‘ญาจาง’ จุดท่องเที่ยวเขียว

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

พักที่ “ญาจาง” เมืองชายหาดทางตอนใต้ของเวียดนาม 5 คืนเต็มๆ ได้สัมผัสกับบรรยากาศความเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้จนรู้สึกได้ว่า เมืองนี้กำลังเป็นคู่แข่งสำคัญของเมืองท่องเที่ยวชายทะเลในบ้านเรา หรือถ้ามองในแง่ร้ายๆ “ญาจาง” พัฒนาแซงหน้าไปไกลแล้ว

ญาจางเพิ่งฉลองครบรอบ 100 ปี เดิมทีเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ช่วงสงครามอินโดจีน-ฝรั่งเศสเมื่อ 77 ปีที่แล้ว กองทัพอากาศฝรั่งเศสใช้ญาจางเป็นศูนย์ฝึกการบิน รบกันแค่ 4 ปี ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ ถอนทัพออกจากเวียดนาม แล้วก็ตามมาด้วยสงครามเวียดนาม “สหรัฐ” ใช้ญาจางเป็นฐานทัพอากาศเพื่อส่งฝูงบินโจมตีเวียดนามเหนือ

สงครามเวียดนามที่สหรัฐดึงทหารไทยไปสู้รบด้วยใช้เวลานาน 19 ปี 5 เดือนจึงสิ้นสุดลง กองทัพเวียดนามเหนือบุกเข้ายึดกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้และกองทัพสหรัฐถอนทัพในวันที่ 30 เมษายน 2518

เมื่อเวียดนามเหนือผนึกรวมเวียดนามใต้กลายเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามแล้วโหมพัฒนาประเทศอย่างหนักหน่วง

“ญาจาง” เป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่เห็นเด่นชัด

ชายหาดเมืองญาจางที่ได้รับการดูแลความสะอาดและจัดระเบียบเป็นอย่างดี

ช่วงเวลาเพียง 49 ปี “ญาจาง” เปลี่ยนโฉมจากเมืองประมง เมืองฐานทัพ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

พื้นที่ชายหาดที่ยาวกว่า 80 กิโลเมตรได้รับการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว แต่ละช่วงของชายหาด จัดแบ่งเป็นโซน โซนสวนตกแต่งต้นไม้ ลานอเนกประสงค์แสดงดนตรี ลานกีฬา ติดตั้งอุปกรณ์ออกกำลังกายนานาชนิด แต่ละจุดมีรูปปั้นประติมากรรมวางเด่นให้ดูเจริญตา และมีทางเท้า ทางจักรยานกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตรให้วิ่งเดินเล่นสบายๆ

บริเวณชายหาดซึ่งจัดสรรให้ผู้คนใช้พักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม มีแบ่งจุดให้เป็นซุ้มขายน้ำ นอกนั้นเป็นพื้นที่สำหรับวางเก้าอี้สนาม จัดเว้นที่วางเป็นช่วงๆ เพื่อไม่ให้รกหูรกตา มีห้องน้ำสาธารณะออกแบบให้อยู่ชั้นใต้ดินไม่ให้เกิดทัศนอุจาด

ในทุกเช้าตรู่ ผู้คนทุกเพศทุกวัยนับร้อยๆ คน มุ่งหน้ามายังชายหาดเพื่อออกกำลังกาย เต้นรำ เล่นแบดมินตัน ว่ายน้ำ วิ่ง เดิน เป็นการสร้างเสริมเพิ่มคุณภาพชีวิตของชาวเมืองญาจาง

ชายหาดกว้างและสะอาดมาก ระหว่างเดินเล่นตลอด 3 กิโลเมตร มีเศษขยะนับชิ้นได้ เมื่อเดินกลับมาจุดเดิม ไม่พบเศษขยะชิ้นนั้นแล้ว แต่มีเจ้าหน้าที่แต่งชุดคล้ายเครื่องแบบทหารเดินถือถุงเก็บขยะแทน

ส่วนในทะเลก็แทบไม่มีเศษขยะให้เห็นเช่นกัน

ชายหาดของเมืองญาจาง แหล่งท่องเที่ยวของเวียดนามที่มีแผนพัฒนาสู่เป็นเมืองท่องเที่ยวยั่งยืน มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมและศูนย์กลางด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ใหม่ๆ

ผู้บริหารเมืองญาจาง ตั้งใจวางแผนพัฒนาเมืองนี้ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ปลูกต้นไม้เพิ่มเป็นเมืองสีเขียว แวดล้อมด้วยธรรมชาติสวยงาม

เป็นเมืองที่กำหนดพื้นที่สาธารณะให้รองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ มีการแบ่งเป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว โซนธุรกิจการค้าและโซนสำหรับที่อยู่อาศัย รวมถึงการก่อสร้างถนนสายใหม่ๆ เพื่อให้การจราจรคล่องตัว

ในแผนพัฒนาเมืองญาจาง จัดรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ชาวญาจางคัดแยกขยะ และทิ้งขยะลงในถัง เศษอาหารแยกไปทำเป็นปุ๋ย มีมานานกว่า 7 ปีแล้ว และยังพัฒนาถนน 27 สายในพื้นที่ท่องเที่ยวให้เป็นทางเดินกว้าง อีกทั้งซ่อมแซมถนน 44 จุด

