สุนทราภรณ์ในยามศึก : การปลุกขวัญกำลังใจคนไทยในยามสงคราม

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

สุนทราภรณ์ในยามศึก

: การปลุกขวัญกำลังใจคนไทยในยามสงคราม

 

พลันเมื่อไฟแห่งสงครามมหาเอเชียบูรพาลุกลามมายังไทยส่งผลให้วงดนตรีกรมโฆษณาการอันเป็นวงดนตรีสังกัดรัฐบาลต้องรับภารกิจปลุกขวัญกำลังใจให้กับสังคมไทย ตั้งแต่ต้นสงครามในยามที่สังคมต้องการแรงปลุกจิตปลุกใจให้มีความฮึกเหิมในการรบ

จวบจนในช่วงกลางและปลายสงครามที่สถานการณ์สงครามแปรเปลี่ยนไปอันเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยต้องการขวัญกำลังใจอย่างมากในการผ่านความทุกข์เข็ญไปให้ได้อีกด้วย

นักร้องสตรีของวงกรมโฆษณาการในช่วงสงคราม

เพลงปลุกใจของวงดนตรีกรมโฆษณาการ

ไม่นานหลังจากนโยบายสร้างชาติของรัฐบาลจอมพล ป.เริ่มต้นขึ้น กลิ่นอายของสงครามถูกพัดเข้ามาใกล้ไทยมากขึ้นๆ รัฐบาลเริ่มสร้างบรรยากาศปลุกเร้าจิตใจคนไทยให้กล้าหาญ รักชาติ เสียสละผ่านการใช้วัฒนธรรม ด้วยเพลงปลุกใจ ภาพยนตร์และละครผ่านวิทยุและวงดนตรีของกรมโฆษณาการ

ในช่วงนั้น กรมโฆษณาการและวงดนตรีของกรมรับภารกิจในการเผยแพร่นโยบายของรัฐบาลออกสู่ประชาชนอย่างเข้มแข็ง ทั้งรายการสาระและบันเทิงผ่านรายการวิทยุเป็นสื่อกลางสำคัญในการแจ้งข่าวสารจากรัฐสู่สังคม

จากความทรงจำของ รวงทอง ทองลั่นทม นักร้องวงสุนทราภรณ์ เล่าว่า เมื่อครั้งเป็นวัยรุ่น เธอได้ยินเพลงของวงสุนทราภรณ์ผ่านวิทยุกรมโฆษณาการช่วงก่อนเวลาเคารพธงชาติ 8 นาฬิกาทุกวัน (บุญพิทักษ์ เสนีบุรพทิศ, 2566, 47-48)

ในช่วงเวลานั้น วงดนตรีกรมโฆษณาการได้เผยแพร่เพลงปลุกใจตามนโยบายของรัฐบาล กระตุ้นให้คนไทยเกิดความภูมิใจในชาติไทย มีความรักชาติและพร้อมเสียสละเพื่อชาติผ่านการแสดงตามงานพิธีการของรัฐและการเผยแพร่ผ่านวิทยุกระจายเสียง ดังเช่น เพลงไทยสามัคคี เป็นเพลงปลุกใจ เพื่อปลุกให้มีสติ ให้ยึดมั่นในความสมัคคี ดังเนื้อร้องที่ว่า

“อย่าเห็นแก่ตัวมัวพะวง ลุ่มหลงริษยาไม่ควรที่ อย่าต่างคนต่างแข่งกันแย่งดี อย่าให้ช่องไพรีที่มุ่งร้าย แม้เราริษยากันและกัน ไม่ช้าพลันจะพากันฉิบหาย ระวังการยุยงส่งร้าย นั่นแหละเครื่องทำลายสามัคคี”

เพลงบ้านเกิดเมืองนอน เป็นเพลงที่ปลุกให้คนไทยภูมิในความเป็นชาติไทย ดังเนื้อร้องที่ว่า “อยู่กินบนแผ่นดินท้องถิ่นกว้างใหญ่ ชาติไทยนั้นเคยใหญ่ในบูรพา ทุกทุกเช้าเราดูธงไทยใจจงปรีดา ว่าไทยอยู่มาด้วยความผาสุกถาวรสดใส บัดนี้ ไทยเจริญวิสุทธิ์ผุดผ่อง พี่น้องจงแซ่ซ้องชาติไทย รักษาไว้ให้มั่นคง เทิดธงไตรรงค์ให้เด่นไกล ชาติเชื้อ เรายิ่งใหญ่ชาติไทยบ้านเกิดเมืองนอน”

