ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่รอดจากคดีศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไม่คาดฝัน สะเทือนทั้งรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย เพราะ ครม.ต้องหลุดไปด้วย
ส่งผลสะเทือนโผทหารทันที เพราะนายสุทิน คลังแสง กลายเป็น รมว.กลาโหม รักษาการ อำนาจในการต่อรอง น้อยลงทันที และต้องรอ รมว.กลาโหมใหม่ ที่นายสุทินอาจไม่ได้คัมแบ๊ก แต่โผทหารต้องจบอย่างช้าไม่เกิน 15 กันยายน
ก่อนที่นายเศรษฐาจะหลุดเก้าอี้ บัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล นัดส่งถึงกลาโหมตามนัดหมาย ภายใน 15 สิงหาคม 2567 โดยบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม จะเป็นคนเก็บรวบรวมไว้
นายสุทินมีกำหนดประชุมสภากลาโหม 16 สิงหาคม 2567 ที่ถูกจับตามองว่า จะมีการหารือนอกรอบของบอร์ด 6 เสือกลาโหม เรื่องโผทหาร หรือไม่
ก่อนที่นายสุทินจะเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของ รมว.กลาโหม สหรัฐ 18-25 สิงหาคม 2567 โดยมี พล.อ.สนิธชนก และบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด ร่วมคณะไปเยือนสหรัฐด้วย ที่นายสุทินยอมรับว่า จะมีการหารือเรื่องโผทหารแบบนอกรอบที่อเมริกาด้วย ก่อนที่จะกลายเป็น รมว.กลาโหม รักษาการ และยกเลิกการเดินทางไปสหรัฐ
แต่มีรายงานออกมาก่อนหน้านี้แล้วว่า วันประชุมสภากลาโหม ไม่มีการหารือวงเล็กเรื่องโผทหาร เพราะ 1.นายสุทินได้หารือส่วนตัวกับ ผบ.เหล่าทัพ ทีละคนไปแล้ว 2.ในวันประชุมสภากลาโหม ผบ.เหล่าทัพ อยู่ไม่ครบ เช่น พล.อ.ทรงวิทย์ ไปตรวจการฝึกของนายทหารหลักสูตรเสนาธิการเหล่าทัพ หรือที่เรียกว่า “หัว เสธ.วอร์เกม” กองพลสีน้ำเงิน ที่เชียงใหม่ ซึ่ง พล.อ.ทรงวิทย์ให้ความสำคัญ
ส่วนบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ไปเยือนสิงคโปร์ ขณะที่บิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. กลับมาจากสิงคโปร์พอดี
ดังนั้น จึงไม่มีการหารือบอร์ด 6 เสือกลาโหม ยกเว้นคุยส่วนตัว ผบ.ทร. หรือ ผบ.ทอ.อีกครั้ง
ที่ถูกจับตามอง คือ ทริปไปเพนตากอน ที่อาจเรียกได้ว่า นายสุทินถูกประกบด้วย ผบ.เหล่าทัพจากเตรียมทหารรุ่น 24 ทั้งคู่ จึงยิ่งถูกจับตามอง เพราะแคนดิเดตตำแหน่ง ผบ.ทบ. และ ผบ.ทร.คนใหม่ รวมถึงว่าที่ปลัดกลาโหม และ ผบ.ทหารสูงสุด ในปี 2568 ก็เป็นนายทหาร ตท.24 ที่อาจจะกวาดเก้าอี้ ผบ.เหล่าทัพแบบยกแผง ทั้งในโผนี้ และโผย้ายทหารปี 2568 หรือไม่
อีกทั้งก่อนหน้านี้ นายสุทินได้เคยคุยนอกรอบกับ ผบ.เหล่าทัพ ในการให้แนวทางการโยกย้ายมาแล้ว ในการประชุมสภากลาโหมเมื่อ 31 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งมีการเชิญ ผบ.เหล่าทัพมาพบทีละคนๆ ไปแล้ว ที่กลาโหม ศรีสมาน ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหยั่งเชิงท่าทีแต่ละคน ถึงการเสนอชื่อ ผบ.เหล่าทัพคนใหม่
