IC ของครูเบ็นออกมา 24 ปีและก่อนชุมชนจินตกรรมตีพิมพ์ 2 ปี จูดิธ บัตเลอร์ นักปรัชญาและเพศสภาพศึกษาหญิงชาวอเมริกัน & กยาทรี สปิวัค นักทฤษฎีวรรณกรรมหลังอาณานิคมชาวอินเดีย ได้ตีพิมพ์บทสนทนาของทั้งคู่เรื่อง Who Sings the Nation-State? Language, Politics, Belonging (2007) ซึ่งตั้งข้อสังเกตพอสรุปได้ว่าชาติกับรัฐ (nation-state) เอาเข้าจริงมีแนวโน้มแยกยติภังค์กันได้ (nation/state : The nation-states can become dehyphenated.) ทั้งนี้เพราะ :

– ชาติเป็นสิ่งสร้างทางวัฒนธรรม-อุดมการณ์ (cultural-ideological construct) ขณะที่…

– รัฐเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางกฎหมาย-การบริหาร (legal-administrative artifice)

– รัฐกับชาติจึงมีเนื้อหานัยตรรกะแตกต่างกัน ไม่แน่ว่าจะเป็นหนึ่งเดียวเสมอไป เลื่อนหลุดจากกันได้ มีหลากรัฐหลายชาติได้ แต่ถูกผูกล่ามกันไว้ด้วยยติภังค์ (hyphen)

– กลุ่มชนผู้ถูกกดทับทั้งหลายซึ่งแปลกแยกจากชาติ (หรือพูดแบบไทยๆ ได้ว่า “ถูกหาว่าไม่ไทย”) แต่อยู่ใต้การปกครองของรัฐ (คนในบังคับรัฐไม่ค่อยได้การยอมรับว่าเป็นพลเมืองร่วมชาติไทย) จึงเหมือนห้อยต่อง แต่งอยู่ตรงยติภังค์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชนผู้ถูกกดทับทางชาติพันธุ์ ชนชั้น เพศสภาพ ศาสนา การศึกษา อายุ พิการทุพพลภาพ ความคิดการเมือง

– ในสภาพที่นับวัน องค์ประกอบของ [รัฐชาติ] แยกห่างจากกันมากขึ้น [<-รัฐ/ชาติ->]

คำถามคือทำไม? อะไรเป็นเงื่อนไขเหตุปัจจัยที่ผลักรัฐ/ชาติให้ออกห่างจากกันมากขึ้นในการเมืองโลกในช่วงชีวิตของหนังสือ IC?

 

หากจับช่วงปรากฏการณ์เศรษฐกิจโลกที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ (neoliberal globalization https://www.britannica.com/money/neoliberal-globalization) จากปลายทศวรรษที่ 1980 มาจนถึงปลายทศวรรษที่ 2010 แดนี รอดริก ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศชาวตุรกีแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ ได้เสนอแนวคิด “หนทางการเมืองสามแพร่งของเศรษฐกิจโลก” (the political trilemma of the world economy) ไว้ในหนังสือ The Globalization Paradox : Democracy and the Future of the World Economy (2011) บทที่ 9 เพื่อล้อแนวคิด “สามเป็นไปไม่ได้” (the Impossible Trinity) ทางเศรษฐศาสตร์ในการกำหนดนโยบายการเงินของประเทศทั้งหลาย (ดู https://www.finnomena.com/editor/impossible-trinity/) :

สภาพความเป็นจริงของระบบเศรษฐกิจโลกยุคโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ภายใต้การกดดันกำกับขององค์กรโลกบาลทางเศรษฐกิจทั้งหลาย เช่น IMF, World Bank, WTO, etc. และศูนย์อำนาจเศรษฐกิจการเงินโลกในประเทศทุนนิยมก้าวหน้า เช่น สหรัฐ, สหราชอาณาจักร ฯลฯ ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศต่างๆ ซึ่งเข้าร่วมในระบบเศรษฐกิจดังกล่าวจะมีคุณสมบัติทางการเมือง 3 อย่างพร้อมกันเพราะมันจะขัดแย้งปีนเกลียวกันเอง ได้แก่ :