“เป้าหมายของญาจางต้องเป็นเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมดีเยี่ยม สะอาด และเป็นเมืองที่พัฒนาอย่างยั่งยืน ญาจางจะกลายเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวระดับไฮคลาส เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น มีภูมิทัศน์สวยงาม ผู้คนมีสุขอนามัยแข็งแรง เป็นศูนย์วิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ”

นักท่องเที่ยวที่มาเมืองญาจาง จะรู้สึกแปลกใจกับสินค้าที่มีราคาถูก มีมาตรฐานใกล้เคียง ที่สำคัญแม่ค้าพ่อค้าไม่ขูดรีดเหมือนแหล่งท่องเที่ยวที่อื่นๆ อย่างเช่น ค่ารถ 3 ล้อถีบ ระยะทางเท่ากัน ทุกคันคิดราคาเหมือนกันหมด ไม่มีคันไหนคิดแพง ยกเว้นเสียแต่ผู้โดยสารให้ทิปเพิ่มเอง

หรือราคาอาหารในภัตตาคาร โดยเฉพาะอาหารทะเล ที่เมืองญาจาง ปลาเป็นๆ สดๆ ราคาถูกมากและเท่าๆ กันเกือบทุกร้าน อย่างปลาเต๋าเต้ยใส่โชว์ในตู้ปลาให้ลูกค้าเลือก ต่างกับบ้านเราเอาปลาแช่เย็น (ไม่รู้แช่ฟอร์มาลินให้สดด้วยหรือเปล่า) มาปรุงแถมบวกราคาแพงอีกต่างหาก

ประติมากรรมริมชายหาดเมืองญาจาง ติดตั้งเป็นจุดๆ เพื่อส่งเสริมศิลปะ สร้างสุนทรีย์ในพื้นที่ท่องเที่ยว

อีกจุดเด่นของเมืองญาจาง คือระบบการขนส่งสาธารณะ ที่นี่มีรถบัสโดยสารใน 6 เส้นทางรอบเมือง เป็นรถติดแอร์อย่างดี ค่ารถแค่ 5,000 ดอง หรือราว 7 บาท

“เจิ่นห่งห่า” รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้กล่าวปราศรัยในงานฉลอง 100 ปีของเมืองญาจาง ว่า การวางผังเมืองญาจางต้องเน้นในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่สีเขียว เป็นเมืองที่สนับสนุนด้านการศึกษาให้สวัสดิการกับประชาชน สร้างความกลมกลืนระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์คุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับคนรุ่นหลัง

แผนพัฒนาปรับปรุงเมืองญาจางจะเสร็จสิ้นภายในปี 2593 หวังให้เป็นศูนย์กลางทั้งการท่องเที่ยวและศูนย์กลางนวัตกรรมสร้างสรรค์

อย่างที่เกริ่นเอาไว้ว่า ฝรั่งเศสใช้ญาจางเป็นฐานทัพ ในช่วงเวลานั้นญาจางกลายเป็นแหล่งเรียนรู้วิจัยค้นคว้าใหม่ๆ อย่างเช่น สถาบันปาสเตอร์แห่งญาจางที่นายอเล็กซานเดร์ เยอร์ชิน นักชีววิทยาเชื้อสายฝรั่งเศส-สวิส ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 129 ปีก่อน

“เยอร์ชิน” มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะเป็นผู้ค้นพบแบคทีเรียชื่อ บาซิลลัส ร่วมกับ “คิตาซาโต ชิบะซาบูโระ” หมอชาวญี่ปุ่น เยอร์ชินยังคิดค้นกาวลาเท็กซ์ทำจากยางพารา และสูตรผลิตยางรถยนต์นำไปขายให้กับบริษัทมิชลิน

ทุกวันนี้สถาบันปาสเตอร์แห่งญาจางยังคงเป็นศูนย์กลางของการค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ เป็นศูนย์วิเคราะห์ความปลอดภัยทางอาหาร

 

เมืองญาจางมีสถาบันด้านสมุทรศาสตร์ที่มุ่งเน้นการศึกษาค้นคว้าความรู้ทางทะเล มีมหาวิทยาลัยญาจางที่เน้นการเรียนการสอนด้านการประมง การเดินเรือ การต่อเรือ และการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยโทรคมนาคมแห่งญาจาง เพิ่งเปิดอุทยานแห่งนวัตกรรม เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมเวียดนามกับรัฐบาลอินเดีย จัดทำอุทยานเนื้อที่กว่า 18 ไร่ ดึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยบอสตัน มาช่วยสอนให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มให้กับเวียดนาม

อุทยานแห่งนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยโทรคมนาคมแห่งญาจาง ยังมีเป้าเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ในการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ เช่น การบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทะเล การลดปริมาณขยะ

มองดูการวางแผนพัฒนาสร้างเมืองสร้างคนของญาจาง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแดนสงครามที่มีผู้คนล้มตายมานับไม่ถ้วนแล้วไม่อยากเอามาเปรียบเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวของบ้านเราเลย •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]