ในช่วงเวลาเดียวกัน ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ทหารสูงสุด และปลัดกลาโหม ได้หารือถึงตำแหน่งแลกเปลี่ยน ที่จะต้องส่งนายทหารไปลงตำแหน่งรองเสนาธิการทหาร และรอง ผบ.ทหารสูงสุด รองปลัดกลาโหม และตำแหน่งโควต้าเหล่าทัพ
คาดว่า หลังนายสุทินกลับจากสหรัฐ และแวะสวีเดน เพื่อรับรางวัลสันติภาพโลก 24-25 สิงหาคม 2567 แล้ว จะเดินทางกลับไทย และเตรียมเรียกประชุมบอร์ด 6 เสือกลาโหมพอดี
แต่หลังกลายเป็นรัฐบาลรักษาการแล้ว นายสุทินอาจจะต้องรอรัฐบาลใหม่ นายกฯ ใหม่ และ รมว.กลาโหมคนใหม่ หรือไม่
เพราะก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวว่า จะเปลี่ยนตัว รมว.กลาโหม เพราะนายสุทินนั่งมาจะครบ 1 ปีแล้ว
แต่นายสุทินมั่นใจว่าจะได้เป็น รมว.กลาโหมต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีข่าวว่าจะตั้ง รมช.กลาโหม ที่เป็นทหาร อันเป็นผลจากดีลในการตั้งรัฐบาลของขั้วชินวัตร กับขั้วอีลีต หรือไม่
เพราะอีกกระแสข่าวระบุว่า ฝ่ายนายทหารสายชินวัตร พรรคเพื่อไทย กำลังคัดเลือกอดีตบิ๊กทหารที่จะมาเป็น รมช.กลาโหม เพื่อเปรียบเทียบกับบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ น้องรักบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี และอดีตนายกฯ ที่นั่งรอบนเก้าอี้เลขานุการ รมว.กลาโหม มาเกือบ 1 ปี
แต่เพราะมีการอ้างว่า คนเสื้อแดงต่อต้าน พล.อ.ณัฐพล จึงจะพิจารณานายทหารคนกลาง ที่สายบิ๊กตู่ และสายชินวัตร ยอมรับได้
จึงมีชื่อของบิ๊กโด่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต ผบ.ทบ. แกนนำ ตท.14 เพื่อนรักบิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษานายกฯ มาชิง รมช.กลาโหม เพราะเป็นทหารเสือราชินี สาย 3 ป.
แต่ก็ถูกสะกิดว่า พล.อ.อุดมเดช ใกล้ชิดกับพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ “คนในบ้านป่าฯ” ที่กำลังวัดพลังกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และอาจไม่สนิทสนมแนบแน่นกับ พล.อ.ประยุทธ์ เท่าใดนักในระยะหลังๆ
ที่สำคัญ พล.อ.อุดมเดช เป็นคนยื่นฟ้อง ม.112 นายทักษิณ เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. ที่กลายเป็นชนักปักหลังนายทักษิณจนทุกวันนี้ แต่ทว่า ในเวลานั้น พล.อ.อุดมเดช ก็ปฏิบัติตามหน้าที่
อีกทั้ง พล.อ.อุดมเดช อายุมากกว่านายสุทิน จึงไม่เหมาะที่จะมาเป็น รมช.กลาโหม แต่ก็สะท้อนว่า มีความเคลื่อนไหวในการหาตัว รมช. กลาโหม หรืออาจถึง รมว.กลาโหม มาแทนนายสุทิน ตามกระแสข่าวลือก่อนหน้านี้ แต่ก็มีรายงานข่าวว่า พล.อ.อุดมเดช ปฏิเสธกระแสข่าวนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นนี้ คาดว่าในกลาโหมก็จะเปลี่ยน และอาจจะมี รมว.กลาโหม ที่เป็นทหารตามดีลตอนตั้งรัฐบาล
และดูว่าจะเป็นโควต้าของพรรคเพื่อไทย หรือเพราะหากยึดตาม “ดีล” ฝ่ายอนุรักษนิยม ก็ต้องเป็นโควต้าพรรค DNA ลุงตู่ พรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะพรรคเพื่อไทยจะเอาโควต้าพรรคตนเองให้หรือไม่