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้นำไทยในช่วงสงคราม

ส่วน เพลงปลุกไทย เป็นเพลงที่ปลุกและส่งเสริมให้คนไทยเสียสละเพื่อประเทศชาติ ดังเนื้อร้องที่ว่า “อันพวกเราชายหญิงทั้งหลายไซร้อยากให้ไทยชื่น ชูฟูกระเดื่อง สละชีพเพื่อผดุงความรุ่งเรือง ให้ขึ้นชื่อลือเลื่องขจรไกล เรายอมเสียชีวารักษาสัตย์ รักษารัฐสีมาที่อาศัย รักษาชาติศาสนาถาวรไว้ ให้ไทยคงเป็นไทย ชั่วดินฟ้า”

นอกจากนั้น วงยังแต่งเพลงด้านวัฒนธรรมเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล เช่น เพลงสวมหมวก เพื่อชักชวนประชาชนร่วมกันสวมหมวกเพื่อส่งเสริมให้ประเทศทัดเทียมนานาอารยะ ดังเนื้อร้องที่ว่า

“เชิญซิคะ เชิญร่วมกันสวมหมวก แสนสะดวกสบายด้วย ทั้งสวยหรู ปรุง ใบหน้าให้อร่ามงามหน้าดู อีกจะชูอนามัยให้มั่นคง สมศักดิ์ศรีมีสง่าเป็นอารยะ หมวกใบนี้จะชวนให้ชม สมประสงค์ถึงไม่สวยหมวกจะช่วยเสริมทรวดทรง งามระหงเลิศวิไลหญิงไทยเรา” (นิติพรรณ สุวาท, 2562, 183-184)

สำหรับเกร็ดเกี่ยวกับเพลงสวมหมวกในช่วงเวลานั้น มัณฑนา โมรากุล ซึ่งเป็นผู้ขับร้องเพลงนี้ เล่าความหลังให้กับนิตยา อรุณวงศ์ ว่า มัณฑนาเองยังเคยลืมสวมหมวกเสียเอง จนโดนจอมพล ป.ตำหนิ ดังที่นิตยาเล่าไว้ว่า

“พี่มัณฑนาเขาเล่าให้ฟัง ยุคนั้นเป็นยุคที่เชิญชวนสวมหมวกใช่ไหมคะ เป็นข้าราชการก็ต้องสวมหมวก พี่มัณฑนาก็บอกว่า ไอ้เราก็เผลอนั่งรถป๊อกป๊อกไป แล้วก็ไม่ได้ใส่หมวก ก็พอดีสวนกับรถท่านผู้นำพอดี ก็โดนเรียกเข้าไปสอบ พี่มัณฑนาบอก พี่นะกลัวมาก กลัวตัวสั่นเลยว่า จะโดนทำโทษอะไร ที่จริงท่านก็เหมือนดุ พยายามให้จำว่าคนใส่หมวก แต่ไม่ได้ทำโทษอะไรหรอก…ให้ตอกย้ำว่าคุณเป็นคนร้องเพลงสวมหมวก คุณเชิญชวนเขาแล้ว คุณก็ต้องทำอย่างนั้นด้วย อันนี้เป็นเรื่องตอนนั้น เรื่องจริงนะ เพราะพี่มัณฑนาเล่าเอง…” (silpa-mag.com/article_87339)

สมุดเพลง “สร้างชาติ” ของหลวงวิจิตรวาทการ (2484) และหนังสือ หน้าที่พลเมืองในยามสงคราม (2485)

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เพลงของกรมโฆษณาการในยุคแรกจึงเป็นเพลงในลักษณะที่มีการรับใช้รัฐเพื่อนำเสนอนโยบายของรัฐลงสู่ประชาชน ซึ่งกรมโฆษณาการนั้นอยู่ภายใต้การดูแลกวดขันจากรัฐอย่างเข้มข้นเช่นกัน

เนื้อหาของเพลงปลุกใจนั้นมุ่งกระตุ้นให้คนในชาติเกิดความรักชาติ สร้างจิตสำนึก สร้างความสามัคคี และการสร้างค่านิยม เพื่อให้คนในชาติปฏิบัติตนตามค่านิยมของกลุ่มชาติตะวันตกภายใต้นโยบาย “รัฐนิยม” (นิติพรรณ สุวาท, 2562, 183-184)