1. ไฮเปอร์โลกาภิวัตน์ : ในความหมายดำเนินนโยบายเปิดประเทศเข้าร่วมเศรษฐกิจโลกอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูไม่จำกัดหวงห้ามใดๆ ทั้งสิ้น

2. อธิปไตยแห่งชาติ : ในความหมายคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐชาติตัวเองโดยเฉพาะในแง่นโยบายเศรษฐกิจการเงินการคลังการค้าการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

3. การเมืองประชาธิปไตย : ในความหมายมีระบบการเมืองที่เปิดรับและดำเนินการตามมติเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งของประชาชนพลเมือง

ภาพประกอบ 1

ประเทศเหล่านี้ (รวมทั้งไทย) มีทางเลือกแค่ธำรงรักษาคุณสมบัติ 2 ใน 3 ประการเอาไว้เท่านั้น กล่าวคือ (ดูภาพประกอบ 1) :

– เลือก [อธิปไตยแห่งชาติ+การเมืองประชาธิปไตย] = เป็นไปตามแนวทางข้อตกลงประนีประนอม เบรตตัน วูดส์ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งไม่เอาไฮเปอร์โลกาภิวัตน์ ยอมเปิดเสรีทางการค้า แต่ไม่เปิดเสรีทางการเงิน คงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยอิสระของรัฐในการกำหนดนโยบายแห่งชาติตามมติเสียงข้างมากของประชาชนพลเมือง

– เลือก [ไฮเปอร์โลกาภิวัตน์+การเมืองประชาธิปไตย] = จะต้องมีธรรมาภิบาลระดับโลกซึ่งสะท้อนมติเสียงข้างมากแบบประชาธิปไตยของชาวโลกในอันที่จะดำเนินแนวทางไฮเปอร์โลกาภิวัตน์ โดยยอมสละอำนาจอธิปไตยแห่งชาติของแต่ละประเทศลงไปไม่ขัดขวาง

– เลือก [ไฮเปอร์โลกาภิวัตน์+อธิปไตยแห่งชาติ] = แต่ละประเทศคงอำนาจอธิปไตยแห่งชาติของตัวไว้โดยต่างก็ดำเนินแนวนโยบายไฮเปอร์โลกาภิวัตน์ มินำพามติเสียงข้างมากของประชาชนพลเมืองในประเทศตน ผู้อาจเสียประโยชน์โภชผลที่เคยมีเคยได้มาปรารมภ์ว่าควรจะโลกาภิวัตน์มากน้อยแค่ไหน พอแล้วหรือจะชะลอหยุดเมื่อใด

 

จะเห็นได้ว่าประเทศส่วนใหญ่อย่างท่วมท้นของโลกเลือกแนวทางที่สามท้ายสุด [ไฮเปอร์โลกาภิวัตน์+อธิปไตยแห่งชาติ] ในการเข้าร่วมเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ของโลก ด้วยเงื่อนไขต่างๆ กันไป บ้างก็โดยสมัครใจ (ไทยก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997, จีนหลังเข้าร่วม WTO ปี 2001) บ้างก็ถูกบังคับกะเกณฑ์ (ไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง) และบ้างก็กั๊กไว้บางเรื่อง ไม่เปิดเสรีโลกาภิวัตน์หมดเนื้อหมดตัว เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (เช่น จีนยังคงควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอยู่ เงินหยวนยังแลกเปลี่ยนไม่ได้โดยเสรี)

การใช้อำนาจอธิปไตยแห่งชาติดำเนินแนวนโยบายไฮเปอร์โลกาภิวัตน์โดยไม่ขึ้นต่อมติเสียงข้างมากแบบประชาธิปไตยของผู้คนพลเมืองในประเทศ ทำให้รอบสามสิบกว่าปีที่ผ่านมาในหลายต่อหลายประเทศผู้คนกลุ่มก้อนใหญ่ขึ้นทุกทีต้องสูญเสียสิทธิประโยชน์ที่ตนเคยมีเคยได้ไป ตกที่นั่งลำบากในกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง กลายเป็นผู้แพ้ในประวัติศาสตร์ไฮเปอร์โลกาภิวัตน์อย่างหวานอมขมกลืน

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)