ก่อนหน้านี้เป็นที่น่าจับตามองสะท้อนว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เริ่มจับจ้องความเคลื่อนไหวของกองทัพมากขึ้น เพราะยังเป็นบาดแผลในใจที่เคยโดนรัฐประหาร ทั้งการพูดคุยกับนายสุทินโดยตรง และมีกระแสข่าวลือว่า ผบ.เหล่าทัพบางคนก็เคยเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า
รวมทั้งการฟื้นชีพเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) เพื่อนร่วมรุ่น ด้วยการจัดงานเลี้ยงรุ่น และไปร่วมเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 17 ปี ตั้งแต่ถูกรัฐประหาร 2549 จนต้องลี้ภัยในต่างแดน
พร้อมย้ำกับเพื่อนๆ ตท.10 ว่า ให้พบปะเจอกันบ่อยๆ จะได้รำลึกความหลัง ทำให้รู้สึกว่าหนุ่มขึ้น และไม่เป็นอัลไซเมอร์
การที่นายทักษิณได้มาพบเจอเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 ก็จะได้รับรู้ความเคลื่อนไหวในกองทัพจากผองเพื่อน เพราะหลายคนก็ยังมีลูกน้องอยู่ในกองทัพ ทั้งบิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม บิ๊กโต พล.อ.อ.พิธพร กลิ่นเฟื่อง กัปตันตุ้ม นรหัช พลอยใหญ่ บิ๊กหม่อม พล.อ.อ.สุทธิรัตน์ เกษมสันต์ฯ และ พล.อ.ทวนชัย พันธุ์เพิ่มศิริ เพื่อนสาย ทบ. ที่สนิทกับบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คีย์แมน 3 ป.
ในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทักษิณสามารถต่อรองให้นายสุทินได้กลับมาเป็น รมว กลาโหมอีกหรือไม่ หรือจะยอมให้เป็นทหารตามดีลกับขั้วอนุรักษนิยม
ขณะที่กองทัพบก บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. สร้างความชอบธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย ด้วยการให้แต่ละรุ่นคัดเลือก และส่งชื่อมาชิงตำแหน่ง
เช่น เตรียมทหาร 24 ก็ให้บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ผช.ผบ.ทบ. ส่งชื่อของ ตท.24 บิ๊กชาย พล.อ.วสุ เจียมสุข ส่งชื่อ ตท.25 และบิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสธ.ทบ. ส่งชื่อ ตท.26 เพื่อให้ พล.อ.เจริญชัย พิจารณาจัดลงตำแหน่ง
ท่ามกลางกระแสข่าว สูตรรอมชอม ที่ว่า พล.อ.ธราพงษ์ จะได้รับการเสนอชื่อเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ โดยมีอายุราชการถึงกันยายน 2569 ส่วน พล.อ.พนา ขยับขึ้น ผช.ผบ.ทบ. เพื่อรอคิวเป็น ผบ.ทบ. ในตุลาคม ปี 2569 โดยไม่ต้องข้ามไป บก.ทัพไทย เพื่อเป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุด ต่อคิวรอเป็น ผบ.ทบ.ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณกันยายน 2570
แต่ทว่า ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า หากอยู่ ทบ.แล้ว พล.อ.พนา ตท.26 จะได้เป็น ผบ.ทบ.ก่อนเกษียณหรือไม่ เพราะ ตท.27 และ ตท.28 ก็ขยับขึ้นมาหายใจรดต้นคอ