นอกจากเพลงที่ส่งเสริมรัฐนิยมแล้ว เพลงแนวปลุกใจอย่าง เพลงถิ่นไทยงามนั้น เนื้อร้องว่า “เห็นแดนแผ่นดินท้องถิ่นไทยงาม ดูอยู่ด้วยความเพลินใจนิยม อากาศก็ดี น่าสบาย พระพายรื่นรมย์ ใครได้มาชมคงชื่นในใจ…หมายถึงแผ่นดินท้องถิ่นทางเหนือ ประเสริฐเลิศเหลือจะพรรณนา ทั่วบ้านทั่วเรือนครอบครัวสวนครัวเกลื่อนตา มีผักมีปลานาไร่น่าชม” นั้น

แท้จริงแล้ว เป็นเพลงที่รัฐบาลพยายามโน้มน้าวให้ชาวกรุงอพยพออกจากพระนครไปหลบภัยตามที่ปลอดภัยตามจังหวัดต่างๆ นั่นเอง (silpa-mag.com/article_87339)

นักร้องสตรีของวงกรมโฆษณาการ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2486

ความเฟื่องฟูเพลงไทยสากลในช่วงสงคราม

เพ็ญศรี พุ่มชูศรี อดีตนักร้องวงกรมโฆษณาการเล่าความเป็นมาของการเป็นนักร้องของเธอในช่วงก่อนสงครามไม่นานว่า เกิดจากความอัตคัดของครอบครัว ทำให้เธอต้องหารายได้จากการร้องเพลง แต่ด้วยความสามารถของเธอในวัย 14 ปี ทำให้เธอเคยร้องเพลงศีลธรรรมทั้งห้าอัดแผ่นเสียงเมื่อ 2484

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามระเบิดแล้ว บริษัทมิตซุยเคยจ้างเธอไปร้องเพลงญี่ปุ่นตามค่ายทหารญี่ปุ่น โดยมีคนญี่ปุ่นสอนเพลงให้เธอร้องก่อน ในช่วงนั้น เธอมีรายได้เดือนละ 45 บาท และค่าล่วงเวลาอีกวันละ 1.50 บาท ด้วยค่าจ้างร้องเพลงตามค่ายทหารทำให้เธอมีรายได้เพียงพอในการยังชีพไม่ลำบากเหมือนคนทั่วไป (ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ สุวัฒน์ วรดิลก และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, 2550, 104-105)

เอื้อ สุนทรสนาน เห็นว่า ในช่วงสงครามนั้น เพลงไทยสากลเจริญถึงขีดสุด (ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์, 2550, 58) ความโด่งดังของวงสุนทราภรณ์ของเอื้อ สุนทรสนาน และ เวส สุนทรจามร ในครั้งนั้นทำให้กองทัพญี่ปุ่นจ้างวงให้เข้าไปเล่นดนตรีกล่อมขวัญทหารญี่ปุ่นฟังเลยทีเดียว (ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ สุวัฒน์และเพ็ญศรี, 105)

กล่าวโดยสรุป ช่วงสงครามนั้น เพลงไทยสากลและเพลงปลุกใจต่างๆ ของวงดนตรีสุนทราภรณ์หรือวงดนตรีกรมโฆษณาการนั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเพลงของวงในช่วงนั้นถูกประพันธ์ขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ เพื่อมุ่งสื่อสารกับประชาชนผ่านวิทยุกระจายเสียง มีเป้าหมายโน้มน้าวให้ประชาชนเกิดความรักชาติ เสียสละ รวมทั้งการสนับสนุนค่านิยมตามรัฐนิยมของรัฐบาลจอมพล ป. เช่น การแต่งกาย การปฏิบัติของข้าราชการ การปฏิบัติตนของประชาชน เป็นต้น (นิติพรรณ สุวาท, 2562, 185)

 

แฟชั่นสวมหมวกของสตรีไทยในช่วงสงคราม
เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ผลงานแรกของเพ็ญศรี 2484 ศีลธรรมทั้งห้า ด.ญ.เพ็ญศรี
ประชาชนทั้งหญิงชายสวมหมวกตามรัฐนิยม