โดยเฉพาะคนที่จะเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ในโผนี้ บิ๊กไก่ พล.ต.วรยส เหลืองสุวรรณ รองแม่ทัพภาคที่ 1 หรือบิ๊กใหญ่ พล.ท.อมฤต บุญสุยา (ตท.27) แม่ทัพน้อยที่ 1 ที่จะเบียดกันเพื่อชิง ผบ.ทบ.ในอนาคต
แต่ที่กำลังเป็นที่ฮือฮาในกองทัพ เพราะมีกระแสข่าวสะพัดทัพเรือ ว่า พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. พิจารณาแคนดิเดตชิง ผบ.ทร.คนใหม่ เพิ่มมาอีก เพราะยศ พลเรือเอก ที่ยังไม่เกษียณ ก็สามารถเป็น ผบ.ทร.ได้ อาทิ บิ๊กแมว พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. เพื่อนร่วมรุ่น ตท.23 ที่จะเกษียณปี 2568 นี้
แต่ทว่า ก็ไม่ใช่ตำแหน่งหลัก เพราะตามธรรมเนียมทหารเรือแล้ว หากจะวางตัวให้เป็น ผบ.ทร. ก็จะต้องส่งลงตำแหน่งใน 5 ฉลามทัพเรือ มารอไว้ก่อน
ที่สำคัญ ตามธรรมเนียมทหารเรือแล้ว ผบ.ทร.จะต้องจบจากโรงเรียนนายเรือ ยังไม่เคยมี ผบ.ทร.ที่จบจากต่างประเทศ เพราะ พล.ร.อ.จิรพล จบจากโรงเรียนนายเรือเยอรมนี และเส้นทางรับราชการก็อยู่นอกไลน์มาตลอด เรียกว่าประวัติไม่โดดเด่น
ในอดีต เคยมีกรณีของบิ๊กยุ้ย พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ที่จบเยอรมนี ก็พลาดเก้าอี้ ผบ.ทร.มาแล้ว แม้จะไม่ได้มีระบุไว้ แต่ตามธรรมเนียม ทร. ก็ยังไม่เคยมี ผบ.ทร.ที่จบจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับกองทัพบก ที่ยังไม่เคยมี ผบ.ทบ.ที่จบจากต่างประเทศ กลายเป็นม่านประเพณี ที่ทำให้นายทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยต่างประเทศ ไม่ว่าจะนายร้อยเวสต์ปอยต์ สหรัฐ หรือนายร้อย VMI สหรัฐ นายร้อย Saint Cyr ฝรั่งเศส หรือแม้แต่นายร้อยฟิลิปปินส์ ไม่ได้เป็น ผบ.ทบ.
ทั้งนี้เพราะ พล.ร.อ.จิรพล เป็นเพื่อน ตท.23 อีกคนที่เหลืออยู่ และเป็นเพื่อนสนิทมาก เพราะถึงขั้นที่ พล.ร.อ.อะดุง ตั้งให้ พล.ร.อ.จิรพล เป็นประธานกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ของกองทัพเรือ (อีอีซี ทร.) ที่ต้องดีลโครงการต่างๆ กับภาคเอกชนรายใหญ่ ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นการเมือง นี่จึงเป็นการสะท้อนความไว้วางใจ และความมั่นใจว่าจะดูแลกันยาวๆ หลังเกษียณ
แต่หากพลัง ตท.24 แรง เพราะมีทั้ง พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม ผบ.อ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด และบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. รวม 3 เสียงในบอร์ด 6 เสือกลาโหม
ก็ยังมีแคนดิเดตจาก ตท.24 ถึง 3 คนที่มีชื่อผุดขึ้นมาใหม่ เช่น บิ๊กโต้ง พล.ร.อ.ชัยณรงค์ บุณยรัตกลิน ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. น้องรัก พล.ร.อ.อะดุงอีกคน ที่ไว้วางใจถึงขั้นให้เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนสาเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง
พล.ร.อ.ชัยณรงค์ เคยเป็นเสนาธิการกองเรือยุทธการ ผบ.ฐานทัพเรือกรุงเทพ ผบ.กองเรือลำน้ำ แต่ก็ไม่ได้ถูกจับตามองใน ทร.มาก่อน เพราะประวัติไม่โดดเด่นนัก แต่นามสกุลบุณยรัตกลิน อาจจะแสลงใจอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แม้ว่าจะเขียนต่างกัน และไม่ได้เป็นญาติสนิทกัน แต่จะเกี่ยวดองกันหรือไม่อย่างไร ก็ไม่ชัดเจน คงเป็นแค่พี่เลิฟของ “ป๊อบนิธิ” น.ต.นิธิ บุญยรัตกลิน ที่ลาออกจาก ทร. มาทำธุรกิจเท่านั้น
นอกจากนี้ ตท.24 ก็ยังมีบิ๊กน้อย พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ ที่แม้จะไม่ได้เดินมาในไลน์ตั้งแต่ต้น แต่ก็มีบิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย อดีต ผบ.ทร. ผู้มีพระคุณคนหนึ่งของบิ๊กดุง แบ๊กอัพอยู่
แต่บิ๊กดุงก็ย่อมอยากได้ ผบ.ทร.คนใหม่ ที่จะยังคงให้เกียรติ ให้ความสำคัญ ดูแลกันต่อไปหลังตนเองเกษียณ มากกว่าที่จะเสริมอำนาจให้คนอื่น แถมทั้งบิ๊กดุงก็มักจะพูดถึง เสธ.ทร. ในที่ประชุมเสมอๆ ที่อาจมองได้ว่า เป็นการสอนน้อง อีกทั้ง เสธ.ทร. ยังมีส่วนสำคัญในการเตรียมกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกด้วย
ไม่แค่นั้น ตท.24 ไม้สุดท้าย ยังมีบิ๊กเต๊ะ พล.ร.อ.สุพพัต ยุทธวงศ์ รองปลัดกลาโหม ที่อาจเดินตามรอยบิ๊กเฒ่า ที่เคยได้กลับไปเป็น ผบ.ทร. แต่ทว่า เส้นทางรับราชการต่างกัน แต่ก็เคยเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารเรือ ก่อนที่จะหลุดไลน์
แต่ชื่อของ พล.ร.อ.สุพพัต อาจเอาไว้สู้กับ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ทร. ที่อาวุโสสูงสุดใน ทร. เพราะอัตราพลเรือเอกพิเศษ แต่ทว่า เส้นทางรับราชการของ พล.ร.อ.สุวิน นั้นอยู่ในไลน์ และตามธรรมเนียม ทร.มาตลอด
ท่ามกลางการจับตามองว่า สัญญาใจของ พล.ร.อ.เชิงชาย ผบ.ทร.คนก่อน กับบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี และอดีตนายกฯ และ รมว.กลาโหม เมื่อครั้งโยกย้ายปลายปี 2566 ที่ยอมให้ พล.ร.อ.อะดุง เป็น ผบ.ทร.ก่อนหนึ่งปี โดยให้ พล.ร.อ.สุวิน ขึ้นเป็นรอง ผบ.ทร. จ่อไว้รอเป็น ผบ.ทร.ในโยกย้ายครั้งนี้
แต่ทว่า สัญญาใจมักถูกลืมเสมอ แม้ว่าครั้งนั้นจะมี พล.อ.สนิธชนก ปลัดกลาโหม รับรู้ด้วยก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนนายกฯ เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยน รมว.กลาโหม ย่อมมีผลต่อโผทหาร
หากนายกฯ ยังคงเป็นคนของพรรคเพื่อไทย แนวทางคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
แต่หากเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มีความสัมพันธ์กับกองทัพอยู่แล้ว หรือหากเป็นบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เข้ามาก็ย่อมมี “ดีลลับ” ซึ่งอาจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงจากแนวทางของนายสุทินวางไว้ไม่น้อย
จนเป็นที่กล่าวขวัญกันว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในห้วงนี้ มีเป้าหมายที่โผทหาร โดยเฉพาะเก้าอี้ ผบ.ทบ. และ ผบ.ทร.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022